รีวิว Sony MDR-1ABT หูฟัง Bluetooth ก็เล่น Hi-Res ได้นะ

Sony MDR-1ABT

สวัสดีปีใหม่ผู้อ่านทุกท่านครับ วันนี้ RE.V-> ขอนำรีวิว Sony MDR-1ABT หูฟังที่รองรับการเล่นเสียงความละเอียดสูงผ่าน Bluetooth ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญกันในหมู่ผู้ใช้ทั่ว ๆ ไปที่ต้องการหูฟังที่มีคุณภาพ และเหล่านักฟังที่จริงจังในการฟังเพลงครับ

Package

Sony MDR-1ABT

กล่องของ MDR-1ABT จะเป็นปลอกกระดาษที่สวมทับกล่องสีดำด้านในอีกที งานออกแบบคงจะคุ้นเคยกันดีแล้ว เพราะเรารีวิวสินค้าตระกูล Hi-Res ประจำปี 2014 – 2015 ของ Sony ไปหลายชิ้นแล้ว

Sony MDR-1ABT

ด้านหลังกล่องจะระบุคุณสมบัติสั้น ๆ ของหูฟัง A2DP codec ที่รองรับ และอุปกรณ์เสริมที่ให้มา

จากข้อมูลบนกล่อง MDR-1ABT รองรับ A2DP codec ทั้ง SBC, AAC, aptX และ LDAC เรียกได้ว่ารองรับ codec ที่ดีที่สุดของอุปกรณ์ที่วางจำหน่ายอยู่ในตอนนี้ สำหรับข้อมูล codec แต่ละตัว สามารถอ่านได้จากบทความนี้ครับ

Sony MDR-1ABT

ตัวหูฟังจะนอนอยู่ในเบ้าพลาสติกที่หุ้มด้วยผ้า ส่วนอุปกรณ์เสริมและคู่มือจะถูกเก็บใต้ฝากล่อง

Sony MDR-1ABT

อุปกรณ์เสริมที่ให้มา มีสายชาร์จ Micro USB – USB 1 เส้น สายหูฟัง 3.5 มม. 1 เส้น กระเป๋าใส่หูฟัง และคู่มือการใช้งาน

Product

Sony MDR-1ABT

งานออกแบบของหูฟังตระกูล MDR-1A นั้น ถึงแม้ว่าจะมีพื้นฐานมาจาก MDR-1R รุ่นก่อนหน้า แต่ทีมออกแบบก็ได้มีการปรับปรุงและออกแบบตัวหูฟังใหม่ในหลาย ๆ จุด ทำให้หูฟังเบาและมีขนาดกะทัดรัดมากขึ้น

Sony MDR-1ABT

ที่คาดหัว ยังใช้วัสดุสังเคราะห์หุ้มเหมือนสมัย MDR-1R แต่ได้มีการปรับรัศมีกว้างขึ้นกว่าเดิม

Sony MDR-1ABT

ก้านของหูฟังยังคงทำจากโลหะเช่นเดิม แต่ได้ขัดพื้นผิวให้ดูมันวาวมากขึ้น ช่วยเสริมหน้าตาของหูฟังให้ดูดีขึ้น

Sony MDR-1ABT

แพดหูฟังใช้เทคนิคการตัดเย็บแบบ 3 มิติเหมือนกับ MDR-Z7 เพื่อให้แพดส่วนด้านหลังใบหูมีความหนามากกว่าด้านหน้า ทำให้การสวมใส่สบายและป้องกันเสียงรบกวนได้เป็นอย่างดี

ด้านบนของคัพเป็นที่อยู่ของช่องอากาศของเทคโนโลยี Beat Response Control ที่ช่วยการตอบสนองของเสียงย่านความถี่ต่ำ และทางคัพด้านซ้ายจะมีรูสำหรับใช้จิ้มเพื่อ Reset ตัวหูฟัง ในกรณีที่หูฟังมีปัญหา

Sony MDR-1ABT

ขณะที่ MDR-1A ตัวปกติ จะมีการทำพื้นผิวของตัวคัพคล้ายกับพื้นผิวของกล้อง SLR รุ่นสูง ๆ เพื่อให้ตัววัสดุไม่ดูเป็นพลาสติกมากนัก MDR-1ABT จะเว้นส่วนบริเวณด้านบนของคัพทั้งสองด้านให้เป็นผิวเรียบด้านแทน เพราะในคัพด้านซ้ายจะเป็นตำแหน่งของเสาอากาศ Bluetooth และ NFC ในขณะที่ด้านขวาจะเป็นตำแหน่งของเซนเซอร์สัมผัสแบบ capacitive ที่ใช้ควบคุมการเล่นเพลงและรับสาย แทนก้านโยกขนาดเล็กที่ใช้ใน MDR-1RBT

mdr-1abt-touch-sensor-gestures

การควบคุมด้วยเซนเซอร์สัมผัสนั้น จะมีท่าทางอยู่ 5 แบบด้วยกัน คือ เลื่อนนิ้วไปข้างหน้า – หลัง เพื่อเปลี่ยนเพลง เลื่อนนิ้วขึ้น – ลง เพื่อเพิ่ม – ลดระดับเสียง และแตะตรงกลางเพื่อเล่น – หยุดเพลง และใช้งานฟังก์ชั่นโทรศัพท์

เมื่อเลื่อนนิ้วไปแล้ว เราสามารถที่จะค้างนิ้วไว้ เมื่อเลื่อนไปข้างหน้า – หลัง จะเป็นการกรอเพลงที่ฟังไปข้างหน้าหรือย้อนหลัง เมื่อเลื่อนขึ้น – ลง ระดับเสียงจะค่อย ๆ เพิ่มหรือลดไปเรื่อย ๆ จนสุดขอบเขตเสียงของหูฟัง

Sony MDR-1ABT

ตัวขับของ MDR-1ABT เป็นแบบไดนามิคมีขนาด 40 มม. ใช้วัสดุ Liquid Crystal Polymer เคลือบด้วยอะลูมิเนียมในการทำไดอะแฟรม เช่นเดียวกับ MDR-Z7 และ XBA-Z5 ทำให้การตอบสนองความถี่ทำได้สูงถึง 100,000 Hz

ส่วนสเปกภายในของ MDR-1ABT นั้น รองรับมาตรฐาน Bluetooth 3.0 และ Power Class 2 (กำลังส่งสูงสุด 2.4 mW ครอบคลุมระยะไม่เกิน 10 เมตร) ส่วนภาคขยายหลังจากที่รับสัญญาณเสียงผ่าน Bluetooth มาแล้ว ใช้แอมป์ดิจิทัล S-Master ร่วมกับเทคโนโลยีเพิ่มคุณภาพเสียง DSEE เมื่อสัญญาณเสียงที่เข้ามาเป็น SBC, AAC หรือ aptX

ต่อไป เราไปดูวิธีการใช้งานของ MDR-1ABT กัน

11 thoughts on “รีวิว Sony MDR-1ABT หูฟัง Bluetooth ก็เล่น Hi-Res ได้นะ

  1. Jack

    รบกวนสอบถามหน่อยครับ ไม่ทราบว่า MDR-1ABT ตอนเชื่่อมต่อด้วยบลูทูธสามารถเร่งโวลุ่มได้ดังมากไหมครับ ถ้าเทียบกับ MDR-1RBT ปัจจุบันผมใช้ MDR-1RBT อยู่ เร่งโวลุ่มจนสุดแล้วก็ยังไม่ค่อยดังเท่าไหร่ เวลาเดินตามท้องถนนเนี่ยเสียงเพลงดังสู้เสียงรถราไม่ได้เลย ต้องฟังแบบเสียบสายถึงจะดังสู้ได้ ตอนนี้ไม่ค่อยไว้ใจแอมป์ S-Master เลยครับ ขอบคุณครับ

    Reply
        1. AT1987 Post author

          ไม่แน่ใจว่าใช้ปัญหาเดียวกันไหม แต่จากการใช้งานหูฟัง BT ของ Sony มา ผมเจอว่า การปรับระดับเสียงที่หูฟังจะเป็นการปรับความดังของวงจรขยายในตัวหูฟัง ไม่ใช่ความดังของเสียงจากอุปกรณ์ต้นทางเหมือนหูฟัง BT บางตัวครับ

          ในบางครั้งถ้าเราปรับระดับเสียงที่อุปกรณ์ต้นทางเบา ตัวหูฟังก็ไม่สามารถที่จะเร่งเสียงให้ดังมากได้ แต่ถ้าระดับเสียงที่อุปกรณ์ต้นทางดัง ก็จะสามารถปรับให้ดังมากขึ้นได้

          ซึ่งอุปกรณ์บางตัว เช่น Walkman เขาจะปรับระดับเสียงดังที่สุดส่งให้หูฟังเลย แล้วให้ปุุ่มปรับเสียงไปสั่งปรับเสียงบนตัวหูฟังโดยตรงแทนครับ

          Reply
        2. AT1987 Post author

          ได้ลองปรับระดับเสียงบนเครื่องให้ดังขึ้นก่อน แล้วค่อยปรับระดับเสียงบนหูฟังแล้วหรือยังครับ

          Reply
  2. Jack

    ผมปรับโวลุ่มที่มือถือจนสุดแล้วครับ (ไอคอนระดับเสียงจะมีโลโก้บลูทูธ) คือถ้าฟังเงียบ ๆ อยู่ในบ้านหรือในอาคาร ในห้างก็ถือว่าดังเพียงพอและบางครั้งก็ถือว่าดังเกินไปด้วยซ้ำจนผมต้องลดโวลุ่มลงมาประมาณ 1-2 ระดับครับ แต่ถ้าออกไปเดินตามถนนบางจังหวะมันดังไม่เพียงพอที่จะสู้กับเสียงการจราจร เสียงรถเมล์ เสียงรถบิ๊กไบค์ ครับ อยากจะให้โวลุ่มมันเร่งขึ้นไปได้มากกว่านี้ได้อีกซัก 2-3 ระดับ (แค่ชั่วคราวจนกว่ารถเมล์กับรถบิ๊กไบค์จะแล่นไปไกล ๆ ก็พอครับ) ซึ่งถ้าเทียบกับ Beats Studio Wireless แล้ว Beats Studio Wireless มันเร่งโวลุ่มขึ้นไปได้ดังกว่านี้มากครับ ปรับโวลุ่มแค่ประมาณ 80% ก็ดังจนหูแทบแตกแล้ว จนผมแทบไม่เคยได้ใช้โวลุ่มดังสุดของมันเลย ซื้อหูฟังรอบหน้าผมเล็ง ๆ เจ้า MDR-1ABT ไว้ ถ้าโวลุ่มในโหมดบลูทูธมันดังกว่า MDR-1RBT อีกซักนิดก็จะตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ขอบคุณครับ

    Reply
    1. AT1987 Post author

      ผมฟังเทียบกันดู ระดับเสียงดังพอ ๆ กันครับ

      ถ้ามีปัญหาเรื่องเสียงรบกวนมาก อาจจะลอง h.ear on Wireless NC ตอนที่มีของเข้ามาแล้วดูครับ

      Reply
      1. Jack

        ถ้าดังพอ ๆ กันแบบนี้คงต้องรอดู h.ear on Wireless NC จริง ๆ ด้วยครับ ถึงแม้คุณภาพเสียงอาจจะสู้ MDR-1ABT ไม่ได้ แต่ระบบ Active Noise Cancelling อาจจะพอช่วยตัดเสียงรถบิ๊กไบค์ออกไปได้นิดหน่อย ทำให้ฟังเพลงได้โดยไม่ต้องเร่งโวลุ่มดังมาก ขอบคุณมาก ๆ เลยครับ ^^

        Reply
  3. Pingback: รีวิว หูฟัง Sony MDR-1AM2 หูฟัง Premium โฉมใหม่ไฉไลกว่าเดิม | RE.V –>

  4. Pingback: ลองฟังเพลงในระบบเสียง 360 Reality Audio และ Dolby Atmos ที่ TIDAL | RE.V –>

  5. Pingback: รีวิว แพดหูฟังและปลอกหุ้มที่คาดหัว Geekria สำหรับ MDR-1RBT และ MDR-1ABT | RE.V –>

Leave a Reply to JackCancel reply