สัมภาษณ์คุณ Nageno Koji วิศวกรผู้อยู่เบื้องหลังหูฟังของ Sony

Nageno Koji interview

หลังจากงานเปิดตัวสินค้า High Resolution Audio ของ Sony ที่ได้รายงานไปเมื่อคราวที่แล้ว ทางผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณ Koji Nageno ซึ่งเป็น Chief Sound Engineer ประจำแผนกเสียงที่ 1 ฝ่ายธุรกิจภาพและเสียง ในกลุ่มธุรกิจความบันเทิงภายในบ้านและเสียงของ Sony

เขาคนนี้คือผู้อยู่เบื้องหลังหูฟังรุ่นตำนานของ Sony หลายรุ่น ทั้ง MDR-3 หูฟังขนาดเล็กที่มาพร้อมกับ WALKMAN รุ่นแรกของโลก MDR-CD900 หูฟังที่เปิดโลกยุคเสียงดิจิทัล และ MDR-R10 หูฟังที่เป็นตำนวนตลอดกาลของ Sony

ว่าแล้วก็ไปอ่านสัมภาษณ์กันได้เลยครับ

สวัสดีครับ เนื่องจากผู้ใช้หูฟังในไทยรวมทั้งแฟน ๆ ของ Sony เองอาจจะยังไม่รู้จักคุณ Koji จึงอยากจะขอให้ช่วยแนะนำตัวสั้น ๆ ด้วย ว่าเข้ามาร่วมงานกับ Sony เมื่อไร และทำหน้าที่อะไรบ้างใน Sony ครับ

ผมเข้าทำงานกับ Sony ในปี 1980 และออกแบบหูฟังหลากหลายรูปแบบการสวมใส่ ตัวขับหลากหลายชนิด และออกแบบเสียงให้กับหูฟังพวกนั้นด้วย

ส่วนในปัจจุบัน ผมจะดูแลการผลิตหูฟังตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงขั้นตอนการผลิต รวมทั้งให้ข้อมูลกับฝ่ายการตลาดเพื่อที่จะสื่อสารกับลูกค้า แต่สำหรับหูฟังบางรุ่นผมจะออกแบบและทำตัวต้นแบบ ก่อนที่จะส่งให้ลูกทีมนำไปจัดการต่อภายใต้การแนะนำของผมอีกที

เท่าที่ฟังคุณมีลูกทีมที่เยี่ยมยอดมากเลยครับ คำถามต่อไป เมื่อเราพูดถึง High Resolution Audio ในตอนนี้ ตามอินเตอร์เน็ตก็มีการถกกันถึงเรื่องประโยชน์ของมัน ซึ่งทางฝั่งมืออาชีพเอง เช่น วิศวกรห้องอัด วิศวกรผู้ออกแบบการเข้ารหัส ได้ออกมากล่าวว่า นอกจากการประมวลผลเสียงแล้ว HRA ไม่มีประโยชน์อะไรต่อผู้บริโภค เพราะข้อจำกัดในการได้ยิน ทางคุณ Koji คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ครับ

เมื่อพูดถึง HRA ก็ต้องพูดถึง 2 สิ่ง คือ dynamic range และช่วงความถี่

อย่างแรก dynamic range เช่น สัญญาณเสียง 16-bit ก็จะมี dynamic range ที่ 96 dB สำหรับมนุษย์เองก็มีสามารถได้ยินเสียงดังสุดที่ 120 dB ซึ่ง dynamic range ของสัญญาณเสียง 16-bit ก็ถือว่าครอบคลุมการได้ยินของมนุษย์แล้ว

สำหรับช่วงความถี่นั้น มนุษย์เราสามารถได้ยินเสียงความถี่ไม่เกิน 20 kHz ซึ่งก็มาจากการทดลองทางการแพทย์ด้วยการปล่อยคลื่น sine ความถี่สูงให้ฟัง แล้วถามความแตกต่าง ซึ่งผลก็คือไม่แตกต่าง

แต่สำหรับ Sony เองนั้นได้ประสบการณ์จากการบันทึกเสียงเครื่องดนตรีที่มีสเปกตรัมของความถี่สูงกว่า 20 kHz อยู่ เมื่อนำเสียงที่บันทึกมาเล่นอีกครั้งและมีการเปิด – ปิดช่วงเสียงที่มากกว่า 20 kHz สลับกัน ก็จะรู้สึกได้ถึงความแตกต่าง ซึ่งก็เป็นไปตามกับงานวิจัยที่ว่าเสียงความถี่สูงกว่า 20 kHz นั้นสามารถได้ยินได้ และ Sony เองรู้สึกว่า HRA นั้นให้เสียงที่ดีกว่า ก็เลยเดินหน้าผลักดันในเรื่องนี้

คุณโคจิหมายความว่าเราสามารถรู้สึกถึงเสียงความถี่สูงมาก ๆ ได้เหมือนเสียงความถี่ต่ำมาก ๆ ซึ่งเราไม่ได้ยิน แต่ก็รับรู้การมีอยู่ของมันจากการสั่นสะเทือนได้ใช่ไหมครับ

คุณรู้จักลำโพง ultrasonic ไหม ที่ใช้หลักการของ piezo electronic ลำโพงพวกนี้สามารถขับเสียงที่ความถี่สูง ๆ ได้อย่างเดียว ถ้าเราลองมอดูเลตความถี่ 40 kHz และ 41 kHz เข้าไป เราจะได้ยินเสียงบีทที่ความถี่ 1 kHz คือลำโพงเองก็ขับสัญญาณเสียงความถี่สูง ๆ ไป และเราก็สามารถได้ยินมันได้ นี้คือจากความเข้าใจของตัวผมเอง

สรุปก็คือ ถ้าเราเปิด – ปิดเสียงช่วงที่มากกว่า 20 kHz เรายังรับรู้ถึงความแตกต่างของมันได้ครับ

ในช่วงหลังมานี้เวลาฟังเสียงจากอุปกรณ์ของ Sony ถึงแม้ว่าเสียงที่ได้จะมีความแตกต่างไปตามอุปกรณ์บ้าง แต่อุปกรณ์ทุกตัวก็จะมีแนวเสียงที่คล้ายกันทั้งหมด โดยเฉพาะเวลาเปิดใช้งาน ClearAudio+ เลยอยากทราบว่าทาง Sony มีแนวทางในการออกแบบแนวเสียงที่เป็นเอกลักษณ์นี้อย่างไรครับ

เป็นคำถามที่ตอบยากมากเลย โดยพื้นฐาน ถ้าพูดในแง่ของตัวแปรสัญญาณ (transducer) ของ Sony วิศวกรหูฟังและวิศวกรลำโพงจะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพเสียง ซึ่งเทคโนโลยีของทั้งสองก็มีความแตกต่างกันมาก

หูฟังสามารถขับเสียงความถี่ต่ำได้ดีกว่า เรื่องของเวทีเสียงลำโพงสามารถทำได้ดีกว่า การสร้างรายละเอียดเสียงเล็ก ๆ นั้นหูฟังสามารถทำได้ดีกว่า ซึ่งพวกเราก็เข้าใจความแตกต่างเหล่านี้

พวกเราพบว่าคุณภาพของเสียงร้องนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด จึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

สำหรับ ClearAudio+ ที่เปิดตัวในปี 2011จะช่วยปรับปรุงคุณภาพเสียงในอุปกรณ์ขนาดเล็ก เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ แต่กับสินค้าในกลุ่ม Hi-End เช่นลำโพงในตระกูล SS และ ES ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ความสามารถนี้

Nageno Koji interview

ตัวขับขนาดต่าง ๆ ที่ผลิตโดย Sony ไล่ตั้งแต่ตัวขับแบบ balanced armature ไปจนถึงตัวขับ AC-LCP ขนาด 70 มม. ของ MDR-Z7

ผมทราบมาว่า MDR-Z7 และ XBA-Z5 ไม่ใช่สินค้าตัวแรกของ Sony ที่มีการนำโลหะมาเคลือบไดอะแฟรม แต่เป็นหูฟังรุ่น DR-Z7 ใช่ไหมครับ

DR-Z7 นั่นมันแถว ๆ ปี 1976 เลยนะ

ใช่ครับ ถ้าให้เทียบกับไดอะแฟรมที่มีการเคลือบโลหะในอดีตกับในปัจจุบันนี้ ทั้งสองมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้างครับ

สำหรับการระเหยโลหะเข้าไปเคลือบผิวไดอะแฟรมนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเป็นเทคโนโลยีที่มีมานานแล้ว อย่างใน MDR-CD7 ก็มีการใช้ทองเข้ามาเคลือบผิว MDR-CD900 และ MDR-CD999 ก็ใช้ Amorphous diamond มาเคลือบผิวเช่นกัน ในช่วงเวลานั้นการเพิ่มโลหะลงไปในไดอะแฟรมเป็นการเพิ่ม color ให้กับเสียง เพื่อเพิ่มเสียงแหลม แต่ในปีนี้เราได้นำอลูมิเนียมมาเคลือบบน liquid crystal polymer (LCP) ซึ่งจุดประสงค์ที่ทำก็ไม่เหมือนกับในอดีตซะทีเดียว

Nageno Koji interview

กราฟเทียบความเร็วของเสียงและ Inner Loss ในวัสดุต่าง ๆ

คือในวัสดุแต่ละชนิดนั้นก็ให้เสียงที่ไม่เหมือนกัน เช่น (เอามือเคาะโต๊ะ) เสียงไม้ (เอาไดร์เวอร์ 2 อันมาตีกัน) เสียงอาจจะฟังไม่ค่อยชัดเจน แต่ก็เป็นเสียงจากโลหะ (เคาะแก้ว) เสียงแก้ว ทุกวัสดุจะมีลักษณะของเสียงเฉพาะตัว อย่าง LCP เองก็เป็นวัสดุที่มีลักษณะของเสียงที่ดี เพราะมีความเร็วของเสียงมาก ทำให้สามารถสร้างความถี่ได้กว้างมาก เสียงที่ได้จะคล้ายกับโลหะ แต่ LCP มี internal loss มากกว่าโลหะ

ส่วนโลหะจะมีลักษณะเสียงที่แหลมกังวาล แตกต่างจากกระดาษที่ให้เสียงทู่ ๆ นั้นคือเสียงเรโซแนนซ์ บางครั้งเราก็ต้องการเสียงเรโซแนนซ์ซึ่งบ่งบอกถึงลักษณะของวัสดุในดนตรีเช่นกัน

ดังนั้นทั้งความเร็วเสียงที่สูงและ internal loss สูงก็มีความสำคัญ ซึ่ง LCP มีคุณสมบัติตรงจุดนี้ แต่ LCP ก็ยังมีความถี่เรโซแนนซ์ในย่านความถี่สูงบางความถี่ ส่วนอลูมิเนียมเองก็มีความถี่เรโซแนนซ์ในความถี่อื่น เมื่อนำ 2 วัสดุนี้มาซ้อนกันเพื่อให้ทั้งสองซับความถี่เรโซแนนซ์ของซึ่งกันและกัน ก็จะทำให้ internal loss และการตอบสนองความถี่นั้นราบเรียบขึ้น นั้นคือสาเหตุว่าทำไมเราถึงนำอลูมิเนียมมาใช้ครับ

ต่อไปเป็นคำถามเกี่ยวข้องกับ WALKMAN ZX1 คือตอนนี้มีผู้ใช้ท่านหนึ่งได้พยายามที่จะวัด dynamic range ของตัวเครื่อง และได้ผลว่า ZX1 มี Dynamic range อยู่ที่ประมาณ 91 dB ซึ่งมีค่าต่ำกว่า dynamic range ของมาตรฐาน Audio CD เสียอีก และเรื่องนี้ก็ได้มีการถกเถียงกันในเว็บไซต์ต่างประเทศที่มีชื่อเสียงด้วย ก็เลยอยากรู้สาเหตุว่าทำไม WALKMAN ZX1 ถึงได้มี dynamic range ที่ต่ำครับ

(คุณ Hideyuki เป็นคนตอบคำถามนี้ครับ)  ผมยังไม่ค่อยเข้าใจในคำถามของคุณ แต่เราได้มีการตรวจสอบ dynamic range ภายในของตัวเครื่อง ซึ่งคุณภาพเสียงที่ได้ก็อยู่ในระดับ HRA ผมเลยสงสัยว่าทำไมลูกค้าเขาต้องวัดค่า dynamic range และวัดด้วยวิธีอย่างไรครับ

ผมคิดว่าเขาใช้ซอฟต์แวร์ที่สามารถวัด dynamic range ได้ในการตรวจสอบครับ จริง ๆ แล้วผมคิดว่าตอนแรกเองเขาน่าจะนำหูฟังที่มีความไวมาก ๆ มาต่อกับ ZX1 และได้ยินเสียง background noise ก็เลยตัดสินใจที่จะวัด dynamic range ครับ ก็เลยเจอว่า dynamic range ที่ได้มีค่าค่อนข้างต่ำครับ

(ผู้บริหารของ Sony ตอบ) อย่างที่คุณฮิเดยูกิบอกไว้ คือเราอยากรู้ว่าเขามีขั้นตอนการวัดอย่างไร ใช้อุปกรณ์อะไรในการวัด ซึ่งมันสำคัญมาก

ผมคิดว่าผมสามารถส่งลิ้งก์ของ Youtube เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ได้ครับ พอดีเขาเป็นนักรีวิวอยู่บน Youtube ด้วย และเรื่องนี้ก็เป็นที่พูดคุยกันตามเว็บไซต์อยู่พอสมควร พวกเราก็เลยอยากรู้ว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาของสินค้าหรือเป็นความตั้งใจของทีมออกแบบอยู่แล้วครับ

(ผู้บริหารของ Sony ตอบ) ผมคิดว่าคุณน่าจะส่งลิ้งก์ Youtube ให้ทางเรา เพื่อที่ทางเราจะไปลองตรวจสอบเรื่องนี้ดูต่อได้นะครับ

(ผู้บริหารของ Sony อีกท่าน ถาม) คือเขาได้ให้ความเห็นสินค้าจากการวัดค่าต่าง ๆ ใช่ไหมครับ

ใช่ครับ

แล้วเรื่องของเสียง เขาได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องเสียงอะไรบ้างไหมครับ

ผมคิดว่าเขาน่าจะถูกใจเรื่องของเสียงนะครับ แต่ตอนที่เขาวัดค่า dynamic range เขาคิดว่า เพราะ Sony โฆษณาว่า WALKMAN ZX1 เป็นเครื่องเล่น HRA ค่า dynamic range ก็ควรจะทำได้ดีกว่ามาตรฐาน Audio CD

ผมคิดว่าคุณน่าจะแชร์ลิ้งก์ของเขาให้กับเรา เพื่อที่จะได้รู้ว่าเขาตรวจสอบเรื่องนี้อย่างไร เพราะเวลาในการทดสอบสินค้า มันมีมาตรฐานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เราจะต้องปฏิบัติตามอยู่ ซึ่งเราไม่ทราบว่าการตรวจสอบของเขาทำตามมาตรฐานหรือไม่ นั่นเป็นจุดหนึ่ง อีกจุดก็คือสเปกของตัวสินค้าเองไม่ได้เป็นตัวบอกว่าสินค้าเวลาใช้งานจริงจะเป็นอย่างไร แต่เป็นตัวบอกว่าจะวัดค่าอย่างไร ซึ่งในบ้างครั้งค่าที่วัดออกมาก็ไม่มีความสัมพันธ์กับการใช้งานจริง ถ้าเป็นไปได้เราก็อยากรู้ข้อมูลมากขึ้นเพื่อที่จะได้ไปทำการตรวจสอบครับ

ผมคิดว่าเขาน่าจะได้เจอคุณ Koji แล้วในงานเปิดตัวสินค้า Hi-Res Audio ปีที่แล้วที่ออสเตรเลียนะครับ (คุณ Koji หันไปเปิด VAIO หารูปงานปีที่แล้ว) ผมคิดว่าเรื่องที่เป็นที่ถกเถียงกันพอสมควรรวมทั้งในเว็บไซต์บ้านเราด้วย แต่ผมคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เพราะ WALKMAN เป็นเครื่องเล่นเพลงพกพาที่ส่วนมากจะถูกนำไปใช้งานข้างนอก ซึ่งเสียงรบกวนภายนอกมักจะดังกว่า background noise มากจนทำให้ไม่ได้ยินมัน ก็เลยคิดว่าเรื่องนี้ไม่น่ามีปัญหาอะไรนะครับ

หมายเหตุ

สำหรับคนที่ตามเรื่องนี้ไม่ทันนะครับ คือคุณ Lachlan ที่เป็นนักรีวิวหูฟังใน Youtube ได้สังเกตุว่า WALKMAN ZX1 จะมีเสียงซ่าดังขึ้นตอนเปิดเครื่องแล้วค่อย ๆ เฟดหายไป ซึ่งในหูฟังที่ไว้ต่อสัญญาณเสียงมาก ๆ ก็จะยังได้ยินเสียง noise ที่เบามาก ๆ อยู่

เขาเลยตัดสินใจใช้โปรแกรม RMAA วัดคุณภาพเสียงของ ZX1 และพบว่ามีค่า dynamic range ประมาณ 91 dB ซึ่งน้อยกว่าในมาตรฐาน Audio CD ครับ

สำหรับปัญหาเรื่อง background noise ไม่ใช่เรื่องใหม่ อย่างเมื่อก่อน iPod เองก็เคยมีปัญหานี้กับหูฟังของ Shure เหมือนกันครับ

ต่อไปเป็นคำถามเกี่ยวกับสินค้าตัวเก่าคือ MDR-CD900ST ซึ่งได้รับรางวัลในเดือนนี้ เพราะหูฟังรุ่นนี้เป็นหูฟังมอนิเตอร์มาตรฐานตามห้องอัดเสียงในญี่ปุ่น และผมก็เห็นหูฟังตัวนี้ถูกผู้ผลิตอื่น ๆ เลียนแบบหน้าตา รูปร่าง หรือแม้กระทั่งเสียง เช่น JVC ก็ออกหูฟังมอนิเตอร์ที่มีหน้าตาและน้ำเสียงคล้าย ๆ กันออกมาเหมือนกัน

(หัวเราะ) ห้องอัดของ JVC เองก็ใช้หูฟังของ Sony เหมือนกัน แต่เอาเทปปิดตรงยี่ห้อไว้ครับ (หมายถึงห้องอัด Victor Studio ของ Victor Entertainment ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ JVC คล้ายกับ Sony Music Studio ของ Sony Music Entertainment Japan บ.ในเครือ Sony)

ผมก็เลยอยากจะรู้ว่าคุณคิดอย่างไรกับหูฟังตัวนี้

ผมคิดว่า MDR-CD900ST เป็นหูฟังที่ดีมากสำหรับงานมอนิเตอร์เสียง ผมจูนเสียงหูฟังตัวนี้ร่วมกับทีมวิศวกรของ Sony Music Shinanomachi Studio (เป็นที่ตั้งของห้องอัด SMEJ ในอดีต ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่ย่าน Nogizaka ในปัจจุบัน) ซึ่งผมใช้เวลา 3 ปีในการทำให้เขาพึงพอใจต่อเสียงของมัน

เรื่องสำคัญมาก ๆ เลย คือพวกเขาต้องการให้มิติเสียงโผล่มาจากข้างหน้า อย่างเมื่อนักร้องร้องเพลงห่างจากไมค์ที่อัดอยู่ 10 ซม. มิติเสียงที่ออกมาจากหูฟังก็ต้องสามารถบอกระยะห่าง 10 ซม.นี่ได้เหมือนกัน ในขณะที่หูฟังทั่ว ๆ ไปมักจะมีมิติที่กว้างและเสียงที่ดูห่างไกล ซึ่งมันแตกต่างกันค่อนข้างมาก ผมเลยพยายามที่จะทำให้เสียงจาตัวขับนั้นตรงเข้าหาหูให้ได้มากที่สุดครับ

?????????????????????

รูปตัดขวางคัพที่คุณ Koji วาดเพื่ออธิบายการออกแบบแพดหูฟังและซีลของ MDR-CD900ST

การที่จะทำแบบนั้นได้ ผมต้องลดพื้นที่ช่องว่างระหว่างหูฟังกับใบหูลง โดยใช้ตัวขับขนาด 40 มม. และแพดหูฟังที่ไม่หนามากเพื่อลดพื้นที่นี้ลง นอกจากนี้ผมยังใส่ซีลเล็ก ๆ รอบตัวขับเพื่อให้บังคับเสียงจากตัวขับให้ไปยังหูโดยตรง เวลาใส่หูฟังใบหูก็จะอยู่ชิดกับตรงตัวขับคล้าย ๆ กับการใส่หูฟังแบบทับหูกึ่งครอบหู ซึ่งก็จะทำให้เสียงจากตัวขับเข้าตรงสู่หูโดยตรงได้มากขึ้นครับ

แสดงว่าการทำงานร่วมกับทาง Sony Music ก็ถือว่ายากเหมือนกันใช่ไหมครับ

ใช่แล้วครับ ผมใช้เวลา 3 ปีในการจูนเสียงของหูฟังตัวนี้ให้ตรงความต้องการของเขา ผมจะต้องจูนเสียงต่ำให้เข้ากับเสียงกลาง และก็จูนเสียงกลางให้เข้ากับเสียงสูง

นอกจากนี้พวกเขายังมีความต้องการต่าง ๆ ที่ซับซ้อนมาก เช่น ลักษณะของเสียงที่ลอดออกมาจากฟัน เช่น เสียงเอส ที่จะต้องจูนเสียงให้ได้ตามลักษณะที่พวกเขาต้องการ ซึ่งผมก็ต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมากในการปรับจูนจนสำเร็จเป็นที่พอใจของ Sony Music ครับ

ผมเห็นคู่แข่งของคุณอย่าง Audio Technica ก็ได้ออกอัพเดทหูฟังมอนิเตอร์ยอดนิยมของเขาเองไปแล้วในปีนี้ เราจะได้เห็นหูฟังมอนิเตอร์ใหม่ ๆ จาก Sony บ้างไหมครับ

ทีมของผมเองได้มีการวิจัยและพัฒนาหูฟังรุ่นใหม่อยู่เรื่อย ๆ อยู่แล้ว ซึ่งหูฟังมอนิเตอร์ก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกันครับ

Nageno Koji interview

สุดท้ายเป็นคำถามจากผู้อ่านบล็อกของผม คืออยากทราบว่าทาง Sony มีแผนที่จะออก CIEM และหูฟังแบบเปิดรุ่นใหม่ไหมครับ เพราะส่วนมากคนที่เล่นหูฟังเชื่อว่าหูฟังระดับเรือธงต้องเป็นหูฟังแบบเปิดเท่านั้น

ผมคิดว่า CIEM เป็นอะไรที่ดูน่าสนใจมาก (ตอนวันที่สัมภาษณ์ Just ear ยังไม่ได้เปิดตัวครับ) ส่วนหูฟังแบบเปิดนั้น ทาง Sony เองได้ลองพัฒนาหูฟังหลายรูปแบบด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างในหูฟังรุ่นปัจจุบัน MDR-Z7 เป็นหูฟังแบบกึ่งปิด MDR-Z1000 เป็นหูฟังแบบปิดแบบสนิท และ MDR-5A ที่เป็นหูฟังแบบเปิด ซึ่งเราคิดว่าสำหรับ MDR-Z7 หูฟังแบบกึ่งปิดนั้นเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด แต่เราก็ได้ลองจูนเสียงหูฟังแบบเปิดอยู่หลาย ๆ แบบเช่นกัน ก็คิดว่าน่าจะมีความเป็นไปได้ในการออกหูฟังแบบเปิดมากขึ้นในอนาคตครับ

คือหมายความว่าทาง Sony ได้พัฒนาหูฟังหลาย ๆ แบบ แล้วเลือกแบบที่เสียงดีที่สุดเพื่อนำออกสู่ตลาด ประมาณนั้นหรือเปล่าครับ

สำหรับ MDR-Z7 ในเรื่องของคุณภาพเสียง เราคิดว่าการออกแบบหูฟังแบบปิดนั้นไม่มีผลเสียอะไรต่อมิติของเสียง แต่ก็มีปัญหาในจุดอื่น ส่วนเรื่องการป้องกันเสียงภายนอก เนื่องจากหูฟังตัวนี้ต้องขับเสียงที่เบามาก ๆ ออกมา และในห้องก็มักจะมีเสียงรบกวน เช่น ประมาณ 40 – 50 dB SPL ซึ่งเราคิดว่าจะต้องป้องกันเสียงรบกวนพวกนี้ สำหรับหูฟังรุ่นนี้การทำแบบปิดก็ดูจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า

แต่กว่าการทำหูฟังแบบปิดสมบูรณ์เลยส่งผลต่อการตอบสนองของเสียงในจุดที่ผมไม่สามารถบอกคุณได้เพราะเป็นความลับ เราจึงต้องเพิ่ม sound hole เอาไว้ที่ข้างล่างของคัพหูฟัง ซึ่งนั่นก็ทำให้ประสิทธิภาพการป้องกันเสียงรบกวนลดลงไป แต่ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดได้ในปัจจุบัน ส่วนในอนาคตผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะออกแบบหูฟังแบบเปิดออกมา

ต้องขอขอบคุณสำหรับการสัมภาษณ์ครั้งนี้ด้วยนะครับ

สำหรับการสัมภาษณ์ครั้งนี้จัดว่าเป็นการสัมภาษณ์แบบเต็มรูปแบบครั้งแรกของบล็อกเรานะครับ ซึ่งคำตอบที่ได้จากคุณ Koji ก็เรียกได้ว่าน่าจะถูกใจคอหูฟังและแฟน ๆ Sony ทุกท่านกันนะครับ หากมีข้อผิดพลาดประการใด ก็ขออภัยด้วยนะครับ

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณคุณ Nageno Koji คุณ Hideyuki Uemura ทีมผู้บริหาร Sony Asiaและ Sony Thai ที่อนุญาตการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ด้วยครับ

7 thoughts on “สัมภาษณ์คุณ Nageno Koji วิศวกรผู้อยู่เบื้องหลังหูฟังของ Sony

  1. Tonten Rajana

    ขอบคุณมากๆครับ ผมก็เป็นแฟนโซนี่ครับ เป็นกำลังใจให้นะครับ

    Reply
  2. Pingback: รีวิว ตำนานมีชีวิต Sony MDR-CD900ST หูฟังมาตรฐานห้องอัดญี่ปุ่น

  3. Pingback: รีวิว หูฟัง Sony MDR-Z7 การกลับมาของเรือธงในยุค High Resolution Audio

  4. Pingback: สัมภาษณ์คุณ Shiomi Shunsuke วิศวกรเบื้องหลังเสียงพระกาฬ MDR-Z1R | RE.V –>

  5. Pingback: ลองฟังเครื่องเล่นเพลง DMP-Z1 และหูฟัง IER-Z1R สมาชิกใหม่ Sony Signature Series | RE.V –>

  6. Pingback: The story behind Sony MDR-CD900ST and it’s unique design and tuning choices – SoundChaser.org

Leave a Reply to ake150ccCancel reply