ลองฟังหูฟังและเครื่องเล่น High Resolution Audio รุ่นปี 2014 ของ Sony

สำหรับการลองฟังสินค้าจริง ผมได้นำ WALKMAN ZX1 ไปต่อกับหูฟังดู แต่ด้วยเวลา สถานที่ และสินค้าหลาย ๆ ตัวน่าจะเพิ่งแกะกล่องใหม่หรือยังใช้งานได้ไม่นานนัก ผลการทดลองฟังข้างล่างอาจจะไม่เที่ยงตรง 100% นะครับ

MDR-Z7

Sony MDR-Z7

MDR-Z7 เป็นหูฟังระดับเรือธงตัวใหม่ของ Sony หลังจากที่ห่างหายจากการทำหูฟังระดับนี้ไปตั้งแต่ตอน MDR-Z1000 เมื่อ 3 – 4 ปีก่อน กลับมารอบนี้ทาง Sony เลยจัดเต็มให้กับหูฟังรุ่นนี้เลย ทั้งในเรื่องของวัสดุที่ใช้ก็มีความหรูหราและดูมีราคาแพง และเรื่องของเสียงที่คุณ Koji อธิบายไปบ้างแล้วในหน้าแรก

Sony MDR-Z7

ขนาดของหูฟังเล็กกว่าที่คิดไว้นิดหน่อย ตอนแรกนึกว่าส่วนครอบหูน่าจะใหญ่มากเหมือนหูฟังครอบหูไฮเอนด์ของค่ายอื่น ๆ สายหูฟังจะแบ่งข้างซ้าย – ขวา ขั้วเป็นหัวปลั๊ก 3.5 มม. พร้อมแหวนล็อคเหมือนกับ Z1000 นอกจากนี้ยังแยกกราวด์ระหว่างสายหูฟังข้างซ้ายและข้างขวา เพื่อลด cross talk อีกด้วย

Sony MDR-Z7

วัสดุที่หุ้มที่คาดหัวเป็นหนังแท้ ให้สัมผัสที่สบาย

Sony MDR-Z7

ก้านหูฟังทำจากโลหะ มีการสลักเลเซอร์บอกระดับด้วย หลังจากที่ Sony ไม่ได้ทำระดับของที่ก้านในหูฟังรุ่นหลังมานาน

Sony MDR-Z7

ตัวแพดหุ้มด้วยหนังแท้ ใช้วิธีการเย็บแบบ 3 มิติเพื่อให้ได้รูปทรงพอดีกับหู และเข้ากับส่วนโค้งของศีรษะ ทำให้ป้องกันเสียงรบกวนได้ดีขึ้น จากการลองใส่ฟังเพลงไปเกือบ ๆ ชม. ยอมรับเลยว่าแพดนิ่มจริง ใส่สบายมาก ไม่มีการกดหูหรือศีรษะเลย แต่พอใส่ไปสักพักจะเริ่มร้อนหู ไม่เหมาะกับการใช้งานนอกห้องแอร์เท่าไร

Sony MDR-Z7

หัวปลั๊ก 3.5 มีขนาดค่อนข้างใหญ่ และเผื่อระยะกันสายหักไว้ค่อนข้างเยอะ

จากการฟังเสียงของ MDR-Z7 ที่ต่อกับ WALKMAN ZX1 ผมรู้เลยว่า WALKMAN ZX1 ไม่มีกำลังพอที่จะขับหูฟังตัวนี้ออกมาได้ดี ผมปรับระดับเสียงไปที่เบอร์ 15 เพื่อให้ได้ยินเสียงดังเท่า ๆ กับตอนฟังกับหูฟังแบบครอบหูตัวอื่น ก็ยังรู้สึกว่าเสียงที่ได้ยินมามันก็ยังไม่เต็มที่ แถมถ้าเพิ่มระดับเสียงเป็นเบอร์ 16 เสียงก็ดังเกินไปอีก

ส่วนเรื่องเสียงของ เสียงเบสดัง รายละเอียดคมชัด แรงปะทะเยอะ หางเสียงสั้นกระชับ เสียงกลางหวาน แต่เหมือนเสียงมันอั้น ๆ เอาไว้อยู่ เสียงแหลม ไม่คมจนบาดหูเหมือน MDR-1R รายละเอียดของเสียงทำได้ชัดเจนดีมาก เรื่องมิติดูค่อนข้างกว้างแต่ก็รู้สึกเหมือนมีอะไรมากั้นไว้ ซึ่งผมคิดว่าถ้าได้แอมป์หูฟังมาช่วยขับเสียง เสียงน่าจะไปได้ดีกว่านี้

ข้อสังเกตอีกอย่างจากการฟังหูฟังตัวนี้ คือมันป้องกันเสียงจากภายนอกได้ไม่ค่อยดีเท่าไร คือได้ยินเสียงคนคุยกันใกล้ ๆ ค่อนข้างชัดเจน เข้าใจว่าคงเป็นเพราะช่องอากาศขนาดใหญ่ตรงด้านล่างของคัพ

XBA-Z5

Sony XBA-Z5

XBA-Z5 เป็นหูฟังสอดหูระดับเรือธงตัวใหม่ ที่เป็นการเอาระบบตัวขับผสมที่ใช้ใน XBA-H3 มาปรับปรุงใหม่ในแนวความคิด Feel the Air เช่นเดียวกันกับ MDR-Z7

จากการลองจับหูฟังตัวนี้ รู้สึกว่าขนาดของมันดูกระชับสมส่วนกว่า XBA-H3 และมีน้ำหนักที่เบามาก ๆ ผมคิดว่าน่าจะเบากว่า MDR-EX1000 ถึงแม้ว่าจะใช้แมกนีเซียมในการทำตัวหูฟังก็ตาม

สำหรับเรื่องของเสียง เทียบกับ XBA-H3 คือเสียงเบสดัง รายละเอียดคมชัด แรงปะทะเยอะ หางเสียงสั้นกระชับ เสียงกลางมีเนื้อมากขึ้น หวาน เสียงแหลม คมน้อยลง แต่ใสขึ้น และคงรายละเอียดไว้ ฟังแล้วนึกถึงเสียงแหลมของ EX1000 แต่ Z5 ตอบสนองเสียงสูง ๆ ได้มากกว่า

การแยกรายละเอียดทำได้ดีกว่า แต่ที่ดีมาก ๆ คือเรื่องของมิติเสียง ที่ฟังแล้วกว้างกว่าเดิมมาก สามารถทำได้พอ ๆ กับ EX1000 เลยทีเดียว โดยรวมแล้ว ผมรู้สึกว่าเจ้า XBA-Z5 มันคือ MDR-Z7 เวอร์ชั่นย่อส่วนลงมาเอาไว้ไปฟังข้างนอกบ้านครับ

PHA-3

Sony PHA-3

นอกเหนือจากการออกหูฟังรุ่นใหม่ ทาง Sony ยังได้ออก PHA-3 แอมป์หูฟังพร้อม DAC ในตัวรุ่นใหม่ ซึ่งได้มีการปรับปรุงสเปกขึ้นมาจาก PHA-2 ทั้งเรื่องของกำลังขับหูฟังที่เพิ่มมากขึ้นจนสามารถที่จะขับหูฟังที่มีค่าความต้านทานสูงได้แล้ว การรองรับเล่นสัญญาณเสียงที่ความละเอียด 32-bit 384 kHz รองรับการขับหูฟังแบบ Balanced เป็นต้น

Sony PHA-3

การเชื่อมต่อด้านหลังยังคงเดิม แต่ได้มีการเพิ่มช่อง Optical in และแยกช่อง Micro USB สำหรับชาร์จไฟออกมาจากช่อง Micro USB ที่ไว้ต่อกับอุปกรณ์

Sony PHA-3

ความสามารถที่เพิ่มเข้ามาอีกอย่าง คือการเพิ่มการประมวลผล DSEE HX ช่วยเพิ่มคุณภาพสัญญาณเสียงจากไฟล์เพลงที่บีบอัดหรือความละเอียดต่ำให้ใกล้เคียงไฟล์เพลงความละเอียดสูงได้ อย่างไรก็ตามหากสัญญาณที่ DAC รับมาจากอุปกรณ์ที่ต่อมีความละเอียดสูงอยู่แล้ว (ไฟสถานะ Hi-Fs ติด) DSEE HX จะไม่ทำงาน ถึงแม้จะเลื่อนสวิตช์อยู่ในตำแหน่งเปิดก็ตาม

Sony PHA-3

สำหรับเสียงของ PHA-3 เท่าที่ลองกับหูฟัง MDR-CD900ST ที่เอาติดตัวไปด้วย แนวเสียงจะออกสว่าง ๆ เน้นช่วงเสียงกลางและเสียงแหลม เบสไม่มีแรงกระแทกมาก คล้ายกับ PHA-2

อย่างไรก็ตามเมื่อผมเปลี่ยนเอา MDR-Z7 ที่ต่อกับสายหูฟัง MUC-B12SM1 ที่ Sony ร่วมมือกับ KIMBER KABLE ในการออกแบบ เสียงที่ได้แตกต่างจากตอนที่เอา MDR-Z7 ไปต่อตรงกับ WALKMAN ZX1 เป็นอย่างมาก เสียงเบสหนาขึ้น มีหางเสียงเพิ่มขึ้น เสียงกลางหวาน ไม่อัดอั้น เสียงแหลมดูมีเนื้อเสียงมากขึ้น มิติของเสียงฟังดูกว้างขึ้น

นอกจากนี้ผมยังได้ลองให้ PHA-3 ขับ MDR-Z7 แบบ balanced ด้วยสายที่มากับหูฟัง ซึ่งก็ให้ความรู้สึกว่าการแยกเสียงข้างซ้ายและขวาดูแยกกันขาดขึ้นเล็กน้อย เสียงออกมาเต็มมากขึ้น

อย่างไรก็ตามผมเจอปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อระหว่าง PHA-3 และ WALKMAN ZX1 ชอบหลุดทุกครั้งที่ผมถอดหูฟังสลับเพื่อทดลองเสียง และสาย KIMBER KABLE ที่มีน้ำหนักของสายมาก แต่ยังดีที่ไม่มีเสียงจากการกระทบของสายกับวัตถุอื่นให้ได้ยินเลย

WALKMAN A10

Sony WALKMAN A10

สำหรับ WALKMAN A10 นี้เป็นเครื่องเล่น HRA รุ่นใหม่ที่ทาง Sony ทำมาเพื่อให้สินค้า Hi-Res Audio เข้าถึงกลุ่มลูกค้าทั่วไปได้ง่ายขึ้น รวมทั้งยังเคลมว่าเป็นเครื่องเล่น HRA ที่มีขนาดเล็กที่สุด

หน้าตาของ WALKMAN A10 จะคล้าย ๆ กับพี่น้อง WALKMAN ตระกูล E และ S แต่จะมีการใช้วัสดุอลูมิเนียมขัดเงาแบบชิ้นเดียวด้านหน้า เพื่อแยกความแตกต่างกับพี่น้องของมันอย่างชัดเจน

Sony WALKMAN A10

ความบางของเครื่องจัดว่าบางมากกว่าเครื่องเล่น HRA ยอดนิยมในตลาดหลาย ๆ ตัว ด้านข้างเป็นตำแหน่งของปุ่มเพิ่ม – ลดเสียง สวิตช์สำหรับล็อกปุ่มกด และช่องใส่การ์ด microSD

Sony WALKMAN A10

ด้านหลังตัวเครื่องเป็นพลาสติก ไม่เหมือนกับ WALKMAN S ที่เป็นโลหะ

Sony WALKMAN A10

หน้าตาของ UI และวิธีการใช้งานแทบจะลอกมาจาก WALKMAN E และ S เลย

Sony WALKMAN A10

สำหรับการประมวลเสียงแบบใหม่ที่มีใน WALKMAN A10 คือการ Downsampling สัญญาณเสียงความละเอียดสูงลงให้เหลือ 16-bit 44.1 kHz สำหรับคนที่อยากฟังเสียงที่มีลักษณะเหมือนกับการฟังเพลงจากแผ่น CD อยู่

สำหรับเสียงของ WALKMAN A10 เนื่องจากผมต้องลองจากเพลงในเครื่องที่เขาเตรียมมา เลยยังเปรียบเทียบอะไรมากไม่ได้ แต่จากการฟังด้วย MDR-CD900ST คร่าว ๆ รู้สึกว่าเสียงออกมาจะเน้นไปทางเบสและเสียงกลาง การแยกรายละเอียดเสียงทำได้ดีทีเดียว โดยรวมแล้วน่าจะถูกใจกลุ่มลูกค้าทั่วไปที่ Sony เล็ง ๆ เอาไว้

MDR-1A

Sony MDR-1A

หูฟัง MDR-1A เป็นหูฟังที่ออกมาแทน MDR-1R ซึ่งได้มีการเปลี่ยนมาใช้ไดร์เวอร์ AC-LCP แบบเดียวกับ MDR-Z7 แต่มีขนาด 40 มม. แทน ใช้สายหูฟังแบบแยกกราวด์ และรองรับการขับหูฟังแบบ balanced ได้ และดูเหมือนว่าจะมีการเปลี่ยนวัสดุทำคัพจากพลาสติกเป็นโลหะด้วย ได้มีการทำพื้นผิวของคัพให้คล้ายกับผิวโลหะ ทำให้ตัวหูฟังดูดีมีราคาแพงกว่า MDR-1R ที่เป็นพลาสติกผิวเรียบทั้งตัว

สำหรับเรื่องเสียงนั้นยังคงแนว MDR-1R อยู่ คือเบสไม่เยอะ แรงกระแทกไม่แรง แต่ลงลึก ส่วนเสียงกลางจะหวานและละเอียดขึ้น ส่วนเสียงแหลมจะคล้าย ๆ กับ MDR-Z7 คือไม่คมมาก แต่คงไว้ซึ่งรายละเอียดอยู่ มิติต่าง ๆ ยังคล้าย ๆ เดิม

จุดที่ผมชอบอีกอย่างคือตัวหูฟังยังคงขับได้ง่ายเหมือนเดิม สำหรับคนที่สู้ราคา MDR-Z7 ไม่ไหว หรืออยากได้หูฟังดี ๆ ไปใช้งานข้างนอกได้ด้วย MDR-1A ดูเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากครับ

Sony 2014 Hi-Res Audio Press Preview

โดยรวมแล้วสินค้าในกลุ่ม Hi-Res Audio ของ Sony จัดว่าน่าสนใจมาก และมีสุ่มเสียงที่แตกต่างจากหูฟังยี่ห้ออื่น ๆ ในตลาด สำหรับคนที่สนใจ ตอนนี้เห็นว่าโชว์รูมของ Sony เอง และร้านตัวแทนจำหน่ายได้เริ่มมีการวางสินค้าตัวอย่างให้ทดลองฟัง และเริ่มเปิดจองสินค้ากันแล้ว ซึ่งโปรโมชั่นเปิดตัวรอบนี้เรียกได้ว่า “แรง” ครับ

สำหรับบทความของเรายังไม่จบเพียงเท่านี้นะครับ ตอนหน้าเราจะมาสัมภาษณ์คุณ Koji Nageno ในเรื่องของการทำงานใน Sony เรื่อง High Resolution Audio เทคโนโลยีต่าง ๆ ของหูฟัง รวมทั้งพูดคุยถึงหูฟังระดับตำนานอย่าง MDR-CD900ST ที่แกเป็นคนออกแบบเองด้วยครับ

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณทาง Sony ที่เชิญทางเราไปร่วมงานด้วยนะครับ

4 thoughts on “ลองฟังหูฟังและเครื่องเล่น High Resolution Audio รุ่นปี 2014 ของ Sony

  1. Pingback: สัมภาษณ์คุณ Nageno Koji วิศวกรผู้อยู่เบื้องหลังหูฟังของ Sony

  2. Pingback: รีวิว หูฟัง Sony MDR-Z7 การกลับมาของเรือธงในยุค High Resolution Audio

  3. Pingback: ลองฟัง Walkman A20 และ Walkman ZX100 | RE.V –>

Leave a Reply