รีวิว หูฟัง Sony WH-XB900N เมื่อหูฟังหนักเบสก็มี Noise Cancelling ด้วย

Set up

sony-wh-xb900n-android-bluetooth-pairing

สำหรับการเชื่อมต่อ WH-XB900N กับอุปกรณ์นั้นเหมือนกับการเชื่อมต่อหูฟังไร้สายแบบ Bluetooth ทั่วไป คือเปิดหูฟัง แล้วให้อุปกรณ์ที่ต้องการเชื่อมต่อด้วยทำการค้นหาหูฟังผ่าน Bluetooth แล้วทำการ Pairing กับหูฟัง หากอุปกรณ์ใครมี NFC อยู่ ก็สามารถใช้เอาคัพหูฟังที่มีเสาอากาศ NFC ไปวางใกล้ ๆ เสา NFC ของอุปกรณ์ที่ต้องการเชื่อมต่อเพื่อจับคู่ก็ได้

ซึ่งเจ้า WH-XB900N นั้นรองรับการเชื่อมต่อแบบ Multipoint ทำให้สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์สองตัวพร้อมกันได้ แต่อุปกรณ์ทั้งสองต้องเชื่อมต่อด้วย profile ที่แตกต่างกันคือ A2DP สำหรับการฟังเพลงและ HSP สำหรับการคุยโทรศัพท์ เหมือนกับหูฟังไร้สายของ Sony รุ่นก่อนหน้า อย่างไรก็ตามความสามารถนี้จะไม่รองรับกับการใช้งานหูฟังร่วมกับ Google Assistant หรือ Amazon Alexa

sony-wh-xb900n-registered

เมื่อทำการเชื่อมต่อแล้ว ในกรณีที่อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเป็น Android หรือ iOS เราสามารถเปิดแอพ Sony | Headphones Connect เพื่อตั้งค่าต่าง ๆ ในตัวหูฟังได้เลย หากตัวแอพตรวจเจอหูฟังแล้ว แต่การตั้งค่าหูฟังด้วยแอพจะมีข้อจำกัดอยู่ว่า ตัวหูฟังจะต้องเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ด้วย profile แบบ A2DP หากต่อด้วย HSP อย่างเดียวตัวแอพจะมองไม่เห็นหูฟัง

Performance

Sony WH-XB900N with Xperia 1

สัมผัสแรกตอนที่ผมได้จับ WH-XB900N รู้สึกได้ว่าตัวหูฟังไม่ดูก๊องแก๊ง กลไกข้อต่อต่าง ๆ ดูแข็งแรงกว่าที่คิดไว้ รวมทั้งหนังเทียมที่หุ้มแพดก็ให้สัมผัสที่ดี และเช็ดคราบมันออกได้ง่าย

การสวมใส่หูฟังนั้น ยังคงทำได้ดีตามมาตรฐานของ Sony คือใส่สบาย ไม่รู้สึกว่าบีบหัว แพดหนาพอดี และสามารถป้องกันเสียงจากภายนอกได้ดีในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเสียงในย่านความถี่สูง ๆ นอกจากนี้ผมเองยังรู้สึกว่าเสียงจากการเคลื่อนไหวของข้อต่อนั้นน้อยลงมากกว่า MDR-1ABT ที่ผมใช้งานอยู่

ส่วนเรื่องเสียงนั้น ผมได้ลองฟัง WH-XB900N ด้วยการต่อสายหูฟังที่ให้มากับอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ผมใช้งานอยู่ เพื่อลองฟังเสียงของหูฟังโดยไม่ผ่านการประมวลผลเสียงและวงจรขยายภายในดูก่อน

เสียงที่ได้ยินมีลักษณะตามแนวทางของหูฟังตระกูล Extra Bass คือมีเสียงเบสที่มีแรงปะทะเยอะ ลงได้ลึก ทำให้ให้เราสัมผัสได้ถึงเสียงเบสเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ไปรบกวนย่านเสียงกลางและเสียงแหลมมากนัก ส่วนเสียงย่านกลางและแหลมมีลักษณะเหมือนกับแนวเสียงของเครื่องเสียงพกพา Sony ในยุค 2 – 3 ปีให้หลังที่จะมีความเรียบร้อยมากขึ้นไม่ได้พุ่งและสว่างมาก อย่างไรก็ตามถ้าเทียบเสียงกับหูฟังในกลุ่ม Premium ที่รองรับมาตรฐาน Hi-Res Audio จะพบว่าเสียงแหลมยังขาดความคมและเป็นประกาย มิติของเสียงที่ขาดความโปร่ง และรายละเอียดเสียงเบสยังแยกกันไม่เด็ดขาดเท่า

การใช้งานผ่าน Bluetooth นั้น การเชื่อมต่อสัญญาณต่าง ๆ และระยะทำการนั้นจัดว่าทำได้ตามมาตรฐานของหูฟังครอบหูไร้สายของ Sony เอง เรื่องคุณภาพเสียงก็ทำออกมาได้ดีมาก ทั้ง codec SBC และ LDAC ซึ่ง LDAC จะให้เสียงที่ฟังดูเต็ม ไม่บี้แบน ใกล้เคียงกับการต่อสาย แต่มีมิติกว้างกว่า  ส่วน SBC นั้นถึงเสียงจะฟังดูบี้แบนไปบ้าง แต่ถ้าเปิดใช้งาน DSEE ก็จะช่วยให้เสียงแหลมมีประกายและให้ความรู้สึกมิติที่กว้างขึ้น  ซึ่งส่วนตัวผมชอบลักษณะเสียงแบบนี้มากกว่า

สำหรับระบบตัดเสียงรบกวนนั้น WH-XB900N ทำออกมาได้ดีกว่าหูฟังตัดเสียงรบกวนรุ่นเก่า ๆ ของ Sony รวมทั้งระบบตัดเสียงรบกวนใน Xperia มาก คือสามารถลดเสียงรบกวนย่านต่ำอย่างเสียงแอร์ในออฟฟิศ และเสียงของรถไฟฟ้าที่หลงเหลือจากการป้องกันเสียงภายนอกของหูฟังเองได้เป็นอย่างดี จะเหลือก็แต่พวกเสียงรบกวนย่านความถี่สูงและเสียงประกาศซึ่งก็เข้ามาแบบไม่ดังมากนัก อย่างไรก็ตามเมื่อเปิดใช้ระบบตัดเสียงรบกวนตอนใช้สายหูฟังยังมีเสียง hiss ให้ได้ยินอยู่ ซึ่งทำเอาผมแปลกใจเหมือนกันว่าทำไมตอนต่อเป็น Bluetooth มันไม่มี

ฟังก์ชั่น Ambient Sound Control นั้นสามารถทำงานได้ดี ตัวแอพสามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนการตั้งค่าระบบตัดเสียงรบกวนได้ตามที่ตั้งค่าเอาไว้ เช่น ขณะที่ผมยืนรอรถไฟฟ้านิ่ง ๆ แล้วเดินขึ้นรถไฟฟ้า การตั้งค่าก็จะเปลี่ยนจาก Staying เป็น Walking ให้ พอยืนในรถไฟฟ้าแล้วรถเร่งความเร็ว ก็จะเปลี่ยนเป็นการตั้งค่า Transport ให้ ส่วนการปรับการตั้งค่าการทำงานผ่านแอพที่ผมลงใน Xperia XZ นั้นสามารถทำได้อย่างราบรื่น ไม่เจอปัญหาอะไร

Sony WH-XB900N

เรื่องอายุการใช้งานแบตเตอรี่ต่อการชาร์จครั้งนึงของ WH-XB900N นั้น ผมได้เอาหูฟังชาร์จไฟจนเต็ม 100% ก่อนใช้งาน พบว่าสามารถใช้งานไปได้ประมาณ 19 ชม. หูฟังแจ้งระดับแบตเตอรี่ 50% และยังใช้งานได้ต่ออีกหลังจากนั้นไปเกือบ 27 ชม. ผมคิดว่าในการใช้งานจริงแบตเตอรี่น่าจะได้ถึงประมาณ 25 – 30 ชม. ตามที่ทาง Sony แจ้งเอาไว้

ส่วนการชาร์จนั้นทาง Sony แจ้งไว้ว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 ชม. ในการชาร์จไฟจากแบตเตอรี่เปล่าจนเต็ม ผมลองต่อชาร์จตอนหูฟังแจ้งแบตเตอรี่ 50% ใช้เวลาประมาณ 3 ชม. ครึ่ง ไฟระบุสถานะการชาร์จไฟถึงจะดับลง ระยะเวลาก็น่าจะใกล้เคียงกับที่แจ้งไว้

สำหรับปัญหาในการใช้งาน ผมเองไม่พบปัญหาอะไรเป็นพิเศษ เพียงแต่มีข้อติเรื่องแจ็ค 3.5 บนหูฟังจะต้องใช้สายที่ให้มาเสียบเข้าไป กับการทำงานปุ่ม CUSTOM ที่ไว้สลับโหมดการทำงานของระบบ Noise Canceling ที่ต้องให้กดปุ่มไปเรื่อย ๆ เพื่อสลับระหว่างโหมด Noise Canceling, Ambient Sound และปิดระบบ ซึ่งผมมองว่ามันน่าจะดีกว่าถ้าปรับให้การกดปกติสลับระหว่างโหมด Noise Canceling และ Ambient Sound แล้วให้การกดปุ่มแช่ค้างเพื่อปิดระบบแทน

Conclusion

Sony WH-XB900N

หลังจากใช้งานเจ้า WH-XB900N มาร่วม ๆ 3 เดือน ส่วนตัวคิดว่ามันตอบโจทย์ทั้งการเป็นหูฟังที่เน้นเสียงเบสหนัก ๆ กระแทกแรง ๆ ได้อารมณ์ดั่งเอาซับวูฟเฟอร์มาติดที่หูโดยยังคงคุณภาพเสียงในย่านอื่นเอาไว้ และการเป็นหูฟังแบบตัดเสียงรบกวนที่สามารถตัดเสียงรบกวนภายนอกได้ดีมาก ถึงแม้ว่าจะเป็นหูฟังตระกูล Extra Bass ซึ่งตามปกติมักจะถูกวางตัวให้เป็นหูฟังที่มีราคาย่อมเยากว่า h.ear หรือ 1000X รวมทั้งมีความสามารถด้านการตัดเสียงรบกวนน้อยกว่าก็ตาม

ใครที่กำลังมองหาหูฟังตัดเสียงรบกวนที่เน้นเบสหนัก ๆ เจ้า WH-XB900N ก็จัดเป็นตัวเลือกที่ควรต้องไปลองฟังไว้เป็นตัวเลือกในการตัดสินใจครับ

Like

  • ตัวหูฟังสวมใส่สบาย เสียงการเคลื่อนไหวของข้อต่อน้อยมาก
  • เสียงเบสหนัก กระแทกแรง ได้อารมณ์ แต่คงคุณภาพเสียงย่านอื่นเอาไว้
  • ระบบตัดเสียงรบกวนทำได้ดีใกล้เคียงกับหูฟังตระกูลสูงกว่า
  • Ambient Sound Control สามารถทำงานได้เป็นอย่างดี
  • แบตเตอรี่ใช้งานได้นาน

Don’t like

  • แจ็ค 3.5 มม. รับได้เฉพาะสายสัญญาณที่มากับตัวหูฟังเท่านั้น
  • เมื่อเปิดใช้ระบบตัดเสียงรบกวนตอนต่อหูฟังด้วยสายยังคงมีเสียง hiss อยู่
  • ปุ่มเปลี่ยนโหมดระบบตัดเสียงรบกวนน่าจะเพิ่มการกดเพื่อปิดได้ทันที แทนกดสลับโหมดไปเรื่อย ๆ
  • ถุงใส่หูฟังไม่มีช่องใส่อุปกรณ์เสริมมาให้

ขอบคุณทาง Sony Thai ที่เอื้อเฟื้อหูฟังมาให้ครับ

More info

Sony

3 thoughts on “รีวิว หูฟัง Sony WH-XB900N เมื่อหูฟังหนักเบสก็มี Noise Cancelling ด้วย

  1. Pingback: มาทำความรู้จัก TEMPEST 3D AudioTech เทคโนโลยีระบบเสียง 3 มิติใน PlayStation 5 กันเถอะ | RE.V –>

  2. Pingback: ลองฟังเพลงในระบบเสียง 360 Reality Audio และ Dolby Atmos ที่ TIDAL | RE.V –>

  3. Pingback: รีวิว หูฟัง Sony WH-1000XM4 เมื่อจ่าฝูงขยับตัวทิ้งห่างผู้ตามอีกครั้ง | RE.V –>

Leave a Reply