ลองเล่น ROLI Seaboard Block คีย์บอร์ดใบ้แห่งอนาคต

roli-seaboard-block

ถ้าพูดถึงเครื่องดนตรีที่สามารถเล่นเลียนแบบเสียงเครื่องดนตรีอื่น ๆ ได้ หลายคนคงนึกถึงคีย์บอร์ดที่มีเสียงจากเครื่องดนตรีหลากหลายเครื่องอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามด้วยข้อจำกัดทางกายภาพ จึงทำให้เป็นการยากที่เราจะเลียนแบบเทคนิคการเล่นของเครื่องดนตรีบางอย่างได้

วันนี้ RE.V-> มาเขียนเล่าประสบการณ์การเล่น Seaboard Block จาก ROLI ซึ่งเป็นคีย์บอร์ดใบ้ที่มีความสามารถแห่งอนาคตอย่าง MPE หรือ MIDI Polyphonic Expression ที่ปฏิวัติวิธีการเล่นคีย์บอร์ดแบบเดิม ๆ ให้อ่านกันครับ

What’s MIDI Polyphonic Expression

Roland A-01K

MIDI Controller จาก Roland รุ่น A-01K มีปุ่มหมุน 4 ปุ่มและแถบริบบอนคู่ทางซ้าย

ตามปกติของเครื่องดนตรีดิจิทัลอย่างคีย์บอร์ดนั้น จะใช้โปรโตคอล MIDI ในการควบคุมแหล่งกำเนิดเสียงที่อาจจะอยู่ภายในตัวเครื่อง หรืออยู่ภายนอกตัวเครื่อง เช่น Sound Module หรือซอฟต์แวร์บนคอมพิวเตอร์ ซึ่งมาตรฐาน MIDI เดิมได้มีการกำหนดคำสั่งที่ใช้ในการควบคุมแหล่งกำเนิดเสียงอยู่แล้ว เช่น Pitch Bend (เพิ่มลดความสูง – ต่ำของระดับเสียง), Modulation, Channel Aftertouch, Control Change ฯลฯ เราสามารถส่งคำสั่งข้างต้นได้ด้วยอุปกรณ์ที่อยู่บนตัวเครื่องดนตรี เช่น วงล้อ, จอยสติ๊ก, ปุ่มหมุน, ปุ่มเลื่อน, แถบริบบอน, ทัชแพด, แป้นเท้า ฯลฯ ในระหว่างการเล่นได้

แต่การที่จะส่งคำสั่งข้างต้น เราจำเป็นต้องใช้มือข้างหนึ่งหรือเท้าเพื่อไปควบคุมอุปกรณ์เหล่านี้ รวมทั้งคำสั่งตามมาตรฐาน MIDI นั้นมีผลกับโน๊ตทุกตัวที่อยู่ใน MIDI Channel เดียวกัน ทำให้เราไม่สามารถกำหนดการเล่นของเสียงแต่ละโน๊ตได้ จึงทำให้มีผู้ประดิษฐ์เครื่องดนตรีรูปแบบใหม่ ๆ ในกลุ่มที่เรียกว่า Multidimensional Controllers (MDCs) ขึ้นมา

mpe-devices

ตัวอย่างฮาร์ดแวร์ที่รองรับ MPE ทั้ง MDCs และแหล่งกำเนิดเสียง ที่มา : MIDI Association

MDCs เป็นเครื่องดนตรีที่ผู้เล่นสามารถส่งคำสั่งควบคุมไปยังแหล่งกำเนิดเสียงได้หลายคำสั่งพร้อมกันขณะเล่นโน๊ตแต่ละตัว ซึ่งคำสั่งที่ส่งไปจะเป็นคำสั่งเฉพาะของโน๊ตตัวนั้นจริง เพื่อให้เหมือนกับการเล่นเครื่องดนตรีจริง เช่น กีต้าร์ที่เราสามารถดันสายเพียงเส้นเดียวได้ ในขณะที่สายเส้นอื่นก็สั่นสะเทือนต่อไปจากคอร์ดที่เราเล่นก่อนหน้า ตัวอย่างของเครื่องดนตรี MDCs ได้แก่ Seaboard จาก ROLI และ Linnstrument จาก Roger Linn Design ที่เป็นเครื่องดนตรีตัวแรก ๆ ในกลุ่มนี้

เพื่อให้ MDCs และแหล่งกำเนิดเสียงจากหลายผู้ผลิตสามารถสื่อสารกันได้ ผู้ผลิตเครื่องดนตรี MDCs อย่าง ROLI และ Roger Linn รวมทั้งผู้ผลิตเจ้าอื่น ๆ จึงได้รวมตัวกันเพื่อกำหนดรูปแบบโปรโตคอลที่จะนำมาใช้งานในเครื่องดนตรีดิจิทัลรูปแบบใหม่นี้ จนได้ MIDI Polyphonic Expression (MPE) ซึ่งพัฒนาอยู่บนพื้นฐานของมาตรฐาน MIDI และถูกบรรจุเป็นมาตรฐานของ MIDI Association ที่ดูแลมาตรฐานของ MIDI ด้วย

หลักการทำงานของ MPE คือ เมื่อมีการเล่นโน๊ตดนตรี โน๊ตแต่ละตัวจะถูกกำหนด MIDI Channel ของตัวเอง เพื่อให้สามารถกำหนดคำสั่ง MIDI ที่ตามปกติจะมีผลกับโน๊ตทุกตัวใน Channel เช่น Pitch Bend, Modulation หรือ Control Change กับโน๊ตแต่ละตัวแทนได้ ซึ่งเมื่อนำมารวมกับเครื่องดนตรีรูปแบบใหม่ที่สามารถตรวจจับลักษณะการเล่นของผู้เล่นได้มากกว่าเดิม ทำให้เครื่องดนตรีดิจิทัลสามารถสร้างสรรค์เสียงและวิธีการเล่นเครื่องดนตรีรูปแบบใหม่ออกมาได้

What’s ROLI’s 5D Touch

ROLI ได้สร้างเทคโนโลยี 5D Touch เพื่อใช้งานกับ MDCs ของบริษัท ซึ่ง MDCs ของ ROLI จะมีพื้นผิวที่ตอบสนองตามลักษณะการเล่นของผู้ใช้ดังนี้

  • Strike ตรวจจับความแรงที่นิ้วแตะบนพื้นผิว เครื่องจะส่งค่า Note On Velocity ออกมา
  • Press ตรวจจับน้ำหนักที่นิ้วกดลงไปบนพื้นผิวหลังจากที่นิ้วได้แตะบนพื้นผิวไปแล้ว เครื่องจะส่งค่า Aftertouch หรือ Pressure ออกมา
  • Glide ตรวจจับการเคลื่อนไหวของนิ้วในแนวด้านข้าง เครื่องจะส่งค่า Pitch Bend ออกมา
  • Slide ตรวจจับการเคลื่อนไหวของนิ้วในแนวลึก เครื่องจะส่งค่า MIDI Control Change เบอร์ 74 (Frequency Cutoff) หรือเบอร์อื่นที่ตั้งค่าไว้ออกมา
  • Lift ตรวจจับน้ำหนักตอนยกนิ้วออกจากพื้นผิว เครื่องจะส่งค่า Note Off Velocity ออกมา

สำหรับเจ้า Seaboard Block ที่ผมเขียนผิวจะมีพื้นผิวที่ทาง ROLI เรียกว่า Keywave ซึ่งเป็นซิลิโคนนูนเป็นรูปลิ่มของคีย์บอร์ด ซึ่งเมื่อดูจากด้านข้างจะเห็นว่าเป็นลักษณะเหมือนลูกคลื่นตามชื่อของมัน

หลังจากที่รู้จักกับเทคโนโลยี 5D Touch ของ ROLI แล้ว เราก็ไปดูเจ้า Seaboard Block ตัวจริงกัน

Leave a Reply