Set up
เมื่อเปิด Walkman A30 ขึ้นมาครั้งแรก ตัวเครื่องจะให้เราเลือกภาษาของส่วนติดต่อผู้ใช้และตั้งเวลาเท่านั้น เมื่อทำเสร็จแล้วตัวเครื่องก็จะพร้อมใช้งานทันที ส่วนคนที่ซื้อ Walkman A30 รหัสต่อท้าย HN ซึ่งมาพร้อมกับหูฟัง MDR-NW750N จะต้องไปเลือกหูฟังที่ใช้งานเป็นรุ่น MDR-NW750N ก่อนใน Settings ถึงจะสามารถเปิดใช้ระบบตัดเสียงรบกวนของหูฟังได้
การใส่เพลงนั้น ถึงแม้ว่าตัวเครื่องจะรองรับการลากไฟล์มาลงในโฟลเดอร์ Music ในไดร์ฟที่ปรากฏได้ทันที แต่เพื่อความเป็นระเบียบแล้ว ก็แนะนำให้ใช้โปรแกรม Media Go ซึ่งสามารถกดโหลดได้จากลิ้งก์ที่อยู่ในไดร์ฟหน่วยความจำหลักของตัวเครื่อง
สิ่งที่ปรับปรุงเกี่ยวกับการโอนเพลงใน Walkman A30 คือ เราไม่จำเป็นต้องกดสลับหน่วยความจำหลักและ microSD ที่ตัวเครื่องในเวลาที่เราโอนเพลงแล้ว เพราะเมื่อเราเอาเครื่องไปต่อกับคอมพิวเตอร์ จะปรากฏเป็นไดร์ฟขึ้นมาทั้ง 2 ตัวขึ้นมาพร้อมกันเลย
ช่วงระหว่างเวลาที่ผมได้เครื่องมารีวิว ทาง Sony ได้ออกอัพเดทซอฟต์แวร์เวอร์ชั่น 1.01 ออกมา โดยในเวอร์ชั่นนี้จะแก้ไขประสิทธิภาพการทำงานและความเสถียรของตัวเครื่อง ซึ่งเราสามารถอัพเดทผ่าน Media Go โดยการเลือกไปที่หน้าหน่วยความจำหลักของเครื่อง แล้วกดอัพเดทได้ทันที จากนั้นก็รอให้โปรแกรมโหลดตัวอัพเดทมาลงที่เครื่อง ใช้เวลาไม่นานก็เสร็จ
Performance
สิ่งหนึ่งที่ผู้ใช้เครื่องเล่นเพลงจอสัมผัสที่ใช้ระบบปฏิบัติการที่ผู้ผลิตทำเองคือ ความลื่นไหลและความเสถียรของซอฟต์แวร์ ซึ่งจากการใช้งานของผม ผมคิดว่า Walkman A30 นั้นสอบผ่านตรงนี้ได้อย่างสบาย ตัวซอฟต์แวร์ดูไหลลื่น ถึงแม้จะติดเวลาในการโหลดข้อมูลในบางหน้าจอบ้างเล็กน้อย แต่ผมคิดว่าไม่มีผลอะไรกับการใช้งานมากนัก อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ซอฟต์แวร์ตัวนี้ออกแบบมาให้ Walkman WM-1 ซึ่งมีขนาดหน้าจอ 4 นิ้วเป็นหลัก ผมคิดว่าส่วนติดต่อผู้ใช้นั้นมีขนาดไม่เหมาะสมกับ Walkman A30 เอาซะเลย การจิ้มปุ่ม basic operation buttons และปุ่มปรับค่าต่าง ๆ ให้โดนนั้น ทำได้ลำบาก จนทำให้รู้สึกว่าตัวซอฟต์แวร์นั้นดูไม่ลื่นไหล ทั้งที่ความเป็นจริงคือเรากดปุ่มยังไม่โดน
ผมได้นำเอาหูฟังต่าง ๆ ที่ผมมีอยู่มาต่อกับ A30 ดู ซึ่ง A30 ก็มีกำลังมากพอที่จะขับหูฟังเหล่านั้นได้ การปรับระดับความดังของเสียงนั้นทำได้ละเอียดมากขึ้น คือสามารถปรับได้ตั้งแต่ 0 – 100 และล็อกระดับความดังเสียงไม่ให้เป็นอันตราย AVLS ที่ 63 อย่างไรก็ตามผมกลับแปลกใจว่าถ้าเทียบระดับขั้นความดังเสียงที่เบอร์ไล่ ๆ กับ Walkman ZX1 ที่ผมใช้งานอยู่แล้ว รู้สึกว่า ZX1 จะมีความดังมากกว่า ผมเลยไม่แน่ใจว่าระดับขั้นเสียงของ A30 มันเท่ากันตลอดทุกช่วงหรือเปล่า
น้ำเสียงของ A30 นั้น ยังคงแนวเสียงเดิมของ Walkman A20 เอาไว้ คือเน้นเสียงช่วงกลางและช่วงต่ำ แต่ก็มีการปรับปรุงในเรื่องของรายละเอียด มิติเสียง และปลายเสียงแหลมที่ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมด้วย ผมฟังเสียงเทียบกับ ZX1 ที่ผมใช้งานอยู่ปัจจุบัน รู้สึกได้ว่าเสียงของ A30 นั้นเริ่มเข้ามาใกล้ตระกูล ZX มากขึ้น ที่ยังสู้ไม่ได้มีเพียงช่วงเสียงกลาง ที่ ZX1 ฟังดูไม่แห้งมีชีวิตชีวากว่า และช่วงเสียงแหลมที่ ZX1 มีความฉับไวและความคมที่มากกว่าเท่านั้น
ตัวประมวลผลเสียงต่าง ๆ ที่ให้มาในเครื่องก็ยังคงเหมือนกับ Walkman รุ่นก่อนหน้า แต่สำหรับตัวประมวลผลหน้าใหม่อย่าง DC Phase Linearizer นั้น จากการลองฟังของผม รู้สึกว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นฟังออกได้ยากมาก คือในบางเพลงผมจะรู้สึกว่าเสียงเบสมันฟังดูฉ่ำขึ้นนิดหน่อย อารมณ์ประมาณเราเอาไฟล์เสียงเดียวกันมาเล่นพร้อมกัน แต่มีไฟล์นึงที่เวลาเริ่มต้นมันเลื่อนไปนิดหน่อย แต่บางเพลงก็ไม่สังเกตถึงความแตกต่างเลย ซึ่งพอผมไปลองค้นข้อมูลจากเอกสาร S-Master Pro ของ Sony ดู ก็เลยทราบว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นมันเล็กน้อยมาก แต่ใน AVR ที่ใช้ S-Master Pro รวมทั้ง Walkman WM1 ตัวล่าสุดนั้น เราสามารถปรับแต่งความกว้างของช่วงความถี่ที่จะให้การแก้ไขเฟสนั้นมีผลได้ ซึ่งอาจจะมีการตั้งค่าที่ให้ผลชัดเจนกว่าก็เป็นได้
ในการใช้งาน Walkman A30 ร่วมกับหูฟังไร้สายผ่านทาง Bluetooth นั้น ผมได้นำ MDR-1ABT มาเชื่อมต่อกับเครื่อง ซึ่งผลที่ได้ก็ไม่ค่อยแตกต่างจากตอนเอาไปใช้งานกับ Walkman ZX100 เท่าไร คือเสียงแหลมจะมีความเพี้ยนเมื่อใช้ SBC ที่ bit rate ต่ำ และเสียงจะออกมาเต็ม เมื่อใช้งาน LDAC ส่วนระยะทำการของ Bluetooth ของ A30 ที่เคลมไว้ที่ 10 เมตรนั้น ผมลองใส่หูฟังเดินขึ้นไปชั้นข้างบนของห้องที่วางเครื่องอยู่ ซึ่งค่อนข้างสูงและมีกำแพงและพื้นกั้นอยู่ ก็ยังสามารถส่งสัญญาณเสียงด้วย LDAC ที่ bit rate สูงได้ แต่ถ้าเอามือไปบังเสา Bluetooth ของหูฟัง สัญญาณก็จะถูกตัดไปเลย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมเสียดายคือการที่ Sony เลือกที่จะไม่รองรับ aptX ซึ่งผมก็พอจะเดาได้ว่า ในเมื่อ Sony เองมี LDAC ซึ่งเป็น codec ที่คิดว่าดีกว่าอยู่แล้ว แถมตอนนี้ยังได้เปิดขายสิทธิ์การใช้งานให้แก่ผู้ผลิตที่สนใจด้วย จะไปเสียเงินขอสิทธิ์การใช้งานและโปรโมท codec ของคู่แข่งทำไม อย่างไรก็ตามตอนนี้สินค้าที่ใช้ LDAC เองก็ยังมีน้อยอยู่ การรองรับ aptX ก็น่าจะเป็นผลดีกับผู้ใช้ที่มีหูฟังไร้สายที่ตัวเองถูกใจอยู่แล้วมากกว่า
ส่วนอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ต่อการชาร์จหนึ่งครั้งนั้น ผมได้ชาร์จแบตเตอรี่เครื่องจนเต็ม ฟังเพลงที่เป็น HRA ผสมกับเพลงรูปแบบ lossy และความละเอียดปกติ เปิด – ปิดความสามารถ DSEE HX, DC Phase Linearizer, และ Digital NC ตามสถานการณ์ใช้งาน แล้วจับเวลาการเล่นเพลงบนเครื่องดู โดยระหว่างที่ไม่ได้เล่นเพลงผมจะกดปิดเครื่องไป ตัวเครื่องสามารถใช้งานได้นานประมาณ 10 ชั่วโมงครึ่ง ก่อนที่จะแจ้งเตือน low battery ทำเอาผมแปลกใจนิดหน่อย แต่ก็พอเดาออกว่าเกิดจากอะไร
ผมค้นหาเรื่องอายุของแบตเตอรี่ในคู่มือดู เลยพบว่าถ้ามีการใช้งานตัวประมวลผลเสียงพิเศษต่าง ๆ จะทำให้อายุการใช้งานของแบตเตอรี่จะลดลงไปประมาณ 70% นอกจากนี้การใช้การเชื่อมต่อ Bluetooth ยังทำให้อายุการใช้งานแบตเตอรี่ลดลงไปประมาณ 45% อีกด้วย โดยรวมแล้ว A20 รุ่นก่อนหน้ายังคงทำเรื่องนี้ได้ดีกว่า
สำหรับหูฟัง MDR-NW750N นั้น มีความคล้ายคลึงกันกับ MDR-EX750NA ที่เคยรีวิวไป ที่เสียงของตัวหูฟังที่แท้จริงจะถูกจูนด้วยตัวเครื่องอีกทีนึง ในกรณีนี้ หากตัวเลือก Headphones ใน settings เป็น other headphones ตัวหูฟังจะมีปริมาณเสียงเบสที่มากและลงได้ลึก เสียงกลางที่หนาเด่น เสียงแหลมที่คมและมีรายละเอียด แต่ถูกเสียงเบสกลบไว้ ค่อนข้างแตกต่างจากเสียงของ EX750NA ที่ยังไม่ได้เปิด Digital NC อยู่พอสมควร
เมื่อเลือกรุ่นหูฟังที่ถูกต้องแล้ว ปริมาณเสียงเบสและเสียงกลางจะถูกลดลงปริมาณลงแบบมาพอดิบพอดี เสียงแหลมมีความคม หางเสียงแนวเสียงโดยรวมจะออกไปทางสว่างหน่อย แต่ระดับเสียงโดยรวมจะเบาลง เร่งเสียงขึ้นมาสัก 2 – 4 เบอร์ก็จะกลับมาใกล้เคียงเดิม และถ้าเปิด ClearPhase เอาไว้ มิติเสียงของเสียงจะถูกจับแยกออกเรียงใหม่ โดยเสียงที่อยู่ตรงกลางจะถูกโฟกัสขึ้นมา เสียงเครื่องดนตรีจะกระจายออกไปด้านข้าง เสียงเบสจะกระจายออกไป ฟังดูกังวาลขึ้น
ส่วนระบบตัดเสียงรบกวนนั้น ผมไม่มีโอกาสได้นำไปเปรียบเทียบกับ EX750NA แต่จากการใช้งานบนรถเมล์ รถไฟฟ้า และที่ทำงาน ก็สามารถจัดการเสียงรบกวนในช่วงความถี่ต่ำได้ดี และยังคงปลอยเสียงประกาศหรือเสียงคนเรียกเข้ามาบาง ซึ่งถ้าใครฟังเพลงดัง ๆ หน่อย เสียงพวกนี้ก็จะถูกกลบไป อย่างไรก็ตามผมพบว่าบางครั้งระบบตัดเสียงรบกวนมีถูกปิดเป็นเวลาสั้น ๆ เมื่อเปลี่ยนเพลงที่มีความละเอียดต่างกัน ซึ่งผมคิดว่ามันค่อนข้างดึงสมาธิไปจากการฟังเพลงอยู่บ้าง
ในจุดอื่น ๆ ของหูฟัง ผมคิดว่าสอบผ่านหมด ทั้งเรื่องขนาด การสวมใส่ แต่ผมรู้สึกว่าสายหูฟังมักจะมีเสียงเวลามันไปเสียดสีกับเสื้อผ้ามากกว่าสายหูฟังของหูฟังรุ่นอื่น ๆ ของ Sony ที่ผมใช้งานมา และถ้าถอดหูฟังออกโดยยังเปิดระบบ Digital NC ทิ้งไว้ จะมีเสียงตอนถอดปลั๊กที่ดังมาก แนะนำให้ปิดระบบ Digital NC หรือถอดหูฟังออกจากหูก่อน
Conclusion
หลังจากใช้งาน Walkman A30 มาเกือบ ๆ เดือน ผมรู้สึกทึ้งในเรื่องคุณภาพเสียงของมัน ที่ทำออกมาได้ดีจนแทบจะไล่ตาม Walkman ตระกูลที่สูงกว่าในรุ่นก่อนหน้าได้แล้ว จนทำให้นึกไปถึง Walkman ตัวใหม่ที่จะมาแทน Walkman ZX100 ว่าทาง Sony จะพัฒนาเสียงของ Walkman ตัวนี้อย่างไรกัน เพราะขนาดแค่รุ่นล่าง เสียงยังมาจัดเต็มขนาดนี้ นอกจากนี้ความสามารถใหม่อย่าง Language Study นั้น ยังมีประโยชน์กับผู้เรียนภาษา นักดนตรี ที่ต้องการแกะคำพูดหรือแกะเพลงด้วย
ส่วนหูฟัง MDR-NW750N นั้น ต้องเรียกว่ามันเกิดมาคู่กับ Walkman แท้ ๆ เพราะการประมวลผลเสียงที่จำเป็นต้องใช้นั้นมันอยู่ที่ Walkman ทั้งหมด ซึ่งถ้าไม่ซีเรียสตรงจุดนี้ ผมคิดว่าหูฟังตัวนี้มีน้ำเสียงโดยรวมออกไปทางสว่าง ฟังได้สนุก จัดเป็นหูฟังที่ดีตัวหนึ่งในช่วงราคาของมัน และน่าจะเป็นหูฟังเริ่มต้นสำหรับคนที่อยากลองสัมผัสประสบการณ์เสียงความละเอียดสูงตามแบบฉบับของ Sony
สรุป ใครที่กำลังมองหาเครื่องเล่นเพลงความละเอียดสูง ขนาดเล็ก พกพาง่าย ราคาคุ้มค่า Walkman A30 ก็จัดเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจตัวนึง แต่ถ้าใครอยากที่จะลิ้มลองรสชาติของเสียงความละเอียดสูง แต่ไม่รู้ว่าจะซื้อเครื่องเล่นหรือหูฟังตัวไหน การซื้อชุด Walkman A30 พร้อมหูฟัง MDR-NW750N ก็จัดเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอีกเช่นกัน แถมยังได้ระบบตัดเสียงรบกวนไปใช้งานอีกด้วย
Like
- ตัวเครื่องขนาดกะทัดรัด พกพาง่าย
- ซอฟต์แวร์ดูไหลลื่น เสถียร
- คุณภาพเสียงโดยรวม เริ่มไล่ตาม Walkman ตระกูลสูงกว่าในรุ่นก่อนหน้าได้แล้ว
- สามารถส่งสัญญาณเสียง DSD ไปยัง USB DAC ได้
- ความสามารถ Language Study มีประโยชน์และเป็นข้ออ้างที่ดีที่จะซื้อ Walkman A30 มาใช้
Don’t like
- ส่วนติดต่อผู้ใช้ออกแบบไม่เหมาะสมกับขนาดของหน้าจอ
- ไม่รองรับ aptX
- ระบบ Digital NC สดุดเวลาเปลี่ยนเพลงที่มีความละเอียดต่างกัน
- อายุแบตเตอรี่สั้นกว่ารุ่นที่แล้ว
MDR-NW750N
Like
- ขนาดกะทัดรัด สวมใส่สบาย
- ออกแบบเพื่อใช้งานร่วมกับ Walkman โดยเฉพาะ
Don’t like
- ต้องใช้การประมวลผลเสียงบน Walkman เพิ่มเติมเพื่อให้ได้เสียงตามที่ออกแบบไว้
- เสียงรบกวนจากการเสียดสีของสายหูฟัง
ขอขอบคุณ ทาง Sony Thai ที่ให้ยืมสินค้าเพื่อการรีวิวด้วยครับ
รีวิวละเอียดมาก
มีทุกส่วนที่สงสัย
ขอบคุณสำหรับรีวิวครับ
ผิดหวังที่ไม่มีภาษาไทย
ผมใช้ Walkman F880 ตอนนี้แบตเสื่อมค่อนข้างมากแล้ว
ตัวรุ่น F880 กับ A30 คุณภาพต่างกันมากแบบชวนให้ซื้อไหมครับ หรือผมเอา F880 ไปเปลี่ยนแบตดี
ผมคิดว่า A30 ได้ในเรื่องพวกตัว DSP ใหม่ ๆ การเล่น DSD ที่ 5.2 MHz ได้ และรองรับ MicroSD แต่ F880 เป็น Android ซึ่งผมคิดว่าระบบค้นหาค่อนข้างดีกว่า A30 ครับ ส่วนเรื่องเสียงคงต้องไปลองฟังเทียบกันดูอีกทีครับ
อย่างไรก็ตาม ค่าเปลี่ยนแบตของ F880 กับศูนย์นั้น ผมคิดว่าไม่น่าแพงมากครับ เพราะปีที่แล้วผมเอา ZX1 ไปเปลี่ยนแบต ค่าใช้จ่ายจำได้ว่าเกือบ ๆ พันบาทครับ
ขอบคุณมากๆครับ สำหรับคำแนะนำและความรู้
เดี๋ยวผมลองเอา F880 ไปสอบถามที่ศูนย์ Sony ครับ
Pingback: Sony ประกาศเพิ่มความสามารถการแสดงชื่อเพลงเป็นภาษาไทยให้แก่ Walkman A30 และ WM1 | RE.V –>
Pingback: แอพ Sony | Music Center บน Android อัพเดทรองรับการเล่นเพลงบนเครื่องผ่าน USB DAC แล้ว | RE.V –>
คือพอดีสงสัยอยากจะถามหน่อยครับ ชิปเสียงของA30 ใช้ของอะไรครับหาข้อมูลเรื่องนี้ไม่เจอเลย
เท่าที่ผมมีข้อมูล ของ Walkman A30 คือนอกจากจะระบุว่าใช้วงจรขยายดิจิทัล S-MASTER HX ซึ่งเป็นการรวมเอาภาค DAC และวงจรขยายไว้ในชิปเดียวกัน ก็ไม่มีข้อมูลอย่างอื่นครับ
เรื่องของเบอร์ชิป S-Master ส่วนมากทาง Sony จะไม่ค่อยได้นำเบอร์ชิปออกมาโฆษณาให้ทราบสักเท่าไร ล่าสุดเบอร์ชิปที่ประกาศออกมาก็คือ CXD3778GF ที่ใช้งานใน Walkman WM1
ถ้าไม่นับเบอร์ชิปที่ Sony ทำเอง (รหัสขึ้นต้นด้วย CXD) ก็จะมี M65881AFP ของ RENESAS ที่ซื้อลิขสิทธิ์ S-Master ไปทำ ซึ่งก็จะคงโครงสร้าง DAC และวงจรขยายดิจิทัลในตัวเอาไว้เช่นกัน
Pingback: รายละเอียดสเปกของ Walkman ZX300 และ A40 ที่จะกำลังจะเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ | RE.V –>
Pingback: รีวิว Sony MDR-NC750 หูฟังตัดเสียงรบกวนคู่หู Xperia | RE.V –>