ลองหูฟัง Hi-End ที่งาน Portable Audio Meeting Thailand 2018

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา RE.V-> ได้มีโอกาสไปงาน Portable Audio Meeting Thailand 2018 ซึ่งเป็นงานจัดแสดงหูฟังระดับ Hi-End จากแบรนด์ชั้นนำ เราก็เลยขอเขียนถึงหูฟังที่เราคิดว่าน่าสนใจให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกันครับ

Sony MDR-Z7M2

หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมผมถึงต้องมาลองฟังหูฟังตัวนี้ ทั้ง ๆ ที่ผมไปงานเปิดตัวแล้ว รวมไปถึงได้สัมภาษณ์หัวหน้าทีมพัฒนาด้วย นั่นก็เพราะว่าผมยังไม่ได้มีโอกาสฟังมันอย่างจริงจังในงานครับ

สำหรับชุดทดลอง MDR-Z7M2 ที่ทาง Sony นำไปร่วมงานนั้น ได้ต่อกับ Walkman WM1A ด้วยสาย Balanced ที่พัฒนาร่วมกับ Kimber Kable หลังจากที่ได้ฟังเสียงแล้ว รู้สึกว่าตัวหูฟังเองถูกอัพเกรดขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เสียงเบสฟังกระชับมากขึ้น เสียงย่านกลางคมชัดมากขึ้น และมีเสียงแหลมที่คมและมีหางเสียงที่ลากยาวไปมากขึ้น

ส่วนตัวแล้ว ผมชอบเสียงของ MDR-Z7M2 มากกว่าเสียงของรุ่นแรก แต่รุ่นแรกก็ดีกว่าในด้านจิตใจ เพราะวัสดุที่ดูมันวาวและผลิตในญี่ปุ่น ใครที่มองหาหูฟังราคาแถว ๆ 2 หมื่นกลาง ๆ ก็จัดว่าเป็นหูฟังที่ควรเก็บไว้อยู่ในตัวเลือกที่ควรไปลอง ส่วนใครที่มีหูฟังรุ่นนี้อยู่แล้ว แต่อยากอัพเกรด แนะนำให้เก็บเงินแล้วขึ้นไปเล่น MDR-Z1R จะดีกว่า

JVC HA-FW01 & HA-FD01

ผมเองได้ยินชื่อเสียงของหูฟังจาก JVC มานานแล้ว แต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ลองใช้งานหูฟังจากค่ายนี้สักเท่าไร ผมเลยถือโอกาสที่มางาน PAM 2018 ในการลองหูฟังของเขาครับ

เริ่มต้นจากรุ่น HA-FW01 ซึ่งเป็นหูฟัง In-Ear รุ่นบน ที่ใช้ไม้ในการทำไดอะแฟรมของตัวขับและตัวถังของหูฟัง ส่วนตัวจากการลองฟังด้วย Walkman ZX1 รู้สึกว่าเสียงของมันให้ความรู้สึกที่นุ่ม ไม่กระแทกกระทั้น และมีย่านเสียงแหลมที่ไม่ได้แหลมคม เป็นประกายเหมือนหูฟังที่ได้มาตรฐาน Hi-Res Audio ตัวอื่นที่เคยฟังมา แต่ก็ยังคงรายละเอียดเล็ก ๆ ต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วนอยู่

ก่อนหน้านี้ผมเคยฟังหูฟังครอบหูรุ่น HA-SW01 ที่ใช้ไดอะแฟรม Wood Dome เช่นเดียวกัน แต่ไม่ชอบเพราะเสียงฟังแล้วดาร์กเกินไป แต่ฟัง HA-FW01 แล้ว กลับชอบมากกว่า เพราะเสียงมันไม่ดาร์ก เพียงแค่รู้สึกว่าหูฟังมันไม่เน้นย่านเสียงแหลมเท่านั้น

หูฟังอีกตัวที่ผมได้มีโอกาสลองก็คือ HA-FD01 ซึ่งเป็นหูฟังตัวขับไดนามิคที่มีตัวถังทำจากสเตนเลส พร้อมทั้งสามารถเปลี่ยนท่อนำเสียงที่ทำจากวัสดุต่าง ๆ 3 แบบ คือ ไทเทเนียม สเตนเลส และทองเหลือง เรียกว่ารวมเอาโลหะยอดนิยมที่นิยมใช้ทำท่อนำเสียงมาให้เลยทีเดียว

สำหรับตัวทดลองนั้นจะใส่ท่อนำเสียงทองเหลืองเอาไว้ ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่าจะเน้นเสียงเบสมากกว่าท่อนำเสียงตัวอื่น และจากการทดลองฟังของผมเองก็พบว่าเป็นเช่นนั้น คือเสียงเบสมาอย่างหนักหน่วงและลงได้ลึกกว่า HA-FW01 และย่านเสียงแหลมก็มีความแหลมตามแบบฉบับหูฟัง Hi-Res Audio เจ้าอื่น ๆ ที่ผมเคยฟังมา เพียงแต่เสียงโดยรวมของ HA-FD01 จะฟังดูไม่ฉับไวเท่า ซึ่งตรงนี้ก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน

Beyerdynamic Xelento Remote

Xelento เป็นหูฟังอีกตัวที่ผมอยากลองฟังมาตั้งแต่สมัย Beyerdynamic ออก T8iE ให้กับ Astell&Kern จนตอนนี้ทางผู้ผลิตเองก็ได้นำหูฟังตัวนี้มาปรับเปลี่ยนใหม่ แล้ววางขายภายใต้ยี่ห้อของตัวเอง

จากการลองฟังเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ผมประทับใจกับเสียงของ Xelento มาก คือมันมีความพุ่งตามแบบฉบับตัวขับไดนามิคอยู่ เสียงแต่ละย่านถูกปรับสมดุลมาเป็นอย่างดี และมีย่านเสียงแหลมที่มีลักษณะคมกริบตามแบบฉบับหูฟังจากค่ายนี้

ผมเองได้มีโอกาสลองหูฟังครอบหู T1 รุ่นที่ 2 ที่ใช้ตัวขับเทคโนโลยี Tesla เหมือนกันเพื่อเทียบเสียงกันด้วย ซึ่งผมคิดว่าตัว T8 มีลักษณะเสียงที่สงบเสงี่ยมมากว่า รวมทั้งมีเสียงแหลมที่คมชัดมากคล้ายกับหูฟังมอนิเตอร์ของค่ายนี้ แต่ได้มีการปรับมาให้ฟังได้สบายกว่า

FitEar EST Universal

และก็มาถึงหูฟังตัวสุดท้ายที่ผมตั้งใจมาลองฟัง มันคือ FitEar EST Universal จากค่าย FitEar ซึ่งเป็นหูฟังชุดตัวขับแบบ Hybrid ตัวแรกที่ใช้ตัวขับแบบ Balanced Armature ร่วมกับตัวขับทวีตเตอร์แบบ Electrostatic จากการสอบถามกับเจ้าหน้าที่ในงาน ทำให้ได้ทราบว่าทาง FitEar ได้นำตัวขับ Balanced Armature ใส่เข้ามาเพื่อปรับเสียงของตัวขับ Electrostatic ให้สมดุล

สำหรับการทดลองฟังนั้น ผมประทับใจย่านเสียงสูงของ FitEar EST ที่ฟังแล้วมีความเป็นธรรมชาติสูงและมีรายละเอียดที่คมชัดมาก ส่วนเสียงย่านกลางจะออกโปร่งใส ไม่หนา ส่วนเสียงเบสนั้น มีปริมาณน้อยและไม่สามารถขับเสียงลงย่านเบสลึก ๆ ได้มากนัก นอกจากนี้ตัวหูฟังเองยังต้องการเครื่องเล่นที่มีกำลังขับเสียงได้ประมาณหนึ่ง (ผมใช้ Walkman ZX1 เปิด Volume เบอร์ 14 – 15) ถึงแม้ว่าจะไม่ต้องใช้แอมป์ขยายแบบพิเศษเหมือนหูฟัง Electrostatic แท้ ๆ ก็ตาม

ส่วนตัวคิดว่า FitEar EST Universal เหมาะกับพวกเพลงบรรเลงที่ใช้เครื่องดนตรีอะคูสติกมากกว่าเพลงที่มีเสียงย่านเบสที่ซับซ้อนและอยู่ในช่วงความถี่ต่ำมาก อย่างเพลงแนวอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ หรือฮิปฮ็อป

ทั้งหมดนี้ก็คือหูฟังที่ผมได้ไปฟังในงาน PAM 2018 ซึ่งผมคิดว่าทางผู้จัดได้จัดงานออกมาได้ดีทีเดียว คือมีขนาดพอเหมาะกับการนั่งฟังหูฟัง และมีบรรยากาศที่ไม่เร่งรีบมากนักในการฟังหูฟังแต่ละตัว เพราะจุดประสงค์ของงานที่ไม่เน้นขายของนั่นเอง ถึงแม้ว่าจะมีโปรโมชั่นการขายอยู่บ้าง แต่ก็ไม่รบกวนจุดประสงค์หลักของงานแต่อย่างใด

ใครที่ได้มีโอกาสไปงานนี้มา ก็สามารถแชร์ประสบการณ์ผ่านคอมเมนต์ด้านล่างหรือที่ Facebook Page ของเรากันได้นะครับ

One thought on “ลองหูฟัง Hi-End ที่งาน Portable Audio Meeting Thailand 2018

  1. Pingback: Sony เปิดตัว 360 Reality Audio เทคโนโลยีเสียง 3 มิติสำหรับการฟังเพลงโดยเฉพาะ | RE.V –>

Leave a Reply