Product – Software
นอกจากระบบปฏิบัติการ Windows 10 Professional, Microsoft Office (มีแค่ตัวซอฟต์แวร์ ไม่ได้ให้ลิขสิทธิ์มาด้วย) และซอฟต์แวร์อื่น ๆ จำนวนหนึ่งแล้ว ThinkPad X1 Extreme Gen 2 ยังมาพร้อมกับซอฟต์แวร์สำหรับใช้ควบคุมการทำงานต่าง ๆ ของตัวเครื่องจำนวนหนึ่ง ซึ่งซอฟต์แวร์หลักในกลุ่มนี้คือ Lenovo Vantage ที่เป็นซอฟต์แวร์แจ้งศูนย์รวมการแจ้งข่าวสาร ตั้งค่าการทำงาน สนับสนุนหลังการขาย และอัพเดทซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ของเราทั้งหมด
คนที่เคยใช้งาน ThinkPad มาจะทราบว่ามันเป็นแล็ปท็อปที่เปิดโอกาสให้เราปรับแต่งการทำงานของเครื่องได้หลายอย่าง เช่น ระบบระบายความร้อน แบตเตอรี่ เน็ตเวิร์ค ฯลฯ ผ่านชุดซอฟต์แวร์ ThinkVantage ถึงแม้ว่าใน Windows รุ่นใหม่ ๆ จะมีความสามารถดังกล่าวรวมเข้ามาแล้ว แต่ก็ยังไม่เหมือนกับที่ผู้ผลิตทำโดยตรง
สำหรับ X1 Extreme ทาง Lenovo ได้ปรับจูนการทำงานของเครื่องผ่าน Intel DPTF จนได้ประสิทธิภาพที่มากที่สุดตามอุณหภูมิเป้าหมายที่กำหนดไว้และกำหนดเป็นรูปแบบของระบบระบายความร้อน Intelligent Cooling ที่เริ่มใช้งานใน X1 Extreme และ P1 เป็นครั้งแรก
การเลือกรูปแบบของ Intelligent Cooling สามารถเลือกได้จากแถบเลื่อนของไอคอน Power บน Taskbar โดยซ้ายสุดคือ Quiet Mode ที่พัดลมจะทำงานเงียบที่สุด ซีพียูทำงานที่ TDP ต่ำ ซึ่งใช้แบตเตอรี่น้อยสุด ตรงกลางคือ Balance Mode ที่ประสิทธิภาพของเครื่องและการใช้พลังงานจะอยู่กึ่งกลาง และขวาสุดคือ Performance Mode ที่จะเปิดโอกาสให้ซีพียูทำงานด้วย TDP มากที่สุด การทำงานของพัดลมและปริมาณแบตเตอรี่ที่ใช้งานจะขึ้นกับการทำงานของซีพียู
ในส่วนการตั้งค่าของแบตเตอรี่ เราสามารถเลือกใช้งาน Airplane Mode ซึ่งจะจำกัดการใช้ไฟของตัวเครื่องไม่เกิน 100 วัตต์เพื่อป้องกันเต้ารับไฟบนเครื่องบินเสียหาย และกำหนดระดับแบตเตอรี่ที่จะให้เครื่องเริ่มทำการชาร์จและหยุดชาร์จเพื่อป้องกันการชาร์จไฟบ่อยจนแบตเตอรี่เสื่อม
นอกจากนี้สำหรับคนที่ชอบเปิด – ปิดฝาเครื่องเพื่อ sleep บ่อย ๆ ยังสามารถเปิดใช้งาน Easy Resume ที่ช่วยให้ตัวเครื่อง Resume กลับมาได้เร็วขึ้น โดยตัวเครื่องจะอยู่ในสถานะ low power ประมาณ 15 นาที ทำให้เครื่องสามารถ Resume ขึ้นมาได้ทันทีในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ตัวเครื่องยังสามารถทำงานที่ค้างอยู่เช่น การส่งเมล การดาวน์โหลดไฟล์ ก่อนที่จะเข้าสู่สถานะ Suspend ตามปกติได้ด้วย
Lenovo Display Optimizer สำหรับตั้งค่าสีของหน้าจอจากรูปแบบที่มีให้เลือกทั้งหมด 5 แบบคือ Native, Standard, Photo Pro, Movie Pro, Blue Light Cut for Office และ Blue Light Cut for Reading นอกจากนี้เรายังสามารถให้โปรแกรมตั้งค่าสีตามโปรแกรมที่เราใช้งานได้ด้วย
สำหรับคนที่เลือก X1 Extreme รุ่นที่ใช้จอแบบ HDR จะมีตัวเลือกให้ตั้งค่าการแสดงผลของ Dolby Vision ขณะเล่นวิดีโอที่รองรับ Dolby Vision โดยเราสามารถเลือกรูปแบบภาพ Dark, Bright และ Vivid คล้ายกับอุปกรณ์อื่นที่รองรับ Dolby Vision
เรื่องระบบเสียงของ X1 Extreme นั้นใช้บริการของ Dolby Atmos ซึ่งการตั้งค่าจะคล้ายกับ Dolby Atmos ใน Xperia 1 ที่ผมรีวิวไปคือจะมีรูปแบบเสียง Dynamic (อัตโนมัติ), Movie, Music, Game และ Voice ให้เลือก รวมทั้งมีรูปแบบ Personalize ให้ปรับแต่งเสียงเองด้วย Graphic Equalizer, Surround Visualizer, Dialogue Enhancer และ Volume Leveler เก็บไว้ได้อีก 3 รูปแบบ
สำหรับผู้ใช้หูฟัง เราจะได้ปลั๊กอิน Spatial Sound ของ Dolby Atmos มาด้วยโดยไม่ต้องซื้อเพิ่มในแอพ Dolby Access
Performance
สำหรับการใช้งาน ThinkPad X1 Extreme Gen 2 นั้น ผมตั้งใจนำมันมาใช้งานแทน VAIO Duo 11 ที่มีอายุร่วม 7 ปีแล้ว ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมา ลักษณะการใช้งานแล็ปท็อปของผมก็เริ่มเปลี่ยนไป คือเริ่มพกพาเครื่องไปมาน้อยลง และต้องการประสิทธิภาพที่มากขึ้นกว่าเดิม เลยทำให้ผมเลือก X1 Extreme เป็นแล็ปท็อปตัวใหม่ ส่วนมันจะตอบโจทย์การใช้งานของผมหรือไม่ ก็สามารถอ่านประสบการณ์ใช้งานของผมต่อจากนี้กันครับ
เริ่มจากตัวเครื่อง ความรู้สึกที่ผมได้จับเจ้า X1 Extreme ครั้งแรกทำให้ผมนึกถึงเจ้า ThinkPad R61 ที่ผมเคยใช้งานเมื่อนานมาแล้ว ขนาดของเครื่องถึงแม้ว่าทาง Lenovo จะออกแบบให้มีขนาดเล็กกว่าเครื่อง 15 นิ้วปกติ แต่ก็ยังมีขนาดใหญ่และหนากว่า MacBook Pro 15 นิ้วอยู่ ส่วนน้ำหนักดูจะมากกว่าเจ้า VAIO Duo 11 ที่ติด Sheet Battery อยู่นิดหน่อย
งานประกอบและวัสดุุของเครื่องที่ผมได้รับดูแข็งแรงดี แต่ผมคงไม่กล้าทำการทดสอบความแข็งแรงตามแบบฉบับที่ชาว ThaiThinkPad กับมันแน่นอน ส่วนฝาบนยังคงต้องใช้มืออีกข้างจับเครื่องส่วนล่างเพื่อเปิดฝาส่วนบนขึ้นมา และตอนปิดฝาเครื่อง บานพับจะฝืดขึ้นตอนที่หน้าจอเข้าใกล้กับเครื่องเพื่อลดแรงกระแทก อย่างไรก็ตามเครื่องที่ผมได้มาประกอบหน้าจอเอียงไปนิดนึง ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่ได้กระทบต่อการใช้งานมากเท่าไร แต่ไม่ควรเกิดกับแล็ปท็อปกลุ่มพรีเมี่ยมที่ราคาสูงแบบนี้
คุณภาพของหน้าจอ UHD ของ X1 Extreme Gen 2 จัดว่าทำได้ดีมาก จนแทบไม่เชื่อว่านี้คือจอของ ThinkPad การแสดงผลสีต่าง ๆ ทำได้ดีเมื่อวางเทียบกับจอ Dell UltraSharp U2413 ที่เปิดโหมด Adobe RGB ไว้ แต่ถ้าใครต้องการความแม่นยำของสีอาจจะต้องมาทำการ calibrate โทนสีของจอให้ถูกต้องอีกที หรือให้โรงงาน calibrate จอตอนที่สั่งซื้อเครื่อง ส่วนการแสดงผลแบบ HDR ก็จัดว่าโอเค สีดำดูดำสนิท แต่แน่นอนว่าคงเทียบไม่ได้กับจอ OLED ที่สามารถทำ local dimming ได้
คีย์บอร์ดของ X1 Extreme แบบ 6 แถวที่ถึงแม้ว่าผู้ใช้ ThinkPad มานานจะไม่ชอบ แต่ผมพบว่ามันยังมีสัมผัสการพิมพ์ที่ดี เสียงไม่ดังมาก แต่การจัดวางปุ่ม Print Screen ที่ย้ายจากแถวบนมาไว้แถวล่างสุดนั้นสร้างความขัดใจให้ผมอยู่ไม่น้อย ส่วนตัวสแกนลายนิ้วมือนั้นสามารถทำงานได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วในการล็อกอินด้วย Windows Hello
ตัว TrackPoint นั้นยังคงทำงานได้ดีเช่นเดิม มีอาการ TrackPoint วิ่งเองบ้าง แต่จุดที่ผมไม่ชอบคือเราสามารถกดที่ตุ่มแดงเพื่อคลิกได้ ซึ่งผมไม่คุ้นเคยกับการใช้งานแบบนี้ และเผลอคลิกโดยไม่ได้ตั้งใจหลายครั้ง ผมเองพยายามหาทางปิดมันอยู่ แต่ก็ไม่สามารถปิดได้ เพราะตัวตั้งค่าไม่มีการตั้งค่าส่วนนี้มาให้เลือก ส่วนทัชแพดนั้นทำงานได้ดี ผิวกระจกจะมีความสากกว่าทัชแพดกระจกเจ้าอื่นนิดหน่อย แต่ก็ช่วยให้ควบคุมการชี้ได้ง่ายขึ้น
เรื่องคุณภาพเสียงของ X1 Extreme ลำโพงของตัวเครื่องปกติมีเสียงที่คมชัด แต่มีระดับความดังของเสียงไม่มากนัก และไม่สามารถขับเสียงในย่านความถี่ต่ำได้ดี บางเสียงเรียกได้ว่าแทบไม่ได้ยินเลย แต่เมื่อเปิดใช้งาน Dolby Atmos แล้ว เสียงจากลำโพงมีความดังมากขึ้น มิติเสียงและการแยกรายละเอียดก็สามารถทำได้ดี เหมาะกับการชมภาพยนตร์มาก ส่วนการฟังเพลงผมคิดว่า Intelligent Equalizer แบบ Balance เสียงมันทึบไปนิด ปรับเป็น Detail แล้วเสียงเปิดและมีรายละเอียดมากขึ้น อย่างไรก็ตามเสียงเบสก็ยังคงไม่ได้มาแบบหนักหน่วงเป็นลูก ๆ ตามข้อจำกัดของขนาดดอกลำโพง
ส่วนเสียงจากแจ็คหูฟังจัดว่าทำได้มาตรฐาน ไม่มีสัญญาณรบกวนดังขึ้นมาให้ได้ยิน แนวเสียงจะเน้นเสียงย่านกลางเป็นหลัก เสียงเบสและเสียงแหลมมีไม่มากเกินไป แต่เมื่อเปิดใช้งาน Dolby Atmos ตรง Spatial Sound แล้ว ผมรู้สึกว่าเสียงย่านแหลมจะถูกลดลงไป เน้นเสียงย่านกลางกับเสียงเบส ซึ่งส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบมากนักในการฟังเพลง ถึงแม้ว่าจะปรับ Intelligent Equalizer เป็น Detail แล้วก็ตาม แต่แนวเสียงแบบนี้เหมาะแก่การดูหนังหรือเล่นเกมมากกว่า
สำหรับกล้องหน้าที่ติดมากับเครื่อง ส่วนตัวมองว่ามีคุณภาพแค่พอเอาไว้ใช้คุย Skype และใช้ล็อกอินด้วย Windows Hello เท่านั้น ส่วน ThinkShutter ที่ให้มานอกจากมันจะปิดบังกล้องให้แล้ว มันยังตัดปิดการทำงานทางซอฟต์แวร์ไปด้วย ใครที่กลัวใครแอบมาแฮ็คกล้องน่าจะสบายใจได้ระดับหนึ่ง หากการปิดกล้องด้วย ThinkShutter ยังไม่พอ เรายังสามารถสั่งปิดกล้องและไมโครโฟนอีกชั้นจาก Lenovo Vantage ได้ด้วย
สำหรับประสิทธิภาพของเครื่อง ผมเองไม่ได้ลงโปรแกรมวัดประสิทธิภาพอะไรจริงจัง ได้แต่เอาโปรแกรมที่ใช้ประจำลงเครื่อง เช่น Adobe Lightroom, Vegas Pro และ Ableton Live แล้วลองใช้งานเทียบกับคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานก่อนหน้าทั้งคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่ผมประกอบใช้งานเอง (เคยเขียนถึงตอนรีวิว SSD ของ WD) และ VAIO Duo 11 ซึ่งแน่นอนว่าสเปกของ X1 Extreme สามารถล้ม Ultrabook อายุร่วม 7 ปีไปได้สบาย ๆ แต่ยังสู้กับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่ใช้ Core i9-9900K ไม่ได้ อย่างไรก็ตามผมคิดว่าสเปกของเครื่องก็จัดว่าเพียงพอกับการใช้งานโปรแกรมที่ผมว่านอกสถานที่ได้
ส่วนความเร็วของ SSD จากการค้นข้อมูลพบว่า SSD ของ Intel ตัวที่ใส่มาให้ใน X1 Extreme ที่รีวิวนั้น อยู่ในตระกูล SSD Pro 7600p ซึ่งมีความเร็วในการอ่านข้อมูลอยู่ที่ 3,230 MB/s และการเขียนอยู่ที่ 1,625 MB/s ผมลองใช้ CrystalDiskMark ทดสอบดู พบว่าความเร็วที่ทำได้ก็ถือว่าใกล้เคียงกับที่ระบุในสเปกไว้
ความร้อนที่เกิดขึ้นจากการใช้งานนั้นไม่สูงมากหากเลือกใช้ Quiet Mode หรือ Balance Mode ที่พัดลมทำงานได้เงียบมากจนแทบไม่ได้ยินเสียงเลย แต่หากเลือกใช้ Performance Mode ความร้อนที่เกิดขึ้นจะสูงจนรู้สึกอุ่น ๆ ตรงบริเวณที่รองมือ และเสียงพัดลมจัดว่าดังแบบได้ยินชัดเจนเป็นพัก ๆ
อายุการใช้งานแบตเตอรี่ของ X1 Extreme ผมได้ทดลองใช้งานตัวเครื่องหลังจากชาร์จแบตเตอรี่จนเต็ม ตั้งระดับความสว่างของหน้าจอไว้ปานกลาง และเลือก Power mode เป็น Better battery life แล้วใช้งานเล่นอินเตอร์เน็ต ฟังเพลงจาก Spotify และดู YouTube นิดหน่อยสลับกันไป แล้วปิดฝาเครื่องให้เครื่อง Sleep เวลาไม่ได้ใช้งาน จนเหลือแบตเตอรี่ประมาณ 25% แล้วพิมพ์ Battery Report ของ Windows 10 ออกมา
ผลที่ได้คือตัวเครื่องมีระยะเวลา Active รวมประมาณ 3 ชม. 10 นาที และมีระยะเวลา Suspend รวมประมาณ 9 ชม. 30 นาที ส่วนตัวผมแอบผิดหวังนิดหน่อย แต่ก็พอเข้าใจได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากการใช้งานจอความละเอียด UHD ที่มักจะกินไฟเยอะอยู่แล้ว ผมคิดว่าถ้าปรับ Power mode เป็น Best battery life และลดความสว่างของหน้าจอลงไปอีก ก็น่าจะสามารถใช้งานเครื่องได้นานกว่านี้ แต่แน่นอนว่าเจ้า ThinkPad X1 Extreme ไม่ใช่แล็ปท็อปที่สามารถทำงานได้นานระดับหนึ่งวันทำงานโดยไม่เสียบที่ชาร์จแน่นอน
ส่วนความเร็วในการชาร์จไฟกลับ ผมได้ทดลองจับเวลาตอนที่ชาร์จไฟจากแบตเตอรี่ 50% ไปถึง 99% ด้วยอะแดปเตอร์ 135 W ได้เวลาประมาณ 1 ชม. แต่ช่วงเวลาจาก 50% ไปถึง 85% นั้นใช้เวลาประมาณครึ่งชม. ซึ่งก็จัดว่าชาร์จไฟได้เร็วตามที่โฆษณาไว้ ส่วนการชาร์จผ่านพอร์ต ThunderBolt 3 นั้น เอกสารทางการของเครื่องบอกว่าไม่สามารถทำได้ แต่เท่าที่ผมเห็นตามบอร์ดของ Lenovo และ Reddit ก็มีคนชาร์จไฟผ่านพอร์ตนี้เช่นกันด้วยที่ชาร์จของ Macbook Pro 15 นิ้ว ซึ่งแน่นอนว่าก็ไม่สามารถชาร์จไฟได้เร็วเท่าอะแดปเตอร์ของตัวเครื่อง และผู้ใช้ต้องรับความเสี่ยงจากปัญหาที่เกิดขึ้นเอง
สำหรับปัญหาการใช้งานเครื่อง จากการใช้งานมาเดือนกว่า ๆ ผมพบปัญหา Dolby Vision ไม่ทำงาน สแกนนิ้วบางทีใช้งานไม่ได้ และการแสดงผลหน้าจอช้าเมื่อใช้งานจอนอกเป็นจอหลักจอเดียว ซึ่งจากการค้นข้อมูลในบอร์ดของ Lenovo ดู พบว่าทาง Lenovo ทราบปัญหาแล้ว และกำลังจะออกไดร์เวอร์ใหม่มาอัพเดทตามวงรอบ ซึ่งบางปัญหาก็ออกอัพเดทมาแล้ว แต่ปัญหา Dolby Vision นั้นฝ่าย Support ได้นำไฟล์ Color Profile หน้าจอมาให้โหลดในบอร์ดเลยโดยไม่ต้องรออัพเดทวงรอบ
Conclusion
ผมใช้งาน ThinkPad X1 Extreme Gen 2 มาร่วมเดือนกว่า ๆ ผมรู้สึกได้เหมือนกลับไปเจอเพื่อนเก่าสมัยเรียนอีกครั้ง ซึ่งถึงแม้เพื่อนคนนี้จะเปลี่ยนโฉมไป แต่ก็ยังคงนิสัยเดิม ๆ สมัยก่อนเอาไว้ จุดที่ผมชอบของเครื่องนี้คือวัสดุและงานประกอบที่ดูแข็งแรง หน้าจอแสดงผลที่คม สว่าง แสดงสีได้กว้าง คีย์บอร์ดคุณภาพดี และที่สำคัญคือ TrackPoint ที่คนสายทำงานได้มีโอกาสใช้แล้วเชื่อว่าน่าจะติดกันทุกคน
อย่างไรก็ตาม ผมยังรู้สึกว่างานประกอบในบางจุดยังทำออกมาไม่ค่อยดีสมราคาเครื่อง เช่น พาเนลจอ บักจุดเล็กจุดน้อยของเครื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าทาง Lenovo จะออกไดร์เวอร์มาแก้ปัญหาแล้ว แต่จากการที่ผมลองอ่านในบอร์ดผู้ใช้ดู ก็จัดว่าใช้เวลานานในการแก้ปัญหาอยู่เหมือนกัน
สรุป ใครที่กำลังมองแล็ปท็อปสำหรับทำงานที่ต้องการประสิทธิภาพสูง ที่มีขนาดเครื่องสามารถพกพาติดตัวไปอย่างไม่ยากเย็นนัก ThinkPad X1 Extreme Gen 2 จัดเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจตัวหนึ่งครับ
Like
- วัสดุและงานประกอบดูแข็งแรง
- พาเนลจอ UHD ที่ให้ภาพคมชัด สว่าง และแสดงผลเฉดสีได้กว้าง
- มีพอร์ตเชื่อมต่อต่าง ๆ ให้มาเพียงพอต่อการใช้งาน
- สามารถใส่ SSD แบบ NVMe ได้ 2 ตัว
- คีย์บอร์ด, Track Pad และ TrackPoint คุณภาพดี เหมาะกับผู้ใช้สายทำงาน
- สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้อย่างรวดเร็ว
Don’t like
- งานประกอบพาเนลจอไม่ดีสมราคาเครื่อง
- พัดลมเสียงดังเวลาเครื่องทำงานหนัก
- อายุแบตเตอรี่สั้น (รุ่นจอ Full HD อยู่ได้นานกว่า)
- บักเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มีผลต่อการใช้งาน
ต่อจอนอกยังช้าอยู่มั๊ยครับ
Lenovo ออกไดร์เวอร์การ์ดจอมาแก้แล้วครับ
Pingback: รีวิว Lenovo Thinkvision P27h-20 จอมอนิเตอร์ทำงานของคนเจน Z | RE.V –>
Pingback: รีวิว แล็ปท็อป ThinkPad X1 Extreme Gen 4 เมื่อประสิทธิภาพประสานเข้ากับความบางเบา | RE.V –>