รีวิว แล็ปท็อป ThinkPad X1 Extreme Gen 4 เมื่อประสิทธิภาพประสานเข้ากับความบางเบา

ThinkPad X1 Extreme Gen 4

เมื่อปี 2019 RE.V-> ได้รีวิวแล็ปท็อปสายทำงานแบบบางเบาที่เน้นประสิทธิภาพอย่าง ThinkPad X1 Extreme Gen 2 จาก Lenovo ซึ่งมีจุดเด่นและความสามารถที่ทัดเทียมหรือเหนือกว่ากับแล็ปท็อปรุ่นอื่นในกลุ่มเดียวกัน

ในปี 2022 นี่ เราจะกลับมาดูกันว่า ThinkPad ตระกูลนี้ยังจะคงรักษาจุดเด่นและความสามารถที่เคยมีเอาไว้ได้หรือไม่ด้วย ThinkPad X1 Extreme Gen 4 ที่เปิดตัวไปเมื่อกลางปี 2021 ทีผ่านมาครับ

Package

ThinkPad X1 Extreme Gen 4 – Carton Box

ครั้งนี้ผมได้ซื้อเจ้า ThinkPad X1 Extreme Gen 4 มาจากเว็บ Lenovo โดยตรง ซึ่งทาง Lenovo จะส่งเครื่องมาในกล่องน้ำตาลแบบนี้โดยไม่มีกล่องครอบอีกชั้นเหมือนกับจอ ThinkVision P27h-20 ที่รีวิวไปก่อนหน้า

ThinkPad X1 Extreme Gen 4 – Retail Package

ตัวเครื่องจะถูกห่อพลาสติกและใส่มาในกล่อง Retail Box อีกชั้นเหมือนกับ ThinkPad X1 Extreme Gen 2 ที่เคยรีวิวไป

ThinkPad X1 Extreme Gen 4 – Accessories

อุปกรณ์เสริมที่ให้มา หากเลือก GPU เป็น GeForce RTX 3050 Ti จะได้ที่ชาร์จ 170 วัตต์ ส่วน GPU ตั้งแต่รุ่น RTX 3060 ขึ้นไปจะได้ที่ชาร์จกำลัง 230 วัตต์แทน ที่ชาร์จทั้งสองตัวจะมีขนาดและน้ำหนักมากกว่าที่ชาร์จ 135 วัตต์ที่ให้มาใน X1 Extreme Gen ก่อนหน้าและ Gen 4 หากเลือกใช้ GPU ของ Intel อย่างเดียว

สำหรับใครที่ต้องการซื้อสายหัวแปลงต่าง ๆ เช่น HDMI – VGA หรือ USB-C – Gigabit Adapter แนะนำให้กดเพิ่มในขณะที่ปรับสเปกเครื่องเลย จะได้ราคาถูกกว่าซื้อทีหลังครับ

Product – Hardware

ThinkPad X1 Extreme Gen 4 – Top

หน้าตาและงานออกแบบของ ThinkPad X1 Extreme Gen 4 นั้นยังคงแนวทางเดิมเช่นเดียวกับ X1 Extreme รุ่นก่อนหน้า แต่ปรับอัตลักษณ์ให้เหมือนกับแล็ปท็อปของ Lenovo รุ่นอื่นมากขึ้น ด้วยจากการเพิ่มโลโก้ Lenovo ที่ฝาบน นอกจากยังเพิ่มขนาดความลึกของเครื่องเพื่อให้สามารถรองรับจอที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมได้

ThinkPad X1 Extreme Gen 4 – Logo

วัสดุที่ใช้ทำส่วนฝาด้านบน ตามเอกสารระบุไว้เป็น Carbon Fiber Hybrid ซึ่งผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นวัสดุตัวเดิมกับที่ใช้ใน X1 Extreme รุ่นก่อนหน้า (แต่ด้านล่างของเครื่องระบุวัสดุที่ใช้เป็น Carbon Fiber + Magnesium) ส่วนสีที่เคลือบฝาบนคราวนี้เป็นสีดำธรรมดา เพราะเลือกสเปกเป็นจอ WQXGA มา ใครที่เลือกจอ WQUXGA ก็จะได้ฝาเคลือบลายคาร์บอนไฟเบอร์ถักเหมือนเครื่องที่เคยรีวิวไป

แน่นอนว่าไฟสถานะของเครื่องนั้นยังคงถูกซ่อนอยู่ในจุดแดงของโลโก้ ThinkPad เช่นเคย

ThinkPad X1 Extreme Gen 4 – Bottom

ด้านล่างของเครื่องยังคงใช้วัสดุเป็นอลูมิเนียมอัลลอยพร้อมยางรอง 3 ตำแหน่ง และปุ่ม Emergency Reset ตรงกลางเช่นเดิม

จุดที่แตกต่างจาก X1 Extreme รุ่นก่อนหน้าที่สังเกตได้ชัดคือ จำนวนช่องระบายอากาศด้านล่างที่ถูกเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับกับชุดระบายความร้อนใหม่ที่ผสมผสานกันระหว่าง Heat Pipe และ Vapor Chamber สำหรับสเปกเครื่องที่ใช้ GPU รุ่น GeForce RTX 3060 ขึ้นไป

สำหรับเครื่องที่ผมสั่งมานั้นเลือกใช้ GPU เป็น RTX 3050 Ti ยังคงใช้ชุดระบายความร้อนที่หน้าตาคล้ายกับรุ่นก่อนหน้าอยู่

ThinkPad X1 Extreme Gen 4 – Left

ด้านซ้ายของเครื่องเป็นตำแหน่งของไฟสถานะการชาร์จ แจ็คเสียบที่ชาร์จ พอร์ต Thunderbolt 4 จำนวน 2 พอร์ต, พอร์ต HDMI 2.0, และแจ็คหูฟังและไมค์

ส่วนพอร์ต Ethernet ที่เคยมีในรุ่น Gen 2 ได้ถูกนำออกไปตั้งแต่รุ่น Gen 3 แล้ว

ThinkPad X1 Extreme Gen 4 – Right

ด้านขวาของเครื่องเป็นตำแหน่งตัวอ่าน SD Card รองรับความเร็วระดับ UHS-II และสามารถเสียบการ์ดได้เข้าไปได้ทั้งใบ, พอร์ต USB 3.1 Gen 1 จำนวน 2 พอร์ต (1 พอร์ตเป็นแบบ Always On สำหรับชาร์จอุปกรณ์ตอนปิดเครื่อง), และช่องใส่สายล็อค Kensington Nano

ThinkPad X1 Extreme Gen 4 – Hinge

บานพับของเครื่องยังคงสามารถกางออกมาได้ถึง 180 องศา และมีช่องว่างบริเวณบานพับ เพื่อให้อากาศผ่านไปยังช่องอากาศที่ชุดระบายความร้อนใช้ดูดลมจากภายนอกเข้าไปและเป่าลมร้อนออกมา

ThinkPad X1 Extreme Gen 4 – Display

สำหรับหน้าจอ คราวนี้ผมเลือกหน้าจอความละเอียดระดับ WQXGA ซึ่งก็คือหน้าจอ Full HD เดิม แต่ปรับสัดส่วนจาก 16:9 เป็น 16:10 สำหรับสเปกหน้าจอตัวนี้เป็นพาเนลแบบ IPS ขนาด 16 นิ้วแบบด้าน มีความละเอียด 2,560 x 1,600 พิกเซล ความสว่างสูงสุด 400 Nits และสามารถแสดงผลเฉดสี sRGB ได้ครอบคลุม 100%

สำหรับคนที่อยากได้จอแบบ HDR, Dolby Vision, 100% Adobe RGB หรือจอแบบสัมผัส จะมีเพียงพาเนลจอความละเอียด WQUXGA (3,840 x 2,400 พิกเซล) ให้เลือกเท่านั้น

ThinkPad X1 Extreme Gen 4 – Camera

ขอบจอด้านบนเป็นตำแหน่งของกล้องอินฟราเรดและกล้องเว็บแคมความละเอียด 1080p รองรับระบบสแกนหน้า Windows Hello และไมโครโฟนคู่

นอกจากนี้ตัวกล้องยังมี ThinkShutter สำหรับเลื่อนมาบังกล้องเวลาไม่ใช้งานเพื่อความเป็นส่วนตัวอีกด้วย

ThinkPad X1 Extreme Gen 4 – Keyboard

คีย์บอร์ดเป็นแบบ 6 แถว พร้อมกับ TrackPoint ที่มีตุ่มแดงแบบโดม และปุ่มกด 3 ปุ่ม ตัวคีย์บอร์ดออกแบบให้ป้องกันของเหลวหกใส่ และมีไฟส่องสว่างข้างใต้ ตัวปุ่ม Fn สำหรับ F10 – F11 เปลี่ยนหน้าที่ใหม่เป็นปุ่มโทรออกและรับสายสำหรับโปรแกรมสื่อสารอย่าง Microsoft Teams

ส่วนตัวทัชแพดนั้นยังคงเป็นทัชแพดผิวกระจกแบบแผ่นเดียวและรองรับ Multi-touch แต่มีขนาดใหญ่กว่าทัชแพดของรุ่นก่อนหน้า รวมทั้งมีความสากของพื้นผิวน้อยลง

ThinkPad X1 Extreme Gen 4 – Fingerprint Scanner

ปุ่มเปิด – ปิดเครื่องและตัวสแกนลายนิ้วมือถูกนำมารวมเป็นชิ้นเดียวกัน ทำให้ไฟสถานะของเครื่องต้องย้ายตำแหน่งจากบนปุ่มไปอยู่ข้าง ๆ ปุ่มแทน

ThinkPad X1 Extreme Gen 4 – Speakers

ลำโพงสเตอริโอระบบเสียง Dolby Atmos กำลังขับ 2 วัตต์ต่อข้างถูกปรับขนาดดอกลำโพงให้ใหญ่กว่าเดิมถึง 20% และย้ายตำแหน่งจากด้านล่างมาอยู่ที่ด้านบนของเครื่อง

ถึงแม้เราจะเห็นรูตะแกรงของลำโพงยาวเท่ากับความสูงของแถวคีย์บอร์ด ตัวลำโพงจริงจะซ่อนอยู่ตรงบริเวณด้านล่างของตะแกรงลำโพงเท่านั้น

สำหรับสเปกของเครื่องที่นำมารีวิวเป็นดังนี้

  • CPU: Intel Core i7-11800H แบบ 8 แกน ความเร็ว 2.30 GHz สามารถเร่งความเร็วได้สูงสุด 4.60 GHz
  • GPU: Intel UHD Graphicsและ Nvidia GeForce RTX 3050 Ti พร้อมหน่วยความจำ GDDR6 ขนาด 4 GB
  • SSD: Samsung MZVL2512HCJQ ขนาด 512 GB เชื่อมต่อแบบ PCIe 4.0 x 4
  • RAM: DDR4 ขนาด 8 GB ความเร็ว 3,200 MHz จำนวน 2 ชิ้น (สามารถใส่ได้สูงสุด 2 ชิ้น รวม 64 GB)
  • Wireless: Intel Wi-Fi 6E AX210 รองรับมาตรฐาน IEEE 802.11ax ต่อกับเสาอากาศแบบ MIMO 2 x 2 และ Bluetooth 5.2
  • Battery: ความจุ 90 Wh รองรับการชาร์จไฟเร็ว 80% ใน 1 ชม.
  • OS: Windows 10 Professional

สำหรับจำนวนช่องใส่ SSD นั้น หากใครซื้อ X1 Extreme Gen 4 รุ่นการ์ดจอออนบอร์ดและ RTX 3050 Ti จะมีช่อง SSD ที่สองเพิ่มมาให้ ซึ่ง SSD ช่องนี้จะรองรับการเชื่อมต่อเพียง PCIe 3.0 x 4 นอกจากนี้ยังรองรับการทำ RAID 0 และ 1 ได้อีกด้วย แต่ความเร็วการเชื่อมต่อสูงสุดจะวิ่งแค่ PCIe 3.0 x 4 เท่านั้น

ส่วนคนที่เลือก GPU เป็น RTX 3060 ขึ้นไป จะมีช่องใส่ SSD แบบ PCIe 4.0 x 4 แค่ช่องเดียว เพราะฉะนั้นคนที่ต้องการต่อ SSD สองตัวต้องเลือกว่าจะยอมปรับลด GPU ไปใช้แค่ตัว RTX 3050Ti หรือไม่

ต่อไป เราจะไปดูซอฟต์แวร์ที่มากับตัวเครื่องและประสบการณ์ใช้งานจริงกัน

Leave a Reply