วันอังคารที่ผ่านมา ทางเราได้มีโอกาสไปงานทดลองฟังสินค้า Hi-Res Audio รุ่นใหม่ของ Sony ก็เลยเก็บเอาข้อมูลที่น่าสนใจ และรีวิวการฟังหูฟังเรือธงตัวใหม่ของ Sony ทั้ง 2 ตัวคือ MDR-Z7, XBA-Z5, MDR-1A พร้อมทั้งแอมป์หูฟัง PHA-3 และเครื่องเล่น WALKMAN A10 มาฝากครับ
ก่อนที่ทาง Sony จะปล่อยแขกที่มาในงานได้ลองฟังเสียงของสินค้ารุ่นใหม่ ก็ได้มีการเชิญคุณ Nageno Koji ที่เป็น Chief Sound Engineer ผู้ออกแบบหูฟังของ Sony ที่มีชื่อเสียงหลาย ๆ รุ่น และคุณ Uemura Hideyuki หัวหน้าโปรเจกต์ WALKMAN A10 ที่เคยมีผลงานเด่น ๆ ที่ผ่านมาคือ WALKMAN E580 มาพูดคุยเรื่องการออกแบบของสินค้ารุ่นใหม่กันก่อน
คุณ Koji ขึ้นมาเล่าถึงพัฒนาการของหูฟังไฮเอนด์ของ Sony เริ่มจากหูฟังรุ่น MDR-3 ที่เป็นหูฟังที่จัดชุดกับ WALKMAN TPS-L2 ซึ่งก็คือ WALKMAN ตัวแรกนั่นเอง ทาง Sony ได้ออกแบบตัวขับที่มีขนาด 23 มม. ที่ใช้แม่เหล็ก samarium-cobalt ซึ่งถือว่าเล็กที่สุดในยุคนั้น
ต่อมา Sony ได้เปิดตัว digital audio และ CD สู่ผู้บริโภค จึงมีความคิดที่จะสร้างหูฟังที่สามารถรองรับคุณภาพเสียงของ digital audio ได้อย่างเต็มที่ จึงได้หูฟังรุ่น MDR-CD900 ที่มีสติ๊กเกอร์ DIGITAL สีแดงอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งต่อมาหูฟังรุ่นนี้ก็ได้ถูกนำไปปรับปรุงใหม่เพื่อใช้งานในห้องอัดเสียงของ Sony Music จนถึงปัจจุบัน
เพื่อสร้างสุดยอดหูฟัง MDR-R10 ทาง Sony ได้แนวความคิดที่จะทำหูฟังให้เหมือนเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่ง ไม่ใช่เพียงเครื่องเสียงทั่ว ๆ ไป จึงได้พัฒนาไดอะแฟรมของตัวขับจากเส้นใยธรรมชาติ และส่วนของที่ครอบหูที่ทำจากไม้จริง
ในปี 1999 ทาง Sony ได้เปิดตัว Super Audio CD ซึ่งเป็นรูปแบบเสียงดิจิทัลรุ่นใหม่ ที่มีความละเอียดสูงมาก จึงต้องออกแบบหูฟังที่รองรับคุณภาพเสียงของ SACD ได้อย่างเต็มที่ จนได้หูฟัง Qualia 010 และ MDR-SA5000
อีกด้านหนึ่ง Sony และ Sony Music เองยังได้ทำงานร่วมกัน ในการพัฒนาคุณภาพเสียงของการบันทึกและการเล่นกลับ ให้เหมาะกับรูปแบบเพลงในปัจจุบัน จนได้หูฟังตระกูล MDR-1R ที่เป็นมาตรฐานของการฟังเพลงล่าสุด
สำหรับในหูฟัง MDR-Z7 รุ่นล่าสุดก็มากับแนวความคิด “Feel the Air” ที่ต้องการให้ผู้ฟังได้สัมผัสถึงบรรยากาศของเสียงมากขึ้น ดั่งเข้าไปนั่งฟังในสถานที่ที่บันทึกเสียงจริง ๆ ซึ่ง Sony ก็ได้ปรับปรุงการแยกระยะห่างระหว่างเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น และสร้างบรรยากาศของเสียงขึ้นมาใหม่
แนวทางการเพิ่มเวทีเสียง (sound stage) ให้ได้กว้างขึ้นมีอยู่ 4 ข้อ คือ
- รองรับเสียงความถี่สูง ๆ จะช่วยให้เราได้ยินเครื่องดนตรีที่มีลักษณะของเสียงที่สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน เช่น triangle ฉาบ hi-hat
- รองรับเสียงความถี่ต่ำ ๆ ได้ เสียงเบสความถี่ต่ำ ๆ ที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นจะให้ความรู้สึกของมิติที่มีขนาดใหญ่ และเหมือนมีอากาศไหลผ่านตัวเรา
- การตอบสนองเสียงดัง จะช่วยให้ความรู้สึกเหมือนเสียงนั้นอยู่ตรงหน้า
- การตอบสนองเสียงเบา จะช่วยให้ความรู้สึกของความลึกที่ไม่มีสิ้นสุดของเวทีเสียง
Sony ได้พัฒนาตัวขับขนาด 70 มม. ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด เพื่อให้ได้ plane wave ที่เหมือนกับเสียงที่มาจากลำโพงและแหล่งกำเนิดในธรรมชาติ
ไดอะแฟรมที่ทำจาก Liquid Crystal Polymer เคลือบด้วยอลูมิเนียมสามารถตอบสนองความถี่ได้กว้าง และรักษาเอกลักษณ์ของเครื่องดนตรีเอาไว้
คุณ Koji ได้หยิบตัวขับ AC-LCP ที่ใช้ใน MDR-Z7 และ MDR-1A ขึ้นมาเทียบขนาดให้ดู
เทียบขนาดตัวขับ 70 มม. กับพิมพ์หูของคุณ Koji
ส่วนถัดไปเป็นเรื่องของ WALKMAN A10 ซึ่งคุณ Hideyuki ได้แนะนำ 5 เทคโนโลยีสำคัญที่นำมาใช้กับเครื่องเล่น HRA ที่มีขนาดเล็กที่สุดตัวนี้
อย่างแรกคือใช้สายไฟที่ความต้านต่ำและมีฉนวนที่หนาขึ้นแบบเดียวกันกับใน WALKMAN ZX1 เพื่อให้การจ่ายไฟจากแบตเตอรี่มีความเสถียรมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เสียงมีพลังมากขึ้น ไม่แตกพร่า
คุณ Hideyuki ได้นำตัวอย่างของแบตเตอรี่รุ่นเก่าและรุ่นใหม่มาให้ดูด้วย
ตัวเก็บประจุแบบ POSCAP ที่ภาคจ่ายไฟ แบบเดียวกันกับใน WALKMAN ZX1 เพื่อให้กระแสไฟที่ป้อนให้แอมป์ดิจิทัล S-MASTER HX มีสัญญาณรบกวนน้อยที่สุด ทำให้เสียงที่ได้มีความใส ชัดเจนมากขึ้น
แผ่นปริ้นต์ที่มีชั้นทองแดงหนาขึ้น เหมือนกับแอมป์พกพาตระกูล PHA เพื่อลดความต้านทานของวงจรสัญญาณ ทำให้ได้เสียงเบสที่ลึกขึ้น
คุณ Hideyuki ได้นำตัวอย่างบอร์ดวงจรของ WALKMAN รุ่นก่อนหน้า (รูปบน) มาให้ดูเทียบกับบอร์ดของ WALKMAN A10 (รูปล่าง) ซึ่งดูผิวเผินแล้ว บอร์ดทั้งสองตัวแทบจะเหมือนกันเลย ทั้งการจัดวางอุปกรณ์ และอุปกรณ์ที่นำมาใช้ เช่น ชิป RICOH RC5T7316 ทำหน้าที่จัดการพลังงาน แต่มีความแตกต่างที่ภาคจ่ายไฟ ภาค DAC และภาคขยายสัญญาณตรงบริเวณด้านล่างเท่านั้น
ใช้โครงสร้างสำหรับยึดอุปกรณ์ภายในที่ทำจากอลูมิเนียมหล่อ เช่น เดียวกับ WALKMAN ZX1 เพื่อให้กราวด์มีความเสถียรมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ระดับสัญญาณรบกวนต่ำ
เมื่อเทียบกับโครงสร้างเครื่องรุ่นเก่า สังเกตว่าโครงสร้างแบบใหม่ จะออกแบบเพื่อเป็นตัวคั่นระหว่างอุปกรณ์ภายในด้วย
สุดท้ายคือการใช้ตะกั่วบัดกรีความบริสุทธ์สูง 99.99% ในการบัดกรีชิ้นส่วนภายใน ปกติทาง Sony จะใช้ตะกั่วชนิดนี้กับเครื่องเสียงระดับไฮเอนด์เท่านั้น และนี้ก็เป็นครั้งแรกที่นำมาใช้กับอุปกรณ์พกพา
ต่อไป เราไปลองฟังสินค้าของจริงกันครับ
Pingback: สัมภาษณ์คุณ Nageno Koji วิศวกรผู้อยู่เบื้องหลังหูฟังของ Sony
สุดยอดครับ
Pingback: รีวิว หูฟัง Sony MDR-Z7 การกลับมาของเรือธงในยุค High Resolution Audio
Pingback: ลองฟัง Walkman A20 และ Walkman ZX100 | RE.V –>