รีวิว Sony SRS-X9 ลำโพงไร้สายระดับ Hi-Res

Performance

เนื่องจากเจ้า SRS-X9 รองรับการใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ผมจึงขอเขียนถึงการใช้งานลำโพงในแต่ละรูปแบบก่อน คือ Home Network, Bluetooth, USB A, USB B และ AirPlay แล้วไปจบที่เรื่องของเสียงครับ

Sony SRS-X9 - SongPal app Sony SRS-X9 - SongPal app

การเล่นเพลงผ่านเครือข่ายด้วยระบบ DLNA นั้นทาง Sony ทำการบ้านมาค่อนข้างดีในเรื่องนี้ ด้วยการออกอัพเดทให้โปรแกรม Media Go ที่ไว้ใช้จัดการไฟล์มีเดียกับอุปกรณ์พกพาของตัวเอง ให้สามารถเป็น DLNA server ได้ด้วยล่วงหน้า การเข้าไปเลือกเพลงต่าง ๆ ก็เหมือนกับ DLNA server ทั่วไปที่มีการจัดเรียงเพลงเป็นหมวดหมู่ตามอัลบั้ม ศิลปิน แนวเพลง ลิสต์เพลง ฯลฯ

ในส่วนของการเล่นเพลง SRS-X9 นั้นรองรับการเล่นไฟล์เพลงแบบความละเอียดสูงผ่านเครือข่ายอยู่แล้ว ทำให้คุณภาพเสียงที่ได้ใกล้เคียงกับต้นฉบับ ถึงแม้ว่า WLAN ของลำโพงจะรองรับความเร็วสูงสุดที่ 54 mbps แต่ก็สามารถเล่นไฟล์ Hi-Res ที่มีขนาดใหญ่ได้ ซึ่งการเล่นเพลงแต่ละเพลงจะใช้เวลาในการโหลดเพลงประมาณ 3 – 5 วินาที และอาจจะมีจังหวะที่สดุดเพราะอ่านข้อมูลไม่ทันบ้าง ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะลดลงไปหากต่อลำโพงผ่านทางสาย LAN แทน

Sony SRS-X9 - SongPal app

การเล่นเพลงผ่าน Bluetooth กับ SRS-X9 ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย โดยเฉพาะถ้าอุปกรณ์ที่นำมาต่อมี NFC ด้วย แค่เอาเสา NFC ของอุปกรณ์แตะกับเสาของลำโพง อุปกรณ์กับลำโพงก็จะทำการจับคู่และพร้อมใช้งานในเวลาไม่นาน

SRS-X9 รองรับ codec บีบอัดสัญญาณเสียง Bluetooth หลายตัว ทั้ง SBC ที่เป็นพื้นฐาน และ codec ที่มีคุณภาพมากกว่าอย่าง AAC ที่ใช้ในอุปกรณ์ iDevices และ aptX ที่ใช้ในอุปกรณ์ที่ใช้ Android และ Mac OS X ซึ่งการตั้งค่าใช้งานเราสามารถเลือกได้จะให้ลำโพงใช้ codec SBC อย่างเดียว หรือจะเลือกเป็น auto เพื่อให้สามารถใช้งาน codec อื่น ๆ ข้างต้นได้ด้วยผ่านทางตัวเลือก Other settings

คุณภาพเสียงที่ได้อาจจะสู้กับการเชื่อมต่อโดยตรงหรือเล่นผ่านเครือข่ายไม่ได้ แต่ด้วยการประมวลผลเสียงในตัวเครื่อง ทำให้เสียงที่ได้ออกมาไม่บี้แบนเหมือนที่เจอในลำโพง Bluetooth ราคาถูกทั่วไป

Sony SRS-X9

สำหรับการใช้งานพอร์ต USB A ตัวพอร์ตจะรองรับทั้งการเล่นเพลงในแฟลชไดร์ฟ และการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ iDevices ของ Apple เช่น iPod, iPhone และ iPad ซึ่งในกรณีการนำ iDevices มาต่อ SRS-X9 ก็จะทำตัวเหมือนกับตัวเองเป็น dock speaker ให้กับอุปกรณ์ที่นำมาต่อ เราสามารถใช้รีโมทและแอพ SongPal ควบคุมการเล่นเพลงของอุปกรณ์ที่นำมาต่ออยู่ได้

พอร์ต USB A ของ SRS-X9 สามารถจ่ายไฟได้ถึง 5 V 2.1 A ซึ่งเพียงพอในการชาร์จ iPod, iPhone รวมทั้ง iPad ได้ด้วย

Sony SRS-X9 - SongPal app Sony SRS-X9 - SongPal app

ส่วนการเล่นเพลงจากแฟลชไดร์ฟ เมื่อเราเสียบแฟลชไดร์ฟไปแล้ว ลำโพงจะเล่นเพลงแรกสุดในโฟลเดอร์แรกสุดของแฟลชไดร์ฟก่อนเสมอ ซึ่งเราสามารถเลือกไฟล์ที่อยากเล่นได้ด้วยแอพ SongPal

รูปแบบไฟล์ที่ลำโพงรองรับมีทั้งไฟล์ที่มีการบีบอัดแบบสูญเสียอย่าง MP3, WMA, AAC ไฟล์ที่บีบอัดแบบไม่สูญเสียและรองรับความละเอียดสูงถึง 24 bit 192 kHz อย่าง ALAC, FLAC, WAV, AIFF รวมทั้งไฟล์ที่เข้ารหัสแบบ DSD ที่ sample rate 2.8 mHz ด้วย

เนื่องจากแอพ SongPal ไม่สามารถจัดรายชื่อเพลงที่จะเล่นในแอพได้ แนะนำว่าให้ใส่เพลงที่ต้องการจะเล่นเท่านั้นลงในแฟลชไดร์ฟครับ

Sony SRS-X9

หากใครที่เน้นในเรื่องของคุณภาพเสียงมากกว่าความสะดวกในการเชื่อมต่อไร้สาย สามารถใช้งานพอร์ต USB B เพื่อส่งสัญญาณเสียงในรูปแบบดิจิทัลผ่านทางสาย USB หัว Type B เข้ามาที่ลำโพงได้

Sony SRS-X9 Windows driver property Sony SRS-X9 Windows driver property

ในการเชื่อมต่อพอร์ต USB B กับคอมพิวเตอร์นั้น SRS-X9 รองรับทั้งคอมพิวเตอร์ที่เป็น Windows และ Mac OS X แต่คอมพิวเตอร์ที่เป็น Windows จะต้องลงไดร์เวอร์ที่สามารถโหลดได้จากเว็บไซต์ของ Sony เสียก่อน นอกเหนือจากการเชื่อมต่อผ่านคอมพิวเตอร์แล้ว ยังรองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น WALKMAN สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ทตระกูล Xperia ผ่านทางสาย USB OTG ได้อีกด้วย

พอลงเสร็จและเสียบสาย USB แล้ว Windows จะเห็น SRS-X9 เป็น Digital Receiver ตัวหนึ่ง จากนั้นให้เราไปเลือก sample rate ที่รองรับกับความละเอียดในการเล่นเสียงในหน้าต่าง Properties เพื่อให้โปรแกรมสามารถส่งสัญญาณเสียงความละเอียดสูงไปยัง SRS-X9 ได้

Sony Hi-Res Audio Player

ถึงแม้ว่าเราสามารถใช้โปรแกรมอะไรก็ได้ในการเล่นเพลง ทาง Sony ได้เตรียมโปรแกรม Hi-Res Audio Player สำหรับการเล่นไฟล์ความละเอียดสูงมาให้ด้วย ตัวโปรแกรมเองไม่มีอะไรมากนอกจากลากเพลงที่ต้องการจะเล่นลงไป แล้วกดเล่นเท่านั้น ซึ่งรูปแบบที่รองรับมี MP3, ALAC, FLAC, WAC, AIFF และ DSD ไม่สามารถเล่นไฟล์ AAC ได้ อย่างไรก็ตาม Hi-Res Audio Player ไม่มีส่วนของ Library เหมือนในโปรแกรม AudioGate 3 ของ KORG ที่เคยรีวิวไป แต่รายชื่อเพลงที่เพิ่มไว้สามารถบันทึกเป็นไฟลเก็บไว้เปิดครั้งหลังได้

ในส่วนไดร์เวอร์บน Windows นั้น Sony ให้ไดร์เวอร์มาทั้งแบบ DirectSound มาตรฐาน Windows และ ASIO ซึ่งพอผมใช้งานไดร์เวอร์ ASIO กับ Foobar 2000 โปรแกรมจะฟ้องว่าไม่สามารถเปิดหน้า Config ของไดร์เวอร์ได้ และไม่ยอมให้เล่นเพลงต่อ

Sony SRS-X9 AirPlay from iTunes

การใช้งานผ่านระบบ AirPlay กับ SRS-X9 ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย เมื่อลำโพงเชื่อมต่อกับเครือข่ายแล้ว หาเราเปิดโปรแกรม iTunes หรือแอพใน iOS ที่รองรับ AirPlay ขึ้นมา เราจะเห็นชื่อ SRS-X9 ในรายชื่อของลำโพงที่สามารถใช้ได้ เราก็เลือก SRX-X9 เพื่อให้เสียงออกไปยังลำโพงได้เลย โดยไม่ต้องสนใจว่าขณะนั้นลำโพงกำลังอยู่ในโหมดการเล่นจาก input แบบไหนอยู่ หรือกำลังเล่นเพลงอะไรอยู่ก็ตาม

นอกจากนี้เราสามารถปรับระดับเสียงผ่านโปรแกรมหรือแอพได้เลย โดยไม่ต้องใช้รีโมทหรือแอพ SongPal ในการปรับระดับเสียงครับ

Sony SRS-X9

เรื่องของเสียงของ SRS-X9 แค่เปิดฟังครั้งแรก ก็ให้ความรู้สึกเหมือนเสียงจากสินค้ากลุ่ม Hi-Res ชิ้นอื่น ๆ ของ Sony เลย ทั้งหูฟัง MDR-1R และ XBA-H3 ที่เคยรีวิวไปน่ะแหละ คือเสียงแหลมที่คมชัด และมีรายละเอียดที่ดีมาก

สำหรับเสียงเบสนั้นยังลงได้ไม่ลึกและมีแรงอัดมากเท่ากับ ลำโพงแบบ 2.1 ที่แยกชิ้นจริง ๆ แต่เบสที่ได้จัดว่ามีคุณภาพ ไม่บวม ไม่ไปกลบเสียงย่านอื่น เสียงช่วงกลางออกไปในแนวคม ชัดเจน ไม่หนา ใครที่ฟังเพลงนักร้องหญิงเสียงใส ๆ น่าจะชอบเสียงแบบนี้อย่างแน่นอน

การแยกรายละเอียดเสียงทำได้ดี โดยเฉพาะกับเสียงกลางและแหลม สามารถได้ยินเสียงประสานของนักร้อง เสียงเครื่องดนตรีได้เป็นอย่างดี ส่วนมิติเสียงนั้นยังรู้สึกว่าถึงแม้จะทำได้ดีกว่าลำโพงไร้สายตัวอื่น ๆ แต่ก็ยังทำไม่ได้เท่าลำโพงแยกชิ้น คือเสียงโดยรวมยังให้ความรู้สึกกระจุกอยู่ตรงกลาง แต่เสียงในช่วงเสียงแหลมให้ความรู้สึกมิติที่กว้างกว่าเสียงย่านอื่นมาก

นอกจากนี้จุดที่ฟังลำโพงยังมีผลกับเสียงของลำโพงบ้าง ซึ่งตำแหน่งในการฟังที่ดีที่สุด ควรจะให้ดอกลำโพงทวีตเตอร์อยู่ในระดับหูของเราเหมือนการวางลำโพงแยกชิ้น จะได้เสียงที่ดีที่สุด ส่วนเรื่องความดังของเสียงจัดว่าเหลือเฟือสำหรับใช้งานในบ้านทั่ว ๆ ไป

การใช้งานการตั้งค่า ClearAudio+ กับ SRS-X9 ยังได้เสียงในลักษณะคล้ายกับสินค้า Sony ตัวอื่น ๆ คือ เสียงเบสจะหนาขึ้น เสียงแหลมจะแหลมขึ้นและฟังดูกว้างขึ้น เสียงกลางจะโฟกัสมาอยู่ตรงกลาง ฟังแล้วเสียงดูมีชีวิตชีวามากขึ้น แต่การตั้งค่าของมันก็ไม่เหมาะกับเพลงที่เน้นเสียงแหลม เพราะเสียงแหลมจะโดนเร่งจนเสียงแตก

ส่วน DSEE HX ในความรู้สึกของผมจะคล้าย ๆ กับรีวิวของเจ้าอื่น ๆ คือไม่ได้ยินความเปลี่ยนแปลงของมันเท่าไร ซึ่งที่ตอนรีวิว WALKMAN ZX1 ก็ยังได้ยินความเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่ก็ไม่ใช่กับทุกเพลง ผมได้คุยกับคนของ Sony ตอนวันที่เอาลำโพงไปคืน สรุปได้ว่าเพลงที่ผมมีอยู่อาจจะมีคุณภาพที่ค่อนข้างสูงอยู่ ถึงแม้ว่าจะบีบอัดเป็น MP3 ก็ตาม เลยอาจจะเห็นความแตกต่างสู้ไฟล์ MP3 ที่บีบอัดมาไม่ดีไม่ได้

Sony SRS-X9 - SongPal app

สำหรับปัญหาจากการใช้งานที่ผมเจอ ก็คงเป็นในเรื่องของบักที่ไม่แน่ใจว่ามากจากลำโพงหรือแอพ SongPal กันแน่ เช่น ClearAudio+ จะถูกเปิดใช้งานทันที เมื่อเราเลือก Preset EQ เป็น Flat คือถ้าใครอยากได้เสียงที่ไม่ปรุงแต่งของลำโพงจริง ๆ จะต้องเลือกไปที่ Custom แล้วคง EQ ทุกย่านไว้ที่ตำแหน่ง 0 หรือบางทีเราสั่งตั้งค่าลำโพงไปแล้ว แต่ลำโพงก็ไม่เก็บค่าที่ตั้งไว้ให้ก็มี

อย่างไรก็ตามเนื่องจากแอพ SongPal ถูกนำไปใช้ร่วมกับอุปกรณ์หลาย ๆ ตัวของ Sony ทำให้แอพมีการอัพเดทเวอร์ชั่นค่อนข้างบ่อย ซึ่งระหว่างที่ผมยืมลำโพงมาทดสอบก็มีการอัพเดทแอพไป 2 – 3 ครั้ง และการทำงานของแอพก็ดีขึ้นกว่าเดิม

อีกเรื่องก็คือเรื่องของความเข้ากันได้ระหว่าง SRS-X9 กับฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เช่น USB DAC หยุดทำงานเมื่อเล่นเพลงไประยะหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อต่อผ่านพอร์ต USB 3.0 เสียงขาดช่วงเมื่อเล่นเพลงผ่าน AirPlay ประมาณว่าลำโพง buffer ข้อมูลไม่ทัน ฯลฯ ซึ่งบางปัญหาพอผมลองเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้ใหม่ ปัญหาที่ว่าก็หายไป ทิ้งไว้แต่ความสงสัยว่าเพราะอะไรมันถึงเกิดขึ้น

ผมแนะนำว่าถ้าจะเอาให้ชัวร์ว่าอุปกรณ์ที่คุณมีอยู่จะเล่นได้แบบไม่มีปัญหาหรือไม่ ก็ขอแนะนำให้นำอุปกรณ์ที่จะใช้งานร่วมกับลำโพงไปลองกับเครื่องตัวอย่างที่ร้านก่อนซื้อน่าจะดีที่สุด

Conclusion

Sony SRS-X9

หลังจากที่ได้ใช้เวลากับเจ้า SRS-X9 เกือบ ๆ เดือน ก็รู้สึกประทับใจในน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์และการรองรับการเชื่อมต่อที่หลากหลายของมัน แต่ก็เพราะข้อดีที่ว่ามา ก็ส่งผลถึงเรื่องของความเข้ากันได้ของอุปกรณ์และระบบด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับลำโพงไร้สายที่เคยรีวิวตัวอื่น ๆ มาก็พอสรุปได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่ร้ายแรงมากจนกลบคุณภาพเสียงของ SRX-X9 ที่ทางทีมออกแบบตั้งใจทำออกมาเป็นอย่างดี

สรุป ใครที่ชอบลำโพงน้ำเสียงออกไปทางใส ๆ เน้นเบสบ้าง หรือชอบในน้ำเสียงของ Sony Hi-Res ในอุปกรณ์ตัวอื่น ๆ มาแล้ว SRS-X9 จัดเป็นตัวเลือกที่ดีตัวหนึ่งครับ

Like

  • การออกแบบ วัสดุที่เลือกใช้ดูหรูหรา ไม่รู้สึกว่าเป็นของถูก
  • รองรับการเชื่อมต่อและรูปแบบไฟล์อันหลากหลาย
  • การเล่นเพลงจาก DLNA และ Bluetooth จัดว่าเสถียรมาก
  • เล่นเพลงจากแฟลชไดร์ฟได้โดยตรง
  • เสียงแหลมที่เป็นธรรมชาติ คมชัด ละเอียด และฟังดูกว้าง

Don’t like

  • Wireless LAN ยังอยู่ที่มาตรฐาน G
  • ไฟสถานะตอนอัพเดทเฟิร์มแวร์ตีความหมายลำบาก
  • แอพ SongPal มีบักที่สร้างความรำคาญใจอยู่บ้าง
  • บางความสามารถของลำโพงยังไม่ค่อยเสถียรกับอุปกรณ์ที่นำมาต่อบางตัว
  • โปรแกรม Hi-Res Audio Player เล่นไฟล์ AAC ไม่ได้
  • ไม่แถมสาย USB สำหรับต่อ USB B มาให้

Wanted

  • เพิ่มปุ่มเปิด – ปิดการใช้งาน ClearAudio+ กับ DSEE HX บนรีโมทมาด้วยจะดีมาก

สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณทาง Sony Thai ที่อนุญาตให้ยืมลำโพง SRS-X9 สำหรับการรีวิวด้วยครับ

More info

Sony Thai

Sony Japan: 1, 2

One thought on “รีวิว Sony SRS-X9 ลำโพงไร้สายระดับ Hi-Res

  1. Pingback: มาทำความรู้จัก เทคโนโลยีวงจรขยายเสียงดิจิทัล S-Master ของ Sony กันเถอะ ตอนที่ 3 | RE.V –>

Leave a Reply