Set up
การติดตั้ง Push 2 นั้นโดยรวมถือว่าง่ายมาก เพียงแค่เสียบสาย USB ระหว่างตัวเครื่องและคอมพิวเตอร์ เปิดสวิตช์ข้างหลังเครื่อง แล้วเปิดโปรแกรม Ableton Live โปรแกรมจะค้นหาตัวเครื่องเองโดยอัตโนมัติ เมื่อหน้าจอของเครื่องแสดงสถานะของ project ที่เปิดขึ้นมาในโปรแกรมแล้ว ก็เป็นอันว่า Push 2 พร้อมใช้งานแล้ว
ข้อสังเกตอย่างหนึ่งในขณะติดตั้ง Push 2 ใช้งาน คือเราสามารถเปิดเครื่องใช้งานได้โดยไม่ต้องเสียบอะแดปเตอร์ที่ให้มา เพียงแต่ไฟหน้าจอและแป้นยางจะสว่างน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ส่วนตัวผมคิดว่าความสว่างประมาณนี้ก็ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานในห้องที่ค่อนข้างมืด ๆ อยู่ ซึ่งถือว่าดีกว่าการที่ตัวเครื่องไม่สามารถทำงานได้อย่างสิ้นเชิง หากเราลืมเสียบอะแดปเตอร์
สำหรับ Push 2 บางเครื่อง เมื่อเปิดขึ้นมา อาจจะต้องถูกอัพเดทเฟิร์มแวร์เสียก่อน ซึ่งขั้นตอนทุกอย่างก็จะเป็นไปโดยอัตโนมัติผ่าน Ableton Live เช่นกัน เราไม่ต้องทำอะไร นอกจากรอเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
เมื่อ Push 2 พร้อมใช้งานแล้ว เราสามารถกดปุ่ม Settings บน Push เพื่อตั้งค่าความสว่างของหน้าจอและแป้นยาง และปรับแต่งการตอบสนองของแป้นยางต่อแรงที่มากระทำได้
Performance
Push นั้นได้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานร่วมกับ Session View ของ Live ซึ่งเป็น UI ที่ออกแบบมาให้เราสามารถบันทึกหรือเล่นเพลงเป็นท่อน ๆ ได้ ทำให้เหมาะแก่การนำไปใช้บันทึกไอเดียหรือเล่นสดได้ดีกว่า UI แบบ Timeline ในโปรแกรม DAW ตัวอื่น
สำหรับการใช้งาน Push นั้น ตอนแรกผมคิดว่าน่าจะยาก เพราะมีปุ่มควบคุมค่อนข้างเยอะ แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้ว กลับตรงไปตรงมาและง่ายกว่าที่คิดไว้มาก เพราะปุ่มแต่ละปุ่มจะส่งคำสั่งตามที่ระบุเอาไว้บนปุ่ม รวมทั้งการจัดกลุ่มปุ่มที่มีคำสั่งเกี่ยวข้องกันอยู่ใกล้กัน ทำให้สะดวกในการใช้งาน อย่างไรก็ตามปุ่มบางปุ่มก็อาจจะมีคำสั่งการทำงานเพิ่มเติมจากปกติ ซึ่งเราจะต้องกดปุ่ม Shift ค้างไว้ แล้วกดปุ่มเหล่านี้เพื่อเข้าถึงคำสั่งดังกล่าว
คำสั่งต่าง ๆ ที่เราสามารถเรียกใช้จาก Push ได้นั้น ครอบคลุมการใช้งานหลักแทบจะทั้งหมด ทั้งการจัดการ track และ clip, การควบคุม Instruments และ Effects, การป้อนโน๊ต และการแก้ไข sample ทำให้เราไม่ต้องละจาก Push เพื่อไปจับคอมพิวเตอร์เลย นอกจากตอนเวลากดเซฟ กดออกจากโปรแกรม หรือควบคุมปลั๊กอิน VST ที่ไม่ได้ตั้งปุ่มการควบคุมไว้
ส่วนการเล่นและบันทึกการเล่นดนตรีของเรานั้น Push มาพร้อมกับ Sequencer สำหรับกลองและโน๊ตดนตรี ที่ให้เราสามารถป้อนและเล่นโน๊ตได้เหมือนกับ Hardware Synth หรือหากเราต้องการจะเล่นดนตรีสด ๆ เองก็สามารถทำได้ ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถทำผ่านแป้นยางทั้ง 64 แป้นของ Push ร่วมกับปุ่มควบคุมทางด้านขวา
ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าการเล่นโน๊ตดนตรีด้วยแป้นยางเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะการควบคุมน้ำหนักการเล่นค่อนข้างยากกว่าการเล่นโน๊ตบนลิ่มคีย์บอร์ด แต่การจัดเรียงตัวโน๊ตบนแป้นยางของ Push นั้นช่วยให้สามารถเล่นเมโลดี้และคอร์ดได้ง่ายกว่า เมื่อรวมกับความสามารถของ Push ในการเปลี่ยนสเกลของโน๊ตบนแป้นโดยไม่เปลี่ยนตำแหน่งของแป้นแล้ว ทำให้เราสามารถใช้รูปแบบการวางมือเดิมในการเล่นคอร์ดตำแหน่งเดียวกันแต่ต่างสเกลได้เลย ซึ่งเหมาะมากในกรณีที่เราต้องการลองคอร์ดในสเกลที่เราไม่รู้จักหรือเล่นด้วยเครื่องดนตรีอื่นไม่ถนัด
นอกจากนี้ ดูเหมือนว่าทาง Ableton จะทราบเรื่องความท้าทายในการเล่นแป้นยาง ก็เลยไปร่วมมือกับซอฟต์แวร์สอนการเล่นเครื่องดนตรีอย่าง Melodics ออกบทเรียนสำหรับการเล่นแป้นยางบน Push โดยเฉพาะฟรี ๆ สำหรับเจ้าของ Push โดยเราจะได้โคดจากเมลของ Ableton ที่จะส่งมาตอนเราลงทะเบียน Push ของเรา
การปรับค่าด้วยปุ่มหมุนของ Push ทำออกมาได้ดี คือมีช่วงค่าที่หมุนได้ในแต่ละรอบที่พอเหมาะ ทำให้ไม่ต้องหมุนปุ่มหลายรอบจนเกินไป แต่ถ้าอยากหมุนให้ได้ค่าที่ละเอียด ขณะหมุนจะต้องกดปุ่ม Shift ที่ Push ค้างไว้ด้วย ส่วนจอแสดงผลก็จัดว่าทำได้ดี สามารถแสดงผลต่าง ๆ ได้ชัดเจน แต่ความละเอียดพิกเซลอาจจะดูหยาบไปบ้าง เมื่อเทียบกับหน้าจอของเหล่า Smart Device ที่ปัจจุบันมีความหนาแน่นของพิกเซลมาก และความสว่างที่อาจจะยังสู้แดดที่แรงมาก ๆ ไม่ได้
สำหรับปัญหาระหว่างการใช้งานนั้น จากการใช้งานมันมาเกือบปีครึ่ง เจอเพียงอาการแป้นยางส่งค่า Velocity เต็มที่ หรือส่งโน็ตค้าง และซอฟต์แวร์ Live มองไม่เห็น Push ในบางครั้ง ซึ่งเท่าที่ผมเช็คข้อมูลดูจากบอร์ดของ Ableton เองก็พบว่ามีคนเป็นกันหลายคน และก็ไม่มีวิธีแก้ที่หายขาด แต่มีวิธีที่ใช้ในการหลีกเลี่ยงไม่ให้เจอปัญหาได้
Conclusion
จากการใช้งาน Ableton Push 2 มาตั้งแต่ Live 9 ออก จนอัพเกรดเป็น Live 10 ผมคิดว่ามันเป็น Controller ที่ดีมากสำหรับ Live ตัว Workflow การทำงานก็ทำออกมาได้ตรงไปตรงมา ใช้เวลาการเรียนรู้ไม่นาน ก็สามารถใช้งานได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว ในแง่ของความสามารถ ผมคิดว่า Push 2 ตอบโจทย์คนทำเพลงเป็นงานอดิเรกอย่างผมได้อย่างมากเกินพอ ถึงแม้จะพบปัญหาในการใช้งานบ้างก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ผมไม่แนะนำ Push ให้กับคนที่สนใจอยากจะทำเพลง แต่ไม่มีพื้นฐานเรื่องดนตรีเลย เพราะคุณจะไม่สามารถใช้ตัวช่วยต่าง ๆ ที่ถูกใส่มาใน Push ได้เลย รวมถึงพวก Pack เสียงต่าง ๆ ของ Ableton ที่หลายตัวมักจะมาเป็น Instrument ซึ่งไม่มีไฟล์เสียงลูปมาให้ ผมแนะนำให้ลองหาเครื่องดนตรีที่เราสนใจ แล้วเริ่มเล่นมันก่อน เพื่อให้มีพื้นฐานเรื่องดนตรีก่อนบ้าง แล้วมาเริ่มกับ Push จะช่วยให้การทำเพลงสนุกขึ้นครับ
Like
- ตัวเครื่องดูแข็งแรง
- การใช้งานร่วมกับ Ableton Live แบบไร้รอยต่อ
- แป้นยางรองรับการส่งคำสั่ง Aftertouch
- มี Lesson สำหรับฝึกเล่นใน Melodics
- มาพร้อมกับ Ableton Live Suite พร้อมใช้งาน (ขึ้นกับโปรโมชั่นของร้านบ้านเรา)
Don’t like
- พลาสติกชุบยางซอฟต์ทัช
- ยังมีปัญหาจุกจิกในการใช้งานบ้าง
- แป้นยางมีความท้าทายในการหัดเล่น
อันนี้ที่ Kevin วง fhána ใช้เล่นใช่มั้ยครับ สงสัยมานานแล้วว่ามันคืออะไร ขอบคุณมากครับ
พอดีผมไม่ได้ตามวงนี้ เลยไม่แน่ใจว่าเขาใช้ Push หรือเปล่านะครับ เพราะอุปกรณ์หน้าตาแบบ Push
นอกจากของ Ableton ที่เป็นเจ้าของทำออกมาเองแล้ว ยังมีของ Akai Pro และ Novation อีกครับ รวมทั้งยังมีอุปกรณ์คล้าย ๆ กันคือ MASCHINE ของ Native Instrument ซึ่งเป็นฮาร์ดแวร์ + ซอฟต์แวร์เหมือนกับ Live + Push ของ Ableton ครับ
Pingback: ลองเล่น ROLI Seaboard Block คีย์บอร์ดใบ้แห่งอนาคต | RE.V –>