Product – Software
Babyface Pro มาพร้อมกับไดร์เวอร์ WDM และ ASIO สำหรับการใช้งานบน Windows ตั้งแต่ Windows 7 ขึ้นไป และ AudioUnit สำหรับการใช้งานบน macOS ซึ่งในรีวิวนี้ ผมจะเขียนถึงการใช้งานบน Windows เพียงอย่างเดียวครับ
ในการใช้งานบน Windows ทาง RME จะมีโปรแกรม Fireface USB Settings เพื่อตั้งค่าการทำงานของตัวเครื่องมาให้ โดยเราสามารถเลือกขนาดบัฟเฟอร์ (มีผลต่อค่า Latency) เลือกรูปแบบการทำงานของแจ็ค TOSLink (ระหว่าง SPDIF หรือ ADAT) ตั้งค่า Sampling Rate เลือก Clock ที่ต้องการจะซิงก์ Sample Rate และความสามารถที่ไม่เจอในอุปกรณ์ทั่ว ๆ ไป คือการปรับ Pitch ด้วย DDS ภายในตัว Babyface Pro เอง สำหรับการใช้งานในบางลักษณะได้
สำหรับการควบคุม Mixer ใน Babyface Pro จะใช้ซอฟต์แวร์ TotalMix FX เช่นเดียวกับ Audio Interface รุ่นพี่ในค่าย โดยเราจะสามารถจัดการ Routing สัญญาณจาก Input และ Software เพื่อออกไปยัง Output ช่องต่าง ๆ ตั้งค่า Loopback ตั้งค่าการทำงานของฮาร์ดแวร์ เช่น การปรับ Gain เปิด Phantom Power รวมทั้งการเปิดใช้เอฟเฟกต์ให้กับช่องสัญญาณที่ต้องการ โดยใน Babyface Pro จะมี Parametric EQ 3 ย่านความถี่ที่ใช้การประมวลผลจากฮาร์ดแวร์ และ Reverb, Echo ที่ใช้การประมวลผลจาก CPU บนคอมพิวเตอร์
TotalMix FX นอกจากจะมีเวอร์ชั่นบนคอมพิวเตอร์แล้ว ทาง RME ยังได้ทำซอฟต์แวร์เวอร์ชั่น iOS สำหรับใช้งานบน iPad อีกด้วย ในกรณีที่เราใช้ Babyface Pro ร่วมกับ iPad แต่ตัวแอพไม่ฟรี ต้องเสียเงินซื้ออีกร้อยกว่าบาท
นอกจากนี้เรายังสามารถควบคุมซอฟต์แวร์ TotalMix FX ของคอมพิวเตอร์ที่ต่อกับ Babyface Pro ด้วยคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นหรือ iPad ผ่านระบบเครือข่ายด้วยซอฟต์แวร์ TotalMix Remote โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
ซอฟต์แวร์อีกตัวที่ RME ใส่มาให้ด้วยคือ DigiCheck ซึ่งเป็นโปรแกรมมิเตอร์วัดและวิเคราะห์ค่าต่าง ๆ ของเสียง เช่น ความดัง มิติเสียง ความถี่ รวมไปถึงข้อมูลบิตของสัญญาณเสียงดิจิทัลเลยทีเดียว
Set up
ในส่วนของการติดตั้งนั้นไม่มีอะไรยุ่งยากมากนัก เพียงแค่ดาวน์โหลดไดร์เวอร์ล่าสุดจากเว็บไซต์ RME เพื่อติดตั้ง จากนั้นเสียบ Babyface Pro เข้าที่พอร์ต USB ของคอมพิวเตอร์ ถ้าไม่ติดปัญหาอะไร Babyface Pro ก็จะพร้อมให้เราได้ใช้งานทันที
อย่างไรก็ตามส่วนที่ผมคิดว่าต้องใช้ความเข้าใจอย่างมากคือการตั้งค่าใน TotalMix FX เพื่อให้เสียงมันออกมาให้เราได้ยินที่ลำโพงหรือหูฟังที่เราต่อไว้ รวมทั้งใช้งานความสามารถต่าง ๆ ของเจ้า Babyface Pro ซึ่งเรื่องนี้ทาง RME ได้เตรียมวิดีโอสอนการใช้งานไว้ที่ช่อง YouTube ของตัวเองแล้ว
สำหรับคนที่ต้องการใช้งาน TotalMix Remote เราจะต้องทำการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ที่ต่อกับ Babyface Pro และ iPad ให้อยู่ในเครือข่ายเดียวกันเสียก่อน จากนั้นให้เปิดการใช้งาน TotalMix Remote Server ในโปรแกรม TotalMix FX บนคอมพิวเตอร์ แล้วนำ IP Address ไปกรอกใน Settings ของแอพ TotalMix Remote บน iPad ก็จะสามารถใช้ iPad ควบคุมการทำงานของ Babyface Pro ได้
Performance
ในการใช้งานจริง ผมได้นำ Babyface Pro มาใช้งานร่วมกับโปรแกรม Sound Forge 11 และ Ableton Live 10 ในการบันทึกเสียงและทำเพลง รวมทั้งใช้ในการผสมเสียงงานวิดีโอด้วยโปรแกรม Vegas ด้วย บนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะประกอบเองและเจ้า VAIO Duo 11
เริ่มต้นการใช้งาน ผมเห็นว่าตำแหน่งช่องเชื่อมต่อต่าง ๆ ที่อยู่รอบเครื่อง รวมทั้งการที่ตัวเครื่องต้องทำหน้าที่เป็นรีโมทควบคุมด้วยนั้น มันดูแปลกจนผมคิดว่า “จะใช้ได้เหรอ” แต่เอาเข้าจริงมันกลับโอเคเลยทีเดียว เพียงแต่เราต้องเผื่อพื้นที่ให้สายมันสามารถงอหลบไม่ให้ขวางมือและของอื่น ๆ บนโต๊ะของเราเท่านั้น
การเชื่อมต่อสายสัญญาณต่าง ๆ ทำออกมาได้ดี แจ็คต่าง ๆ ไม่ใช่แรงมากหรือน้อยเกินไปในการเสียบ และเมื่อเสียบไปแล้วก็รู้สึกถึงความมั่นคงแข็งแรง สำหรับพอร์ต USB นั้น ถ้าใช้สายที่ให้มาด้วย เวลาเสียบส่วนปลอกยางที่หุ้มหัวปลั๊กจะยื่นเข้าไปในช่องด้วย เพื่อช่วยล็อคสายเอาไว้ จัดว่าเป็นการออกแบบที่ฉลาดมาก
สิ่งที่ผมกังวลอย่างหนึ่งเมื่อใช้ Babyface Pro คือความยากในการควบคุมเครื่อง โดยเฉพาะโปรแกรม TotalMix FX ที่ถึงแม้ว่าจะมีความยืดหยุ่นในการใช้งานมาก แต่ตัวมันเองก็มีความซับซ้อนและต้องการความเข้าใจระดับหนึ่งในการใช้งาน
ในตอนวันที่ไปซื้อเครื่อง คุณกุ้งจาก KDM Trading ตัวแทนจำหน่าย RME ในไทย ได้ช่วยแนะนำการใช้งานเบื้องต้นให้ จนทำให้ผมพบว่าเราไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ TotalMix FX ทุกฟังก์ชั่นในใช้งานทั่วไป เพราะ Babyface Pro ที่ไม่ได้มีจำนวนช่องสัญญาณและฟังก์ชั่นอื่น ๆ มากเหมือนรุ่นพี่มัน การใช้งานจึงค่อนข้างตรงไปตรงมา ถ้าเราต้องการใช้งานฟังก์ชั่นอื่น ๆ เพิ่มเติม ก็สามารถอ่านคู่มือเพิ่มเติมทีหลังได้
เนื่องจากเราสามารถควบคุมการทำงานของตัวเครื่องทั้งหมดผ่าน TotalMix FX ได้ ผมเองจึงแทบไม่ได้ใช้ปุ่มหน้าเครื่องเลย นอกจากปุ่มหมุนไว้ปรับความดังของเสียง และปุ่ม DIM ที่ผมตั้งค่าใหม่ให้ปิดเสียงลำโพงเท่านั้น
เรื่องการบันทึกเสียงด้วย Babyface Pro นั้น ผมเองได้บันทึกเปียโนไฟฟ้า, Synthesizer และเบส Stingray ผ่านแจ็ค TS บนตัวเครื่อง แล้วตั้งให้ความแรงของสัญญาณอยู่แถว ๆ 20 dB โดยไม่ได้เร่ง gain เพิ่ม เสียงที่ได้ก็จัดว่ามีความสะอาด คมชัด เก็บรายละเอียดได้ดี และที่สำคัญคือไม่มีคาแร็คเตอร์ของเสียงใด ๆ เพิ่มเติมมาเลย สัญญาณเสียงมาอย่างไร อัดได้เป็นอย่างนั้น ทำให้มีความยืดหยุ่นในการนำมาประมวลผลภายหลัง
นอกจากการบันทึกเสียงของดนตรีแล้ว ผมยังเคยเอา Babyface Pro ไปลองต่อกับไมค์ Condenser ดูด้วย ซึ่งก็ได้ผลใกล้เคียงกัน เพียงแต่ถ้าเร่ง gain เยอะ สัญญาณรบกวนจากไมค์จะถูกขยายมาให้เราได้ยินด้วย
เรื่อง Latency นั้น ตัว Babyface Pro สามารถปรับ Buffer ได้ตั้งแต่ 2048 Sample ถึงน้อยสุด 48 Buffer ซึ่งสามารถลด Overall Latency ใน Live ลงได้เหลือ 4.31 ms ที่ Sample Rate 48 kHz ซึ่งจัดว่าน้อยมาก แต่คอมพิวเตอร์ผมซึ่งใช้ CPU รุ่นเก่ามากอย่าง Intel Core i7-860 ลากไม่ไหว เลยปรับไว้ที่ 128 ms ซึ่งสามารถลด Overall Latency ลงเหลือ 6.65 ms ซึ่งสำหรับผมถือว่าเพียงพอในการเล่นเหล่า Virtual Instrument และบันทึกเสียงแล้ว
สำหรับคนที่คิดว่า Latency ยังลดลงได้ไม่มากพอสำหรับการบันทึกเสียง เราสามารถทำ Direct Monitoring โดยการ Routing สัญญาณจาก Hardware Inputs ไปยัง Control Room โดยตรงได้เลย
นอกจากการใช้งานข้างต้น ผมยังได้นำ Babyface Pro มาใช้งานทั่วไป เช่น การดูหนัง ฟังเพลง และเล่นเกมอีกด้วย ซึ่งคุณภาพเสียงที่ได้จัดว่าไม่ผิดหวัง โดยเฉพาะการฟังเพลงผ่านแจ็คหูฟัง ที่มีน้ำเสียงเที่ยงตรง ไม่ปรุงแต่ง ให้รายละเอียดเสียงชัดเจน และมีกำลังขับเพียงพอกับการใช้งานหูฟังที่ขับยากของผมอย่าง MDR-Z7 ได้ อย่างไรก็ตามแจ็คหูฟังทั้งสองนั้นไม่สามารถปรับระดับความดังของเสียงแยกกันได้ ถึงแม้ว่าแจ็คทั้งสองจะสามารถใช้งานพร้อมกันได้ก็ตาม เพราะการปรับระดับเสียงภาค DAC ของช่องสัญญาณ 3 – 4 โดยตรง
หากเปรียบเทียบเรื่องเสียงของ Babyface Pro กับแอมป์หูฟังที่มีระดับใกล้กันที่ผมมีอย่าง PHA-3 แล้ว ผมคิดว่า Babyface Pro สามารถแยกมิติและรายละเอียดเสียงดีกว่า PHA-3 ตอนต่อ Balanced เล็กน้อย แต่ PHA-3 นั้นมีเสียงย่านกลางและเบสมากกว่า เหมาะกับการฟังเพลงมากกว่า
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้งาน ผมเองยังไม่เจอปัญหาเลยตลอด 1 ปีกว่า ๆ ที่ใช้งานมา แต่อุณหภูมิบนตัวเครื่องขณะใช้งานนั้นร้อนถึงร้อนจัดมาก ซึ่งผมคิดว่าคงมาจากการระบายความร้อนของวงจรที่อัดแน่นอยู่ภายในตัวเครื่องนี่แหละ
Conclusion
จากการใช้งาน Babyface Pro มา 1 ปีกว่า ผมเองประทับใจในการทำงานของตัวเครื่องมาก ทั้งเรื่องของคุณภาพเสียงและความเสถียร ที่เรียกได้ว่าสมคำร่ำรือ นอกจากนี้ตัวเครื่องยังมีฟังก์ชั่นการทำงานหลายอย่างที่ใส่มาให้เหล่ามืออาชีพได้ใช้งานกันอีกด้วย
ผมเองหาข้อเสียของ Babyface Pro จริง ๆ แทบไม่เจอ แต่ถ้าเป็นจุดที่ไม่ชอบ ก็น่าจะเป็นแจ็ค 1/4 นิ้วที่ไม่เป็น Balanced และอยากให้ทำช่องสัญญาณหูฟังแยกต่างหากออกจากช่องสัญญาณ 3/4 ถ้ามี 2 อย่างนี้ ก็เรียกได้ว่าตอบโจทย์การใช้งานของผมเลย
อีกเรื่องที่อยากเขียนถึงคือเรื่องของราคา ถึงแม้ตอนเกริ่นนำ ผมจะบอกว่า RME มักจะทำสินค้าชั้นยอดในราคาที่เอื้อมถึง แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้ว Babyface Pro จัดเป็น Audio Interface ที่มีราคาสูงมาก เมื่อเทียบกับ Audio Interface ที่มีจำนวนช่องต่อใกล้เคียงกัน ซึ่งเอาจริง ๆ แล้ว มันคือประโยคที่ถูกต้อง เพราะคุณไม่สามารถหา Audio Interface คุณภาพดีขนาด Babyface Pro ในราคาขนาดนี้ได้ เราจะต้องเสียเงินแพงกว่านี้ถ้าต้องการของที่มีคุณภาพเท่ากัน
สรุป สำหรับคนที่อยากได้ Audio Interface แบบพกพา ที่ให้เสียงแบบปราศจากการปรุงแต่ง มีความเสถียรในการใช้งานสูง โดยไม่ติดว่าจะต้องจ่ายเงินในราคาที่สูงสักหน่อย RME Babyface Pro ก็จัดเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจตัวหนึ่งครับ
Like
- TotalMix FX มีความยืดหยุ่นในการใช้งานสูง
- น้ำเสียงที่บันทึกได้สะอาด ไม่ปรุงแต่ง
- ค่า Latency ต่ำมาก แม้ใช้งานกับคอมพิวเตอร์สเปกเก่า ๆ
- ไดร์เวอร์และซอฟต์แวร์มีความเสถียรสูง
- มาพร้อมกับกล่องพลาสติกกันกระแทก
Don’t like
- ต้องเรียนรู้การใช้งานตอนเริ่มต้นเป็นอย่างมาก เพื่อให้สามารถใช้งานเครื่องได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- แจ็คหูฟังทั้งสองปรับระดับเสียงแยกกันไม่ได้
- ตัวเครื่องร้อนถึงร้อนมากขณะใช้งาน
Pingback: รีวิว ลำโพง Creative Pebble | RE.V –>