ลองนั่ง เก้าอี้ทำงานตามหลักการยศาสตร์ Steelcase Think

Steelcase Think

เชื่อว่าในการทำงานสมัยนี้ เราคงนี้ไม่พ้นการนั่งทำงานอยู่กับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ ซึ่งการนั่งทำงานนาน ๆ ในสภาพการทำงานที่ไม่เหมาะสม ก็อาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บต่าง ๆ จากการทำงานหรือที่เรียกว่าโรค Office Syndrome นั้นเอง

สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากเก้าอี้ที่ไม่สามารถปรับให้เข้ากับตัวเราตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomic) ได้ วันนี้ RE.V-> จะมาลองนั่งเก้าอี้ทำงานออกแบบตามหลักการยศาสตร์ Think จาก Steelcase กันครับ

steelcase-think

สำหรับเก้าอี้ทำงานที่ออกแบบตามหลักการยศาสตร์ที่คนในบ้านเรารู้จักกันดีคงหนีไม่พ้น Aeron จาก Herman Miller แต่จริง ๆ แล้วในตลาดของเก้าอี้แบบนี้ยังมีสินค้าจากหลายบริษัทมากมาย รวมทั้งเก้าอี้จาก Steelcase ที่จัดว่าเป็นหนึ่งในคู่แข่งโดยตรงของ Herman Miller

Steelcase เป็นบริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์สำหรับสำนักงานจากประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งเมื่อปี 1912 และได้เปิดตัวเก้าอี้ที่ออกแบบตามหลักการยศาสตร์รุ่นแรก ๆ ในปี 1986 ปัจจุบัน Steelcase ได้ออกเก้าอี้หลายรุ่น เช่น Leap ที่จัดเป็นคู่แข่งโดยตรงของ Aeron เก้าอี้รุ่นใหม่ล่าสุด Gesture ที่ออกแบบให้รองรับท่าทางการใช้งานของผู้ใช้ในปัจจุบัน รวมทั้ง Think เก้าอี้ที่ปรับตัวเองให้เข้ากับลักษณะการนั่งของผู้ใช้ได้

เนื่องจากตัวแทนจำหน่าย Steelcase ในบ้านเราลดราคาเก้าอี้รุ่น Think อยู่ ซึ่งจากการสอบถามสาเหตุที่ลด ได้คำตอบว่าเป็นการฉลอง Steelcase ครบรอบ 100 ปี แต่ก่อนที่จะไปซื้อ ผมเช็คเว็บไซต์ของ Steelcase เห็นว่าเขาเปิดตัว Think รุ่นใหม่ที่มีการปรับหน้าตาให้ทันสมัยมากขึ้น และกำลังจะจัดจำหน่ายในเร็ว ๆ นี้

จากการเช็คข้อมูลเบื้องต้นผมเห็นว่าถึงแม้หน้าตาจะเปลี่ยนไปดูทันสมัยขึ้นกว่าเดิม แต่หน้าตาของรุ่นปัจจุบันก็ยังไม่จัดว่าเชยมากนัก แถมความสามารถของเก้าอี้ก็ยังเหมือนเดิม พอพิจารณาร่วมกับราคาที่ลดลงมา ก็เลยตัดสินใจซื้อมันมาในที่สุดครับ

Package

Steelcase Think

เนื่องจากทางตัวแทนจะส่งและประกอบเก้าอี้สำเร็จมาให้เลย ผมเลยไม่ได้มีโอกาสเห็นว่ากล่องมันเป็นอย่างไร รู้แต่ว่าก่อนประกอบเก้าอี้จะแบ่งออกเป็น 3 กล่อง คือตัวเก้าอี้ ขาเก้าอี้ และผนักพิงหัว ผลิตจากโรงงานของ Steelcase ในมาเลเซีย ก่อนที่จะถูกประกอบโดยตัวแทนจำหน่ายอีกที

Steelcase Think

เอกสารหรือุปกรณ์ที่ให้มาก็ไม่มีอะไร นอกจากใบวิธีปรับเก้าอี้ ใบประกอบเก้าอี้พร้อมประแจสำหรับขันน็อต 2 ตัวเพื่อยึดตัวเก้าอี้กับขาเก้าอี้เท่านั้น ซึ่งนอกเหนือจากวิธีปรับเก้าอี้แล้ว ของที่เหลือผมไม่ได้เห็นมันเลย เพราะเขาประกอบเก้าอี้เสร็จแล้ว

Product

Steelcase Think

สำหรับเก้าอี้ Think รุ่นที่นำมารีวิวจะเป็นรหัส THK-23111 ที่ใช้ผ้าปิดด้านหน้าผนักพิงแบบ 3D Knit สีดำ ฐานอลูมิเนียมขัด ล้อแบบแข็ง ที่วางแขนแบบปรับได้ ที่รองหัว และส่วนรองรับกระดูกสันหลังช่วงล่างปรับระดับได้

Steelcase Think

ปุ่มหมุนปรับการเอนของผนักผิงและคันโยกปรับความสูงของเก้าอี้จะอยู่ทางด้านซ้าย การปรับเอนสามารถปรับได้ 4 แบบ คือตั้งตรง เอนลงครึ่งเดียว เอนอิสระแบบมีแรงต้าน และเอนอิสระแบบไม่มีแรงต้าน ไม่สามารถปรับเอนในระดับที่ต้องการแล้วล็อกเอาไว้ได้

Steelcase Think

คันโยกปรับความลึกของที่นั่งจะอยู่ด้านหน้าใต้ที่นั่ง ขอบเก้าอี้ด้านหน้าจะสามารถดัดงอตามท่าทางการนั่งได้เอง เพื่อช่วยลดแรงกดด้านหลังของขา

Steelcase Think

โครงสร้าง Your Profile ด้านหลังของผนักเก้าอี้จะปรับรูปทรงเพื่อให้รับกับกระดูกสันหลังและกระดูกเชิงกรานตามการเคลื่อนไหวของผู้ใช้ได้เอง โดยไม่ต้องปรับอะไร นอกจากนี้ยังมีส่วนรองรับกระดูกสันหลังช่วงล่าง (Lumbar support) ที่สามารถปรับระดับขึ้น – ลงได้อีกด้วย

Steelcase Think

ที่รองหัวสามารถปรับความสูงและความลึกได้ ถ้าใครนั่งแล้วรู้สึกว่ามันดันหัว ก็ยกให้มันอยู่สูงจนมันรองหัวพอดี

Steelcase Think

Steelcase Think Steelcase Think Steelcase Think Steelcase Think

ที่รองแขนสามารถปรับความสูง เลื่อนไปข้างหน้า เข้าด้านข้าง ถอยไปด้านหลัง และเอนเข้า – ออก 30° จากเก้าอี้ได้ ด้านบนของที่รองแขนจะเป็นยางแต่บุข้างใต้ด้วยฟองน้ำ ทำให้วางแขนไว้นาน ๆ แล้วไม่เจ็บเหมือนที่วางแขนที่เป็นพลาสติกทั้งชิ้น

Set up

การใช้งานเก้าอี้ของแต่ละคนนั้นไม่มีหลักตายตัว เพียงแต่เราจะต้องปรับให้เหมาะสมกับตัวเราและให้ถูกหลักการยศาสตร์เท่านั้นเอง ซึ่งการปรับเก้าอี้ให้ได้ตามหลักการยศาสตร์ ซึ่งหลักคร่าว ๆ ดังนี้ครับ

  • หลังต้องนั่งพิ่งผนักเก้าอี้ บั้นท้ายต้องขนานไปกับพื้น
  • แขนขณะใช้งานคอมพิวเตอร์ จะต้องขนานกับพื้นโต๊ะ ข้อมือไม่งอ ข้อศอกและแขนท่อนบนต้องวางพักอยู่บนที่วางแขนหรือบนโต๊ะอย่างสะดวกสบาย ไม่นั่งห่อไหล่
  • ความสูงของเก้าอี้จะต้องไม่สูงจนทำให้เท้าเราไม่สามารถวางราบไปกับพื้นได้ ถ้าไม่สามารถวางราบได้ ให้หาที่รองเท้ามาวางเพื่อให้เท้าวางราบ

พอเรารู้หลักแล้ว ก็ให้ปรับส่วนรองรับหลัง ที่รองก้น ที่วางแขน และปรับความสูงเก้าอี้ของเราเพื่อให้ได้ท่าทางที่กล่าวมาข้างต้นครับ

นอกเหนือจากการนั่งและปรับเก้าอี้แล้ว เราจะต้องปรับสภาพแวดล้อมการทำงานให้สอดคล้องตามหลักด้วย เช่น ปรับตำแหน่งของจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตาและไม่ต้องเงยหน้าเพื่อมองจอ ปรับระดับเอนของคีย์บอร์ดให้เหมาะสม เป็นต้น

Performance

Steelcase Think

ผมได้มีโอกาสลองนั่งตอนช่วงก่อนซื้อและตอนเช็คของวันรับสินค้า ซึ่งหลังจากปรับเก้าอี้เพื่อให้เขากับตัวผมแล้ว พบว่ามันนั่งสบายกว่าเก้าอี้ทำงานทั่ว ๆ ไปที่ใช้ปกติอยู่เหมือนกัน ไม่ให้ความรู้สึกว่าโดนพนักดันหลัง หรือที่หนังเอียงจนเหมือนจะลื่นตกเก้าอี้

เมื่อนั่งเอนพนักผิง โครงสร้างลวดโลหะ Your Profile ของเก้าอี้จะปรับรูปรับกับแผ่นหลังที่เอนมา ให้ความรู้สึกที่สบายกว่า ส่วน Lumbar support ที่มีความลึกอยู่ในระดับกำลังพอดี ก็ช่วยเสริมให้เก้าอี้เข้ากับตัวเรามากขึ้น

จุดที่ผมชอบมาก ๆ คือส่วนของที่วางแขนที่มีความนุ่มมากกว่าที่วางแขนทั่ว ๆ ไปที่เป็นพลาสติกทั้งชิ้น และสามารถปรับได้ค่อนข้างเยอะกว่าเก้าอี้ในซีรีย์ใกล้เคียงกันจากยี่ห้ออื่น

จุดที่ผมไม่ค่อยชอบสำหรับเก้าอี้ตัวนี้ในตอนแรก ๆ ที่ลองคือ ไม่สามารถล็อกระดับปรับเอนค้างไว้ได้ และที่รองหัวที่รู้สึกว่ามันดันคอไปหน่อย แต่พอนั่งไปสักระยะก็กลับมาคิดว่า ตอนนั่งทำงานปกติผมจะล็อกระดับปรับเอนเฉพาะสำหรับตอนนอนพักสายตา ซึ่งเก้าอี้ตัวนี้ผมเอาไว้ในห้องนอนที่บ้าน การที่ลุกไปนอนที่เตียงน่าจะดีกว่า ส่วนเรื่องที่รองหัว ถ้าปรับระดับให้เหมาะสมก็ไม่ดันคอแต่อย่างไร

Conclusion

Steelcase Think

จากการที่ผมไปลองนั่งเก้าอี้ทำงานที่ออกแบบตามหลักการยศาสตร์มาหลายตัว ก็สังเกตว่าเก้าอี้แต่ละตัวก็มีโครงสร้างพิเศษสำหรับรองรับร่างกาย และการปรับแต่งส่วนต่าง ๆ ให้เข้ากับร่างกายที่แตกต่างกัน ซึ่งถ้าปรับได้อย่างถูกต้องก็สามารถทำให้เรานั่งทำงานได้อย่างสบายได้

สำหรับ Steelcase Think นั้นมีโครงสร้างรองรับร่างกายดี สามารถปรับแต่งตัวเก้าอี้ได้หลาย ๆ จุด ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน วัสดุที่ใช้และงานประกอบจัดว่าดีมาก แถมยังมีการรับประกันส่วนของฮาร์ดแวร์และฟองน้ำให้ถึง 12 ปีอีกด้วย

สรุป คนที่กำลังมองหาเก้าอี้ทำงานตามหลักการยศาสตร์อยู่ Steelcase Think จัดว่าเป็นตัวที่น่าสนใจตัวหนึ่ง แต่ถ้าใครเจอราคาโปรโมชั่นแบบผม ถ้าลองนั่งแล้วชอบ ก็แนะนำให้รีบตะครุบเอาไว้เลย เพราะราคากับความสามารถที่ได้มา มันเกินคุ้มมากครับ

More info

Steelcase

One thought on “ลองนั่ง เก้าอี้ทำงานตามหลักการยศาสตร์ Steelcase Think

Leave a Reply