ที่ห้อง Signature Series จะประกอบไปด้วยสินค้าระดับพระกาฬ ซึ่งคุณ Nageno ได้เล่าในงานว่า หลังจากความสำเร็จของสินค้ากลุ่ม Hi-Res Audio ที่เริ่มมาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ทีมออกแบบเองก็ต้องการปล่อยของเด็ด ทำสินค้าที่ดีที่สุดออกมาบ้าง ซึ่งก็ประจวบเหมาะกับ Sony ครบรอบ 70 ปีพอดี เลยเป็นที่มาของเครื่องเล่นเพลง Walkman NW-WM1, แอมป์หูฟังตั้งโต๊ะ TA-ZH1ES และหูฟัง MDR-Z1R ดังกล่าว
ทาง Sony ได้จัดโต๊ะแสดงชิ้นส่วนภายในของสินค้า Signature Series แต่ละตัว เริ่มจาก Walkman NW-MW1Z ที่มีตัวถังทำจากทองแดงปราศจากออกซิเจนเคลือบด้วยทอง
แอมป์ TA-ZH1ES ที่ใช้ภาคขยายดิจิทัล S-Master HX ร่วมกับวงจรขยายแอนะล็อก เพื่อลด error ในสัญญาณ pulse ที่มีขนาดใหญ่ที่ออกมาจาก S-Master HX และใช้ชิป FPGA ที่โปรแกรมมาเป็นพิเศษมาทำหน้าที่ในภาคประมวลผลสัญญาณของแอมป์ S-Master HX (FPGA จะอยู่แถวใต้บอร์ดเล็กข้าง ๆ กับหม้อแปลงที่อยู่ตรงกลางบอร์ดหลัก)
ส่วนหูฟัง MDR-Z1R ได้มีการจัดแสดงชิ้นส่วนภายในของตัวขับขนาด 70 มม. ที่ใช้ไดอะแฟรมที่ทำจากแมกนีเซียมในส่วนโดม และ LCP เคลือบด้วยอะลูมิเนียมในส่วนขอบ ปิดด้วยตะแกรงลาย Fibonacci
ส่วนตัวคัพที่เป็นจุดเด่นของหูฟังตัวนี้จะทำจากกระดาษ Washi แล้วปิดด้วยตะแกรงสเตนเลสอีกที เพื่อลดการสั่นพ้องของเสียงภายในคัพ
พอเห็นโครงสร้างคัพแบบนี้แล้ว หลายคนคงคิดว่า MDR-Z1R จะเป็นหูฟังแบบ open แต่คุณ Shunsuke Shiomi ที่เป็น acoustic engineer ที่รับผิดชอบออกแบบหูฟังตัวนี้ ได้บอกว่า MDR-Z1R เป็นหูฟัง closed เพราะต้องการให้ป้องกันเสียงจากภายนอกเข้ามาในหูฟัง เช่นเดียวกับ MDR-Z7 ครับ
เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของคัพที่คุณ Shunsuke ออกแบบ แกได้นำคัพรูปทรงเดียวกันแต่ทำเป็นพลาสติกตัน ๆ มาให้ผมลองครอบหูตัวเองดูเพื่อเปรียบเทียบ ซึ่งตอนที่ผมเอาคัพพลาสติกครอบหูก็จะได้ยินเสียงคล้ายกับเสียงลม (หากนึกไม่ออก ลองเอามือครอบหูตัวเองดูจะได้ยินคล้าย ๆ กัน) แต่พอเอาคัพของ MDR-Z1R มาครอบ ก็พบว่าเสียงดังกล่าวนั้นไม่มีอยู่เลย
กล่องใส่ MDR-Z1R ดูหรูหรามาก ๆ ด้านในกล่องจะมีแผ่นป้ายโลหะปั้มเลขซีเรียลของตัวหูฟังอยู่
สายหูฟังที่ให้มากับ MDR-Z1R ประกอบด้วยสายหัวปลั๊ก 3.5 มม. พร้อมหัวแปลงเป็นขนาด 6.3 มม. และสายหัวปลั๊ก balanced 4.4 มม.
ส่วนสายอัพเกรดที่ออกแบบกับ KIMBER KABLE นั้น สามารถใช้งานกับสายรุ่นเดิมที่ใช้งานกับ MDR-Z7 ได้เลย นอกจากนี้ทาง Sony เองยังได้ออกสายที่ใช้หัวปลั๊ก balanced 4.4 มม. เพิ่มเติมอีกด้วย
ผมได้ลองใช้งาน Walkman NW-WM1 ทั้งตัว WM1A ที่เป็นตัวถังอะลูมิเนียมและ WM1Z ที่เป็นตัวถังทองแดง OFC เคลือบทอง ความรู้สึกแรกเลยคือตัวเครื่องหนักและไม่ค่อยเหมาะแก่การพกพาไปฟังเพลงระหว่างเดินทางสักเท่าไร
ส่วนตัว OS ใหม่ที่ Sony ทำเอง ผมคิดว่าน่าจะมีพื้นฐานมาจาก OS ของ Walkman เดิมที่มีพื้นฐานจาก Linux อยู่แล้ว แต่มาปรับเพื่อใช้งานร่วมกับจอสัมผัส ซึ่งหน้าตา UI นั้นทำมาสวยงาม หน้าจอคมชัด การสัมผัสไหลลื่นมาก ส่วนหลักการใช้งานเครื่องก็จะคล้าย ๆ กับ Walkman แบบปุ่มกดมากกว่าแอพ Music บน Walkman ที่เป็น Android
อย่างไรก็ตาม Sony ได้ซ่อนเมนูการตั้งค่าทุกสิ่งอย่างเอาไว้ที่ปุ่ม Settings (รูปกล่องเครื่องมือ มุมขวาล่าง) ไม่ว่าจะเป็นเปลี่ยนรูปแบบการแสดงผลหน้าจอ ตั้งค่าการเล่นเพลง ตั้งค่าตัวประมวลผลเสียง ดูรายละเอียดเพลง ฯลฯ เหมือนสมัยตอนที่ Walkman ยังต้องใช้ปุ่มกดอยู่ แถมในเมนูเหล่านั้นก็มีเมนูย่อยซ่อนลึกลงไปอีก ซึ่งผมคิดว่าทางทีมออกแบบควรจะใช้ประโยชน์จากจอสัมผัสให้มากกว่านี้ เช่น อาจจะทำไอคอนแยกต่างหากวางไว้บนหน้าจอเหมือนตอนสมัยแอพ Music บน Walkman ที่เป็น Android เป็นต้น
อย่างไรก็ตามตอนที่ผมลองเครื่องนี้ ผมยังไม่เห็นคู่มือการใช้งานเครื่อง เลยไม่รู้ว่า Sony อาจจะทำวิธีลัดหรือมีรูปแบบการลากนิ้วเพื่อตั้งค่าแทนได้หรือเปล่า ซึ่งถ้ามีก็ถือว่าดี เพราะช่วยให้การใช้งานรวดเร็วขึ้น
ส่วนเรื่องของเสียงนั้น ผมได้เอา MDR-EX1000 ที่ผมใช้งานประจำอยู่มาลองเสียบฟังดู โดยตั้งค่า gain เป็นปกติและเปิดเพียง DSEE HX แบบ Normal สำหรับเพลงความละเอียดปกติเท่านั้น
จากการลองฟัง ผมรู้สึกว่าแนวเสียงของ NW-WM1A นั้นออกมาใกล้เคียง Walkman ZX2 คือเสียงโดยรวมจะไม่ออกมาแหลมมากนัก รายละเอียดเสียงต่าง ๆ ก็มีความคมชัดดี ส่วนตัว NW-WM1Z นั้น ผมรู้สึกว่าแนวเสียงของมันไม่เน้นไปในย่านใดย่านหนึ่ง คือเสียงไม่ได้มีเบสและแหลมเหมือน ZX100 และก็ไม่ออกมาหม่น ๆ เหมือน WM1A เสียงมีความโปร่ง ให้ความรู้สึกกว้างไม่อึดอัด และเสียงเครื่องดนตรีและเสียงร้องฟังแล้วรู้สึกหวานฉ่ำกว่า WM1A มาก
ส่วนเสียงของหูฟัง MDR-Z1R นั้น ผมได้มีโอกาสลองฟังผ่านชุด NW-WM1A ต่อด้วยสาย balanced ที่พัฒนาร่วมกับ KIMBER KABLE และชุด NW-WM1Z ต่อกับแอมป์ TA-ZH1ES ด้วยสายตัวเดียวกัน
ตอนที่ผมยกหูฟังขึ้น รู้สึกว่าน้ำหนักมันดูเบา ๆ กว่า MDR-Z7 และเมื่อสวมไปแล้วก็ไม่รู้สึกอึดอัดเลย ทั้ง ๆ ที่ Z1R เป็นหูฟังแบบ closed ส่วนเรื่องเสียงนั้น ผมคิดว่ามิติเสียงของ Z1R นั้นให้ความรู้สึกที่กว้างและไม่อึดอัดกว่า Z7 และมีเสียงแหลมที่ถูกลดปริมาณลง เพื่อให้ฟังได้สบายขึ้น ซึ่งมิติเสียงนี้จะดียิ่งขึ้นไปอีกเมื่อฟังผ่าน TA-HZ1ES ครับ
สำหรับคนที่สนใจสินค้ากลุ่ม Signature Series ทาง Sony แจ้งราคาไว้ดังนี้ครับ
- NW-MW1A ราคา 39,990 บาท
- NW-MW1Z ราคา 109,990 บาท
- TA-ZH1ES ราคา 75,990 บาท
- MDR-Z1R ราคา 69,990 บาท
สำหรับสายอัพเกรดแบบ balanced 4.4 มม. ที่พัฒนาร่วมกับ KIMBER KABLE นั้น ทาง Sony แจ้งว่าจะนำเข้ามาขายในไทยแน่นอน แต่อาจจะใช้วิธีเปิดให้จองพร้อมกับตัวหูฟังไปเลย ไม่ได้นำมาวางขายตามร้านปกติ เพราะสินค้าขายออกยาก ส่วนวันวางจำหน่ายสินค้าดังกล่าวในไทยนั้น ทาง Sony ยังไม่ได้แจ้งให้ทราบในงาน แต่จากการสอบถามคาดว่าน่าจะมาในช่วงเดือนพฤศจิกายนครับ
ปล. ตอนท้ายงาน ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณ Shunsuke Shiomi ด้วย แฟน ๆ Sony สามารถติดตามได้ในบล็อกโพสถัดไป เร็ว ๆ นี้ครับ
Pingback: สัมภาษณ์คุณ Shiomi Shunsuke วิศวกรเบื้องหลังเสียงพระกาฬ MDR-Z1R | RE.V –>
อยากบ่นเรื่อง OS ของตระกูลนี้ให้ถึงหูระดับบริหารโซนี่ได้ไงครับทั้ง อ่านไทยไม่ได้ ไม่มี Search การทำงานที่เชื่องช้า Dynamic Normalizer ที่ใช้งานไม่ได้จริงเหมือนไม่เข้าใจคนฟังเพลง ฯลฯ งานลวกงานเร่งชัดๆ โดยเฉพาะอ่านไทยนี่เป็นเรื่องรับไม่ได้จริงๆ
Pingback: รีวิว หูฟัง Sony MDR-1AM2 หูฟัง Premium โฉมใหม่ไฉไลกว่าเดิม | RE.V –>