นอกจากการเปิดตัวสมาชิกใหม่ในสินค้ากลุ่ม Signature Series แล้ว ปีนี้ทาง Sony ยังได้ออกหูฟังตระกูลใหม่คือ IER-M ซึ่งเป็นหูฟัง In-Ear Stage Monitor สำหรับผู้ใช้ระดับ Professional และนักฟังเพลงที่ต้องการได้ยินเสียงแบบเดียวกับที่ศิลปินได้ยิน
ภายในงาน คุณ Kochi Nageno วิศวกรอาวุโสของ Sony ได้เล่าถึงความแตกต่างของหูฟัง Signature Series กับหูฟังมอนิเตอร์ว่า ในขณะที่หูฟัง Signature Series ถูกออกแบบมาเพื่อการฟังเพลงที่มิกซ์มาเพื่อการฟังผ่านลำโพง หูฟังมอนิเตอร์นั้น ได้ถูกออกแบบเพื่อการฟังเสียงของศิลปินเองและเสียงดนตรีประกอบอื่น ๆ ดังนั้นลักษณะมิติและเสียงของหูฟังทั้งสองจึงมีความแตกต่างกัน หูฟัง Signature Series จะเน้นมิติที่เปิดกว้างเหมือนการฟังเพลงในห้อง และสามารถเล่นเสียงเพลงได้ตามที่ผู้ผลิตเพลงต้องการ
แต่หูฟังมอนิเตอร์นั้น จะเน้นมิติที่สมจริง และเสียงที่มีความแม่นยำ เพื่อให้ศิลปินสามารถเล่นเพลงและแสดงอารมณ์ออกมาได้อย่างถูกต้อง คุณ Kochi ยกตัวอย่างของนักร้อง ซึ่งตอนที่ร้องเพลงนั้น หูจะได้ยินเสียงที่เดินทางออกจากปากซึ่งมีระยะห่างกันประมาณ 10 เซนติเมตร หูฟังมอนิเตอร์จะต้องมีความแม่นยำในการสร้างเสียงลักษณะเดียวกัน หากนักร้องได้ยินเสียงตัวเองผ่านหูฟังเบาหรือดังเกินไป ก็จะทำให้เขาร้องเพลงผิดได้
เพื่อให้ได้เสียงที่มีความแม่นยำ ทีมพัฒนาได้เลือกใช้ตัวขับแบบ Balanced Armature กับหูฟังตระกูลนี้ โดยได้ทดลองใช้ตัวขับจำนวนแตกต่างกัน เพื่อรับผิดชอบเสียงในแต่ละย่าน จนได้ข้อสรุปที่จะใช้ตัวขับทั้งหมด 5 ตัว ในการรับผิดชอบย่านเสียงทั้ง 6 ย่าน นอกจากนี้ทีมพัฒนายังได้ร่วมมือกับวิศวกรเสียงระบบ Public Address และนักดนตรีของ Sony Music Entertainment Japan ในการจูนเสียงของหูฟังตระกูลนี้อีกด้วย
อุปกรณ์เสริมที่มากับหูฟัง IER-M ก็จัดว่าอลังการงานสร้างมาก คือมีจุกหูฟังมาให้ทั้งหมด 7 ขนาด ทั้งแบบ Hybrid Silicone ปกติและ Triple-Comfort ที่มีบริเวณหมวกเป็นโฟมซิลิโคนคืนรูป สายหูฟังหัวปลั๊ก 3.5 มม. และ Balanced 4.4 มม. ตัวม้วนสายเก็บ และเคสใส่หูฟัง
ครั้งสุดท้ายที่ผมเห็น Sony จัดแพ็คเกจอุปกรณ์เสริมขนาดนี้คือ ตอน MDR-EX1000 ที่ให้จุก Hybrid Silicone 7 ขนาด จุก Noise Isolation 3 ขนาด สายหูฟังแบบสั้นและยาว และเคสหนังพร้อมตัวม้วนสายเก็บ เมื่อประมาณ 5 – 6 ปีที่แล้ว
IER-M9
IER-M9 เป็นหูฟังรุ่นสูงสุดในตระกูล IER-M ภายในตัวหูฟังประกอบด้วยชุดตัวขับแบบ BA ที่มีไดอะแฟรมทำจากอะลูมิเนียม จำนวน 4 ตัว และตัวขับ BA ที่เป็น Super Tweeter ซึ่งมีความพิเศษที่ตัวไดอะแฟรมทำจากแมกนีเซียมอีก 1 ตัว นอกจากนี้ตัวถังภายนอกยังทำจากแมกนีเซียม รวมทั้งมี Face plate ที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์อีกด้วย
จุดที่ผมคิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับหูฟัง Sony รุ่นก่อนหน้าคือ การเลิกใช้วัสดุ TEKNOROTE ตรงบริเวณสายหูฟังที่ใช้คล้องหู แล้วเปลี่ยนมาใช้เป็น PVC ที่ดัดเป็นห่วงมาเรียบร้อยแล้วแทน ซึ่งจากการพูดคุยกับคุณ Shinosuke ซึ่งเป็น Mechanical Engineer ที่ดูแลการพัฒนา IER-Z1R ได้บอกเหตุผลที่เปลี่ยนว่า ผู้ใช้จะได้ไม่ต้องเสียเวลามาดัดสายเอง ทำให้สามารถสวมใส่หูฟังได้อย่างรวดเร็ว
ขนาดของ IER-M9 นั้นเล็กและรู้สึกเบากว่า IER-Z1R ที่ผมได้เขียนถึงไปในโพสก่อนหน้ามาก รูปทรงของหูฟังที่ทำมาเพื่อปิดส่วน concha ของใบหู ทำให้มีวิธีการใส่ที่แตกต่างจากหูฟัง Sony ปกติอยู่พอสมควร เพราะต้องหมุนตัวหูฟังให้ลงไปในใบหูพอดี หลังจากใส่เสร็จผมพบว่าตัวหูฟังนั้นสามารถป้องกันเสียงจากภายนอกลงได้มากกว่าเดิมมาก และยังทำได้ดีกว่า IER-Z1R ด้วย อาจจะเป็นเพราะว่าตัวหูฟังนั้นใส่พอดีกับหูของผมได้มากกว่า ซึ่งเจ้าหน้าที่ของ Sony บอกว่า IER-M สามารถป้องกันเสียงจากภายนอกได้ถึง 25 – 26 dB เลยทีเดียว
ส่วนเรื่องเสียงนั้น จากการลองฟังด้วย Walkman MW-1A ผ่านฟังก์ชั่น BT Receiver ผมคิดว่าเสียงของ IER-M9 มีลักษณะไปทางหูฟังมอนิเตอร์มาก ๆ คือเสียงแต่ละย่านออกมากันแบบพอดี ๆ และมีช่วงเสียงแหลมที่คมชัด เที่ยงตรง มิติเสียงที่ตรงไปตรงมา รวมทั้งการแยกรายละเอียดที่ผมคิดว่าทำได้ดีมาก หากไปเทียบกับ IER-Z1R แล้ว ผมคิดว่า IER-Z1R มีย่านเสียงแหลมที่นุ่มกว่า ให้มิติเสียงที่ฟังดูกว้างกว่า และฟังเพลงได้สนุกกว่า IER-M9
ถ้าเทียบกับหูฟังมอนิเตอร์ที่ผมใช้งานอยู่ก่อนหน้าอย่าง MDR-EX800ST ผมคิดว่า EX800ST จะมีย่านเสียงกลางที่ฟังดูเด่นกว่าตามแบบฉบับตัวขับไดนามิค ย่านเสียงแหลมที่ลากไปได้น้อยกว่า และมีมิติเสียงที่ฟังแล้วแคบกว่า IER-M9 แน่ละเขามี Super Tweeter ช่วยในย่านความถี่สูงอยู่นี่นา
IER-M7
IER-M7 เป็นหูฟังตัวรองในตระกูล IER-M7 โดยจะใช้ตัวขับ BA จำนวน 4 ตัว รับผิดชอบย่านเสียงต่ำ กลาง และสูง เช่นเดียวกับ IER-M9 และมีตัวถังภายนอกที่ทำจากพลาสติก อย่างไรก็ตามส่วนของท่อนำเสียงนั้นผลิตจากทองเหลือง เช่นเดียวกับหูฟัง XBA-N3 และ MDR-EX650 ที่เคยรีวิวไป
การสวมใส่ของ IER-M7 นั้นไม่ได้มีความแตกต่างจาก M9 (แน่ละตัวถังทรงเดียวกัน) แต่สิ่งที่แตกต่างคือย่านเสียงสูงของหูฟัง ที่ถึงแม้ว่าเราจะยังได้ยินมันอยู่ แต่ความคมชัดที่เกิดจาก Super Tweeter มันหายไป ซึ่งผมคิดว่าเสียงลักษณะนี้มีความใกล้เคียงกับแนวเสียงของ MDR-EX1000 มากกว่าของ IER-Z1R เสียอีก คือมีความแหลม แต่ไม่ได้แหลมเหมือนหูฟังยุคหลัง ๆ ของ Sony
หลังจากการฟังหูฟังทั้งสองตัว ถ้าไม่เอาเรื่องราคาของหูฟังทั้งสองมารวมในการตัดสินใจ ผมคิดว่า IER-M7 น่าจะเหมาะกับผู้ใช้ที่ไม่ชอบเสียงอันแหลมคมตรง ๆ ของ IER-M9 ถึงแม้ว่าเสียงแหลมของมันจะยังไม่คมและแข็งมากเท่าหูฟังมอนิเตอร์ยอดนิยมเช่น AKG K271 หรือ beyerdynamic DT770 Pro ในตลาดก็ตาม นอกจากนี้ IER-M7 ยังมีเสียงที่ฟังได้สบายกว่า IER-M9 ทำให้น่าจะเกิดอาการล้าหูน้อยกว่า แต่เนื่องจากผมยังไม่ได้มีเวลาลองหูฟังทั้ง 2 รุ่นมากกว่านี้ เลยยังไม่อยากฟันธงตรงจุดนี้
นอกจากนี้ ผมยังสงสัยว่าลูกค้าของหูฟังตระกูลนี้คือใครกันแน่ ระหว่างศิลปินและวิศวกรเสียงมืออาชีพ กับผู้ใช้ทั่วไป เพราะหากเป็นผู้ใช้กลุ่มแรก ผมคิดว่าการสนับสนุนหลังการขายนั้นมีความสำคัญ แต่จากเท่าที่สอบถามทาง Sony ในงาน หากหูฟังเสีย ก็จะทำการแก้ไขโดยการเปลี่ยนตัวใหม่ตามที่เคยปฏิบัติกันมา เมื่อเทียบกับหูฟัง CIEM ที่นิยมใช้งานโดยผู้ใช้กลุ่มนี้นั้น สามารถส่งซ่อมกับศูนย์ได้ แต่หากตั้งเป้ามาที่ผู้ใช้กลุ่มหลัง ผมคิดว่าหูฟัง IER-M ทั้งสองตัวนั้นสอบผ่านทุกด้านทั้งตัวหูฟังเองและอุปกรณ์เสริมที่ให้มา
ใครที่สนใจ ทาง Sony เปิดให้จองสินค้าแล้ว โดย IER-M9 ราคา 39,990 บาท และ IER-M7 ราคา 24,990 บาท สินค้าจะเข้ามาช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ครับ
สำหรับสินค้าของ Sony ที่นำมาเปิดตัวในงาน ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ เราไปดูสินค้าตัวอื่นกันต่อเลยครับ