ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีด้านเสียงที่น่าสนใจในช่วงนี้ คงจะหนีไม่พ้นระบบเสียงรอบทิศทาง 3 มิติที่ออกแบบมาสำหรับหูฟังหรือลำโพงขนาดเล็กอย่าง 360 Reality Audio จากผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และค่ายเพลงอย่าง Sony และ Dolby Atmos จากผู้สร้างระบบเสียงรอบทิศทางที่เราคุ้นเคยอย่าง Dolby
วันนี้ RE.V-> จะขอมาเล่าถึงประสบการณ์ในการฟังเพลงระบบเสียงรอบทิศทาง 3 มิติทั้งสองระบบบนบริการฟังเพลงสตรีมมิ่ง TIDAL ครับ
ในการฟังเพลงระบบเสียง 3 มิติครั้งนี้ ผมใช้โทรศัพท์ Sony Xperia 1 ซึ่งเป็นโทรศัพท์ที่รองรับระบบเสียง Dolby Atmos และหูฟัง Sony WH-XB900N ซึ่งรองรับระบบเสียง 360 Reality Audio และสมัครใช้บริการ TIDAL HiFi เพื่อสามารถเข้าถึงเพลงในรูปแบบ 360 Reality Audio และ Dolby Atmos ได้
Contents
ก่อนที่จะเล่าถึงประสบการณ์การฟังเพลง ผมขอเขียนถึงเพลงต่าง ๆ ที่มีให้ฟังในระบบเสียงทั้ง 2 รูปแบบเสียก่อน ซึ่งสำหรับคนที่เป็นสมาชิก TIDAL แบบ HiFi อยู่แล้ว สามารถไปที่แถบ Explore แล้วเลือกหมวดเพลงของ Dolby Atmos และ 360 Reality Audio ได้เลย
เพลงที่มีให้ฟังในระบบเสียง 360 Reality Audio นั้น เท่าที่สังเกตจะเป็นเพลงจากค่าย Sony Music เป็นหลัก (แน่นอนล่ะ) เพลงส่วนมากมักจะเป็นเพลงเก่าที่ถูกนำมามิกซ์ใหม่ให้อยู่ในรูปแบบสามมิติ ซึ่งถึงแม้เพลงจะเก่า แต่ก็เป็นเพลงจากศิลปินชื่อดังที่คนมีอายุหน่อยจะรู้จักกัน เช่น John Mayer, Incubus, Santana, และ Earth, Wind & Fire รวมทั้งเพลงที่นิยมนำมาใช้ในการทดสอบเครื่องเสียงอยู่แล้ว เช่น Watermelon Man ของ Herbie Hancock และ Take Five ของ Dave Brubeck
ส่วนเพลงน่าจะใหม่จริง ๆ ที่ไม่ใช่เอาเพลงเก่ามามิกซ์ใหม่ แบบ Space Oddity ของ David Bowie ก็น่าจะเป็น EP Chemical จากกลุ่มศิลปินอิเล็กทรอนิกส์ The Glitch Mob และพวกบันทึกการแสดงสดในหมวด TIDAL X บางงาน
ส่วนเพลงที่มีให้ฟังในระบบเสียง Dolby Atmos นั้น จะเป็นเพลงจากศิลปินที่มีความร่วมมือกับทาง Dolby เช่น The Weeknd, Lady Gaga, Ariana Grande ซึ่งมักจะเป็นศิลปินที่ค่อนข้างใหม่กว่าทางฝั่งของ 360 Reality Audio และอัลบั้มเพลงที่เคยออกเป็นเวอร์ชั่นเสียงรอบทิศทางในรูปแบบอื่นมาแล้ว เช่น อัลบั้ม 3-D THE CATALOGUE ของ KRAFTWERK ซึ่งเคยออกเวอร์ชั่นสามมิติสำหรับหูฟังในรูปแบบ Audio CD มาแล้ว
Set Up
ในการฟังเพลงระบบเสียง 360 Reality Audio นั้นไม่ได้ต้องการอุปกรณ์เพิ่มเติมเป็นพิเศษ เพียงแต่เราต้องฟังเพลงผ่านแอพ TIDAL บนสมาร์ทโฟนที่รองรับเท่านั้น
แต่หากเราใช้หูฟังของ Sony รุ่นที่รองรับ 360RA สามารถทำการถ่ายรูปเพื่อวิเคราะห์ใบหูและส่งข้อมูลให้แอพ Tidal ด้วยแอพ Sony | Headphones Connect เมื่อแอพ TIDAL ได้ข้อมูลแล้ว ก็จะทำการ Optimize ข้อมูลที่ได้รับมาเพื่อไว้ใช้งานกับหูฟังคู่นั้น หากเราใช้หูฟังของ Sony หลายรุ่น เราสามารถเลือกรุ่นหูฟังที่ใช้งานอยู่ได้ที่ที่เมนู 360 Reality Audio ใน Settings ของแอพ TIDAL
ส่วนการตั้งค่าของตัวหูฟังเองนั้น ตัวแอพจะแนะนำให้ปิดการปรับแต่งเสียง Sound Position Control, VPT และ Equalizer เพื่อให้ได้ยินเสียงในรูปแบบสามมิติอย่างถูกต้อง
นอกจากนี้หากใช้โทรศัพท์ที่ใช้รองรับระบบเสียงd Dolby Atmos เช่น Xperia 1 เราจะต้องปิดระบบเสียง Dolby Atmos ด้วย เพราะการปรับแต่งเสียงของ Dolby จะไปรบกวนเสียงที่เราจะได้ยิน
ส่วนการฟังเพลงแบบ Dolby Atmos นั้น เราต้องฟังเพลงผ่านแอพ TIDAL บนสมาร์ทโฟน Android โทรทัศน์ Android TV หรือ Apple TV 4K ที่รองรับระบบเสียง Dolby Atmos
ในกรณีการเล่นเพลงบน Xperia 1 เมื่อเราเล่นเพลงในระบบเสียง Dolby Atmos โทรศัพท์จะเปิดใช้งาน Dolby Atmos ของตัวโทรศัพท์ให้โดยอัตโนมัติ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เปิดใช้งานมันก่อนที่จะเล่นเพลงดังกล่าวไว้ก็ตาม
นอกจากนี้เรายังสามารถสตรีมเพลงจากแอพไปยังลำโพงหรือ AV Receiver ที่รองรับระบบเสียง Dolby Atmos เพื่อให้ได้ยินเสียงรอบทิศทางผ่านลำโพงได้ด้วย
Experience
ในการทดลองฟังเพลงในทั้ง 2 ระบบเสียง ผมพยายามเลือกเพลงที่ผมรู้จักและชอบมาฟัง เพื่อที่จะได้เปรียบเทียบกับเพลงในรูปแบบปกติที่เคยฟังมา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ว่าเพลงที่ผมเลือกมานั้นจะมีแค่ในระบบเสียงสามมิติแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น เราจึงไม่สามารถนำระบบเสียงทั้งสองมาเปรียบเทียบกันตรง ๆ ได้ นอกจากเล่าถึงประสบการณ์การฟังเพลงดังกล่าวในระบบเสียงนั้นให้อ่านกัน
ในการฟังเพลงระบบเสียง 360 Reality Audio นั้น ผมได้เลือกเพลงยอดนิยมในการทดสอบระบบเสียงอย่าง Watermelon Man และ Take Five ขึ้นมาฟังเป็นเพลงแรก ๆ เลย ซึ่งการฟังเพลงทั้งสองนี้ในรูปแบบระบบเสียงสามมิตินั้นให้ประสบการณ์ที่แปลกใหม่มาก มิติเสียงฟังดูกว้าง เสียงเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นจะอยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ แบบสามมิติ รวมทั้งสามารถเคลื่อนที่ไปมาแบบสามมิติด้วย เสียงเบสนั้นให้ความรู้สึกถึงความกว้าง – แคบได้ดีกว่าการมิกซ์แบบสเตอริโอมาก
แต่สำหรับเพลงแนวอื่น ๆ เช่น ป็อปหรือร็อคอย่าง Toxic ของ Britney Spears, Bigger Than My Body ของ John Mayer หรือ A Crow Left of the Murder ของ Incubus นั้น ดูเหมือนว่าเขาจะมิกซ์เสียงร้องให้อยู่ตรงหน้าเรา แล้วให้เครื่องดนตรีอื่นอยู่ในตำแหน่งล้อมตัวเรา ซึ่งฟังแล้วมันดูกลวง ๆ ไม่ค่อยมีพลัง ฟังไม่สนุกเท่าตัวมิกซ์สเตอริโอปกติเท่าไร
ข้อสังเกตของเพลงในระบบเสียง 360 Reality Audio อีกอย่างคือ ความดังของเสียงนั้นรู้สึกเบากว่าตัวมิกซ์สเตอริโอมาก แนะนำคนที่ฟังเพิ่มความดังเสียงให้มากกว่าปกติเพื่อจะได้ฟังเพลงอย่างชัดเจนมากขึ้นครับ
ส่วนทางฝั่งระบบเสียง Dolby Atmos นั้น มีเพลงป็อปและเพลงร็อคที่ถูกใจเด็ก 90 อย่างผมมากกว่า ทำให้การเลือกเพลงมาฟังเปรียบเทียบกับแบบสเตอริโอได้ง่ายกว่า ส่วนตัวผมคิดว่าการมิกซ์เพลงทางฝั่ง Dolby จะไม่ค่อยเน้นการวางตำแหน่ง 3 มิติมากเท่าทางฝั่ง 360 Reality Audio แต่ใช้ระบบเสียง 3 มิติในการเสริมประสบการณ์ฟังเพลงแบบสเตอริโอเดิมมากกว่า เช่น เสียงเปียโนในเพลง This Love ของ Maroon 5 ที่จะถูกแพนไปมาในแบบสามมิติเสริมกับเสียงร้องและเสียงกีต้าร์
ในแง่ของระบบเสียงสามมิติ เพลงที่ผมเลือกฟังเลยไม่ค่อยให้ความรู้สึกถึงความเป็นสามมิติมากนัก นอกจากการแยกรายละเอียดเสียงที่ฟังดูชัดเจนกว่า มิติที่กว้างกว่าสเตอริโอนิดหน่อย แต่พอบทจะให้มีลูกเล่นนี้โผล่มา ก็มาแบบเล่นใหญ่เลย เช่น ท่อนอินโทรของเพลง I feel it coming ของ The Weeknd ที่เสียงให้ความรู้สึกแคว้งคว้าง วนเวียนรอบตัวเลยทีเดียว
นอกจากหูฟัง WH-XB900N แล้ว ผมยังได้ลองนำหูฟังอย่าง MDR-1ABT และ XBA-N3 ต่อกับตัวแปลงแจ็คหูฟัง มาใช้ในการฟังเพลงสามมิติทั้งสองระบบเสียงด้วย หากไม่นับเรื่องแนวเสียงหรือคุณสมบัติของตัวหูฟังเอง ระบบเสียงสามมิติทั้งสองก็ยังให้ประสบการฟังเพลงแบบสามมิติที่ดีให้ได้อยู่ อย่างไรก็ตามผมคิดว่าหูฟังที่ออกแบบให้รองรับ 360 Reality Audio อย่าง WH-XB900N ที่ผมนำมาใช้นั้น มีความแม่นยำในเรื่องของตำแหน่งของเสียงมากกว่า เมื่อใช้ฟังเพลงในรูปแบบ 360 Reality Audio เมื่อเทียบกับหูฟังทั้งสองตัวที่ผมนำมาใช้ฟังเพลงด้วย
Conclusion
จากที่เกริ่นไปตอนต้นแล้วว่า ผมไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบระบบเสียงทั้ง 360 Reality Audio และ Dolby Atmos ได้ เพราะผมเองยังไม่เจอเพลงที่มีให้ฟังในทั้งสองระบบเสียงนี้ แต่ถ้าให้เปรียบเทียบในแง่วิธีการมิกซ์เสียง ส่วนตัวผมชอบวิธีการมิกซ์ของเพลงทางฝั่ง Dolby Atmos ที่มีความเป็นเพลงมากกว่าเพลงทางฝั่ง 360 Reality Audio ที่เน้นแสดงความสามารถทางสามมิติ ซึ่งการมิกซ์แบบนี้อาจจะไม่เหมาะกับทุกแนวเพลงเสมอไป
ส่วนในแง่การใช้งาน ตอนนี้ผมคิดว่า Dolby Atmos ทำได้ดีกว่า เพราะเราสามารถฟังเพลงได้จากทั้งหูฟังและสตรีมไปเล่นที่ลำโพงหรือรีซีฟเวอร์ที่ถอดรหัส Dolby Atmos ได้ ส่วน 360 Reality Audio นั้นปัจจุบันยังคงจำกัดที่หูฟัง ถึงแม้ว่า Sony จะได้เปิดตัวลำโพงไร้สายต้นแบบที่จะรองรับระบบเสียงดังกล่าวที่งาน CES ไปเมื่อต้นปีก็ตาม
สรุป ผมคิดว่าเทคโนโลยีการฟังเพลงแบบสามมิตินั้นน่าสนใจและช่วยสร้างประสบการณ์ในการฟังเพลงใหม่ ๆ ได้ ถ้าใครใช้บริการสตรีมเพลงที่มีระบบเสียงสามมิติอยู่แล้วอย่าง TIDAL และมีอุปกรณ์พร้อม ก็แนะนำให้ทดลองฟังดูเพื่อเปิดรับประสบการณ์รูปแบบใหม่ครับ
Pingback: รีวิว หูฟังไร้สายตัดเสียงรบกวน Sony WH-1000XM4 เมื่อจ่าฝูงขยับตัวทิ้งห่างผู้ตามอีกครั้ง | RE.V –>