รีวิว เครื่องบันทึกเสียงพกพา ICD-SX2000 จาก Sony จะบันทึกหรือฟังเสียงก็เป็น Hi-Res

Sony ICD-SX2000

ในปัจจุบันนี้ กระแสของเครื่องเล่นเพลง หูฟัง และลำโพงความละเอียดสูงนั้นมาแรงมาก สังเกตจากการที่ผู้ผลิตหลาย ๆ เจ้าได้ออกสินค้าที่มีมาตรฐาน Hi-Res Audio กันมากขึ้น รวมไปถึงค่ายเพลงที่นำเพลงใหม่ ๆ มาจัดจำหน่ายในรูปแบบความละเอียดสูงด้วยเช่นกัน จึงทำให้เกิดคำถามว่าถ้าหากเราจะอยากจะบันทึกเสียงในรูปแบบความละเอียดสูงบ้าง จะต้องทำอย่างไร

Sony ในฐานะตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้ก็ได้ตอบคำถามที่ว่ามาด้วยเครื่องบันทึกเสียงพกพา ICD-SX2000 ที่ได้มาตรฐาน Hi-Res Audio ที่เราจะนำมารีวิวให้อ่านกันครับ

sony-g-type

Type G เครื่องบันทึกเสียงเทปรีลตัวแรกของบริษัทและญี่ปุ่น

ก่อนที่จะเข้าสู่การรีวิว ICD-SX2000 ผมก็ขอเกริ่นเกี่ยวกับสินค้ากลุ่มเครื่องบันทึกเสียงของ Sony สักหน่อย เพราะเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ที่โตมาในยุคที่โทรศัพท์สามารถใช้บันทึกเสียงได้ น่าจะยังไม่ทราบว่า Sony เองก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่บุกเบิกเครื่องบันทึกเสียงมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยปี 1950 ที่ยังใช้ชื่อบริษัทเป็น Tokyo Tsushin Kogyo อยู่ และได้มีการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่องตามยุคสมัยจนมาถึงปัจจุบันนี้

sony-tc-2850sd sony-pcm-d1

TC-2850SD (ซ้าย), PCM-D1 (ขวา)

ตัวอย่างเครื่องบันทึกเสียงพกพาของ Sony ในอดีตที่เด่น ๆ ได้แก่

  • M-1 หรือ Densuke เครื่องบันทึกเสียงเทปรีลแบบพกพา ที่ทำงานด้วยกลไกสปริง สำหรับใช้งานทำข่าวนอกสถานที่
  • T-50 เครื่องบันทึกเสียงเทปคาสเซ็ทที่สามารถถือได้ด้วยมือเดียว และเป็นต้นแบบให้กับ TPS-L2 หรือ Walkman เครื่องแรกนั่นเอง
  • TC-2850SD หรือ Cassette Densuke เครื่องบันทึกเสียงเทปคาสเซ็ทสะพายข้าง สำหรับผู้ชื่นชอบการบันทึกเสียงนอกสถานที่
  • PCM-D1 เครื่องบันทึกเสียงดิจิทัลในรูปแบบ LPCM ที่สืบทอดแนวคิดของเครื่องบันทึกเสียงตระกูล Densuke แต่อัพเดทด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในตอนนั้น

ส่วน ICD-SX2000 นั้น เป็นเครื่องบันทึกเสียงรุ่นใหม่ที่ออกมาแทน ICD-SX1000 ซึ่งเป็นเครื่องบันทึกเสียงตระกูล ICD ที่รองรับเสียงความละเอียดสูงเป็นตัวแรก และไม่ได้มีการวางจำหน่ายในไทยในตอนที่เปิดตัวปี 2013 ครับ

Package

Sony ICD-SX2000 Package – Front

ICD-SX2000 นั้นจะวางจำหน่ายทั้งหมด 2 สีด้วยกัน คือสีดำและสีแดง ซึ่งในบ้านเรานั้น ได้เลือกสีดำเข้ามาทำตลาด

Sony ICD-SX2000 Package – Back

ด้านหลังกล่องจะระบุความสามารถเด่น ๆ ของตัวเครื่อง ระบบปฏิบัติการที่รองรับ และระยะเวลาการบันทึกเสียงที่ตัวเครื่องสามารถทำได้ ซึ่งหน่วยความจำภายในของ SX2000 สามารถบันทึกเสียงในรูปแบบ LPCM ที่ความละเอียด 24 bit 96 kHz ได้นาน 6 ชม. 35 นาที และมีปริมาณแบตเตอรี่เพื่อการบันทึกอย่างต่อเนื่องได้นาน 15 ชม. แต่ถ้าลดความละเอียดในการบันทึกลง ก็จะสามารถใช้งานได้นานกว่านี้

Sony ICD-SX2000 Package – Opened

ภายในกล่อง เปิดมาจะเจอ ICD-SX2000 นอนอยู่ในถาดพลาสติกที่ทำพื้นผิวเลียนแบบผ้าเนื้อละเอียด คล้ายกับถาดใส่ของ Walkman ตระกูล ZX เมื่อยกถาดออกมาก็จะเจอคู่มือและอุปกรณ์เสริมที่เหลือ

Sony ICD-SX2000

อุปกรณ์เสริมที่ให้มา ประกอบด้วย เคสหนังที่มีฝาปิดแบบแม่เหล็ก, ตัวกรองลม และสาย USB ตัวเมีย – ตัวผู้ สำหรับใช้เชื่อมต่อและชาร์จไฟเครื่องอัด

Product – Hardware

Sony ICD-SX2000

งานออกแบบตัวเครื่องของ ICD-SX2000 นั้น ถึงแม้ว่ายังคงรูปทรงตัวเครื่องสมัยรุ่น SX1000 ไว้อยู่ แต่ดูเหมือนว่าทางทีมออกแบบได้นำภาษาการออกแบบ Negative Space ที่ใช้ในเครื่องเสียงพกพารุ่นสูง ๆ เช่น Walkman ZX2 หรือ PHA-3 เข้ามาใช้ในการออกแบบด้วย สังเกตได้จากการวางปุ่มควบคุมต่าง ๆ ที่ดูกระจัดกระจายในรุ่น SX1000 ถูกบีบเข้ามาจัดเป็นกลุ่ม ดูเป็นระเบียบมากขึ้น

วัสดุที่ใช้ทำตัวเครื่องนั้น ส่วนมากจะเป็นพลาสติกผิวด้านที่มีน้ำหนักเบา ยกเว้นตรงราวป้องกันชุดไมโครโฟนด้านบนที่ภายในจะมีแกนโลหะเสริมความแข็งแรงอยู่

Sony ICD-SX2000

หน้าจอของเครื่องเป็น LCD ขาวดำ และมี backlight สีขาว ขนาดใหญ่พอที่จะเห็นรายละเอียดต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน และรองรับในการแสดงผลตัวอักษรภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน

ส่วนปุ่มที่อยู่ด้านหน้าของเครื่อง ประกอบไปด้วยปุ่มที่อยู่ตรงบริเวณกรอบหน้าจอ ได้แก่ ปุ่ม BACK (กดค้างจะเป็น HOME), ปุ่ม T-MARK และปุ่ม OPTION และปุ่มที่อยู่บริเวณด้านล่างของจอ ได้แก่ ปุ่ม STOP, ปุ่ม REC/PAUSE ที่ทำหน้าที่เป็นไฟสถานะการบันทึกเสียงด้วย และปุ่ม 5 ทิศทางที่ใช้ควบคุมการเล่นเสียง และเรียกใช้ฟังก์ชั่น Digital Pitch Control (DPU) และกำหนดช่วงของเสียงที่ต้องการเล่น

Sony ICD-SX2000 – Back

ด้านหลังของตัวเครื่อง จะเป็นตำแหน่งของเสาอากาศ NFC เพื่อช่วยในการเชื่อมต่อ Bluetooth และรูเกลียวสำหรับยึดตัวเครื่องกับขาตั้งกล้อง นอกจากนี้บริเวณด้านบนตัวเครื่องยังมียางรองเครื่องเพื่อยกตัวเครื่องเวลาวางราบอีกด้วย

Sony ICD-SX2000 – Right

ทางด้านขวาของเครื่อง จะเป็นตำแหน่งของที่คล้องสาย ปุ่มสไลด์เพื่อเลื่อนหัวปลั๊ก USB ปุ่มลด – เพิ่มเสียง และปุ่มเปิด – ปิด และล็อกปุ่ม

Sony ICD-SX2000 – Left

ทางด้านซ้ายของเครื่อง จะเป็นตำแหน่งของแจ็ค 3.5 มม. ซึ่งสามารถเสียบไมค์แบบคอนเดนเซอร์ที่ต้องใช้ไฟเลี้ยงและสายสัญญาณเสียงสเตอริโอได้ ช่องเสียบการ์ด MicroSD ที่รองรับความจุสูงสุด 64 GB และลำโพงขนาด 16 มม. กำลังขับ 200 mW

Sony ICD-SX2000 – S-MiC

ด้านบนของ SX2000 จะเป็นตำแหน่งของชุดไมโครโฟน S-MiC System ซึ่งประกอบไปด้วยไมโครโฟน 2 ตัว ที่ถูกจูนให้รับเสียงได้อย่างคมชัดและเป็นธรรมชาติ เชื่อมต่อกับตัวแปลงสัญญาณแอนะล็อกเป็นดิจิทัล ที่ใช้ชิป ADC จำนวน 2 ตัวต่อเข้าด้วยกัน เพื่อให้ค่า Signal to Noise Ratio สูงขึ้น ส่งผลให้สามารถบันทึกเสียงในช่วง dynamic range ได้กว้างขึ้นด้วย

แคปซูลของไมค์ทั้งสองตัวนั้น จะถูกบรรจุอยู่ในตัวถังอะลูมิเนียมที่เจาะช่องอากาศเพื่อจูนทิศทางการรับเสียง และมีกลไกเคลื่อนไหวเพื่อปรับทิศทางการรับเสียงของไมค์ได้ 3 แบบ คือการหันหัวไมค์ทั้งสองตรงไปข้างหน้าเพื่อรับเสียงจากแหล่งกำเนิดเสียงที่อยู่ไกลออกไป

Sony ICD-SX2000

แบบที่สองคือหันหัวไมค์ทั้งสองออกจากกัน 90° เพื่อให้มิติเสียงสเตอริโอที่ฟังดูกว้างขึ้น

Sony ICD-SX2000

แบบสุดท้ายคือการปรับหัวไมค์ทั้งสองเข้าหากันทำมุม 90° ซึ่งก็คือการวางไมค์แบบ X-Y นั่นเอง การวางไมค์แบบนี้จะทำให้มิติเสียงที่บันทึกได้นั้นเป็นธรรมชาติ แต่ถ้าวางใกล้กับแหล่งกำเนิดเสียงมากเกินไป สัญญาณเสียงสเตอริโอที่บันทึกมาจะกลับฝั่งกัน

Sony ICD-SX2000 with Wind Screen

หากต้องนำเครื่องไปใช้บันทึกเสียงในสถานที่ที่มีลม ก็สามารถใส่ตัวกรองลมที่ทำจากโฟม เพื่อลดเสียงลมที่เข้ามา ซึ่งการใส่จะต้องฝืนอ้าตัวกรองลมเล็กน้อย เพื่อให้สวมเข้าไปคลุมไมค์ได้มิดชิด

Sony ICD-SX2000 – Bottom

จุดเด่นอีกอย่างของ SX2000 คือการใช้ภาคขยายเสียงหูฟังแบบ S-MASTER HX ซึ่งจะขยายสัญญาณเสียงขณะอยู่ในรูปแบบดิจิทัล เพื่อลดสัญญาณรบกวนและความเพี้ยนของสัญญาณ ทำให้ SX2000 ไม่ถูกจำกัดการใช้งานเพียงแต่เรื่องบันทึกเสียงอย่างเดียว แต่ยังเหมาะแก่การนำไปใช้ฟังเพลงอีกด้วย

Sony ICD-SX2000

ในการเชื่อมต่อและชาร์จไฟนั้น จะทำผ่านหัวปลั๊ก USB ที่ติดมากับตัวเครื่องเลย ทำให้สามารถเสียบเครื่องอัดเข้ากับคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปได้โดยไม่ต้องใช้สาย คล้ายกับกล้อง Handycam ของ Sony เองบางรุ่น

ในกรณีที่ไม่สามารถเสียบตัวเครื่องตรง ๆ ที่พอร์ต USB ได้ ก็สามารถใช้สาย USB ที่ให้มาต่อเพื่อเพิ่มความยาวออกมาได้อีกหน่อยนึง

ต่อไป เราจะไปดูภาคซอฟต์แวร์ที่อยู่ภายในตัว SX2000 กัน

4 thoughts on “รีวิว เครื่องบันทึกเสียงพกพา ICD-SX2000 จาก Sony จะบันทึกหรือฟังเสียงก็เป็น Hi-Res

    1. AT1987 Post author

      ผมคิดว่าถ้าดูจุดเด่นด้านการบันทึกเสียงสำหรับงานมืออาชีพอย่างเดียว Zoom H1 จะมีภาษีมากกว่า SX2000 อยู่ครับ

      ส่วนจุดเด่น SX2000 จะเน้นกลาง ๆ ระหว่างการอัดเสียงกับฟังเพลง เพราะจากข้อมูลที่มี Sony เองรู้ว่ามีกลุ่มคนที่ซื้อเครื่องบันทึกเสียงไว้ฟังเพลงเฉพาะด้วย

      คู่แข่งที่น่าจะเทียบกันแบบสมน้ำสมเนื้อ คือ Olympus LS-P2 มากกว่า แต่ผมเห็นบ้านเราขายแต่ LS-P1 ครับ

      Reply
  1. Pingback: รีวิว Sony PCM-A10 ภาคต่อของเครื่องบันทึกเสียงระบบ Hi-Res Audio | RE.V –>

  2. Pingback: รีวิว Sony PCM-D10 เครื่องบันทึกเสียง Hi-Res พกพาระดับโปร | RE.V –>

Leave a Reply