สำหรับคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบมาเพื่อรัน Windows 8 โดยเฉพาะ ตอนนี้คงไม่มีใครที่จะแรงเท่ากับ Sony VAIO Duo 11 อีกแล้ว ซึ่งตอนนี้ก็เป็นที่พูดถึงในหมู่ผู้ใช้กันอย่างมากมาย วันนี้ RE.V-> ขอนำรีวิวการใช้งานจริงของเครื่องรุ่นนี้มาฝากกันครับ
ก่อนที่เราจะเริ่มรีวิว ก็มารู้จักที่มาที่ไปของเจ้า Sony VAIO Duo 11 กันก่อน
ในช่วงเปิดตัวของ Windows 8 นั้นเราจะเห็นว่าหลาย ๆ บริษัทได้ออกคอมพิวเตอร์ที่รองรับการทำมัลติทัชกันออกมากันมากมาย บางรุ่นก็เป็นเพียงแล็ปท็อปที่เพิ่มหน้าจอแบบสัมผัสเข้าไป หรือบางบริษัทก็มีแนวทางในการออกแบบคอมพิวเตอร์แบบทัชในแบบของตนเอง เช่น Lenovo ที่ออกแบบให้คอมพิวเตอร์สามารถเปลี่ยนโหมดได้ถึง 4 โหมดด้วยกัน แต่สุดท้ายทุกบริษัทนั้นมักจะออกแบบคอมพิวเตอร์ทัชโดยมีพื้นฐานจากแล็ปท็อปซะมากกว่า
แต่แนวทางการออกแบบของ Duo 11 นั้นจะแตกต่างไปโดยสินเชิง โดยทีมออกแบบได้ตั้งโจทย์เอาไว้ว่า Duo 11 นั้นจะต้องมีประสิทธิภาพสูง สามารถใช้งานลักษณะของการเขียนเหมือนเขียนกระดาษได้ และต้องสามารถพิมพ์ได้คล่องแคลวเหมือนคอมพิวเตอร์ทั่วไปด้วย จึงทำให้การออกแบบของ Duo 11 นั้นมีพื้นฐานจากแท็บเล็ตก่อน จากนั้นจึงออกแบบกลไกสำหรับตัวคีย์บอร์ดลงไป เพราะฉะนั้นฟีเจอร์หลาย ๆ ตัวของ Duo 11 นั้นจึงจะเป็นฟีเจอร์ที่เราจะไปเจอในแท็บเล็ตมากกว่าแล็ปท็อป
Package
กล่อง Duo 11 ออกแบบมาในสีโทนดำ ดูหรูหรา บนกล่องแทบไม่มีรายละเอียดอะไรให้อ่านมากนัก
เปิดกล่องออกมาก็จะเจอกระดาษลังสีน้ำตาล (รักโลก ?) ทำลายความหรูหราของกล่องด้านนอกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับตังค์ที่จ่ายเงินซื้อเครื่องไป แต่กล่องใส่ใบนี้ Sony ออกแบบมาอย่างชาญฉลาดมาก คือ นอกเหนือจากส่วนกล่องที่ไว้ใส่คู่มือที่ติดบนฝากับส่วนที่ไว้ยึดปากกาและหูฟังแล้ว มันพับจากกระดาษลังแผ่นเดียวทั้งแผ่นเลย ใครอยากลอองรื้อมาพับเล่น ตรงข้าง ๆ ด้านในก็มีวิธีพับบอกให้ครับ
ตัวเครื่องใส่มาในถุงโฟม พร้อมเอกสารบอกวิธีการเลื่อนหน้าจอออกเพื่อพิมพ์คีย์บอร์ดข้างใต้
สติ๊กเกอร์เตือนเรื่องความร้อนของเครื่องอาจจะทำให้ผู้ใช้บาดเจ็บได้ เห็นตัวนี้แล้วนึกถึงสไลด์ของ Lenovo เรื่องระบบระบายควาามร้อน
อุปกรณ์อื่น ๆ ที่มากับเครื่อง ที่ชาร์จ 10.5 V พร้อมปลั๊กหัวกลมมาตรฐานมอก. ปากกาสไตลัส พร้อมหัวปากกาแบบแข็งและแบบอ่อน ปลอกปากกา ถ่านขนาด AAAA และหูฟังรุ่น MDR-NC033L2 พร้อมจุกยาง 3 ขนาด
ส่วนของเอกสาร ให้มาเยอะมาก แต่ที่สำคัญ ๆ ก็มีเอกสารระบุสเปกเครื่อง Quick Start Guide ของ Windows 8 จำนวน 4 หน้า (Microsoft ดูไว้เป็นตัวอย่างนะครับ คู่มือหน้าเดียวที่ให้มาในกล่องมันไม่พอหรอก) เอกสารแนะนำเรื่องการรับประกันแบบ International และคู่มือการใช้ปากกา
Product – Hardware
หยิบเครื่องออกจากถุงโฟมปุ๊บ ก็เจอกับหน้าจอ 11.6″ ที่ใช้พาเนลแบบ TFT ความละเอียด 1920 x 1080 พิกเซล ไฟส่องหลังแบบ LED หน้าจอปิดด้วยกระจกที่ทนต่อรอยขีดข่วน นอกจากนี้ยังใส่เทคโนโลยี OptiContrast ซึ่งเป็นการแทรกช่องว่างระหว่างพาเนลจอกับกระจกด้วยเรซิน ทำให้สีสัน และความคมชัดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดเงาสะท้อนบนหน้าจออีกด้วย เทคโนโลยีตัวนี้ก่อนหน้าถูกใช้ใน Bravia รุ่นสูง ๆ เท่านั้น
ตัวหน้าจอรองรับมัลติทัชถึง 10 จุด และการเขียนหน้าจอด้วยปากกา สำหรับพื้นผิวของกระจกนั้นทำมาลื่นมาก ทำให้เวลาทัชบนหน้าจอนั้นสะดวกและคล่องแคล่วมากขึ้น และช่วยในการทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น
กล้องหน้า ใช้เซนเซอร์ Exmor R for PC ความละเอียด 2.07 ล้านพิกเซล พร้อมไฟสถานะแจ้งการทำงาน ส่วนช่องใหญ่ ๆ ทางขวาคือตำแหน่งของเซนเซอร์วัดแสง
งานออกแบบของ VAIO Duo 11 ยังคงใช้แนวทาง Flat Design เหมือนพี่น้อง VAIO ตัวอื่น ๆ ส่วนจอด้านข้างและตัวเครื่องด้านล่าง ใช้วัสดุเป็นโลหะ สี Gun Metallic ความบางของตัวเครื่อง ทาง Sony เคลมไว้ว่าทำได้ที่ 19.9 มม.บางกว่ามาตรฐาน Ultrabook ในกลุ่ม Convertible ที่ Intel กำหนดไว้ที่ 23 มม.
พอร์ตทางด้านซ้ายประกอบด้วยพอร์ต VGA ตัวอ่าน SD Card / Memory Stick และแจ็คหูฟัง ที่ใช้แอมป์ S-Master แบบเดียวกับใน Walkman รุ่นสูง ๆ และมีหน่วยประมวลผล Digital Noise Canceling ในตัว เมื่อใช้กับหูฟังที่ให้มาด้วยกัน เนื่องจากสาเหตุนี้ เลยทำให้ไม่สามารถใช้หูฟังแบบมีไมค์มาเสียบได้ เพราะเสียบไปแล้วเสียงจะไม่ออกมา
ด้านขวา ปุ่มเปิดเครื่อง พอร์ต HDMI รองรับการส่งสัญญาณภาพแบบ 3D พอร์ต USB ที่รองรับการชาร์จไฟกับอุปกรณ์พกพา และแบบธรรมดา ทุกพอร์ตเป็น USB 3.0 ทั้งหมด
ด้านหลัง เป็นช่องระบายความร้อน พร้อมฮีทซิงก์ทองแดง พอร์ต Gigabit LAN และแจ็คต่ออะแดปเตอร์ไฟ
การใช้งานพอร์ต LAN จะต้องยกขาด้านใต้เครื่อง เพื่อปรับระดับเครื่องให้สูงขึ้น และดันส่วนด้านล่างของพอร์ตออกมาก่อน จึงจะเสียบสาย LAN ได้
ต่อไป ไปดูด้านล่างของเครื่องกัน ว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง
Pingback: รีวิว Sony VAIO Duo 11 ตัวขายจริง ภาคซอฟต์แวร์และการใช้งานจริง
Pingback: รีวิว Sony WALKMAN F800 เครื่องเล่นมีเดียพลัง Android ภาคฮาร์ดแวร์
Pingback: รีวิว แล็ปท็อปแปลงร่างรุ่นสอง VAIO Duo 13 จาก Sony ภาคฮาร์ดแวร์
Pingback: รีวิว SanDisk Extreme USB 3.0 32 GB แฟลชไดร์ฟความเร็วระดับ 100 MB/s
Pingback: Dell XPS 13 9360 แล็ปท็อปจอไร้ขอบ | RE.V –>
Pingback: ลองเล่น แล็ปท็อปแปลงร่าง Dell Inspiron 13 7000 2-in-1 7373 | RE.V –>