การแปลงร่างยังใช้วิธีเดิม คือจับตรงกลางด้านบนแล้วยกจอขึ้นมา แต่เนื่องจากน้ำหนักส่วนล่างจะเบากว่าส่วนจอ จะต้องเอามือจับส่วนล่างของเครื่องไว้ด้วย ไม่งั้นตัวเครื่องจะยกลอยขึ้นเวลาหน้าจอสไลด์ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
กลไกที่ใช้ยกหน้าจอยังเป็นแบบ Surf Slider เหมือนเดิม แต่เปลี่ยนตำแหน่งบานพับจากขอบหน้าจอ มาไว้บริเวณตรงกลางหน้าจอแทน
คีย์บอร์ดที่ใช้ยังเป็นแบบ 83 คีย์พร้อมไฟส่องหลังเหมือนเดิม แต่ปรับให้มีขนาดปุ่มใหญ่ขึ้น ช่วงกดยังสั้นเหมือนเดิม แต่ให้สัมผัสในการพิมพ์ที่ดีกว่า Duo 11 เดิมมาก
ส่วนอุปกรณ์การชี้ เปลี่ยนจาก Optical TrackPad เป็นทัชแพดจาก Synaptics แทน ถึงแม้จะมีพื้นที่ในการใช้งานน้อย แต่ก็รองรับมัลติทัชได้ 3 จุด และท่าทางต่าง ๆ เหมือนทัชแพดขนาดใหญ่
ไมโครโฟนคู่จะอยู่ตรงตำแหน่งขอบจอด้านบน ส่วนช่องพัดลม ช่องเสียบการ์ด SDXC – Memory Stick Duo และพอร์ตต่าง ๆ ของตัวเครื่อง ถูกย้ายมาไว้ด้านหลังของตัวเครื่อง ที่เป็นส่วนที่หนาที่สุดแทน
พอร์ตที่ให้มาจะมี พอร์ต HDMI พอร์ต USB 3.0 รองรับการชาร์จไฟ พอร์ต USB 3.0 ปกติ แจ็คหูฟังพร้อมไมค์ และแจ็คเสียบที่ชาร์จพร้อมไฟสถานะ พอร์ต LAN นั้นโดนตัดออกไป แล้วให้ไปใช้กับ Wireless Router แทน
ส่วนรูตรงด้านบนตัวเครื่องในรูป เอาไว้สำหรับตัดการทำงานของแบตเตอรี่ในตัวเครื่อง ซึ่งใน VAIO Duo 11 ก็มี แต่จะอยู่ตรงบริเวณช่องเชื่อมต่อ Sheet Battery ข้างใต้เครื่องครับ
ความลับอย่างนึงในการทำให้ VAIO Duo 13 นั้นมีแบตเตอรี่ที่ใช้ได้นานกว่ารุ่นเก่า คือการย้ายบอร์ดการเชื่อมต่อไร้สายต่าง ๆ มาไว้ที่บริเวณด้านหลังของจอแทน จึงทำให้มีพื้นที่ส่วนตัวเครื่องด้านล่างสำหรับใส่แบตเตอรี่ได้มากขึ้น ถ้าสังเกตตรงบริเวณคีย์บอร์ดของเครื่อง จะเห็นว่ามันเว้าลงไป เพื่อรับส่วนที่หนาขึ้นของส่วนหน้าจอครับ
ตรงบริเวณส่วนหน้าจอในรูปจะเป็นช่องสำหรับไว้ใส่ Micro SIM ของบอร์ดเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่เนื่องจากรุ่นที่เอามารีวิวไม่รองรับ ช่องนี้จึงโดนปิดเอาไว้แทน
ปัญหาอย่างนึงใน VAIO Duo 11 นั้นคือ การไม่มีที่เก็บปากกาในตัวเครื่อง เลยทำให้ผู้ใช้หลาย ๆ คนไม่กล้าพกปากกาไปใช้ด้วย เพราะกลัวหาย
มาใน VAIO Duo 13 ทาง Sony เลยออกแบบที่เก็บปากกามาให้เลย ซึ่งมันจะเป็นแผ่นพลาสติกที่มีร่องสำหรับให้เราเอาปากกามาเหน็บได้ ซึ่งเราจะต้องเอามันมาเสียบกับช่องด้านข้างเครื่องเสียก่อน จึงนำปากกามาเหน็บได้
นอกจากนี้ ตรงบริเวณที่เหน็บปากกายังมีเซนเซอร์แม่เหล็กอยู่ เมื่อเราดึงปากกาออก จะสามารถสั่งให้เครื่องเปิดโปรแกรมที่ต้องการได้อีกด้วย โดยตั้งค่าได้ที่ VAIO Control Center
และหากเราต้องการวางปากกาชั่วคราว ก็จะมีฐานสำหรับวางปากกาแบบพับเก็บได้มาให้ด้วย เวลาใช้ก็เพียงเสียบหัวปากกาลงไปในรูเท่านั้น
ปากกาที่ให้มานั้นยังเป็นสไตลัสแบบใส่ถ่านเหมือนเดิม แต่มีการเพิ่มคลิปหนีบและแม่เหล็กตรงก้น และขอบยางตรงปลายปากกา สำหรับไว้ใช้งานคู่กับที่เก็บปากกาบนตัว Duo 13
สำหรับ VAIO Duo 13 รุ่นที่เรานำมารีวิวนั้น จะเป็นรหัส SVD13212SH ซึ่งตัวเครื่องยังคงผลิตในญี่ปุ่นเช่นเคย โดยมีสเปกดังนี้
- CPU: Intel Core i5-4200U ความเร็ว 1.6 GHz
- GPU: Intel HD Graphics 4400
- SSD: 128 GB ความเร็ว 6 Gb/s จาก Samsung
- RAM: DDR3 ขนาด 4 GB ความเร็ว 1600 MT/s
- Wireless: รองรับมาตรฐาน IEEE 802.11a/b/g/n ความเร็วสูงสุด 300 Mbps และ Bluetooth 4.0 + HS จาก Broadcom
- Windows 8 64 bit Single Language
สำหรับ GPS นั้น ผมเข้าใจว่า ถูกถอดออกไป แล้วไปใช้กับชิปเซ็ทในรุ่นที่รองรับการเชื่อมต่อผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่แทน
ในตอนหน้า เราจะไปดูในส่วนของซอฟต์แวร์ใหม่ ๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามาใน VAIO Duo 13 และรีวิวการใช้งานจริงกันครับ
Pingback: ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของอารยธรรม VAIO เปิดตัวแล็ปท็อปลูกผสมตระกูล Z