สัมภาษณ์ 2 วิศวกรหูฟัง Sony คุณ Matsushima Kei และคุณ Tatsuyama Shinosuke

Tatsuyama Shinosuke & Matsushima Kei

ในงานเปิดตัวสินค้าใหม่ของ Sony เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา RE.V-> ได้มีโอกาสสัมภาษณ์สองวิศวกรของ Sony ที่มาร่วมงานด้วยคือคุณ Tatsuyama Shinosuke ซึ่งเป็น Mechanical Engineer ของหูฟัง IER-Z1R และคุณ Matsushima Kei ซึ่งเป็นเป็น Project Manager ของหูฟัง MDR-Z7M2 ถึงเรื่องการออกแบบหูฟังรุ่นที่รับผิดชอบ รวมทั้งเรื่องการทำงานภายใน Sony ด้วยครับ

Matsushima Kei

ในการสัมภาษณ์ ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณ Matsushima Kei ก่อน ก็เลยเริ่มต้นสอบถามเกี่ยวกับหูฟัง MDR-Z7M2 ซึ่งเป็นหูฟังรุ่นที่ปรับปรุงมาจาก MDR-Z7 กันก่อนครับ

RE.V-> อยากจะให้เล่าถึงสิ่งที่ถูกปรับปรุงและเพิ่มเติมของ MDR-Z7M2 ด้วยครับ

M: เราใช้ชุดตัวขับแบบใหม่สำหรับหูฟังรุ่นนี้ เราได้ออกแบบไดอะแฟรมใหม่ทั้งหมด ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญครับ นอกจากนี้เรายังได้เปลี่ยนหนังที่ใช้หุ้มแพดหูฟังใหม่ ซึ่งช่วยระบายความชิ้นเมื่อใช้งานหูฟังเป็นระยะเวลานานด้วย

RE.V-> ตัวหนังที่ใช้หุ้มเป็นหนังแท้หรือเปล่าครับ

M: ไม่ใช่หนังแท้ครับ ยังคงเป็นหนังเทียมเหมือนหูฟังรุ่นก่อนหน้า แต่หนังตัวใหม่นี้จะเป็นหนังแบบเดียวกับที่ใช้หุ้มแพดหูฟัง 1000X ซึ่งมีการเคลือบสารเพื่อช่วยให้ระบายความชื้นได้ดีครับ

RE.V-> อย่างนี้ตัวหนังจะมีความคงทนมากขึ้นและให้การสวมใส่สบายมากขึ้นหรือเปล่าครับ

M: ใช่ครับ แต่เราเน้นเรื่องการสวมใส่ที่สบายมากกว่าครับ

RE.V-> ทางทีมออกแบบได้มีการนำเทคโนโลยีอะไรใน MDR-Z1R มาใช้ในการออกแบบ MDR-Z7M2 บ้างหรือเปล่าครับ

M: เราได้นำเทคโนโลยีอย่าง ตะแกรงลายฟีโบนัชชี, แจ็คที่ผลิตจาก Corson Alloy และตะกั่วบัดกรีแบบพิเศษมาใช้ในหูฟังรุ่นนี้ครับ

RE.V-> ตอนที่ MDR-Z7 ออกมา ได้มีการกำหนดแนวความคิดของเสียงไว้ว่า “Feel the Air” ใน MDR-Z7M2 ยังคงแนวความคิดนี้ไว้หรือไม่ครับ

M: เรายังคงแนวความคิดนี้ไว้เช่นเดิม แต่ได้พยายามปรับปรุงให้มันดียิ่งขึ้นไปอีกครับ

RE.V-> ผมเห็นตัวหูฟังเองมีช่องอากาศมากขึ้นกว่ารุ่นที่แล้ว ช่องอากาศพวกนี้มีไว้ทำอะไรครับ

M: ช่องพวกนี้ก็คือ Beat Response Control ซึ่งก็มีในรุ่นที่แล้วด้วยครับ เพราะพวกเราต้องการควบคุมอากาศที่อยู่ด้านหลังชุดตัวขับ เพื่อให้ไดอะแฟรมสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างแม่นยำครับ

RE.V-> ถ้าเปรียบเทียบกับ Beat Response Control ของรุ่นที่แล้ว ของ MDR-Z7M2 มีความแตกต่างอย่างไรบ้างครับ

M: ในรุ่นนี้เราได้เพิ่มช่องอากาศรอบ ๆ ตัวคัพ เพื่อทำให้สามารถลดความดันได้อย่างสม่ำเสมอมากขึ้นครับ

RE.V-> แต่วัสดุของตัวคัพยังเหมือนเดิมใช่ไหมครับ

M: ใช่ครับ ยังเป็นอะลูมิเนียมเหมือนเดิม

RE.V-> ผมเองมี MDR-Z7 รุ่นแรกอยู่ รู้สึกว่าหูฟังรุ่นใหม่ดูมีขนาดกะทัดรัดลง พวกคุณได้มีการเปลี่ยนแปลงขนาดของมันหรือเปล่าครับ

M: มันอาจจะดูเล็กลง แต่จริง ๆ แล้วขนาดพอ ๆ กับรุ่นเดิมครับ

Tatsuyama Shinosuke

ต่อมา ก็ถึงคิวที่ผมได้พูดคุยกับคุณ Tatsuyama Shinosuke เกี่ยวกับงานออกแบบหูฟัง IER-Z1R เรือธงฝั่งหูฟังสอดหูของ Sony ในปีนี้ครับ

RE.V-> ผมคิดว่าการวางชุดตัวขับในแนวแกนเดียวกัน (Coaxial) ของ IER-Z1R นั้นดูมีเอกลักษณ์มาก เลยอยากจะทราบแนวความคิดในการวางชุดตัวขับแบบนี้ครับ

T: เพราะเสียงความถี่สูงนั้นเดินทางเป็นเส้นตรง เราก็เลยวางชุดตัวขับ Super Tweeter ในแนวตรงและใกล้กับหูมากที่สุดครับ

RE.V-> เหมือนกับที่เวลาเราวางลำโพงจะต้องให้ดอก Tweeter อยู่ในแนวเดียวกับหูของเราสินะครับ

T: ใช่ครับ

RE.V-> ต่อไปเป็นคำถามเกี่ยวกับเรื่องวัสดุครับ ปกติหูฟังของ Sony มักจะนิยมใช้แมกนีเซียมเป็นวัสดุในการทำหูฟัง ทำไมรอบนี้ถึงเลือกใช้ Zirconium กับ IER-Z1R ครับ

T: เพราะว่า Zirconium เป็นโลหะที่มีความแข็งแรงและคงทนมาก สามารถใช้งานได้ยาวนาน จึงเป็นวัสดุที่ถูกนำมาใช้ในหูฟังรุ่นนี้ครับ

RE.V-> ผมสงสัยว่า Sony เองก็มีชุดตัวขับ Super Tweeter ที่เป็น Balanced Armature อยู่แล้ว ทำไมถึงได้พัฒนาชุดตัวขับ Super Tweeter ที่เป็น Dynamic ขึ้นมาใหม่อีกครับ

T: เพราะการสร้างตัวชุดตัวขับที่ตอบสนองความถี่ที่สูงถึง 100,000 Hz นั้น เทคโนโลยี BA นั้นมีข้อจำกัดอยู่ แต่เทคโนโลยี Dynamic นั้นสามารถสร้างตัวขับที่ตอบสนองความถี่สูงในระดับนั้นง่ายกว่าครับ

M: ดังนั้นเทคโนโลยี Dynamic จึงมีความเหมาะสมมากกว่า BA ในการสร้างตัวขับที่ตอบสนองต่อเสียงความถี่สูงมาก ๆ ครับ

RE.V-> ผมคิดว่าทีมพัฒนานั้นเก่งมาก ๆ ครับ ที่สามารถพัฒนาชุดตัวขับที่เล็กขนาดนี้ได้ สำหรับเรื่องเสียงของ IER-Z1R ตอนที่พัฒนาได้มีแนวความคิดเรื่องเสียงหรือได้อ้างอิงแนวเสียงจากที่ไหนอย่างไรบ้างครับ

T: แนวความคิดของหูฟังรุ่นนี้คือ การสร้างหูฟังที่สามารถตอบสนองความถี่ได้สูงถึง 100,000 Hz เป็นตัวแรกของโลก และการนำเพิ่มมิติบรรยากาศที่ได้ยินจากหูฟังครอบหูลงในหูฟังแบบสอดหูครับ

M: ซึ่งมันก็คือแนวความคิด Feel the Air เช่นเดียวกับหูฟังรุ่นก่อนหน้านั่นเองครับ

RE.V-> ในที่สุดก็ทำได้สำเร็จจนได้สินะครับ

T & M: ใช่แล้วครับ (หัวเราะ)

Tatsuyama Shinosuke & Matsushima Kei

พอจบคำถามเกี่ยวกับหูฟังที่ทั้งสองพัฒนาแล้ว ผมก็ขออนุญาตสอบถามเกี่ยวกับการทำงานกับ Sony ซึ่งคุณ Matsushima ได้อนุญาตให้ผมสอบถามได้ โดยจะตอบคำถามที่สามารถตอบได้ครับ

RE.V-> ตอนที่ผมสัมภาษณ์คุณ Nageno กับคุณ Shunsuke ผมได้ยินมาว่าวิศวกร Sony จะต้องทำแบบพิมพ์หูด้วย (หมายเหตุ ทีมพัฒนาหูฟังของ Sony จะต้องทำพิมพ์หูของตัวเองและหูคนอื่นสำหรับใช้ทดสอบ fitting การสวมใส่ของหูฟัง)

M: ใช่ครับ พวกเราก็ทำครับ

RE.V-> คืออันนี้เป็นธรรมเนียมว่าต้องทำพิมพ์หูทุกคนเลยหรือเปล่าครับ

M: ใช่แล้วครับ

RE.V-> ผมจำได้ว่าคุณ Shunsuke ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา MDR-Z7 รุ่นแรก เขาได้ให้การช่วยเหลือในการพัฒนา MDR-Z7M2 ด้วยหรือเปล่าครับ

M: จริง ๆ แล้วคุณ Shunsuke ยังคงเป็น Acoustic Engineer ของหูฟังรุ่นนี้อยู่ครับ

RE.V-> ผมเห็นทีมพัฒนาหูฟังจะมี Acoustic Engineer และ Mechanical Engineer ซึ่งรับผิดชอบงานที่แตกต่างกัน ในส่วนของการออกแบบรูปร่างของหูฟัง ใครเป็นคนรับผิดชอบครับ ระหว่างดีไซเนอร์หรือวิศวกร

M: เรามีทีมงาน Cosmetic Designer, Acoustic Engineer และ Mechanical Engineer ที่จะมานั่งประชุมร่วมกัน แล้วเลือกว่าจะใช้งานออกแบบลักษณะไหนครับ

RE.V-> อย่างรูปร่างพื้นฐานนี้มาจากทางวิศวกรหรือเปล่าครับ

M: แล้วแต่ครับ

RE.V-> แล้วเรื่องการสวมใส่ล่ะครับ มาจากทางวิศวกรหรือดีไซเนอร์ครับ

M: เนื่องจากความสบายในการสวมใส่ต้องมาก่อน เราจึงไม่สามารถที่จะยอมดีไซเนอร์ในทุกเรื่องได้ เลยสาเหตุว่าทำไมเราต้องมาประชุมปรึกษาหารือกันครับ นอกจากนี้รูปร่างของตัวหูฟังยังมีผลต่อเรื่องเสียง พวกเราจึงต้องมาประชุมกันอย่างที่ผมบอกไปข้างต้นครับ

RE.V-> ในช่วงหลัง ๆ มานี้ ผมเห็นทาง Sony Japan ได้ออกบทสัมภาษณ์ทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์มาบ่อยมาก พวกคุณคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ครับ

M: ผมคิดว่ามันเป็นโอกาสที่ดีที่พวกเราจะได้ออกมาเล่าถึงการทำงานของพวกเรา ทำให้ลูกค้าของเราเข้าใจการออกแบบของพวกเรามากขึ้นครับ

RE.V-> แย่หน่อยนะครับที่บทความไม่ได้ถูกแปลออกมาเป็นภาษาอื่น

M: (หัวเราะ)

RE.V-> ในฐานะแฟนของ Sony ผมดีใจที่ทีมออกแบบมาเล่าถึงเรื่องราวการออกแบบครับ ต่อไปอยากจะสอบถามเกี่ยวกับการผลิตครับ คือหูฟังอย่าง MDR-Z7M2 และ IER-Z1R นั้นผลิตที่ญี่ปุ่นในโรงงานของ Sony Taiyo

M: IER-Z1R ผลิตที่โรงงานนี้ แต่ MDR-Z7M2 นั้นผลิตที่ไทยแล้วครับ

RE.V-> แบบนี้ผมคงต้องเก็บ MDR-Z7 รุ่นแรกไว้ดี ๆ แล้วสินะครับ แล้วการทำงานร่วมกับ Sony Taiyo เป็นอย่างไรบ้างครับ

S: เป็นคำถามที่ตอบได้ยากมากครับ

RE.V-> ผมเองทราบว่าพนักงานที่นี้เป็นผู้พิการ ที่มีความสามารถในการประกอบงานสูงมาก

M: ใช่ครับ พวกเขาเป็นมืออาชีพมากในการประกอบหูฟังและไมโครโฟนระดับมืออาชีพ เราจึงเลือกผลิตหูฟังตระกูล Signature ที่นี้ครับ

RE.V-> ถ้าเทียบงานฝีมือระหว่างโรงงาน Sony Taiyo และโรงงานที่ไทยเป็นอย่างไรบ้างครับ แล้วการทำงานกับโรงงานที่ไทยมีปัญหาหรืออุปสรรค์ เช่น กำแพงภาษาไหมครับ

M: ที่เราย้ายการผลิตจากญี่ปุ่นมายังไทย เพราะโรงงานที่ไทยสามารถผลิตสินค้าคุณภาพเทียบเท่ากันได้โดยไม่มีปัญหา ซึ่งเราเองก็พยายามที่จะย้ายการผลิตมาที่ไทยเท่าที่จะเป็นไปได้ หากสามารถทำคุณภาพสินค้าได้เทียบเท่ากับที่ญี่ปุ่นครับ

RE.V-> สุดท้ายนี้ผมเคยถามคุณ Shunsuke ถึงเพลงที่ใช้เวลาตอนทดสอบหูฟัง เลยจะถามคำถามเดียวกันกับพวกคุณครับ

M: ของผมคือ OASIS และ J-Rock ครับ

S: ของผมเป็นเพลงป็อปทั่วไปครับ

ก็จบไปแล้วสำหรับการสัมภาษณ์วิศวกร Sony ทั้งสองท่าน ผมหวังว่าบทสัมภาษณ์นี้จะช่วยทำให้เพื่อน ๆ รู้จักกับ Sony และหูฟังแบรนด์นี้กันมากขึ้นนะครับ

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณทาง Sony Thai ที่ช่วยประสานงานการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ด้วยครับ

One thought on “สัมภาษณ์ 2 วิศวกรหูฟัง Sony คุณ Matsushima Kei และคุณ Tatsuyama Shinosuke

  1. Dudedee Sriprachan

    ขอบคุณมากครับ หลายคำถามที่ถามเป็นคำถามที่ผมอยากรู้เช่นกันครับ

    Reply

Leave a Reply