Set up
สำหรับการติดตั้งทีวีนั้น ผมได้เลือกที่จะวางทีวีบนชั้น เลยต้องประกอบทีวีเข้ากับตัวขาตั้งที่ให้มาในกล่อง ซึ่งเริ่มต้นมา เราจะต้องประกอบขาตั้งกับตัวยึดเสียก่อน แล้วค่อยยกทีวีลงไปเสียบกับตัวยึด แล้วขันน็อต ก็เป็นอันจบขั้นตอน
สายไฟจะถูกมัดด้วยที่รัดสาย ซึ่งสามารถถอดออกมา เอาไปใส่ในช่องบริเวณช่องต่อสายสัญญาณ เพื่อเอาไปรวบรัดสายที่ต่ออยู่กับทีวีได้
พอเสียบปลั๊กแล้ว ทีวีจะขึ้นหน้าจอการติดตั้งครั้งแรก ซึ่งก็จะคล้าย ๆ ตอนเราได้โทรศัพท์ Android มาใหม่ ๆ คือ ให้ระบุประเทศที่ใช้งาน ตั้งค่าอินเตอร์เน็ต ล็อกอินบัญชี Google ตั้งเวลา จากนั้นก็จะเป็นการตั้งค่าของตัวทีวีเอง เช่น การจูนช่อง การระบุการติดตั้งของทีวี พอตั้งค่าเสร็จ ทีวีก็จะพร้อมใช้งานครับ
สำหรับคำแนะนำในการใช้ทีวีตัวนี้อย่างหนึ่งคือ ปุ่ม Power นั้น จะทำหน้าที่เหมือนกับปุ่มเปิด – ปิดหน้าจอมือถือ คือมันแค่เป็นการสั่ง sleep ทีวีเท่านั้น ถ้าหากต้องการปิดทีวี โดยไม่รอเวลาสั่งปิดอัตโนมัติ ที่ปกติตั้งมาให้ 24 ชม. จะต้องถอดปลั๊กออกอย่างเดียว ซึ่งถ้าทีวีมีการใช้งานบ่อย ก็ไม่แนะนำให้ทำบ่อย ๆ
ส่วนกรณีที่ต้องสั่ง restart ทีวี เช่น เราสามารถกดปุ่ม Power ค้างเอาไว้ 10 วินาที เพื่อสั่ง restart ได้ โดยไม่ต้องถอดปลั๊กเข้า ๆ ออก ๆ
Performance
การใช้งาน Android TV บน Bravia นั้น โดยรวมแล้วค่อนข้างง่าย เพราะในหน้าจอ Home Screen จะมีไอคอนของช่องต่อเข้าทั้งหมด แอพ และเกม กองอยู่บนหน้าจอทั้งหมดให้เห็นอย่างชัดเจนอยู่แล้ว เมื่อใช้งานร่วมกับ Touchpad Remote จึงทำให้เราสามารถไปยังช่องต่อเข้าและแอพต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
เมนู One-Flick Entertainment ที่ Sony เพิ่มเติมเข้ามา โดยเฉพาะเมนู Discoveries ก็ช่วยกลบจุดอ่อนของ Android TV ที่จะหยุดการทำงานของแอพทุกอย่าง เมื่อเรากลับมายังหน้า Home Screen ได้ โดยเฉพาะขณะที่เรากำลังดูรายการทีวี ซึ่งไม่สามารถที่จะกดหยุดพักชั่วคราวได้เหมือนกับการเล่นไฟล์สื่ออื่น ๆ
ความสามารถ Voice Search ที่มากับ Android TV นั้น มีความแม่นยำถอดจาก Android ที่อยู่ในโทรศัพท์เลย คือพอใช้งานได้ และรองรับการใช้งานได้หลายภาษา รวมทั้งภาษาไทยด้วย แต่ถ้าเปลี่ยนมาเป็นภาษาไทย ก็จะไม่สามารถค้นหาเป็นภาษาอื่นได้ ซึ่งถ้าเป็นไปได้ก็น่าจะมีวิธีในการสลับภาษาได้ง่าย ๆ
ส่วนคนที่ไม่สัดทัดกับการใช้ Voice Search ก็ยังสามารถพิมพ์ด้วยคีย์บอร์ดบนหน้าจอได้ ซึ่งก็ยังไม่ค่อยสะดวกในการพิมพ์อะไรยาว ๆ แนะนำให้พิมพ์ผ่านแอพ TV SideView บนโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต ไม่ก็หาคีย์บอร์ด Bluetooth มาใช้งานจะดีกว่า
การแสดงผลภาพของ X8500C ที่ใช้ TRILUMINOS Display นั้น สีสันที่ได้ดูเป็นธรรมชาติมากกว่า Bravia ตัวเดิมที่ผมใช้งานอยู่ โดยเฉพาะการปรับตั้งค่าสีของผม ที่ไม่เน้นเร่งความสว่างและสีสันจนแสบตา เหมือนกับ Picture Mode แบบ Vivid ส่วนคนที่ไม่ถูกใจกับการตั้งค่าของ Picture Mode ต่าง ๆ ที่ Sony เตรียมมาให้ ก็ยังสามารถปรับค่าการแสดงผลอย่างละเอียด ได้ทั้งความสว่าง สี ความคม และการเคลื่อนไหวของภาพ กันได้เช่นเดิม
การตั้งค่าที่ผมคิดว่าเป็นจุดเด่น คือ Reality Creation ที่ช่วยคงความละเอียดของวิดีโอที่ถูกอัพสเกลขึ้นมาในความละเอียดระดับ 4K ซึ่งถ้าวิดีโอที่เปิดมีความละเอียดระดับ Full HD และมีคุณภาพดี ก็จะได้ความละเอียดภาพใกล้เคียงวิดีโอความละเอียดระดับ 4K เมื่อดูจากระยะดูทีวีปกติ อย่างไรก็ตาม ถ้าวิดีโอที่เปิดดู มีคุณภาพไม่ค่อยดี หรือมีการจงใจใส่ noise มาในภาพ ความสามารถนี้ก็จะไปเร่งให้สัญญาณรบกวนพวกนี้แสดงออกมาอย่างชัดเจนขึ้น
การตอบสนองของภาพทำได้ดีตามที่ทีวีสมัยนี้ควรจะทำได้ ผมไม่รู้สึกถึงอาการภาพหน่วงขณะเล่นเกมบน PlayStation 3 เลย ส่วนความสามารถ MotionFlow XR 800Hz ก็ช่วยให้ภาพไหลลื่นมากขึ้นจนบางครั้งก็รู้สึกเหมือนกับการดูวิดีโอที่เฟรมเรต 60 fps เลยทีเดียว
การแสดงผลวิดีโอแบบ 3 มิติของ X8500C นั้นจะใช้ระบบ Active Shutter บนตัวแว่นเหมือนกับ EX750 ที่เคยรีวิวไป ซึ่งแว่นที่สามารถใช้งานร่วมกับความสามารถนี้ได้คือ แว่นรุ่น TDG-BT500A ที่เชื่อมต่อกับทีวีผ่านคลื่นวิทยุ
ภาพ 3 มิติที่ได้นั้น ผมรู้สึกว่าดีกว่า EX720 ที่ผมเคยใช้มาก ปัญหา cross talk ที่เคยเจอ ก็ไม่เจอใน X8500C เลย แต่ก็เสียดายที่ Sony ตัดความสามารถจำลองภาพ 2 มิติเป็น 3 มิติ และการแปลงภาพ 3 มิติเป็น 2 มิติออกไปแล้ว
เสียงที่ออกมาจากลำโพง Bass Reflex ขับด้วยวงจรขยายดิจิทัล S-Master กำลังขับ 10 W ร่วมกับการตั้งค่าเสียงอัตโนมัติ ClearAudio+ นั้น มีมิติเสียงที่กว้าง มีย่านเสียงกลางที่เด่น มีเสียงแหลมที่คมชัด และมีเบสที่ดัง แต่ฟังแล้วไม่ค่อยแน่นเท่าไร
การตั้งค่าเสียงนั้น สามารถปรับได้อย่างละเอียด ทั้ง EQ ความกว้างของเสียงรอบทิศทาง การเน้นเสียงพูด DSEE รวมไปถึงโหมดบีบอัดเสียงสำหรับการดูทีวีตอนกลางคืน เพราะเสียงทีวีตัวนี้ดังมากจริง ๆ ถ้าไม่เปิดโหมดนี้ไว้ จะรบกวนคนที่นอนอยู่มาก
โดยรวมแล้ว ผมคิดว่าเสียงของ X8500C นั้นเพียงพอกับการรับชมรายการทีวี วิดีโอออนไลน์ต่าง ๆ แต่ถ้าอยากได้ยินเสียงมัน ๆ ตอนดูหนัง เล่นเกม หรือเสียงเพราะ ๆ เมื่อฟังเพลง การต่อทีวีกับเครื่องเสียงภายนอกน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า
ส่วนเล่นไฟล์สื่อต่าง ๆ ของ X8500C โดยรวมแล้วจัดว่าเทียบเท่ากับทีวีตัวอื่น ๆ ในสมัยนี้ แต่สิ่งที่ผมประทับใจมาก คือแอพ Music สามารถเล่นไฟล์ความละเอียดสูงได้ด้วย ถึงแม้ว่า Bravia รุ่นนี้จะไม่ใช่รุ่นที่เป็น Hi-Res Audio ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม Media Apps ของ Sony ยังคงมีหลายจุดให้ปรับปรุงกันอีก เช่น คำบรรยายใต้ภาพในแอพ Video ที่อ่านยากในฉากที่มีความสว่างมาก และการเล่นไฟล์วิดีโอบางไฟล์แล้วกระตุก แอพ Album ที่ไม่สามารถเรียงลำดับรูปภาพได้เอง นอกจากการเรียงเอารูปใหม่ขึ้นต้นเสมอ ทำให้เวลาดู slideshow ภาพจะเล่นจากใหม่ไปหาเก่า
แต่ด้วยการที่ระบบปฏิบัติการเป็น Android TV จึงทำให้เราสามารถโหลดแอพใน Play Store มาใช้งานแทนแอพของ Sony เองได้ เช่น VLC Player สำหรับเล่นไฟล์วิดีโอที่มีปัญหาเป็นต้น
ความสามารถชูโรงอีกอย่างของ Android TV คือเรื่องของการเล่นเกม ซึ่ง Sony เองก็ได้เตรียมไดร์เวอร์ของจอย Dualshock 4 พร้อมตัวตั้งค่าปุ่มใหม่มาด้วย พอดีตอนลองผมมีแต่จอย Dualshock 3 ซึ่งไม่สามารถเชื่อมต่อแบบไร้สายกับทีวีได้ แต่สามารถต่อผ่านสาย USB ได้แทน
ผมได้ลองโหลดเกมที่เป็นกราฟิก 3 มิติอย่าง Modern Combat Blackout จาก Play Store มาทดลองเล่นดู ก็พบว่า SoC ของ X8500C มันช่างมีเรี่ยวแรงที่น้อย จนไม่สามารถเล่นเกมที่ใช้กราฟิกหนัก ๆ ได้เลย ภาพของเกมเหล่านี้โดยรวมก็สวยระดับเกมในมือถือ ซึ่งพอมาขึ้นจอใหญ่ ๆ กลับดูไม่สวยอย่างที่คิด ใครที่ตั้งใจจะเล่นเกมแบบจริงจัง แนะนำให้ซื้อ PlayStation 3 หรือ 4 มาเล่นไปเลย น่าจะดีกว่า
ด้วยความที่ผลงานการเล่นเกมที่เน้นกราฟิกออกมาไม่ประทับใจ ผมเลยถือโอกาสทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องด้วยแอพ AnTuTu Benchmark ทำคะแนนได้ที่ 22,639 คะแนน ซึ่งคิดเป็นคะแนนประมาณ 1 ใน 3 ที่มือถือเรือธงในปีนี้จากค่ายเดียวกันอย่าง Xperia Z5 ทำได้
สำหรับปัญหาระหว่างการใช้งานที่พบนั้น ในช่วงแรก ๆ ที่ผมได้ทีวีมา พบว่ามีปัญหาอยู่บ้าง เช่น เครื่องค้าง เครื่องปิดตัวเอง No video ไม่รับคำสั่งจากรีโมทอินฟราเรด ซึ่งทาง Sony เองก็ได้ออกอัพเดทบ่อยประมาณเดือนละครั้ง เพื่อแก้ปัญหาความเสถียรและเพิ่มความสามารถที่ขาดหายไปจาก Bravia รุ่นปีที่แล้ว ซึ่งความถี่ของปัญหาที่เกิดขึ้นก็ลดน้อยลง จนอยู่ในจุดที่พอรับได้สำหรับอุปกรณ์ Android
ปัญหาอีกอย่างที่ผมเจอคือ แบตเตอรี่ของ Touchpad Remote หมดเร็วมาก คือแค่ประมาณ 1 – 2 อาทิตย์ก็หมดแล้ว ทั้ง ๆ ที่ผมใช้รีโมทตัวนี้ประมาณ 2 วันต่ออาทิตย์ ครั้งละประมาณ 2 – 4 ชม. ซึ่งเข้าใจว่าผมอาจจะได้รีโมทที่มีปัญหามา
Conclusion
ผมใช้เวลากับ Bravia W8500C มาราว ๆ ครึ่งปี ตั้งแต่ช่วงออกวางขายใหม่ ๆ ผมรู้สึกว่าทีวีตัวนี้ยังคงคุณภาพของการแสดงผลที่เป็นจุดเด่นของ Bravia รุ่นก่อนหน้าไว้เป็นอย่างดี แต่ภาคซอฟต์แวร์ที่เปลี่ยนมาใช้ Android TV ผมคิดว่า Sony และ Google เองยังคงต้องทำการบ้านอีกเยอะ ถ้าต้องการจะกลับมาในตลาดห้องนั่งเล่นอย่างจริงจังอีกครั้ง
สรุป ปีใหม่ที่จะถึงนี้ ใครที่กำลังมองหาทีวี 4K ที่ให้คุณภาพของภาพแจ่ม ๆ รองรับการแสดงผล 3 มิติ และสามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ Android และบริการ Play Store ได้ Bravia W8500C จัดเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจตัวนึงครับ
Like
- พาเนล TRILUMINOS Display ที่ให้สีสันเป็นธรรมชาติ
- Reality Creation ที่ช่วยคงรายละเอียดของวิดีโอเมื่อนำมาแสดงบนจอ 4K
- การแสดงผลภาพ 3 มิติทำออกมาได้ดี
- เมนู One-Flick Entertainment
- UI ใช้งานง่าย
- ลงแอพจาก Play Store ได้
Don’t like
- การออกแบบ Media Apps ยังไม่ค่อยเข้าท่าเข้าทางกับการใช้งานจริง
- SoC พลังน้อยกว่าที่คิดมาก ไม่เหมาะกับเกมที่มีกราฟิกหนัก ๆ
- Touchpad Remote กินแบตเตอรี่มาก
- ยังมีปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้างเวลาใช้งาน
Pingback: มารู้จักประเภทของสาย HDMI กันเถอะ (ฉบับ HDMI 2.0) | RE.V –>
Pingback: ผู้ใช้โทรทัศน์ Sony Bravia รุ่นปี 2015 อย่าลืมอัพเดท Android 6.0 และ Hybrid Log-Gamma HDR กัน | RE.V –>
Pingback: รีวิว Sony Handycam FDR-AXP55 กล้องถ่ายวิดีโอระดับ 4K | RE.V –>