รีวิว Signature ตัวน้อย Sony Walkman ZX300

Sony Walkman ZX300

ตอนรีวิวหูฟัง MDR-1AM2 คราวที่แล้ว RE.V-> ได้มีโอกาสยืม Walkman ZX300 เพื่อมาทดสอบการทำงานแบบ Balanced ของตัวหูฟังด้วย เนื่องจากเรายังไม่ได้ทำการรีวิว Walkman รุ่นนี้แบบเต็ม ๆ ก็เลยตัดสินใจทำรีวิว Walkman รุ่นนี้ให้ได้อ่านกัน ถึงแม้ตัวเครื่องจะออกมาจะเกือบปีแล้วก็ตาม

Package

Sony Walkman ZX300

ดีไซน์ของกล่องยังคงรูปแบบเดิมของ Walkman ZX100 ที่เคยรีวิวไป คือเป็นกล่องสีขาว ด้านข้างสีดำ หน้ากล่องจะแสดงรูปของตัวเครื่องซึ่งจะมีสีเดียวกับตัวเครื่องที่อยู่ในกล่อง และระบุความจุหน่วยความจำภายในขนาด 64 GB

Walkman ZX300 ที่ผมยืมมารีวิวนั้นเป็นรุ่น NW-ZX300 สีดำ และมีหน่วยความจำ 64 GB ซึ่งเป็นรุ่นที่วางขายในบ้านเรา ในบางประเทศจะมีเครื่องสีเงินและรุ่นย่อย NW-ZX300A ที่มีหน่วยความจำภายใน 16 GB วางขายด้วย

Sony Walkman ZX300

ด้านหลังกล่องจะแสดงระบบปฏิบัติการที่รองรับ

Sony Walkman ZX300

กล่องด้านในยังเป็นกล่องกระดาษสีดำ ปั้มโลโก้ Sony สีเงินเช่นเดิม

Sony Walkman ZX300

เปิดกล่องมาก็จะเจอเจ้า ZX300 อยู่ในช่องที่มีผ้าหุ้ม ส่วนบริเวณฝากล่องสามารถดึงออกเพื่อเอาเอกสารที่เก็บไว้อยู่ออกได้

Sony Walkman ZX300

เอกสารที่ให้มาจะประกอบไปด้วยคู่มือ 2 เล่ม และเอกสารอื่น ๆ

Sony Walkman ZX300

อุปกรณ์เสริมที่ให้มามีเพียงสาย WM-Port สำหรับเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์และชาร์จไฟเท่านั้น

สำหรับคนที่อยากได้เคสใส่เครื่อง ทาง Sony ได้ผลิตเคสหนังแบบปกแฟ้มและสายคล้องมือรุ่น CKL-NWZX300 ซึ่งใช้วัสดุเดียวกับเคสของ Walkman WM1 วางขายแยกต่างหากด้วย

Product – Hardware

Sony Walkman ZX300

งานออกแบบตัวเครื่องของ Walkman ZX300 นั้น ยังคงสืบทอดงานออกแบบที่ใช้ใน Walkman ZX100 อยู่ แต่ก็ได้มีการปรับรูปร่างและหน้าตาใหม่ตามข้อจำกัดในการออกแบบ วัสดุที่ใช้ทำตัวเครื่องยังคงเป็นก้อนอะลูมิเนียม ซึ่งถูกเจาะและตัดให้ออกมาเป็นรูปร่างสำเร็จอย่างที่เห็น

Sony Walkman ZX300

แต่ส่วนที่ดูจะเป็นจุดเด่นมากที่สุดก็คงจะนี้ไม่พ้นกระจกด้านผิวพ่นทรายด้านหน้าของตัวเครื่อง ซึ่งถูกเลือกใช้เพื่อปิดหน้าจอสัมผัสขนาด 3.1 นิ้ว ความละเอียด WVGA และซ่อนเสาอากาศที่อยู่ด้านล่างของตัวเครื่อง ทำให้ทีมพัฒนาไม่ต้องทำฝาพลาสติกเหมือนใน Walkman ZX1 ซึ่งทำให้ตัวเครื่องดูไม่สวย

ส่วนสาเหตุที่ทีมพัฒนาเลือกใช้กระจกด้านผิวพ่นทรายนั้น ก็เพราะไม่ต้องการให้ผู้ใช้คิดว่าพื้นที่ว่างของกระจกด้านล่างเป็นส่วนหนึ่งของหน้าจอ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าจอแสดงผลมีปัญหา เพราะแสดงผลได้ไม่เต็มจอ รวมทั้งสามารถซ่อนรอยนิ้วและให้สัมผัสในการใช้งานที่ดีกว่า

Sony Walkman ZX300

ด้านหลังของเครื่องยังคงปิดด้วยยางที่ทำผิวเลียนแบบหนัง และมีเสาอากาศ NFC อยู่ตรงกลางเครื่อง แต่ที่เปลี่ยนแปลงจาก ZX100 คือไม่มีก้นยื่นออกมาแล้ว

Sony Walkman ZX300

ด้านบนของเครื่องจะเป็นตำแหน่งของแจ็คเชื่อมต่อหูฟังขนาด 3.5 มม. กำลังขับ 50 mW (16 Ω) และแจ็ค 4.4 มม. สำหรับการเชื่อมต่อแบบ Balanced กำลังขับ 200 mW (16 Ω)

Sony Walkman ZX300

ตัวล็อคปุ่ม ปุ่มควบคุมการเล่นเพลง ปุ่มปรับความดังเสียง และปุ่มเปิด – ปิด จะอยู่ทางด้านขวาของเครื่อง

Sony Walkman ZX300

ช่องใส่การ์ด microSD และไฟสถานะการอ่านการ์ดจะอยู่ทางด้านซ้ายของเครื่อง

Sony Walkman ZX300

ด้านล่างของเครื่องจะเป็นตำแหน่งของรูคล้องสาย WM-Port และเลขซีเรียลของเครื่อง

ฮาร์ดแวร์ภายในของ Walkman ZX300 นั้น ยังคงมีโครงสร้างต่าง ๆ คล้าย Walkman ZX รุ่นก่อนหน้าอยู่ ถึงแม้ว่าจะเพิ่มการเชื่อมต่อแบบ Balanced เข้ามา อย่างไรก็ตามทางทีมพัฒนาก็ได้เลือกใช้ชิ้นส่วนที่ดีขึ้นกว่าเดิม เช่น การเปลี่ยนวัสดุของแผ่นยึดวงจรจากแสตนเลสชุบด้วยทองแดงเป็นทองแดง OFC ทั้งแผ่น เพื่อให้การถ่ายเทกราวด์ของระหว่างวงจรและตัวถังอะลูมิเนียมดีขึ้น

ในส่วนวงจรขยายนั้น ก็ยังคงเป็นวงจรขยายดิจิทัล S-Master HX ซึ่งใน Walkman รุ่นนี้ ทาง Sony ได้เลือกใช้ชิป CXD-3778GF ซึ่งได้ถูกนำไปใช้ใน Walkman รุ่นปี 2016 – 2017 อย่าง Walkman A40 และ Walkman WM1 รวมทั้งเลือกใช้ชิ้นส่วนหลาย ๆ ตัวที่ถูกใช้งานใน Walkman WM1 แต่ลดขนาดให้เล็กลงมา

ทีมพัฒนาเลือกใช้ตัวเก็บประจุแบบฟิล์มและ FT CAP ในภาคจ่ายไฟเพื่อให้ลดความเพี้ยนและสัญญาณรบกวน ใช้ตัวเก็บประจุ Supercapacitor เพื่อช่วยแบตเตอรี่ในการจ่ายไฟเข้าไปยังวงจร ทำให้ค่า SNR ดีขึ้น และใช้ตัวต้านทาน SMD ที่เป็น Audio Grade ในภาคสัญญาณขาออก

Clock สำหรับวงจรขยายก็ถูกปรับปรุงมาใช้ Clock ความถี่ 100 MHz สำหรับอัตราสุ่มสัญญาณ 44.1 KHz และ 48 KHz ที่มีวงจรภายในเหมือนกับ Clock ของ Walkman WM1 แต่มีขนาดเล็กกว่า

ต่อไป เราไปดูภาคซอฟต์แวร์ของ Walkman ZX300 กัน

One thought on “รีวิว Signature ตัวน้อย Sony Walkman ZX300

  1. Pingback: มาทำความรู้จัก เทคโนโลยีวงจรขยายเสียงดิจิทัล S-Master ของ Sony กันเถอะ ตอนที่ 3 | RE.V –>

Leave a Reply