Product – Software
ส่วนภาคซอฟต์แวร์ของ Walkman A30 นั้น ทาง Sony ได้ตัดสินใจใช้ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาเองแทน Android แบบที่ใช้ใน Walkman จอสัมผัสรุ่นก่อนหน้า ซึ่งผมคิดว่าตัวซอฟต์แวร์นี้น่าจะมีพื้นฐานมาจาก Linux ไม่ก็เป็น fork ของ Android อีกที
ในซอฟต์แวร์ตัวใหม่นี้ ทีมพัฒนาได้มีแนวความคิดที่ให้หน้าจอ playback screen ซึ่งเป็นหน้าจอที่ใช้งานประจำเป็นหน้าจอหลักของเครื่อง และมีส่วนประกอบอื่น ๆ คือ information area ที่อยู่ด้านบนของหน้าจอ เอาไว้แสดงสถานะต่าง ๆ ของตัวเครื่อง ส่วนแสดงข้อมูลที่อยู่ส่วนกลางของจอ และปุ่ม basic operation button 4 ปุ่มที่อยู่ด้านล่างสุด ประกอบไปด้วยปุ่ม back เพื่อกลับไปยังหน้าจอก่อนหน้า ปุ่ม go to playback screen เพื่อกลับไปยัง playback screen ปุ่ม library เพื่อไปยังหน้า library และปุ่ม options/settings เพื่อเรียกเมนูการตั้งค่าเพิ่มเติมของหน้าที่อยู่ปัจจุบันขึ้นมา
จากการใช้งานมา ผมคิดว่ามันเหมือนกับการยกระบบควบคุมของ Walkman แบบปุ่มรุ่นก่อนหน้า มาแปลงใส่หน้าจอสัมผัสมาก ใครใช้งาน Walkman ปุ่มกดก่อนหน้า น่าจะทำความคุ้นเคยไม่ยาก
หน้าตาของ playback screen นั้นมีความคล้ายคลึงกับแอพ Music บน Walkman Android ที่จะแสดงผลปกเพลงและเนื้อเพลงในรูปแบบไฟล์ .lrc ของเพลงที่กำลังเล่นอยู่ ซึ่งจากหน้าจอนี้ เราสามารถปัดนิ้วไปยังทิศทางต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนไปยังหน้าจออื่นได้ ดังนี้
ปัดนิ้วลงด้านล่าง จะไปยังหน้า library top screen สำหรับใช้ค้นหาเพลงตามหมวดหมู่ นอกจากนี้เรายังสามารถกด Function Button ที่อยู่ด้านบนเพื่อฟังวิทยุหรือไปยังโหมด Language Study ได้จากหน้าจอนี้ด้วย
ส่วนของวิทยุ FM นั้น ในแง่การใช้งานไม่แตกต่างจาก Walkman A20 คือรองรับคลื่นวิทยุ FM ช่วง 87.5 -108.0 MHz ความละเอียดในการจูนคลื่นที่ 0.1 สามารถตั้ง preset ของช่องที่ฟังได้ ทั้งแบบค้นหาอัตโนมัติและตั้งช่องเอง
Language Study เป็นความสามารถใหม่ที่ถูกใส่ให้เฉพาะ Walkman A30 ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่เรียนภาษา ที่จะต้องมีการกดกรอไฟล์เสียงที่มากับตำราไป ๆ มา ๆ หรือต้องการฟังเสียงสนทนาที่พูดเร็ว ๆ โดยตัวเครื่องจะมี library และ playback screen แยกต่างหากสำหรับไฟล์เสียงกลุ่มนี้
ที่หน้า playback ของ Language Study ผู้ใช้สามารถกำหนดความเร็วในการเล่นไฟล์เสียงได้ตั้งแต่ 0.5 – 2 เท่า โดยที่ pitch ของเสียงไม่เปลี่ยน กำหนดช่วงเสียงที่ต้องการเล่น และมีปุ่มสำหรับย้อนไปยังช่วงเสียงที่ -10 วินาที, -3 วินาที และ +5 วินาที นอกจากนี้ยังรองรับไฟล์เนื้อเพลง .lrc ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้โดยการเลือกประโยคของไฟล์เสียงที่ต้องจะฟังได้เลย
ปัดนิ้วไปทางขวา จะไปยังหน้า lineup screen ซึ่งจะแสดงคิวเพลงที่กำลังเล่นอยู่ทั้งหมด
ปัดนิ้วไปทางซ้าย จะไปยังหน้า bookmark list screen หรือลิสต์รายชื่อเพลงชั่วคราวที่เราสร้างบนเครื่อง ซึ่ง Sony ได้เพิ่มจำนวน bookmark list ที่สามารถมีได้สูงสุดเป็น 10 ลิสต์ จากรุ่นก่อนหน้าที่มี 5 ลิสต์
สำหรับคนที่ใช้ระบบ playlist เหมือนผม ข่าวดีคือเราสามารถเพิ่มหรือลบเพลงใน playlist ที่มีอยู่แล้วได้ แต่อย่างไรก็ตามเรายังคงไม่สามารถสร้าง playlist เปล่าขึ้นมาเองจากในตัวเครื่องได้เหมือนเดิม
ปัดนิ้วขึ้นด้านบน จะไปยังหน้า sound quality settings screen เพื่อตั้งค่า ClearAudio+, Equalizer, DSEE HX, DC Phase Linearizer, VPT (Surround) และ Dynamic Normalizer ซึ่งการตั้งค่าแต่ละตัวก็จะมีหน้าจอของตัวเอง ให้เราเลื่อนนิ้วซ้าย – ขวาอีกครั้งเพื่อเลือกการตั้งค่าที่ต้องการปรับอีกที
หน้าจอ settings ที่สามารถเข้าได้จากการกดปุ่ม options/settings จะประกอบด้วยปุ่มตั้งค่าการทำงานของเครื่องอย่างรวดเร็วด้านบน ได้แก่ ปุ่มปรับความสว่างหน้าจอ, ปุ่มเปิด – ปิด Digital NC, ปุ่มเปิด – ปิด Bluetooth และปุ่มเปิด – ปิดการใช้รีโมทไร้สาย RMT-NWS20
ส่วนด้านล่างจะรวมการตั้งค่าต่าง ๆ เป็นหมวดหมู่เอาไว้ การตั้งค่าบางอย่างสามารถปรับได้ทันทีในหน้านี้ แต่ส่วนมากจะเป็นเมนูย่อยให้เรากดเข้าไปตั้งอีกรอบหนึ่ง
ในส่วนของการประมวลเสียงของตัวเครื่องนั้น หลาย ๆ ตัวยังคงเหมือนกับตอน Walkman A20 รุ่นที่แล้ว ทั้ง ClearAudio+ ที่เป็นการตั้งค่าเสียงที่ Sony แนะนำ DSEE HX ที่ช่วยปรับคุณภาพเสียงของไฟล์เสียงความละเอียดปกติให้เทียบเท่าไฟล์เสียงความละเอียดสูง VPT ที่จำลองเสียงในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ Clear Phase ที่ช่วยปรับเสียงของหูฟัง MDR-NW750N ให้สามารถแยกแยะรายละเอียดและมิติของเสียงได้ดีขึ้น
แต่ตัวที่มีการเปลี่ยนแปลงคือ Equalizer ที่ตัด ClearBass ออก แล้วเพิ่ม EQ ช่วงความถี่ 60 Hz แทน และ DC Phase Linearizer ที่ถูกนำมาจากวงจรขยาย S-Master Pro ใน AV receiver ตระกูล ES มาใส่ใน Walkman เป็นครั้งแรก ซึ่งตัวประมวลผลนี้จะจำลองผลของ phase lag จากตัวเก็บประจุ DC coupling ที่ภาคขาออกของวงจรขยาย (เพราะวงจรขยาย S-Master ถูกออกแบบให้ไม่มีชิ้นส่วนดังกล่าว เพื่อตัดปัญหาสัญญาณเพี้ยนจาก phase lag ออกไป) ซึ่งส่งผลให้เสียงเบสนั้นมีลักษณะใกล้เคียงกับวงจรขยายแอนะล็อกมากขึ้น
ของใหม่อย่างหนึ่งใน Walkman A30 ที่เพิ่มมาจาก A20 คือ ความสามารถในการเล่นไฟล์เพลงในรูปแบบ DSD โดยการเล่นไฟล์ภายในตัวเครื่อง จะแปลงสัญญาณ DSD ให้อยู่ในรูป PCM ก่อน ซึ่งการตั้งค่าการแปลงก็จะเหมือนกับใน Walkman ตระกูลที่สูงกว่าอื่น ๆ นอกจากนี้เรายังสามารถส่งสัญญาณเสียงแบบ DSD โดยตรงไปยัง DAC ที่รองรับสัญญาณ DSD ผ่าน USB ได้ โดยตัวเครื่องจะรองรับทั้งการส่งสัญญาณ DSD โดยตรง และ DSD over PCM (DoP)
ภาคการเชื่อมต่อ Bluetooth ระหว่างอุปกรณ์เสียงของ Walkman A30 ตัว A2DP codec ที่รองรับจะมีเฉพาะ SBC ที่เป็น codec บังคับและ LDAC ของ Sony เองเท่านั้น โดยเราสามารถเลือกขนาด bit rate ที่เน้นความเสถียรในการเชื่อมต่อหรือเน้นคุณภาพเสียงได้
ในกรณีที่ต้องการส่งสัญญาณเสียงในรูปแบบความละเอียดสูงผ่าน Bluetooth จะต้องใช้ LDAC แบบ Sound Quality Preferred เท่านั้น
ส่วนตัวประมวลผล Digital NC ภายในนั้นยังคงเหมือนกับ Walkman A20 ที่มีโหมดการทำงานให้เลือกทั้งหมด 3 แบบตามลักษณะสภาพแวดล้อมที่ใช้งาน ได้แก่ Bus/Train, Airplane และ Office พร้อม Full-auto AINC ในกรณีที่ไม่ต้องการเลือกโหมดเอง และสามารถปรับแต่งปริมาณของการตัดเสียงรบกวนได้
เมื่อเปรียบเทียบซอฟต์แวร์ของ Walkman A30 ที่ขายในบ้านเรากับตัวที่ขายในญี่ปุ่นแล้ว ตัวที่ขายในญี่ปุ่นจะยังคงรองรับไฟล์เพลงแบบ ATRAC ที่ใช้เคยถูกใช้งานใน Walkman รุ่นก่อนหน้า และสามารถในการบันทึกเสียงจากอุปกรณ์อื่นผ่าน WM-Port ได้ แต่ก็ต้องแลกกับส่วนติดต่อผู้ใช้ที่มีแต่ภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น
ต่อไป เราจะไปดูการใช้งานจริงของ Walkman A30 กันครับ
รีวิวละเอียดมาก
มีทุกส่วนที่สงสัย
ขอบคุณสำหรับรีวิวครับ
ผิดหวังที่ไม่มีภาษาไทย
ผมใช้ Walkman F880 ตอนนี้แบตเสื่อมค่อนข้างมากแล้ว
ตัวรุ่น F880 กับ A30 คุณภาพต่างกันมากแบบชวนให้ซื้อไหมครับ หรือผมเอา F880 ไปเปลี่ยนแบตดี
ผมคิดว่า A30 ได้ในเรื่องพวกตัว DSP ใหม่ ๆ การเล่น DSD ที่ 5.2 MHz ได้ และรองรับ MicroSD แต่ F880 เป็น Android ซึ่งผมคิดว่าระบบค้นหาค่อนข้างดีกว่า A30 ครับ ส่วนเรื่องเสียงคงต้องไปลองฟังเทียบกันดูอีกทีครับ
อย่างไรก็ตาม ค่าเปลี่ยนแบตของ F880 กับศูนย์นั้น ผมคิดว่าไม่น่าแพงมากครับ เพราะปีที่แล้วผมเอา ZX1 ไปเปลี่ยนแบต ค่าใช้จ่ายจำได้ว่าเกือบ ๆ พันบาทครับ
ขอบคุณมากๆครับ สำหรับคำแนะนำและความรู้
เดี๋ยวผมลองเอา F880 ไปสอบถามที่ศูนย์ Sony ครับ
Pingback: Sony ประกาศเพิ่มความสามารถการแสดงชื่อเพลงเป็นภาษาไทยให้แก่ Walkman A30 และ WM1 | RE.V –>
Pingback: แอพ Sony | Music Center บน Android อัพเดทรองรับการเล่นเพลงบนเครื่องผ่าน USB DAC แล้ว | RE.V –>
คือพอดีสงสัยอยากจะถามหน่อยครับ ชิปเสียงของA30 ใช้ของอะไรครับหาข้อมูลเรื่องนี้ไม่เจอเลย
เท่าที่ผมมีข้อมูล ของ Walkman A30 คือนอกจากจะระบุว่าใช้วงจรขยายดิจิทัล S-MASTER HX ซึ่งเป็นการรวมเอาภาค DAC และวงจรขยายไว้ในชิปเดียวกัน ก็ไม่มีข้อมูลอย่างอื่นครับ
เรื่องของเบอร์ชิป S-Master ส่วนมากทาง Sony จะไม่ค่อยได้นำเบอร์ชิปออกมาโฆษณาให้ทราบสักเท่าไร ล่าสุดเบอร์ชิปที่ประกาศออกมาก็คือ CXD3778GF ที่ใช้งานใน Walkman WM1
ถ้าไม่นับเบอร์ชิปที่ Sony ทำเอง (รหัสขึ้นต้นด้วย CXD) ก็จะมี M65881AFP ของ RENESAS ที่ซื้อลิขสิทธิ์ S-Master ไปทำ ซึ่งก็จะคงโครงสร้าง DAC และวงจรขยายดิจิทัลในตัวเอาไว้เช่นกัน
Pingback: รายละเอียดสเปกของ Walkman ZX300 และ A40 ที่จะกำลังจะเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ | RE.V –>
Pingback: รีวิว Sony MDR-NC750 หูฟังตัดเสียงรบกวนคู่หู Xperia | RE.V –>