ในตอนสุดท้ายของบทสัมภาษณ์คุณ Suyama Keita เจ้าของ FitEar บริษัทหูฟัง CIEM เบอร์ 1 ของญี่ปุ่น จะเป็นคำถามเกี่ยวกับ High Resolution Audio และโครงการ SAFE LISTENING ที่มีมาสค็อตน่ารักอย่างน้อง Mone ครับ
Japan Audio Socities (JAS) ได้ออกมาตรฐานของ Hi-Res Audio ออกมา คุณ Suyama มีแผนที่จะออกหูฟังที่เป็นไปตามมาตรฐานนี้หรือเปล่าครับ
Hi-Res Audio เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับคุณรักเสียงเพลงนะครับ จริง ๆ ผมไม่จำเป็นต้องอธิบายเรื่องนี้กับคุณก็ได้ แต่ Hi-Res Audio มีพื้นฐานมาจาก Audio CD ซึ่งมีความละเอียด 44.1 kHz 16-bit แบบนี้ครับ (วาดกราฟขั้นบันไดขึ้นมา) ส่วน HRA ก็คือ 88 kHz 24-bit แบบนี้ครับ (วาดกราฟขั้นบันไดที่ละเอียดขึ้นมา) ไฟล์เสียงในรูปแบบ Hi-Res Audio จะสามารถแสดงเสียงได้ราบเรียบกว่า โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเสียงต้นฉบับมากนัก นี้คือเหตุผลที่เราเลือกใช้รูปแบบความละเอียดสูง
แต่สเปกของ JAS นั้นกำหนดให้อุปกรณ์ทรานสดิวเซอร์อย่างหูฟังและลำโพง ต้องสามารถขับเสียงที่ย่านความถี่ได้มากกว่า 40,000 Hz ซึ่งนั้นไม่เกี่ยวกับเรื่องความเรียบ แต่เกี่ยวกับเรื่องความถี่ คุณเคยได้ยินเรื่องขอบเขตความถี่การได้ยินของมนุษย์ไหมครับ
ใช่ตั้งแต่ 20 Hz ถึง 20,000 kHz หรือเปล่าครับ
ใช่ครับ แต่นั้นก็ไม่เชิงเป็นช่วงความถี่ของการได้ยินในหูคนจริง ๆ ส่วนมากน่าจะเริ่มต้นกันที่ประมาณ 30 – 35 Hz แล้วก็ไล่ขึ้นไป กรณีตัวผมเองก็ได้ยินไปได้ถึงประมาณ 14 – 15 kHz ในคนอายุน้อยก็จะมีช่วงความถี่ที่ได้ยินมากกว่า แต่ก็ไม่ได้กว้างขนาดถึง 40 KHz อยู่ดี ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องขับเสียงที่ความถี่ขนาดนั้น นอกจากนี้ในการสร้างเสียงเอง เครื่องดนตรีอย่างเปียโนก็มีความถี่พื้นฐานของตัวโน๊ตสูงสุดอยู่ที่ 4.5 kHz ไม่ใช่ 40 KHz ช่วงความถี่ส่วนมากในเพลงต่าง ๆ ก็อยู่ในแถวประมาณ 8 kHz แต่เสียงในช่วง 8 kHz – 10 kHz ก็มีความสำคัญเหมือนกัน เพราะเป็นย่านความถี่ที่แสดงถึงความก้องและความเป็นประกายของเสียงเครื่องดนตรีและเสียงร้อง แต่ความถี่เสียงที่สูงขึ้นไปถึง 20 kHz หรือแม้แต่ที่ความถี่ 20 kHz เอง ก็ไม่มีสัญญาณที่มีความหมายอะไรกับเพลง
ผมเองจึงไม่เข้าใจว่าทำไม JAS ต้องกำหนดให้อุปกรณ์ทรานสดิวเซอร์ต้องขับความถี่สูงถึง 40 kHz บางทีอาจจะเป็นเรื่องของการตลาดก็ได้ มันเป็นความโชคร้ายที่ Hi-Res Audio ถูกใช้เป็นศัพท์ทางการตลาดในญี่ปุ่น แต่ผู้คนกลับไม่ได้คิดว่า Hi-Res Audio นั้นเป็นปัจจัยในการเลือกซื้อสินค้าในปัจจุบัน ในขณะที่เพลงหรือเสียงในรูปแบบความละเอียดสูงได้รับความนิยมมาก แต่ฮาร์ดแวร์อย่างหูฟังเอง JAS นั้นสร้างกระแสแบบผิด ๆ ขึ้นมา ตอนนี้กระแสหูฟัง Hi-Res ในญี่ปุ่นเลยเงียบลง แล้วกระแสเรื่องนี้ในไทยเป็นอย่างไรบ้างครับ
เท่าที่ผมทราบ สเปก Hi-Res Audio ของ JAS นั้นมาจากทาง Sony ดังนั้น Sony Thai ได้โปรโมตเรื่องนี้เป็นอย่างมาก จนผู้คนรู้จักเรื่องนี้กัน แต่แย่หน่อยที่เพลงไทยนั้นยังไม่ได้อยู่ในรูปแบบความละเอียดสูง ตัวผมเองโชคดีที่ฟังเพลงญี่ปุ่น เลยสามารถหาซื้อเพลงจาก mora หรือ Ototoy ได้ ถึงแม้ mora จะล็อคไม่ให้ขายเพลงไปยังต่างประเทศ เลยทำให้การซื้อเพลงนั้นยากขึ้น
ตอนนี้ในไทยเอง ในแง่ของฮาร์ดแวร์นั้น ด้วยการโปรโมทของ Sony ผู้คนจึงรู้จัก Hi-Res Audio กันแล้ว แต่มีคำถามอยู่ข้อหนึ่งที่ผู้ใช้ยังสงสัยกันคือ ความแตกต่างระหว่างของอุปกรณ์ที่ได้รับการรับรอง Hi-Res Audio กับไม่ได้การรับรอง ดังนั้นเมื่อพวกเขาไม่รู้สึกถึงความแตกต่างดังกล่าว บางคนก็เลือกที่จะไม่สนใจ Hi-Res Audio ครับ
กราฟตอบสนองความถี่ของหูฟังของหูฟัง Hi-Res Audio เทียบกับ FitEar
อืม … หากเราพูดถึงเครื่องเล่นหรือเครื่องขยายนั้นสามารถผ่านสเปก Hi-Res Audio ของ JAS ได้ แต่สำหรับลำโพงและหูฟัง โดยเฉพาะหูฟังที่มีโลโก้ Hi-Res Audio บนกล่องส่วนมากจะการตอบสนองความถี่แบบนี้ครับ (วาดกราฟตอบสนองความถี่ของหูฟังที่ค่อย ๆ ลดลงหลังความถี่ 7 kHz ไปแล้ว)
หูฟัง Hi-Res Audio เป็นแบบนี้หมดเลยเหรอครับ
ครับ ผมเองก็ไม่ทราบว่าทำไม แต่นี้ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่บอกว่าตัวขับไดนามิคนั้นไม่เหมาะสมในการป้องกันเสียงจากภายนอก ซึ่งในลำโพงและหูฟังครอบหูซึ่งมีพื้นที่ว่างพอนั้นก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่กับหูฟังสอดหูนั้น ก็จะมีปัญหาเกิดขึ้นเหมือนกับที่เจอกับหูฟัง Air และ Air 2 ซึ่งในหูฟังยี่ห้ออื่นจะใช้ช่องอากาศ ทำให้มีปัญหาเรื่องการป้องกันเสียงภายนอกเพิ่มขึ้น
มีแบรนด์หูฟังเจ้าหนึ่งแสดงเอกสารคุณสมบัติซึ่งมีกราฟตอบสนองความถี่ถึงช่วง 40 kHz มาให้ดู แต่เราพัฒนาและตรวจสอบสินค้าของเราด้วยระบบวัดแบบพิเศษ ซึ่งประกอบด้วยใบหู ช่องหูที่เหมือนจริง และเยื่อแก้วหูซึ่งมีไมโครโฟนวางอยู่ข้างหลังแบบนี้ครับ แล้ววัดการตอบสนองความถี่ของหูฟัง เราจะวัดเสียงที่ผ่านจากเยื่อแก้วหูเสมอ ไม่ใช่เสียงจากภายนอกหู
วัดแบบ free space สินะครับ (คือการวัดเสียงในห้องที่ไม่มีการสะท้อนของเสียงด้วยไมโครโฟน)
กราฟตอบสนองความถี่ของหูฟังที่วัดด้วยหูจำลองเทียบกับ free field
ครับ ปกติคนเราได้ยินเสียงจากเยื่อแก้วหู แต่ผู้ผลิตมักจะแสดงกราฟตอบสนองความถี่ที่วัดแบบ free field ทำให้การตอบสนองความถี่มีความแตกต่างกัน เวลาวัดแบบ free field ก็จะได้การตอบสนองความถี่แบบนี้ (วาดกราฟ) แต่พอมาวัดด้วยหูจำลองก็จะได้การตอบสนองความถี่เริ่มลดลงแบบนี้ครับ (วาดกราฟที่ช่วงความถี่ตอบสนองลดลง) ดังนั้นผู้ผลิตเลยส่งข้อมูลการวัดแบบนี้ให้ JAS แล้วก็ได้การรับรอง Hi-Res Audio มา ส่วนเราเอง ก็พยายามทำให้การตอบสนองความถี่ของหูฟังเรานั้นราบเรียบจนถึงช่วง 10 kHz และใน Air 2, Titan และ FitEar universal นั้นราบเรียบถึง 14 kHz ครับ
แต่โปรดอย่าเข้าใจผิดนะครับว่า หูฟังที่มีการตอบสนองความถี่ที่แคบจะไม่สามารถใช้ฟังเสียงความละเอียดสูงได้ เพราะลักษณะเสียงความละเอียดความสูงนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับช่วงความถี่ แต่เกี่ยวกับสิ่งที่ผมวาดไปก่อนหน้า (กราฟขั้นบันได) ที่เรียกกันว่า transient และการตอบสนองที่ดี ซึ่งสิ่งนี้ควรจะเป็นหัวข้อที่ถูกนำมาพูดถึงในข้อดีของเสียงในรูปแบบความละเอียดสูง ซึ่งแย่หน่อยที่ JAS สร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไป แต่ผู้คนหลาย ๆ คน นั้นรู้ว่าเสียงความละเอียดสูงนั้นเป็นอย่างไร และทราบว่า Hi-Res Audio นั้นเป็นเพียงศัพท์การตลาดครับ
ต่อไปจะเป็นคำถามเกี่ยวกับโครงการ SAFE LISTENING ครับ