Product – Hardware
งานออกแบบของ Walkman ZX2 จะมีลักษณะเดียวกันกับแอมป์พกพา PHA-3 คือตัวเครื่องทำจากอลูมิเนียมผิวพ่นทราย และมีวงแหวนสีทองครอบตัวแจ็คหูฟัง เพื่อสื่อถึงคุณภาพเสียงแบบพรีเมี่ยม
ตัวเครื่องเองมีขนาดใหญ่และหนักกว่า Walkman ZX1 อยู่พอสมควร แต่การจับถือยังสามารถทำได้ดีอยู่ แต่การนำไปใส่กระเป๋าเสื้อหรือกางเกงทำได้ยากกว่าเดิม
ZX2 ยังคงใช้หน้าจอแบบเดียวกันกับ ZX1 คือ จอ TFT ขนาด 4 นิ้ว ความละเอียด 854 x 480 พิกเซล ใช้เทคโนโลยี TRILUMINOS Display for Mobile และ OptiContrast Panel
เนื่องจากขนาดกระจกของ ZX2 ยังคงมีขนาดเท่ากับกระจกของ ZX1 และ F880 จึงสามารถใช้ฟิล์มกันรอยหน้าจอรุ่นเดียวกันเหมือนเดิมได้
ตำแหน่งของปุ่มกดควบคุมต่าง ๆ ยังคงอยู่ด้านขวามือของตัวเครื่องเหมือนเดิม แต่ตัวปุ่มมีขนาดใหญ่มากขึ้น กดได้ถนัดกว่า ตัวปุ่มเองมีความแน่นเวลากด ให้ความรู้สึกเป็นของแพง นอกเหนือจากปุ่มกด รูคล้องสายยังถูกย้ายจากด้านล่างของเครื่องมาอยู่บริเวณด้านข้างด้วย
ส่วนตำแหน่งของเสาอากาศสัญญาณวิทยุต่าง ๆ จะอยู่ตรงบริเวณกระจกด้านบน ทำให้ไม่ต้องทำส่วนของพลาสติกปิดด้านบนเหมือนกับ ZX1
ด้านหลัง จะหุ้มด้วยยางที่ทำลายเลียนแบบหนังเหมือนกับ ZX1 แต่ของ ZX2 ตัวยางจะหนากว่าตัวเครื่อง ทำให้เราจับเครื่องได้ง่ายขึ้น และให้ความรู้สึกที่นุ่มมือ ตรงบริเวณส่วนบนยังเป็นตำแหน่งตัวรับ – ส่ง NFC สำหรับใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ไร้สายหรือแลกเปลี่ยนข้อมูล
ส่วนบริเวณด้านล่างที่ตัวเครื่องยื่นออกมาและมีโลโก้ Walkman สีทองอยู่ จะเป็นตำแหน่งของวงจรเสียงด้านใน ซึ่งสีทองของโลโก้นั้น ยังสื่อถึงโครงสร้างแผ่นทองแดงฉุบทองใช้ทำกราวด์ของวงจรด้านในอีกด้วย
ด้านล่างของตัวเครื่องยังคงเป็นที่อยู่ของแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มม. พอร์ต WM-Port และสมาชิกใหม่คือช่องเสียบการ์ด microSD ซึ่งจะมีฝาปิดอยู่ เมื่อเปิดฝาถึงจะเจอช่องเสียบและไฟสถานะการอ่าน – เขียนของการ์ดอยู่
ส่วนเคสหนังรอบนี้ได้รับการแก้ไขใหม่ โดยเจาะช่องให้สามารถกดปุ่มด้านข้างของตัวเครื่อง และย้ายตำแหน่งที่ปิดไม่ให้บังพอร์ต WM-Port แล้ว คุณภาพเคสหนังจัดว่าดีมาก ถ้าไม่ซีเรียสอะไร ก็หาแค่ฟิล์มกันรอยติดหน้าจอก็พอ
สเปกภายในอื่น ๆ ของตัวเครื่องยังคงเหมือนกับ Walkman ZX1 แต่มีรายละเอียดในบางจุดที่ไม่เหมือนกัน
- หน่วยประมวลผล OMAP 4 Cortax-A9 จาก Texas Instruments แบบดูอัลคอร์ ความเร็ว 1 GHz
- RAM ขนาด 1 GB เหลือใช้งาน 685 MB
- หน่วยความจำขนาด 128 GB แบ่งเป็นพื้นที่ภายในสำหรับลงแอพ 1.97 GB และพื้นที่ภายนอกไว้ใส่ไฟล์ 113 GB
- Wireless LAN มาตรฐาน a/b/g/n ความเร็วสูงสุด 150 Mbps
- Bluetooth เวอร์ชั่น 3.0
- Accelerometer, GPS
- รองรับการต่อ USB DAC ผ่านพอร์ต WM-Port ได้
สเปกโดยรวมแล้วจัดว่าเก่ามากแล้ว แต่ในแง่ของการใช้งาน Walkman ZX2 ที่ชูจุดเด่นเป็นเครื่องเล่นเพลงความละเอียดสูงโดยเฉพาะ ก็ถือว่ายังเพียงพอต่อการใช้งานอยู่
Product -Software
ภาคซอฟต์แวร์ของ Walkman ZX2 ได้อัพเกรดมาใช้ระบบปฏิบัติการ Android เวอร์ชั่น 4.2.2 แบบไม่ดัดแปลง มาพร้อมกับชุดแอพ Media players for Walkman ประกอบไปด้วยแอพ Music player, Video player, Photo viewer และ DLNA เหมือนเดิม
การเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ ของชุดแอพ Media players คือ รองรับการเล่นไฟล์ DSD ที่ sample rate 5.6 MHz และเพิ่ม shortcut ของ Sound adjustment ออกมาเป็นไอคอนต่างหากแล้ว ส่วนหน้าตาและการใช้งานของแอพนั้นยังเหมือนกับของ Walkman ZX1 ไม่มีผิด
ส่วนการประมวลผลเสียง ยังคงประกอบไปด้วย EQ 5 ย่าน ตัวจำลองเสียงรอบทิศทาง DSEE HX ปรับปรุงคุณภาพเสียงของไฟล์เพลงปกติให้อยู่ในระดับใกล้เคียงไฟล์ความละเอียดสูง Dynamic Normalizer ช่วยปรับระดับเสียงระหว่างเพลงให้มีความดังพอ ๆ กัน
สำหรับคนที่ขี้เกียจนั่งตั้งค่าพวกนี้ Sony ยังได้เตรียม ClearAudio+ ซึ่งเป็น preset เสียงที่ปรับมาสำหรับหูฟังโดยเฉพาะมาให้ด้วย
กราฟ low pass filter ทั้งสองแบบ บน Slow roll-off ล่าง Sharp roll-off
ส่วนของใหม่ที่เพิ่มเข้ามาใน Walkman ZX2 เป็นอย่างแรก คือการตั้งค่าการแปลงสัญญาณ DSD เป็น PCM ซึ่งเราสามารถตั้งค่า roll-off ของ low pass filter ที่ใช้ในการแปลงสัญญาณได้ 2 ค่า คือ slow ที่เหมาะกับเสียงร้องหรือเครื่องสายที่เสียงลากยาว เป็นการตั้งค่าเดียวกับของใน ZX1 และ F880 และ sharp ที่ให้เสียงเต็มและต้นเสียงคม
อีกค่าที่สามารถตั้งได้คือ gain หรือระดับความดัง ซึ่งเลือกได้ที่ -3 dB เป็นตัวเลือกแนะนำ และ 0 dB เพื่อให้ระดับเสียงดังเท่ากับระดับเสียงของไฟล์เพลงที่เป็น PCM ทั้งหลาย ผมลองใช้งานตั้งที่ 0 dB ดู ก็พบว่าเสียงดังขึ้น แต่ก็ยังไม่เท่ากับเพลงอื่น ๆ ของผมอยู่ดี เนื่องจากตัวเพลง DSD ที่ผมมี ส่วนมากจะมีระดับเสียงที่เบากว่าไฟล์เพลงอื่น ๆ อยู่แล้ว
ของใหม่ของ ZX2 อย่างที่สอง คือการเพิ่ม LDAC ซึ่งเป็น A2DP codec ตัวใหม่ ซึ่งสามารถช่วยให้ส่งสัญญาณเสียงที่ความละเอียดสูงสุด 24-bit 96 kHz ไปยังอุปกรณ์ Bluetooth ที่รองรับ เช่น หูฟัง ลำโพง และเครื่องเสียงได้
การตั้งค่าสามารถเลือกได้ว่าจะให้ใช้ LDAC ถ้าเจออุปกรณ์ที่รองรับ หรือจะเลือกใช้ SBC ตลอดเลยก็ได้ นอกจากการเลือก codec ที่ใช้ เรายังสามารถเลือกลักษณะการเชื่อมต่อของ Bluetooth ว่าต้องการให้เน้นเรื่องความเสถียรของสัญญาณหรือเน้นเรื่องคุณภาพเสียงได้ เหมือนใน Walkman รุ่นอื่น ๆ ที่ต่อ Bluetooth ได้
เนื่องจากตอนที่ได้รับเครื่องมารีวิว ผมไม่มีหูฟัง ลำโพง หรืออุปกรณ์ใด ๆ ที่รองรับ LDAC เลย จึงขอข้ามการรีวิวในส่วนนี้ไปก่อน แต่คนที่สนใจสามารถอ่านการลองฟังหูฟัง MDR-1A ที่เป็นหูฟัง LDAC แบบเบื้องต้นก่อนได้ที่นี้ครับ
ความสามารถอื่น ๆ ที่เพิ่มมาของ Android 4.2 ที่ดูแล้วเป็นประโยชน์คือ การใส่ widget ในหน้า lock screen ได้ ซึ่งผมเลือกเอา Mini Player ใส่ไว้ เพื่อให้สามารถเห็นชื่อเพลง เวลากดเปิดจอได้ โดยไม่ต้อง unlock เครื่องเสียก่อน
และก็ได้เวลาลองใช้งาน Walkman ZX2 กันแล้วครับ
Pingback: รีวิว หูฟัง Sony XBA-Z5 สัมผัสบรรยากาศของเสียงดนตรีจากหูฟัง In-ear | RE.V –>
Pingback: ลองฟัง Walkman A20 และ Walkman ZX100 | RE.V –>
Pingback: รีวิว Sony Walkman ZX100 ตำนานภาคต่อของเครื่องเล่น HRA ยอดนิยม | RE.V –>
ขอถามหน่อยนะครับ
คิดว่า ZX 2 เหมาะกับเพลงแนว Vocal, Soft rock และ Divas (Celine Dion) รึเปล่าครับ
ผมคิดว่าเหมาะสมอยู่นะครับ แต่ก็คงต้องดูด้วยว่าตัวเองชอบเสียงแนวไหนประกอบกันไปด้วยครับ เพราะบางคนชอบฟังเพลงแนวเดียวกัน แต่ก็อาจจะชอบลักษณะเสียงที่ไม่เหมือนกันครับ
Pingback: รีวิว เครื่องบันทึกเสียงพกพา ICD-SX2000 จาก Sony จะบันทึกหรือฟังเสียงก็เป็น Hi-Res | RE.V –>
Pingback: Sony เปิดตัว Walkman ZX500 และ Walkman A100 ฉลองครบรอบ 40 ปี Walkman | RE.V –>