สวัสดีครับ พอดีวันนี้ทางเราได้รับเชิญไปงานเปิดตัวสินค้ากลุ่ม High Resolution Audio หรือย่อสั้น ๆ ว่า Hi-Res Audio ของ Sony ก็เลยขอเอาข้อมูลที่ได้มาในงานมาเขียนให้อ่านกัน พร้อมทั้งกับรายงานการจับลองเล่น ลองฟัง เครื่องเล่นเพลงพกพาความละเอียดสูงที่เป็นที่กล่าวขวัญกันอยู่ตอนนี้ นั้นคือเจ้า WALKMAN ZX1 พร้อมทั้งหูฟังสอดหูรุ่นใหม่คู่ใจอย่าง XBA-H3 ครับ
ก่อนอื่นทาง Sony เองก็ต้องออกมาแนะนำกันก่อนว่า ไอ Hi-Res Audio นี้มันคืออะไร HRA คือไฟล์เสียงที่มีความละเอียดสูงกว่า 16 bit 44.1 kHz ที่ใช้ในซีดีเพลง ปัจจุบันไฟล์ HRA ที่ใช้ฟังกันในหมู่ผู้บริโภคจะมีความละเอียดอยู่ที่ 24 bit 192 kHz นอกจากนี้ยังมีไฟล์ HRA ที่จัดเก็บในรูปแบบ DSD ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับที่ใช้ใน Super Audio CD ที่มีความละเอียดมากกว่าการจัดเก็บในรูปแบบ PCM ที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันนี้ซะอีก
ทาง Sony อธิบายต่อว่า ถึงแม้คนเรานั้นจะมีขอบเขตการรับฟังที่แคบ โดยเฉพาะย่านความถี่สูง แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าความถี่เสียงช่วงนั้นไม่มีอยู่ จริง ๆ แล้วมันมีอยู่ เราสามารถรู้สึกได้ เช่น เสียงหายใจของนักร้อง รายละเอียดของเครื่องดนตรีสาย ซึ่งถ้าได้อุปกรณ์ที่สามารถถ่ายทอดความถี่ช่วงนั้นได้ เราก็สามารถรู้สึกถึงความรู้สึกนี้ได้ เหมือนดั่งเราไปนั่งฟังนักร้อง นักดนตรี แบบสด ๆ นั้นเอง
ส่วนสาเหตุที่ทาง Sony มาเอาจริงกับตลาดกลุ่มนี้ เริ่มต้นมาจากที่ทาง Sony ไปได้ดีกับกลุ่มสินค้าหูฟังในช่วงหลัง ๆ โดยมีหัวหอกเป็นหูฟังพรีเมี่ยมรุ่น MDR-1R ที่ช่วยทำให้ Sony มีส่วนแบ่งในตลาดหูฟังกลุ่มพรีเมี่ยมมากที่สุดในญี่ปุ่น และมีส่วนแบ่งในตลาดหูฟังของเกาหลีในระยะเวลาเพียง 3 เดือน
Sony จึงสอบถามผู้ใช้ว่าพวกเขาอยากได้อะไร ซึ่งก็ได้คำตอบว่า พวกเขาต้องการคุณภาพเสียงที่ดีกว่านี้ ทางฝั่งผู้ผลิตเพลงก็ต้องการที่จะนำเสนอเพลงในคุณภาพที่ดีกว่าปัจจุบัน ประจวบกับความเร็วอินเตอร์เน็ตที่มากขึ้น จนสามารถโหลดไฟล์ขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ทำให้เราสามารถฟังเพลงได้แทบจะเหมือนกับต้นฉบับ เหตุผลเหล่านี้จึงทำให้ Sony ตัดสินใจกระโดดเข้ามาเริ่มต้นในกลุ่มสินค้า HRA ก่อนบริษัทใหญ่ ๆ เจ้าอื่นครับ
ว่าแล้วเราก็ไปดูสินค้ากลุ่ม HRA ที่ทาง Sony นำมาให้ดูกันดีกว่า
MDR-1RMK2
ซีรีย์หูฟังกลุ่มพรีเมี่ยมที่เป็นตัวกรุยทางให้กับ Sony ในปีที่แล้ว ปีนี้ก็กลับมาอีกครั้งในสเปกเดิม ๆ แต่มีการเปลี่ยนแปลงในบางจุดให้ดีขึ้น เช่น สายสัญญาณที่ใช้ การรองรับ A2DP COdec แบบ AptX ในรุ่นย่อย 1RBT
MDR-10R
เป็นซีรีย์หูฟังกลุ่มพรีเมี่ยมรุ่นใหม่ ถูกวางตัวไว้ต่ำกว่า MDR-1RMK2 เพื่อให้ราคาถูกลง ผู้ใช้สามารถหาซื้อมาใช้งานได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม สเปกก็ถูกปรับลดลงมา โดย MDR10-R สามารถตอบสนองช่วงความถี่ 5 – 40 kHz เท่านั้น
สำหรับรุ่นย่อยต่าง ๆ ก็เหมือนกับรุ่นพี่ ทั้งรุ่นปกติ 10R รุ่นไร้สาย Bluetooth 10RBT รุ่นตัดเสียงรบกวน 10RNC และรุ่นย่อยใหม่คือ 10RC ที่เป็นหูฟังแบบทับหู สามารถพับเก็บได้
XBA-H
2 ปีที่แล้ว ทาง Sony ได้ออกหูฟังสอดหูที่ใช้ตัวขับแบบ Balanced Armature ทิ้งตัวขับแบบไดนามิคที่ตัวเองเชี่ยวชาญมานาน ซึ่งในความเห็นของผม ก็ไม่สามารถตอบว่า Sony เองประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะความเห็นของคนที่ได้ฟังนั้นมีทั้งว่าดีและไม่ดี รอบนี้ Sony เลยกลับไปซบอกตัวขับไดนามิคอีกครั้ง โดยนำมาใส่รวมกับตัวขับแบบ BA เพื่อรวมเอาข้อดีของตัวขับทั้งสองแบบมาไว้ในหูฟังตัวเดียว
สำหรับหูฟังซีรีย์ XBA-H จะมีทั้งหมด 3 รุ่น ซึ่งผมก็จะขอเล่าถึงเสียงจากที่ไปลองมานะครับ ซึ่งไม่ได้ลองนานมากนัก เพราะเนื่องจากในงานคนเยอะมาก ซึ่งผมจะหาของมารีวิวแบบลึก ๆ อีกครั้งครับ
XBA-H1 เป็นหูฟังที่ใช้ตัวขับแบบไดนามิคขนาด 9 มม. ร่วมกับตัวขับ BA แบบ Full Range คือขับเสียงครอบคลุมย่านความถี่ต่ำ – สูง สำหรับแนวเสียง เสียงเบสนั้นพุ่ง แน่น เสียงกลางอุ่น หนา เสียงแหลมฟังชัดเจน
XBA-H2 ใช้ตัวขับไดนามิคขนาด 13.5 มม. ร่วมกับตัวขับ BA แบบ Full Range แนวเสียงนั้นคล้าย ๆ กับ H1 แต่เสียงเบสมีพลังมากกว่า ส่วนเสียงกลางและเสียงแหลม ผมรู้สึกว่ามันจะแตกพร่านิด ๆ ครับ
XBA-H3 ใช้ตัวขับไดนามิคขนาด 16 มม. ร่วมกับตัวขับ BA แบบ Full Range และ Tweeter สำหรับตัวนี้ ผมได้มีโอกาสขอเขาเอาหูฟังเสียบกับ WALKMAN F800 ของผม ซึ่งก็เป็นตัวเดียวกันกับที่ Sony ใช้ต่อกับหูฟังในชุดสาธิตในงาน ก็เลยมีเวลาฟังนานหน่อย
สำหรับแนวเสียง เบสมีพลังมาก เสียงพุ่ง ซัดกันเป็นลูก ๆ เสียงกลางอุ่นหนา ส่วนเสียงแหลมออกไปทางหูฟัง MDR-EX800ST ที่ผมใช้งานอยู่ แต่แหลมกว่า เรื่องการแยกรายละเอียดทำได้ดี ส่วนมิตินั้นดีกว่า XBA-40 แต่แคบกว่า EX800ST
ต่อไปเราไปดูในส่วนของเครื่องเล่นกันครับ
Pingback: ทดลองฟังเพลง DSD ผ่านเครื่องเสียงชั้นยอดที่งาน OTOTOY DSD SHOP 2013
Pingback: ฤา Sony สนใจจะทำ Custom IEM
Pingback: หลุดภาพ DAC + แอมป์หูฟัง Hi-Res แบบพกพาของ Sony อย่างชัด ๆ
Pingback: มาทำความรู้จัก ข้อกำหนดของ High Resolution Audio กันเถอะ