Performance
ผมได้ซื้อ KD-43X8000H มาเพื่อทดแทนทีวีแบบ CRT ตัวเก่าที่เริ่มทำงานได้ไม่ค่อยดี การใช้งานหลักของทีวีเครื่องนี้คือไว้ดูรายการโทรทัศน์และ YouTube และอาจจะเอาไว้ดูวิดีโอที่ใส่ไว้ใน USB บ้างบางโอกาส
ประสบการณ์เริ่มต้นใช้งานนั้น ตัว Android TV ยังให้ประสบการณ์ที่ง่ายและตรงไปตรงมาเช่นเดิม แต่ด้วย SoC รุ่นใหม่และ RAM ที่ให้มาเยอะกว่า BRAVIA ปี 2015 ทำให้การใช้งานนั้นลื่นไหลและตอบสนองต่อการกดปุ่มบนรีโมทได้ดีกว่ารุ่นเดิม รวมทั้งการใช้งาน Google Assistant ที่รองรับภาษาไทยและใช้งานได้คล่องเหมือนกับตอนใช้บนสมาร์ทโฟนด้วย
อย่างไรก็ตาม จุดที่ไม่ได้มีการพัฒนาขึ้นมาเลยคือคีย์บอร์ดเสมือน ซึ่งใน Android TV 9 จะมาพร้อมกับคีย์บอร์ด Gboard ซึ่งการใช้งานค่อนข้างดี แต่ไม่มีภาษาไทยมาให้ และ International Keyboard ซึ่งใช้งานได้ไม่คล่องตัวเท่า แต่พอจะใช้คีย์บอร์ดแอพ TV SideView บนสมาร์ทโฟนพิมพ์เข้ามาแทนได้ นอกจากนี้แอพ YouTube ยังไม่สามารถใช้แอพคีย์บอร์ดนอกในการพิมพ์ค้นหาได้ จำกัดเพียงคีย์บอร์ดภาษาอังกฤษภายในแอพซึ่งจัดเรียงอักษรไม่ดีและการสั่งการด้วยเสียงเช่นเดิม
การรับสัญญาณโทรทัศน์ทำได้ดี ตัวทีวีสามารถจูนช่องสัญญาณได้ครบทุกช่องจากเสาอากาศดิจิทัลภายนอก สัญญาณภาพมีขาดหายบ้างในช่วงที่ลมแรงหรือฝนตกหนัก คุณภาพของภาพจัดว่าดีทีเดียวสำหรับการรับชมระยะ 2 เมตรขึ้นไป ความสามารถ PIP ของโทรทัศน์สามารถทำงานได้สมบูรณ์ แต่ PIP อาจจะถูกปิดกรณีดูวิดีโอในแอพอื่นในบางครั้ง
ช่องสัญญาณ HDMI ของทีวีรองรับการแสดงผลภาพ HDR มาตรฐาน HDR10, HLG และ Dolby Vision ได้ถึงความละเอียด 4096 x 2160 พิกเซลที่เฟรมเรต 60 Hz เมื่อเปิด Enhance Format ที่ Settings ผมเองได้นำ ThinkPad X1 Extreme Gen 2 ไปต่อก็พบว่าสามารถเปิดใช้งานส่งสัญญาณภาพแบบ HDR10 และสตรีมเสียง Dolby Atmos ออกไปถอดรหัสที่ทีวีได้ แต่ผมยังหาวิธีทำให้ส่งสัญญาณภาพ Dolby Vision จาก ThinkPad ไปยังทีวีได้ เลยยังไม่มีโอกาสลองความสามารถนี้
อย่างไรก็ตามทีวี BRAVIA ตระกูล X8000H จะไม่รองรับความสามารถใหม่จากมาตรฐาน HDMI 2.1 คือ 4K120, eARC, VRR และ ALLM ใครที่จะซื้อทีวีเผื่อไว้ใช้งานกับเครื่องเล่นเกมยุคใหม่อย่าง PlayStation 5 แนะนำให้ขยับขนาดหน้าจอขึ้นแล้วไปเล่นตระกูล X9000H แทน
การแสดงผลภาพ X8000H ยังคงมี Picture Mode หลักให้เลือก 3 แบบ คือ Standard ที่เน้นสีสันและความคมชัดที่เป็นธรรมชาติ Cinema ที่ให้ภาพโทนอุ่นและลดการประมวลผลภาพต่าง ๆ ลงเพื่อให้ภาพใกล้เคียงต้นฉบับที่สุด และ Vivid ที่ให้ภาพโทนเย็น เน้นสีสันสดใสและความคมชัดสูง ลักษณะภาพของทั้ง 3 โหมดจะไม่ได้มีการปรับแต่ง, เพิ่มความละเอียด หรือลดสัญญาณรบกวนจนดูไม่สมจริงหรือลอยขึ้นมา
นอกจาก 3 โหมดนี้แล้วยังมีโหมดอื่น ๆ ที่จะปรากฏขึ้นมาตอนที่ใช้งานแอพบางอย่างหรือดูภาพจากอุปกรณ์อื่น เช่น Photo, Graphics, Games และ Custom หากใครที่ไม่ชอบการตั้งค่าที่ให้มา ก็สามารถปรับแต่งภาพและตัวประมวลผลต่าง ๆ สำหรับโหมดภาพแต่ละโหมดได้
การตอบสนองของภาพนั้นทำได้ดีตามมาตรฐานของจอ 60 Hz ตัวทีวีเองมี MotionFlow XR 200Hz เพื่อช่วยให้ภาพเคลื่อนไหวดูเรียบเนียนขึ้น แต่ถ้าดูภาพยนตร์แนะนำให้ปรับเพียง Smooth หรือปิดจะทำให้ภาพดูสมจริงกว่า
การแสดงผลวิดีโอ HDR นั้น ตัวทีวีจะปรับความสว่างขึ้นมาเต็มที่ ภาพที่แสดงผลนั้นดูมีมิติไม่แบน การแสดงผลส่วนมืดสามารถทำได้ดี แต่ยังพอจับได้ว่ายังมืดไม่สนิทหากภาพที่แสดงตอนนั้นเป็นสีดำทั้งจอ ส่วนภาพที่สว่างก็สามารถแสดงผลได้ดีเช่นกัน เพียงแต่ความสว่างอาจจะไม่สมจริงเนื่องจากข้อจำกัดของฮาร์ดแวร์เอง ส่วนตัวเป็นคนไม่ค่อยเปิดทีวีสว่างมากก็คิดว่าความสว่างเท่านี้เพียงพอต่อการชมแล้ว
ส่วนการชมวิดีโอ HDR แบบ Dolby Vision นั้นไม่ได้แตกต่างจากการชมวิดีโอ HDR แบบปกติ เพียงแต่ทีวีจะมี Picture Mode สำหรับ Dolby Vision ไว้ 3 ตัวคือ Dolby Vision Bright สำหรับการชมวิดีโอในสภาพแสงสว่างปกติและะ Dolby Vision Dark สำหรับการชมวิดีโอในที่มืดเช่นเดียวกับอุปกรณ์ที่รองรับ Dolby Vision อื่น และ Vivid คล้ายกับ ThinkPad X1 Extreme Gen 2 ที่เคยรีวิวไป
การตั้งค่าสีของโหมด Dolby Vision จะมีโทนอุ่นกว่าโหมด Standard เล็กน้อย และปิดหรือลดการตั้งค่าตัวประมวลผลภาพให้น้อยที่สุดเพื่อให้ได้ภาพเหมือนกับต้นฉบับจริง ซึ่งส่วนตัวสีสันต่าง ๆ ทำออกมาได้ดีพอ ๆ กับโหมด HDR ที่เปิดตัวประมวลผลต่าง ๆ เลย
เรื่องระบบเสียง ทาง Sony ได้ชูจุดขายระบบเสียง Dolby Atmos กับทีวีตระกูล X8000H ในปีนี้ ทำให้เราสามารถถอดรหัสเสียง Dolby Atmos จากแอพที่ใช้ระบบเสียงนี้อย่าง Tidal หรือ Apple TV ได้จากตัวทีวีโดยตรง
ในส่วนการตั้งค่า เราสามารถตั้งค่าเอฟเฟกต์เสียงรอบทิศทาง (Surround), Equlizer แบบ 7 ย่านความถี่ และ Dialog Enhancer สำหรับเน้นเสียงพูดหรือบรรยาย แต่จะไม่มีตัวประมวลผลเสียงเฉพาะของ Sony อย่าง ClearAudio+, DSEE หรือ S-Force Front Surround มาให้
เสียงจากลำโพง Bass Reflex กำลังข้างละ 10 วัตต์นั้นสามารถตอบโจทย์ในการดูรายการโทรทัศน์และ YouTube ลักษณะเสียงของลำโพงเน้นไปที่ย่านความถี่กลางเป็นหลัก เสียงพูดเสียงบรรยายมีความคมชัด ฟังดูไม่อู้อี้ เสียงแหลมทำออกมาใช้ได้ แต่ไม่ได้ใสกิ๊งแบบเครื่องเสียง Hi-Res Audio เสียงเบสทำได้พอใช้ตามข้อจำกัดทางกายภาพ ใครอยากได้เสียงเบสแน่น ๆ ลงย่านความถี่ต่ำได้ลึก ๆ คงต้องหาลำโพงภายนอกต่อเอา
ส่วนมิติเสียงนั้น ผมคิดว่ายังฟังดูค่อนข้างแคบไปหน่อย ถึงแม้จะแยกเสียงซ้าย – ขวาได้ดีก็ตาม และการเปิดเอฟเฟกต์ Surround ก็เพียงช่วยให้เสียงพูดหลักเด่นขึ้นมาโดยผลักเสียงอื่นให้ฟังดูห่างออกไป แต่ถ้าเป็นระบบเสียงรอบทิศทางแท้ ๆ อย่าง Dolby Digital หรือ Dolby Atmos ก็จะเพิ่มความกว้าง, การแยกรายละเอียด และการเคลื่อนไหวของแหล่งกำเนิดเสียงได้ดีขึ้น
การเปิดไฟล์สื่อต่าง ๆ ที่บันทึกอยู่ในไดร์ฟ USB ตัวแอพ Media ได้มีการปรับปรุงจากแอพ Album และ Video เดิม คือเพิ่มเติมวิธีการจัดเรียงไฟล์และการแสดงผลไฟล์ในโฟลเดอร์ เพิ่มการรองรับประเภทไฟล์ที่เปิดได้และการถอดรหัสมากขึ้น แต่ผมเองยังพบว่าตัวแอพไม่สามารถเปิดไฟล์ MP4 ที่เข้ารหัสแบบ H.264 หรือ H.265 และไฟล์ Subtitle บางชนิดได้ ซึ่งผมเองก็เปลี่ยนไปใช้แอพ VLC Player เปิดแทน
ส่วนฟังก์ชั่น DLNA นั้นยังสามารถทำงานได้ตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น ตัวทีวีสามารถเล่นไฟล์ภาพและวิดีโอ HDR ที่ผมถ่ายด้วย Xperia 1 ได้อย่างไม่มีปัญหา แต่ตัวทีวีไม่สามารถถอดรหัสเสียง Dolby Atmos จากวิดีโอตัวอย่าง Spider Man ที่เป็นเดโมของ Xperia 1 ได้ ทั้งที่ไฟล์นี้สามารถเล่นได้ปกติเมื่อนำไปใส่ไดร์ฟ USB แล้วเล่นด้วยแอพ Media
จุดเด่นอีกอย่างที่เพิ่งถูกเพิ่มเติมให้กับ BRAVIA X8000H เมื่อต้นเดือนนี้คือแอพ Apple TV ซึ่งการใช้งานไม่ได้วุ่นวายอะไร เพียงแค่ Sign in บัญชี Apple ID ของเรา ตัวแอพก็พร้อมให้เราดูวิดีโอที่เราเช่าหรือซื้อเอาไว้ ส่วนตัวผมเองมีสมาชิก Apple TV+ อยู่ ก็สามารถเลือกชมวิดีโอในบริการได้เลย ตัวทีวีรองรับระบบภาพ Dolby Vision และระบบเสียง Dolby Atmos หากวิดีโอที่เราชมนั้นเข้ารหัสในรูปแบบดังกล่าว
ส่วนระบบ AirPlay นั้นสามารถใช้งานได้ดี การใช้งานไม่วุ่นวายซับซ้อนเหมือนกับ Google Cast แต่จะต้องมีการใส่ Passcode ที่อุปกรณ์เสียก่อน จึงจะสามารถนำวิดีโอขึ้นมาเล่นบนหน้าจอได้ นอกจากนี้เรายังสามารถแสดงผลภาพหน้าจอที่ทีวีได้ด้วย ซึ่งจากการใช้งานด้วย iPad 6th generation พบว่าสามารถใช้งานได้ดี มีความหน่วงของภาพไม่มาก
เรื่องประสิทธิภาพของตัวทีวี ถึงแม้การเปิดแอพต่าง ๆ จะดูรวดเร็วและลื่นไหล แต่ผลทดสอบจาก 3DMark คะแนนได้ออกมาน้อยกว่าสมาร์ทโฟนเรือธงอยู่มาก (Xperia 1 ที่เคยรีวิวไปสามารถทำทดสอบ Sling Shot ได้ 4,795 คะแนนและ Sling Shot Extreme ได้ 3,903 คะแนน) ส่วนตัวคิดว่าหากจะเล่นเกมแนะนำให้หาเกมคอนโซลหรือเอาคอมพิวเตอร์มาต่อจะดีกว่า
ส่วนปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้งานอื่น ๆ ผมเองเจอแอพ Media ค้างและปิดตัวเองเวลาที่ต้องโหลดรายการไฟล์และ Thumbnail ของไฟล์ในไดร์ฟเป็นจำนวนมาก ซึ่งผมเลี่ยงโดยการรอให้ทีวีโหลดข้อมูลในแฟลชไดร์ฟก่อนที่จะกดเข้าไปในแอพ และเอฟเฟกต์ Surround ไม่ยอมทำงานในแอพ Tidal กับเพลงที่เข้ารหัสเป็น Dolby Atmos หากตั้ง Auto ไว้ ผมต้องมาเปิดใช้งานเอฟเฟกต์แทน ถึงแม้จะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ส่วนตัวคิดว่ามันสร้างความจุกจิกในการใช้งาน
Conclusion
จากการใช้งาน BRAVIA KD-43X8000H มาประมาณ 2 เดือน ผมคิดว่าตัวทีวีมีฟังก์ชั่นการทำงานตามที่ทีวียุคนี้ควรจะมี เช่น ระบบภาพ HDR, การถอดรหัสเสียงรอบทิศทาง, การรองรับไฟล์สื่อในรูปแบบต่าง ๆ และอุปกรณ์ต่อพ่วงต่าง ๆ ผ่านพอร์ต HDMI และสามารถตอบโจทย์ผู้ใช้งานทีวีทั่วไปที่เน้นการชมรายการโทรทัศน์และบริการสตรีมมิ่งยอดนิยมต่าง ๆ รวมทั้งผู้ใช้งานอุปกรณ์ Apple ที่สามารถใช้ความสามารถ AirPlay และบริการ Apple TV บนทีวีได้อย่างเต็มรูปแบบ
อย่างไรก็ตาม ผมเองก็เสียดายที่ความสามารถบางอย่างของทีวีนั้นถูกนำออกไป เช่น Miracast และตัวประมวลผลเสียงของ Sony หรือถูกสงวนให้กับ BRAVIA รุ่นสูงกว่า เช่น A2DP ผมเข้าใจว่าความสามารถบางอย่างอาจจะไม่เป็นที่นิยมใช้งาน แต่ความสามารถอย่าง A2DP ผมเองมองว่ามันเป็นการบีบให้ผู้ใช้ต้องไปซื้อทีวีรุ่นสูงกว่าหากต้องการใช้งานความสามารถดังกล่าว
สรุป ใครที่กำลังมองหาสมาร์ททีวีขนาดเล็กเพื่อการรับชมทีวีและบริการสตรีมมิ่งยอดนิยมต่าง ๆ BRAVIA KD-43X8000H นั้นก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจครับ
Like
- ส่วนติดต่อผู้ใช้ที่ใช้งานง่ายและลื่นไหล
- คุณภาพของภาพที่เน้นความเป็นธรรมชาติและสมจริง
- รองรับระบบภาพ HDR ยอดนิยม (Dolby Vision, HDR10 และ HLG)
- สามารถถอดรหัสเสียง Dolby Atmos ได้ในตัวทีวีเอง
- Chromecast และ AirPlay ทำงานได้อย่างราบรื่น
- แอพ Apple TV
Don’t like
- คีย์บอร์ดเสมือนที่ยังใช้พิมพ์ภาษาไทยได้ไม่สะดวก
- แอพ Media ยังเปิดไฟล์วิดีโอบ้างไฟล์ไม่ได้หรือไม่สมบูรณ์
- SoC ที่มีประสิทธิภาพไม่สูงพอในการรันแอพที่เน้นกราฟิกหนัก ๆ
- Bluetooth ของทีวีไม่รองรับ A2DP
- ไม่รองรับความสามารถใหม่ของมาตรฐาน HDMI 2.1