ภานหลังงานเปิดตัว Signature Series ในไทยที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณ Shiomi Shunsuke ซึ่งเป็น acoustic engineer ผู้รับผิดชอบในการออกแบบเสียงของหูฟังรุ่นพระกาฬ MDR-Z1R หนึ่งในสินค้า Signature Series ที่เปิดตัวกันไปในงานครับ
คุณ Shunsuke ทำงานกับ Sony มาได้ประมาณ 8 ปีแล้ว โดยได้รับผิดชอบในการออกแบบเสียงหูฟัง MDR-1A, MDR-100A และพระกาฬตัวล่าสุดอย่าง MDR-Z1R ซึ่งเขาได้มาอธิบายการออกแบบในวิดีโอเปิดตัวหูฟังรุ่นนี้ด้วย
ในงานเปิดตัวที่ไทยปีนี้ คุณ Shunsuke ได้เดินทางมาที่งานในไทยกับคุณ Nageno Koji หัวหน้าแผนกเสียงที่ 1 และคุณ Sato Masaki ผู้ออกแบบแอมป์ TA-ZH1ES ด้วย เพื่อพูดคุยและตอบคำถามของผู้มาร่วมงานเกี่ยวกับสินค้าที่พวกเขาเป็นคนออกแบบครับ
หลังจากที่ผมแนะนำตัวกับคุณ Shunsuke เรียบร้อยแล้ว เพื่อไม่ให้เสียเวลา ก็เข้าสู่คำถามแรกกันทันที
คุณ Shunsuke คิดว่าเสียงความละเอียดสูงนี่เป็นอย่างไรครับ
เสียงความละเอียดสูงนั้นประกอบไปด้วยเสียงที่มีความเบาและความดัง ซึ่งหลาย ๆ คนมักจะโฟกัสไปที่การตอบสนองย่านความถี่ที่กว้าง แต่ dynamic range นั้นก็สำคัญเช่นกัน ซึ่งพวกเราที่ Sony จึงออกแบบหูฟัง, Walkman และแอมป์หูฟังโดยเน้นไปที่เสียงเล็ก ๆ เหล่านั้นด้วย เพราะฉะนั้นเสียง Hi-Res Audio นั้นต้องมี dynamic range และย่านความถี่ที่กว้างครับ
หมายความว่าเวลาที่คุณ Shunsuke ออกแบบเสียง Hi-Res Audio ก็ให้ความสำคัญไม่ใช่เฉพาะกับย่านความถี่อย่างเดียว แต่รวมไปถึง dynamic range ด้วยสินะครับ
เวลาที่คุณฟังเพลงในคอนเสิร์ต นอกจากคุณจะได้ยินเสียงเพลงแล้ว คุณยังได้ยินเสียงสะท้อนและบรรยากาศแวดล้อมด้วย ถ้าเสียงเล็ก ๆ เหล่านี้ได้ถูกบันทึกเอาไว้ คุณจะรู้สึกถึงสภาพบรรยากาศเหล่านั้นได้ ซึ่งเพลงความละเอียดสูงจะสามารถเก็บเสียงเล็ก ๆ อย่างเสียงสะท้อนและบรรยากาศแวดล้อมเอาไว้ได้ นั้นคือสิ่งที่สำคัญที่ทำให้คุณรู้สึกถึงสภาพบรรยากาศได้ครับ
แบบนี้ซาวด์เอนจิเนียร์ก็ต้องใช้ความพิถีพิถันในการบันทึกเสียงด้วยสินะครับ
ใช่ครับ อย่างเสียงความละเอียดสูงที่บันทึกในห้องบันทึกเสียงเอง ก็มีเสียงสะท้อนและบรรยากาศรอบข้างด้วยเช่นกัน ซึ่งเราก็สามารถรู้สึกถึงสภาพบรรยกาศนั้นได้เหมือนกัน
ตอนที่ผมสร้างเสียงดังกล่าว ผมได้ไปยัง Battery Studio ที่ New York ที่นั้นเป็นห้องอัดของ Sony Music ที่ใช้ mastering เพลงของศิลปินที่มีชื่อเสียงอย่าง เพื่อศึกษาว่าเสียงการเล่นของนักดนตรีในห้องอัดนั้นให้ความรู้สึกอย่างไร จะได้สร้างเสียงดังกล่าวออกมาได้ครับ
ตอนนี้ผมก็ได้ทราบถึงวิธีการออกแบบแนวเสียงความละเอียดสูงของคุณ Shunsuke ไปแล้ว แต่ Signature Series นั้นยังประกอบไปด้วย Walkman และแอมป์หูฟังอีก ไม่ทราบว่าทีมของคุณ Shunsuke ทำงานร่วมกับทีมอื่น ๆ อย่างไรครับ
ในที่ทำงานของผม ตำแหน่งแผนกหูฟังและแผนก Walkman นั้นอยู่ตรงกันข้ามกัน ส่วนแผนกที่ทำแอมป์หูฟังนั้นจะอยู่อีกชั้นหนึ่ง พวกเราก็มาประชุมกันถึงจุดขายของเสียงความละเอียดสูงในการฟังเพลง เอาสินค้ามาทดลองฟัง และพูดคุยแลกเปลี่ยนกันครับ
อยากให้คุณ Shunsuke ช่วยเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง MDR-Z1R กับหูฟังเรือธงในอดีตอย่าง QUALIA 010 หรือ MDR-R10 หน่อยครับ
หูฟังทั้ง 3 ตัวนี้เป็นที่สุดของหูฟังในแต่ละยุคของชนิดของสื่อบันทึกเพลงครับ MDR-R10 นั้นถูกพัฒนาในช่วงการเปลี่ยนสื่อของเพลงจากเทปคาสเซ็ทเป็นแผ่นซีดี QUALIA ก็ออกแบบมาสำหรับ Super Audio CD และ Z1R ก็เกิดมาในยุคของเพลงความละเอียดสูง
สิ่งที่ R10 แตกต่างจาก Z1R คือการใช้เสียงสะท้อนจากตัววัสดุ คุณทราบใช่ไหมครับว่า R10 ทำจากไม้
ทราบครับ
R10 นั้นมีลักษณะการทำงานคล้ายกับเครื่องดนตรี ที่ใช้เสียงสะท้อนจากวัสดุเหมือนกับเครื่องดนตรีที่มีกล่องเสียงภายใน เช่น ไวโอลิน ซึ่งไม่เหมือนกับ Z1R ส่วน QUALIA นั้นมีแนวความคิดที่คล้ายกับ Z1R ที่ไม่ต้องการให้เสียงจากไดอะแฟรมนั้นมีการเปลี่ยนแปลง ก็เลยถูกออกแบบมาให้เป็นหูฟังแบบเปิด
คัพและชุดตัวขับของ MDR-Z1R
ส่วน Z1R นั้นออกแบบมาเป็นหูฟังแบบปิด ผมจึงต้องการที่จะกำจัดเสียงสะท้อนออกไป โดยเริ่มต้นจากการเลือกวัสดุที่มี internal loss สูงในการทำไดอะแฟรม อย่างใน R10 เป็น Biocellulose ส่วน QUALIA เป็น Nano-Composite ส่วน Z1R นั้นใช้ LCP (Liquid Crystal Polymer) เคลือบด้วยอลูมิเนียมและโดมแมกนีเซียม ซึ่งวัสดุที่ว่ามาทั้งหมดนั้นมี internal loss สูงอยู่แล้ว ว่าแต่คุณรู้ว่า internal loss คืออะไรใช่ไหมครับ
ผมพอทราบมาบ้างครับ แต่อยากให้ช่วยอธิบายเพิ่มเติมอีกสักหน่อยครับ
คือไดอะแฟรมนั้นมีทำหน้าที่ในการสร้างเสียงออกมา หากไดอะแฟรมนั้นมี internal loss น้อย ก็จะทำให้เกิดเสียงแบบนี้ครับ (นิ้วเคาะแก้วชากระเบื้องดัง “กิ๊ง ๆ”) วัสดุที่มี internal loss มาก จะมีลักษณะเสียงเฉพาะตัวของวัสดุที่น้อยกว่า ทำให้ไม่ไปเปลี่ยนแปลงเสียงที่ไดอะแฟรมนั้นได้รับเข้ามา พอจะตามทันใช่ไหมครับ
ยังตามทันอยู่ครับ
แนวความคิดเรื่องนี้เหมือนกันทั้งใน R10, QUALIA และ Z1R ครับ แต่หูฟังทั้ง 3 ตัวนี้ก็มีแนวความคิดในการออกแบบอื่น ๆ ที่แตกต่างกันในช่วงเวลาต่าง ๆ เช่น การใช้เสียงสะท้อนจากวัสดุใน R10 แต่ตอนนี้ผมต้องการให้เสียงที่ออกมานั้นเหมือนกับต้นฉบับที่สุด จึงมีแนวความคิดที่ลดเสียงสะท้อนจากวัสดุและเสียงเฉพาะตัวของไดอะแฟรมลงครับ
สรุปคือ ไดอะแฟรมของหูฟังทั้ง 3 ตัวนี้ออกแบบโดยใช้แนวความคิดเดียวกัน แต่มีความแตกต่างที่คัพสินะครับ
ใช่ครับ
คำถามต่อไปเกี่ยวกับการเชื่อมต่อหูฟังแบบ balanced แบบใหม่ขนาดขนาด 4.4 มม. คืออยากทราบว่าทาง Sony ได้มีส่วนในการพัฒนาด้วยหรือเปล่า เพราะเท่าที่ทราบตอนนี้เห็นถูกบรรจุในมาตรฐาน JEITA แล้ว นอกจากนี้ผมยังเห็นคุณ Nao (คุณ Tsunoda Naotaka ผู้ออกแบบ MDR-Z1000 และ MDR-1R) เอาหัวปลั๊ก 4.4 มม. ไปโชว์ในงานที่อเมริกาเมื่อปีก่อน
คุณ Nao เป็นหัวหน้าผมเองครับ (หัวเราะ) น่าจะเป็นงาน Rocky Mountain Audio Fest หรือเปล่าครับ
ใช่ครับ คือทำไมต้องเป็นขนาด 4.4 มม. ด้วยครับ
เพราะว่าเป็นขนาดที่เหมาะสมกับอุปกรณ์พกพาและอุปกรณ์ตั้งโต๊ะ แต่ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของคุณภาพเสียงครับ
แล้วทาง Sony เป็นคนออกแบบการเชื่อมต่อ balanced 4.4 มม. นี้ด้วยหรือเปล่าครับ
ไม่ครับ เราเป็นแค่บริษัทแรกที่ออกสินค้าที่ใช้การเชื่อมต่อแบบนี้ เนื่องจากคุณสมบัติของการเชื่อมต่อนี้ออกแบบโดย JEITA จากนี้ไปก็น่าจะได้เห็นสินค้าจากผู้ผลิตอื่น ๆ ครับ
คุณสมบัติดั้งเดิมนี้มาจากทาง Sony หรือเปล่าครับ
ไม่เลยครับ คือ JEITA เองจะมีสมาชิกที่เป็นผู้ผลิตเครื่องเสียงในญี่ปุ่น เช่น Pioneer, Panasonic, Audio Technica และผู้ผลิตเครื่องเสียงเจ้าอื่น ๆ จะมาคุยกันถึงเรื่องคุณภาพเสียง การพกพา และความแข็งแรง แล้วถึงสร้างตัวต้นแบบออกมา
ทาง JEITA ก็สรุปเลือก balanced แบบ 4.4 มม. มาเป็นมาตรฐานสินะครับ
ใช่ครับ แต่ก็มีหลาย ๆ ผู้ผลิตเสนอการเชื่อมต่อ balanced ของตนเองเข้ามาอยู่เหมือนกัน อย่าง Sony เองก็มีการเชื่อมต่อผ่านปลั๊ก 3.5 มม. จำนวน 2 ปลั๊ก หรือผู้ผลิตอื่นก็มีเชื่อมต่อผ่านปลั๊ก 2.5 มม. TRRS ครับ
ครั้งนี้ทาง Sony ได้ทำวิดีโอแนะนำสินค้า ซึ่งตัวคุณ Shunsuke เองก็ได้ปรากฏในวิดีโอดังกล่าวด้วย แต่นอกเหนือจากวิดีโอนั้นแล้ว ทาง Sony ยังได้ทำวิดีโอแนะนำโรงงาน Sony / Taiyo อีกด้วย เลยอยากให้คุณ Shunsuke บอกความพิเศษของโรงงานแห่งนี้ด้วยครับ
คือโรงงานแห่งนั้นผลิตไมโครโฟนและหูฟังสำหรับมืออาชีพ อย่าง MDR-CD900ST ที่คุณ Nageno เป็นคนออกแบบ หูฟังเรือธงอย่าง MDR-Z7 และ XBA-Z5 รวมไปถึง MDR-EX1000 และ MDR-EX800ST อีกด้วย และด้วยความที่โรงงานแห่งนี้มีทักษะพิเศษในการผลิตสินค้าสำหรับสินค้ามืออาชีพ รวมไปถึงการที่ทางโรงงานได้รับฟังความเห็นจากกลุ่มผู้ใช้มืออาชีพ เพื่อผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้ใช้ ผมคิดว่าโรงงานนี้คือตัวเลือกที่ดีที่สุดในการผลิตสินค้าระดับนี้ครับ
ผมได้ยินว่าโรงงานนี้มีชื่อเสียงจากการที่ใช้แรงงานพิการที่มีฝีมือ
ใช่ครับ คือในโรงงานอื่นจะมีการเปลี่ยนแรงงานค่อนข้างบ่อย แต่ที่ Sony / Taiyo แรงงานนั้นทำงานที่โรงงานมานาน จึงมีทักษะในการทำงานที่มีความยากได้ครับ
ต่อไปเป็นคำถามเกี่ยวกับสินค้าในอนาคตครับ ในมุมมองผม ขณะที่ฝั่งผู้ใช้ทั่วไปมีสินค้าที่รองรับข้อกำหนดเสียงความละเอียดสูงแล้ว แต่ในฝั่งผู้ใช้มืออาชีพเอง ยังไม่มีข้อกำหนดดังกล่าว รวมทั้งสินค้าอย่าง MDR-CD900ST และ MDR-7506 นั้นก็ไม่รองรับข้อกำหนดเสียงความละเอียดสูง เมื่อดูจากคุณสมบัติสินค้า ผมอยากรู้ว่าทาง Sony มีแผนสำหรับสินค้าเสียงความละเอียดสูงสำหรับผู้ใช้กลุ่มนี้บ้างไหมครับ
เรื่องนี้เป็นความลับนะครับ แต่ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นคำถามที่ดี เอาเป็นว่าตอนนี้ยังไม่มีแผนอะไรครับ
ต่อไปเป็นคำถามสุดท้ายครับ ผมไม่แน่ใจว่าจะถามคำถามนี้ได้หรือเปล่า เพราะอาจจะเป็นสินค้าคนละกลุ่มกัน คือตอนนี้หูฟัง CIEM กำลังเป็นที่นิยมในไทย แฟน Sony หลาย ๆ คนเองก็สนใจ Just ear อยู่ เลยอยากทราบว่ามีแผนที่จะขายนอกประเทศญี่ปุ่นหรือไม่ครับ
ตัวผมเองทราบเรื่องนี้อยู่ครับ เพราะงานผลิต Just ear นั้นเกี่ยวข้องกับหลาย ๆ คนอยู่ ซึ่งในตอนนี้จำนวนของพนักงานที่ผลิตหูฟังนั้นยังไม่เพียงพออยู่ แต่โดยส่วนตัว คิดว่าคุณ Matsuo น่าจะมีความคิดที่จะเอา Just ear ไปขายนอกประเทศญี่ปุ่นอยู่ครับ
สุดท้ายนี้ คุณ Shunsuke อยากจะฝากอะไรถึงผู้ใช้ Sony ในไทยบ้างไหมครับ
ผมรักประเทศไทย เพราะเป็นประเทศแรกที่ผมเดินทางออกนอกญี่ปุ่นครับ คนไทยเองก็ใจดีกับผมมาก นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีความสำคัญเพราะเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของหูฟัง Sony ผมก็ขอฝากหูฟังของ Sony ไว้กับผู้ใช้ชาวไทยทุกคนด้วยครับ
หลังจากที่สัมภาษณ์เสร็จ ผมได้มีโอกาสคุยกับคุณ Shunsuke เพิ่มเติมระหว่างเดินทางไปถ่ายรูปที่ห้องจัดแสดงสินค้า Signature Series เลยทำให้ทราบว่าตัวคุณ Shunsuke เองก็เคยเป็นนักดนตรีมาก่อน และยังเปิดเผยถึงเพลงที่เขาใช้ฟังเวลาจูนเสียงหูฟัง ซึ่งก็คือเพลงจากศิลปินแจ็ส Gregory Porter ที่เป็นศิลปินที่เขาชื่นชอบด้วย เรียกได้ว่าทีมงานแผนกเสียงของ Sony เองเขาก็เป็น music lovers ตัวจริงเสียงจริงสมกับสโลแกนล่าสุด “for & by Music Lovers” ครับ
สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณ คุณ Shunsuke และทาง Sony Thai ที่เปิดโอกาสให้ RE.V-> ได้สัมภาษณ์ด้วยครับ
ในสเปคเขียนว่า 4.4 mm Balanced Connection Cable ครับ
http://www.sony.com/electronics/headband-headphones/mdr-z1r/specifications
ขอบคุณที่แจ้งนะครับ แก้ไขเรียบร้อยแล้ว
Pingback: Sony Music Solution Inc. เปิดตัว MDR-M1ST หูฟังมอนิเตอร์ผู้สืบทอด MDR-CD900ST | RE.V –>