ในปัจจุบันนี้ ลำโพงคอมพิวเตอร์สำหรับการใช้งานทั่วไปนั้นเรียกได้ว่าลดความนิยมลงไปมาก จากการที่ผู้ใช้นิยมใช้หูฟัง ลำโพงไร้สาย และลำโพง Hi-Fi กันมากขึ้น แต่สำหรับผู้ใช้บางคนเอง ก็ยังอยากได้ลำโพงที่ไม่มีฟังก์ชั่นอะไรพิเศษ สำหรับการใช้งานทั่วไปในราคาที่ไม่สูงมากนักอยู่ แต่ในตลาดก็มีลำโพงเหล่านี้ให้เลือกน้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก
วันนี้ RE.V-> ขอนำลำโพงคอมพิวเตอร์รุ่นเล็กจากค่ายที่เหล่าเซียนคอมยุค 80 – 90 คุ้นเคยอย่าง Creative รุ่น Pebble มารีวิวให้อ่านกันครับ
Package
ตัวกล่องของ Creative Pebble เป็นกล่องลังลูกฟูกพิมพ์รูปสี่สีธรรมดาไม่มีอะไรพิเศษ ตัวลำโพงมีให้เลือก 2 สี คือสีขาวและสีดำที่นำมารีวิว
ด้านหลังกล่องระบุสเปกของตัวลำโพงเอาไว้
ตัวลำโพงจะถูกห่ออยู่ในบับเบิ้ลกันกระแทก นอกจากตัวลำโพงและสายต่าง ๆ ที่ติดกับตัวมันแล้ว ก็ไม่มีอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ ให้มาอีก
Product
งานออกแบบของ Pebble นั้นได้แรงบันดาลใจจากก้อนหินในสวนญี่ปุ่นสมกับชื่อรุ่นของมัน ตู้ลำโพงทำจากพลาสติก ซึ่งส่วนหน้าตัดลำโพงจะทำเป็นผิวมัน ส่วนรอบหนัาตัดจะทำพื้นผิวคล้ายหิน
สายเชื่อมต่อต่าง ๆ จะถูกติดกับลำโพงฝั่งซ้าย ซึ่งจะมีปุ่มหมุนเพื่อเปิดลำโพงและปรับความดังเสียง
ดอกลำโพงแบบ Full Range ขนาด 2 นิ้ว ตอบสนองความถี่ 100 Hz – 17,000 Hz ถูกยึดติดกับลำโพงเป็นมุมเงย 45 องศา ออกแบบให้สามารถส่งเสียงได้ไปในระยะไกล เพื่อให้เสียงไปยังหูของผู้ฟังโดยตรง
ดอกลำโพง Passive Radiator ถูกติดอยู่ด้านหลัง เพื่อช่วยในการขับเสียงเบสของลำโพงให้ดีขึ้น
ด้านล่างของตู้ลำโพงจะมียางรองทรงวงแหวนติดอยู่ สายสัญญาณต่าง ๆ จะต่อออกมาจากลำโพงฝั่งซ้ายโดยตรง
ภาคขยายของลำโพงมีกำลังรวม 4.4 วัตต์ ใช้พลังงานจากพอร์ต USB กำลังไฟ 5 V 1 A (5 W) รองรับการเชื่อมต่อด้วยสายหัวปลั๊ก 3.5 มม. ยาว 1.2 ม.
Set Up
ด้วยความที่ Pebble เป็นลำโพงคอมพิวเตอร์ธรรมดา การติดตั้งจึงเป็นไปอย่างเรียบง่าย คือแค่เสียบแจ็ค 3.5 มม. เข้ากับคอมพิวเตอร์ และเสียบสาย USB เข้าที่พอร์ต USB ที่ว่างอยู่ของคอมพิวเตอร์ แล้วเปิดลำโพง
แต่สำหรับคนที่ไม่อยากเสียพอร์ต USB เพียงเพื่อใช้จ่ายไฟให้กับลำโพง ก็สามารถนำมาต่อกับที่ชาร์จโทรศัพท์แบบ USB ที่มีกำลังไฟตามที่ลำโพงต้องการ ซึ่งผมเองก็มีที่ชาร์จ USB ที่ได้จากโทรศัพท์แต่ไม่ได้ใช้งานอยู่ จึงไม่ต้องซื้อที่ชาร์จใหม่แต่อย่างใด
Performance
ผมได้ซื้อ Creative Pebble มาใช้แทนลำโพงคอมพิวเตอร์ Logitech SoundMan G1 อายุเกือบ 20 ปีที่เสียไป ซึ่งปกติผมใช้ลำโพงตัวนี้ในการใช้งานทั่วไป เช่น ดู YouTube เล่นเกม และเปิดเพลงฟังคลอเป็นแบ็คกราวด์ตอนทำงาน
ตอนที่ผมเห็นเจ้า Pebble ตัวเป็น ๆ ครั้งแรก ตอนแกะมันออกจากกล่องนั้น ผมคิดว่าหน้าตาของ Pebble ดูดีทีเดียว สมกับค่ายที่มีประสบการณ์ทำระบบเสียงสำหรับคอมพิวเตอร์มานาน ตัววัสดุนั้นเป็นพลาสติกก็จริง แต่ก็ยังมีผิวสัมผัสที่ดูดีมีราคา และมีน้ำหนักอยู่พอสมควร ทำให้ไม่รู้สึกว่ามันเป็นของถูก
ผมนำลำโพงไปต่อกับซาวด์การ์ดของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะของผม ทั้งซาวด์การ์ดบนบอร์ด Asus PRIME Z390-A ที่ใช้ชิป Realtek S1220A และ Audio Interface ที่ผมใช้งานอย่าง RME Babyface Pro แนวเสียงของ Pebble ที่ออกมานั้น เน้นในย่านเสียงแหลม ที่มีความคมชัดเพื่อเน้นรายละเอียดและมิติของเสียง แต่ยังมีความแข็งอยู่ จนบางครั้งฟังแล้วไม่สบายหูเท่าไร มีเสียงย่านกลางที่โปร่งและสว่าง ไม่ทึบและหนา ซึ่งเสียงลักษณะนี้เข้ากันได้กับแนวเสียงของซาวด์การ์ดออนบอร์ดยุคนี้ ที่มักจะเน้นเสียงเบสและเสียงย่านกลางที่หนา แต่มักจะไม่เน้นเสียงย่านแหลมมาก
มิติเสียงของลำโพงตัวนี้ จัดว่าทำออกมาได้ดี คือฟังดูกว้าง มีการแยกมิติเสียงซ้าย – ขวาที่ดี แต่ผมรู้สึกว่าตัวลำโพงมันมีทิศทางการสร้างเสียงที่แคบ ซึ่งผมคิดว่าการวางลำโพงแบบ Toe in (หันหน้าลำโพงเข้าหาตัวเป็นสามเหลี่ยม) จะช่วยให้ได้ยินเสียงได้ครบถ้วนกว่า
จุดอ่อนของ Pebble ผมคิดว่าอยู่ที่ย่านเสียงเบส ซึ่งถึงแม้ว่ามี Passive Radiator มาช่วยในการขับเสียงเบสแล้วจนดีในระดับค่าตัวของมัน แต่ต้องทำใจว่าลำโพงไม่สามารถขับเสียงเบสที่อยู่ในย่านลึก ๆ ได้ รวมทั้งเสียงแตกพร่าจากการขับเสียงเบสที่มี Dynamic มาก ๆ เช่นเสียงระเบิด และระดับความดังของเสียง ซึ่งถึงแม้ว่ามีความดังพอสำหรับการใช้งานบนโต๊ทำงาน แต่ก็ยัทำได้ไม่ดีเท่าลำโพงที่มีภาคจ่ายไฟแยก ผมเองต้องปรับกำลังขยายของซาวด์ออนบอร์ดเป็น Extreme และปรับระดับเสียงของ Babyface Pro ไปประมาณ -20 dB เพื่อให้ได้ระดับเสียงที่ฟังแล้วพอดี ไม่ดังไม่เบาเกินไป
Conclusion
จากการใช้งานเจ้า Pebble มาร่วมครึ่งปี ส่วนตัวคิดว่ามันเป็นลำโพงที่ดีคุ้มค่าตัวมาก ทั้งหน้าตาที่สวยงาม แนวเสียงที่เน้นรายละเอียดและมีมิติที่กว้าง และราคาที่โอเค อย่างไรก็ตามตัวมันเองก็ยังมีข้อเสียอยู่จากข้อจำกัดทางฟิสิกส์และการออกแบบของมันเอง แต่ด้วยราคาค่าตัวของมันที่จัดว่าไม่แพง (ผมได้มาราคา 500 กว่าบาท) ก็ทำให้มองผ่านข้อเสียพวกนี้ไปได้ สำหรับคนที่ต้องการเสียงเบสที่ดีกว่านี้ Creative ยังมี Pebble Plus ซึ่งเป็น Pebble ที่มาพร้อมกับตู้ลำโพง Subwoofer ให้เลือกใช้ด้วย
ใครที่กำลังมองหาลำโพงคอมพิวเตอร์สำหรับการใช้งานทั่วไปที่ราคาไม่แพงมาก Creative Pebble ก็จัดเป็นตัวเลือกที่น่านำไปพิจารณาดูครับ
Like
- งานออกแบบที่สวยงาม
- แนวเสียงที่เน้นรายละเอียดและมีมิติที่กว้าง
- ราคาไม่แพงมากนัก
Don’t like
- ย่านเสียงเบสยังทำออกมาได้ไม่ดีจากข้อจำกัดของการออกแบบ
- ภาคขยายยังขยายเสียงได้ไม่ดังมาก