เราปฏิเสธไม่ได้ว่า การพัฒนาการของ Audio Interface นั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ใคร ๆ ก็สามารถลุกขึ้นมาบันทึกเสียงและแต่งเพลงกันได้ ซึ่งเทคโนโลยีของ Audio Interface ในตอนนี้ก็พัฒนาไปไกลมาก ถึงขนาดที่สามารถนำเอาระดับคุณภาพเสียงและฟังก์ชั่นการทำงานในสตูดิโอมาย่อลงในอุปกรณ์ขนาดที่สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้ง่าย
วันนี้ RE.V-> ขอนำ Audio Interface ขนาดพกพาจากผู้ผลิตอุปกรณ์เสียงระดับมืออาชีพอย่าง RME มารีวิวให้ได้อ่านกันครับ
อุปกรณ์ของ RME ที่ใช้ในงาน NHK Kouhaku Uta Gassen
ชื่อของ RME นั้น อาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้ใช้ทั่วไปมากนัก แต่ในกลุ่มผู้ใช้มืออาชีพแล้ว RME คือผู้นำในการผลิตอุปกรณ์ Digital Audio ระดับมืออาชีพชั้นนำของโลกจากเยอรมัน ที่พัฒนาสินค้าที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพเสียงดีเยี่ยม ในราคาที่สามารถเอื้อมถึงได้
สำหรับเจ้า Babyface Pro นั้น เป็น Audio Interface ขนาดพกพารุ่นที่ 2 ของบริษัท ที่พัฒนาต่อยอดจาก Audio Interface ขนาดพกพารุ่นแรกอย่าง Babyface ในตอนแรกทีมพัฒนาตั้งใจที่จะอัพเกรด Babyface เดิมให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น แต่สุดท้ายก็จบลงด้วยการพัฒนา Babyface Pro ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด
Package
RME Babyface Pro นั้นถูกบรรจุมาในกล่องพลาสติกกันกระแทกสำหรับพกพา คาดด้วยปลอกกระดาษ แล้วหุ้มด้วยฟิล์มพลาสติกอีกที ใครที่ชื่นชอบแพ็คเกจสินค้าที่ดูสวยงาม หรูหรา อาจจะไม่ถูกใจความดิบแบบนี้ แต่สินค้าระดับมืออาชีพที่ทำมาใช้งานจริง ๆ จัง ๆ ก็ไม่ค่อยมีใครเน้นหรือสนใจเรื่องนี้กันอยู่แล้ว
ด้านหลังปลอกกระดาษจะระบุคุณสมบัติของเจ้า Babyface Pro
ตัวกล่องพลาสติกกันกระแทกนั้น อาจจะดูไม่แข็งแรงเท่าพวกกล่องกันกระแทกเฉพาะทางที่ขายกันราคาสูง ๆ แต่สำหรับการใช้งานทั่วไปนั้นถือว่าเกินพอ พื้นผิวกล่องจะมีลักษณะขรุขระ เพื่อให้ทนต่อการเป็นรอยขีดข่วน
ตัว Babyface Pro นั้นจะถูกบรรจุใส่ในถุงเยื่อกระดาษ และอยู่ในบล็อกด้านในกล่องที่ทำมาพอดี
พวกสายสัญญาณต่าง ๆ จะมีบล็อกสำหรับใส่หัวปลั๊กทั้งสองด้าน ส่วนตัวสายจะถูกพันซ่อนใว้ตรงที่ว่างของบล็อกใส่เครื่องตามรูปข้างบนอีกที
ส่วนช่องว่างที่ยังเหลืออยู่ในกล่องนั้นมีไว้สำหรับใส่อะแดปเตอร์จ่ายไฟ ในกรณีใช้งานแบบ Standalone หรือเมื่อไปต่อกับพอร์ต USB ที่จ่ายไฟได้ไม่พอ ซึ่งอะแดปเตอร์ดังกล่าวจะถูกขายแยกต่างหาก ไม่ได้ให้มาด้วย
สำหรับของอื่น ๆ ที่ให้มาในกล่องจะประกอบด้วย สาย USB แบบหักเข้ามุม 1 เส้น สายแยกพอร์ต MIDI In และ Out 1 เส้น คู่มือ 1 เล่ม และแผ่นไดร์เวอร์ 1 แผ่น
Pingback: รีวิว ลำโพง Creative Pebble | RE.V –>