ลองเล่น Ableton Push 2 กับ Ableton Live 10

Ableton Push 2

ปัจจุบันนี้หากพูดถึงการทำเพลงสักเพลงหนึ่ง หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นกว่าสมัยก่อน แต่คนที่ทำเพลงก็ยังประสบกับปัญหาที่สำคัญอย่างเรื่องความคิดสร้างสรรค์กันอยู่ ที่กว่าจะกลั่นออกมาเป็นเพลงแต่ละท่อน ก็ต้องทดลองไอเดียต่าง ๆ อยู่มากมาย

Ableton ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ Digital Audio Workstation อย่าง Live จึงได้สร้างฮาร์ดแวร์อย่าง Push ขึ้นมา เพื่อช่วยผู้ใช้ในการทำเพลงครับ

หลายคนอาจจะสงสัยว่า การทำฮาร์ดแวร์ขึ้นมาใช้ร่วมกับซอฟต์แวร์นั้น จะช่วยเหลือเรื่องความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร ผมเชื่อว่าหลายคนที่ทำเพลงน่าจะเคยประสบปัญหาคิดเพลงไม่ออก เปิดซอฟต์แวร์ DAW บนหน้าจอคอมขึ้นมา แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร หรือไม่รู้จะบันทึกไอเดียที่คิดได้อย่างไร เพราะซอฟต์แวร์มันดูเยอะไป จนไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี

Ableton นั้นมองว่าการที่ผู้ใช้ได้เล่นกับเครื่องดนตรีนั้นสามารถช่วยเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ได้ดีกว่าการนั่งจ้องซอฟต์แวร์ จึงทำให้เกิด Push ฮาร์ดแวร์ตัวแรกของบริษัท ซึ่งได้ยก work flow การทำงานของ Live ออกมาในรูปแบบของเครื่องดนตรี เพื่อใช้งานร่วมกับ Live บนคอมพิวเตอร์ได้อย่างไร้รอยต่อ จนผู้ใช้สามารถจบขั้นตอนการทำเพลงหลัก ๆ ได้โดยไม่ต้องมองหน้าจอคอมพิวเตอร์เลย

สำหรับ Push ตัวที RE.V-> จะมาเขียนประสบการณ์การใช้งานให้อ่านกัน จะเป็นรุ่นที่ 2 ซึ่งทาง Ableton ได้พัฒนาต่อยอดเองจาก Push รุ่นแรก ซึ่งทางบริษัทร่วมกันพัฒนากับผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ชื่อดังอย่าง AKAI Professional ครับ

Package

Ableton Push 2

Ableton Push 2 มาในกล่องกระดาษลังสีน้ำตาลพร้อมหูหิ้ว ด้านหน้ากล่องสกรีนเพียงโลโก้ของ Ableton และ Push เท่านั้น

Ableton Push 2

ด้านหลัง ทางซ้ายจะสกรีนว่า Push คืออะไร สามารถทำอะไรได้บ้าง ทางด้านขวาจะเป็นตำแหน่งสำหรับติดสติ๊กเกอร์บอกซอฟต์แวร์ที่มากับ Push และหมายเลขเครื่อง ซึ่ง Push ของผมนั้นจะมาพร้อมกับซอฟต์แวร์ Ableton Live 9 Suite ซึ่งเป็น Ableton Live รุ่นใหญ่ที่สุด ซึ่งมี Plug-in และ sample ให้มาอย่างครบครันพร้อมใช้งาน

Ableton Push 2

เมื่อเปิดกล่องออกมา จะพบว่าด้านในกล่องลังน้ำตาลนั้นจะเป็นกระดาษเคลือบมันสีเหลือง ซึ่งสร้างความแปลกใจนิดหน่อย เพราะตามปกติมันควรจะเป็นด้านที่อยู่ด้านนอก และโฟมกันกระแทกที่มีโลโก้ Ableton เว้าลงไป

Ableton Push 2

ยกแผ่นโฟมออกก็จะเจอเจ้า Push 2 อยู่ในถุงโฟมที่มีสติ๊กเกอร์ข้อความต้อนรับติดอยู่

Ableton Push 2

ยกตัวเครื่องออกก็จะเจอสาย USB Type A – Type B ซึ่งมีปลาย Type B เป็นแบบตัว L เพื่อให้สายวิ่งออกไปทางด้านข้าง อะแดปเตอร์พร้อมหัวปลั๊กแบบต่าง ๆ และซองเอกสารที่มีรหัสของซอฟต์แวร์อยู่ด้านหลัง

Ableton Push 2

เอกสารที่ให้มาจะประกอบด้วยคู่มือคำเตือนและข้อควรระวังต่าง ๆ ของ Push 2 ส่วนซองเอกสารสีเหลืองเมื่อเปิดซองมาก็จะเจอวิธีการประกอบหัวอะแดปเตอร์ วิธีการลงทะเบียนและดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ และสติ๊กเกอร์สำหรับติดเล่นหนึ่งแผ่น ซึ่งเป็นธรรมเนียมของ Ableton ที่ให้สติ๊กเกอร์แบบนี้มาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว

Product

Ableton Push 2

Ableton Push 2 มีขนาดตัวและน้ำหนักมากกว่าที่ผมคาดไว้อยู่พอสมควร ตัวเครื่องด้านนอกถูกสร้างมาเป็น 2 ชิ้นคือ ส่วนของพลาสติกเคลือบยางที่เป็นส่วนหลักของเครื่อง และส่วนของแผ่นอลูมิเนียมอะโนไดซ์ที่อยู่ด้านบนของตัวเครื่อง

Ableton Push 2

ด้านหลังตัวเครื่องจะเป็นตำแหน่งของแจ็คขนาด 1/4 นิ้วสำหรับเสียบแป้นเหยียบจำนวน 2 ช่อง ทำหน้าที่เป็น sustain pedal และสั่งบันทึกคลิปในการตั้งค่าปกติ พอร์ต USB type B แจ็คเสียบอะแดปเตอร์ และช่องสำหรับสายล็อค Kensington

Ableton Push 2

ด้านล่างของตัวเครื่องจะมีขารองเป็นยางที่มุมทั้งสี่ด้านของตัวถังพลาสติกเพื่อป้องกันไม่ให้ Push เลื่อนขณะใช้งาน

Ableton Push 2

ส่วนประกอบที่เด่นที่สุดของ Push 2 น่าจะหนีไม่พ้นแป้นยาง (Pad) จำนวน 64 แป้น เรียงแบบ 8 x 8 แถว พร้อมไฟสถานะแบบ RGB ในแต่ละแป้น สำหรับเล่นโน๊ตและควบคุมการทำงานของซอฟต์แวร์ ตัวแป้นสามารถวัดแรงหนักเบาเวลากด (Velocity) และแรงที่กระทำกับแป้นหลังการกดไปแล้ว (Aftertouch) ที่ภาษานักเล่นคีย์บอร์ดเรียกกว่าการขยี้คีย์นั่นเอง

ส่วนปุ่มอื่น ๆ ที่อยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของเครื่อง จะเป็นปุ่มยางที่มีความสูงของปุ่มต่ำกว่าแป้นยาง เมื่อกดแล้วจะให้ความรู้สึกเหมือนกดสวิตช์ พร้อมไฟสถานะที่จะเปลี่ยนสีไปตามสถานะของซอฟต์แวร์

ทางด้านซ้ายของแป้นยางจะมี Touchstrip ความยาว 17 มม. สำหรับป้อนค่า Pitch Bend และ Modulation พร้อมไฟ LED 31 ดวง เพื่อระบุตำแหน่งนิ้วที่สัมผัสบน Touchstrip และตำแหน่งอ็อกเทฟเมื่อใช้แป้นยางในการเล่นโน๊ต

Ableton Push 2

ด้านบนตัวเครื่องจะเป็นตำแหน่งของปุ่ม Encoder ซึ่งสามารถหมุนได้รอบและรองรับตรวจจับการสัมผัสจำนวน 11 ปุ่ม แบ่งเป็นปุ่ม Encoder ที่หมุนเป็นจังหวะสำหรับปรับความเร็ว Tempo 1 ปุ่ม และปุ่ม Encoder ที่หมุนได้เป็นอิสระสำหรับปรับ % Swing, ปรับเอฟเฟกต์ และปรับความดังเสียงของ Master Track รวม 10 ปุ่ม

ข้อควรระวังสำหรับคนที่คิดจะเปลี่ยนฝาปิดของปุ่มไปเป็นฝาปิดอื่น ๆ เช่น Chroma Caps คือ ปุ่มจะสูญเสียการตรวจจับการสัมผัสไป ถ้าเราไม่ได้ใช้ฝาปิดของ Ableton Push ครับ

Ableton Push 2

Push 2 มาพร้อมกับหน้าจอสีความละเอียดสูง เพื่อแสดงสถานะต่าง ๆ ของซอฟต์แวร์ Ableton Live ที่รันอยู่บนคอมพิวเตอร์ ตามแนวความคิดที่ต้องการให้ผู้ใช้โฟกัสที่การทำดนตรีมากกว่าการโฟกัสไปที่ตัวซอฟต์แวร์บนคอมพิวเตอร์

จริง ๆ ส่วนของตัวถังพลาสติกด้านในนั้น ทาง Ableton ยังมีลูกเล่นคือการซ่อนลายเซ็นของทีมพัฒนาไว้ด้านใน ซึ่งคนที่อยากจะเห็นจะต้องขันน็อตด้านล่างเครื่องออกถึงจะเห็น หรือดูวิดีโอแกะเครื่องที่คุณ MarkusFuller ทำไว้แทนก็ได้สำหรับคนที่ไม่อยากแกะ Push ของตัวเอง

ต่อไปก็เป็นการติดตั้งและใช้งาน Push 2 ครับ

3 thoughts on “ลองเล่น Ableton Push 2 กับ Ableton Live 10

  1. Jack

    อันนี้ที่ Kevin วง fhána ใช้เล่นใช่มั้ยครับ สงสัยมานานแล้วว่ามันคืออะไร ขอบคุณมากครับ

    Reply
    1. AT1987 Post author

      พอดีผมไม่ได้ตามวงนี้ เลยไม่แน่ใจว่าเขาใช้ Push หรือเปล่านะครับ เพราะอุปกรณ์หน้าตาแบบ Push
      นอกจากของ Ableton ที่เป็นเจ้าของทำออกมาเองแล้ว ยังมีของ Akai Pro และ Novation อีกครับ รวมทั้งยังมีอุปกรณ์คล้าย ๆ กันคือ MASCHINE ของ Native Instrument ซึ่งเป็นฮาร์ดแวร์ + ซอฟต์แวร์เหมือนกับ Live + Push ของ Ableton ครับ

      Reply
  2. Pingback: ลองเล่น ROLI Seaboard Block คีย์บอร์ดใบ้แห่งอนาคต | RE.V –>

Leave a Reply