สำหรับคนที่ติดการใช้งานแล็ปท็อปแปลงร่างในรูปแบบต่าง ๆ เชื่อว่าตอนนี้หลาย ๆ คนคงมีปัญหาในการหาแล็ปท็อปแปลงร่างที่ถูกใจกัน เพราะนับวันหลาย ๆ ค่ายก็ออกแล็ปท็อปในหมวดนี้ออกมาน้อยลง และถึงจะออกมา ก็จัดสเปกออกมาได้ไม่ดี ไม่ก็ราคาก็แพงไป
เมื่องาน Commart ที่ผ่านมา Dell ก็ได้นำเอาแล็ปท็อปแปลงร่างอย่าง Dell Inspiron 13 7000 2-in-1 รหัส 7373 เข้ามาเปิดตัวในไทย ด้วยสเปกที่เรียกว่าใช้ได้ แถมยังมีราคาไม่สูงจนเกินเอื้อมครับ
Product
งานออกแบบของ Inspiron 7373 นั้น ถ้ามองไกล ๆ ก็ดูละม้ายคล้ายคลึงแล็ปท็อป Inspiron ซีรีย์ล่างกว่า แต่พอได้เข้ามาดูใกล้ ๆ และสัมผัสตัวเครื่อง ก็จะรู้สึกถึงความแตกต่างจากวัสดุภายนอกซึ่งเป็น brushed aluminum สี Era Gray และการขัดเงาบริเวณเส้นขอบของตัวเครื่องคล้ายกับ XPS 13 ที่เป็นแล็ปท็อปรุ่นสูงกว่า
หมายเหตุ เนื่องจากตัวเครื่องที่นำมาลองเล่นถูกนำไปติดฟิล์มกันรอย ผิวของตัวเครื่องจึงไม่ใช่ผิวของวัสดุจริงครับ
ด้านล่างของตัวเครื่องซึ่งทำจากพลาสติก มีแถบยางเป็นขารองของตัวเครื่อง ด้านหลังเจาะช่องอากาศซึ่งมีตะแกรงที่มีความถี่ของรูมากกว่าปิดอีกที ตรงกลางของเครื่องมีโลโก้ Inspiron ปั้มจมลงไป และมี รายละเอียดและ service tag ของเครื่องติดอยู่ข้างใต้
นอกจากนี้ด้านล่างของตัวเครื่องยังเป็นตำแหน่งของลำโพงระบบเสียงสเตอริโอที่จูนและประมวลผลด้วย MaxxAudio Pro จาก Waves ซึ่งช่องลำโพงจะอยู่บริเวณใกล้ ๆ ด้านข้างตัวเครื่อง ค่อนไปทางด้านหน้า หลังส่วนของแถบยางรองเครื่อง
ด้านซ้ายของเครื่องประกอบด้วยแจ็คเสียบที่ชาร์ต, พอร์ต USB 3.1 Type C, พอร์ต HDMI 2.0, พอร์ต USB 3.1 Type A พร้อม PowerShare สำหรับชาร์จอุปกรณ์ และแจ็คหูฟังและไมค์ 3.5 มม.
ด้านขวาของเครื่องประกอบด้วยช่องเสียบ SD card ซึ่งสามารถเสียบเข้าไปได้จนเต็มแผ่น พอร์ต USB 3.1 Type A และช่องใส่ตัวล็อคของ Noble
บานพับของตัวเครื่องจะมีลักษณะแยกออกเป็นสองฝั่ง แตกต่างจาก Inspiron 7370 ซึ่งเป็นแลปท็อปแบบปกติที่เป็นบานพับยาว ตัวบานพับจัดว่าแข็งแรง สามารถพับเครื่องให้อยู่ในลักษณะแสดงหน้าจอ เต็นท์ และแท็บเล็ตได้อย่างมั่นคง แต่บางช่วงการองศาตัวบานพับจะไหลจากองศาที่พับไว้นิดหน่อย
หน้าจอสัมผัสเป็นแบบ IPS ความละเอียด Full HD ขนาด 13.3 นิ้ว ปิดด้วยกระจก รองรับการสัมผัสได้พร้อมกันสูงสุด 10 จุด และสามารถใช้งานร่วมกับปากกา Dell Active Pen รุ่น PN338M รองรับน้ำหนักการกดสูงสุด 1,024 ระดับได้
ด้วยความที่ตัวกรอบหน้าจอนั้นไม่ได้บางถึงขนาดแล็ปท็อปตระกูล XPS จึงมีพื้นที่ในการวางชุดกล้องหน้าแบบอินฟราเรดซึ่งประกอบด้วยกล้องอินฟราเรดพร้อมโคมไฟอินฟราเรด และกล้องสีปกติตรงบริเวณที่ขอบจอด้านบนได้
ชุดกล้องดังกล่าวรองรับความสามารถ Windows Hello เพื่อใช้ใบหน้าในการปลดล็อกเครื่องได้ ซึ่งจากการทดลองเล่นดู ก็พบว่าตัวกล้องสามารถทำงานได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วทีเดียว
คีย์บอร์ดเป็นแบบขนาดมาตรฐาน พร้อมไฟส่องหลัง ตัวปุ่มถึงแม้จะมีขนาดปกติ แต่ตัวปุ่มจะอยู่ต่ำที่รองมือ เพื่อป้องกันขณะพับจอเป็นแท็บเล็ต ในแง่ของความรู้สึกขนาดพิมพ์นั้น คิดว่าทำได้ดีกว่า Inspiron ตระกูลต่ำกว่า แต่ยังไม่ถึงขนาด XPS 13 ตัวทัชแพดเป็นแบบมัลติทัชขนาดใหญ่ สามารถกดลงได้ทั้งอัน และรองรับมาตรฐาน Precision Touchpad ของ Microsoft
ส่วนบริเวณขอบเครื่องด้านล่างทัชแพด จะมีไฟสถานะแสดงการชาร์จไฟของเครื่องอยู่
ที่ชาร์จที่มากับเครื่องมีกำลังไฟ 45 วัตต์ มีหน้าตาเหมือนกับที่ชาร์จของแล็ปท็อป Inspiron อื่่น ๆ แต่มีขนาดเล็กกว่า และใช้หัวปลั๊กขนาดเล็ก ส่วนสายไฟที่ต่อไปยังเต้ารับ ยังเป็นสายและหัวปลั๊กมาตรฐานมอก. เหมือนเดิม ซึ่งผมคิดว่าตัวที่ชาร์จมีขนาดเล็กกะทัดรัดและน้ำหนักไม่มาก พกพาได้สะดวกเลยทีเดียว
ส่วนสเปกของเครื่องที่มาลองเล่น มีรายละเอียดดังนี้ครับ
- CPU: Intel Core i7-8550U
- GPU: Intel UHD Graphics 620
- SSD: ขนาด 256 GB
- RAM: DDR4 ขนาด 8 GB ความเร็ว 2,400 MHz
- Wireless: รองรับมาตรฐาน IEEE 802.11a/b/g/n/ac ต่อกับเสาอากาศแบบ MIMO 2 x 2 และ Bluetooth 4.2
- OS: Windows 10 Home
ซอฟต์แวร์ที่ติดมากับเครื่อง ก็ยังคงเหมือนกันกับแล็ปท็อป Dell สำหรับผู้ใช้ตามบ้าน เช่น Dell SupportAssist, Dell PowerManager Lite, Waves MaxxAudio Pro รวมทั้งบริการอย่าง McAfee Mutlidevice ซึ่งในรุ่นนี้ให้มาถึง 15 เดือน และพื้นที่ใน Dropbox จำนวน 20 GB เป็นเวลา 1 ปี
จากการใช้งานเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ผมคิดว่าตัวเครื่องมีการตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งก็เป็นผลมาจาก CPU รุ่นใหม่ที่เป็นแบบ 4 แกน และหน่วยความจำแบบ SSD การแปลงร่างเครื่องให้อยู่ในรูปแบบต่าง ๆ ก็ทำได้อย่างไม่ยาก จอสัมผัสก็ทำงานได้อย่างแม่นยำดี
ส่วนการใช้งานปากกานั้น เนื่องจากในชุดจำหน่าย Dell ไม่ได้ให้ Active Pen มาด้วย แต่พอผมดูหน้าตาของปากกา ก็เดาว่าน่าจะใช้ระบบของ N-trig เลยเอาปากกาของ VAIO Duo 11 มาใช้ ซึ่งก็สามารถใช้งานได้ดี และเมื่อหัวปากกาจ่ออยู่ที่หน้าจอ หน้าจอก็จะไม่รับการสัมผัสจากจอสัมผัสด้วย
สำหรับปัญหาการใช้งานของเครื่อง เจ้าของบอกผมว่าตัวเครื่องทำงานค่อนข้างช้า แบตเตอรี่ใช้งานได้ไม่นาน และจอสัมผัสไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งเมื่อผมลองไปดูให้เบื้องต้น ก็สังเกตว่าการทำงานของเครื่องที่ช้านั้น ขึ้นอยู่กับการตั้งค่าพลังงานของตัวเครื่อง ซึ่งเมื่อไรที่ไม่ได้ตั้งค่าพลังงานเป็นแบบ Performance ไว้ ตัวเครื่องจะทำงานช้าลงมาก รวมไปถึงความเร็วการเชื่อมต่อ Wi-Fi ที่ลดลงด้วย ส่วนจอสัมผัสที่ไม่สามารถใช้งานได้ ผมพบว่าเมื่อเปิดใช้งานเครื่องสักพักหนึ่ง จอสัมผัสจะใช้งานไม่ได้ และ Windows จะมองไม่เห็นจอสัมผัสนี้ บางครั้งเซนเซอร์ของ Active Pen ก็จะหายไปด้วยพร้อมกัน
ส่วนปัญหาที่ผมเจอเองคือ เวลา CPU ทำงานหนัก ตัวเครื่องจะร้อนมากโดยเฉพาะตรงบริเวณช่องอากาศด้านล่างของเครื่อง ใครวางเครื่องบนตักก็ต้องระวังตรงจุดนี้ด้วย
จากการลองเล่นเจ้า Inspiron 7373 ผมคิดว่ามันเป็นแล็ปท็อปแปลงร่างที่น่าสนใจ ทั้งการออกแบบตัวเครื่องที่มีรูปทรง วัสดุ จำนวนพอร์ต ตำแหน่งอุปกรณ์ต่าง ๆ และสเปกภายในที่ถูกจัดมาค่อนข้างดีทีเดียว อย่างไรก็ตามตัวเครื่องก็ยังมีจุดให้ติอยู่บ้าง เช่น การวางปุ่มที่ไม่เอื้ออำนวยขณะใช้งานเครื่องในแบบแท็บเล็ต และปัญหาตัวเครื่องจุกจิกที่เขียนไปก่อนหน้า ซึ่งผมเองไม่แน่ใจว่าเป็นที่ซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์มีปัญหากันแน่ เนื่องจากตัวเครื่องไม่ใช่เครื่องของผมเอง จึงยังไม่สามารถยืนยันคำตอบได้จนกว่า เจ้าของเครื่องจะติดต่อกับศูนย์ก่อน
ใครที่กำลังมองหาแล็ปท็อปแปลงร่างอยู่ เจ้า Dell Inspiron 7373 ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ ในวันที่แล็ปท็อปประเภทนี้เริ่มไม่ค่อยมีใครออกมาทำตลาดแล้วครับ
ราคาเท่าไร