เนื่องจากทาง Sony และโรงพยาบาลสมิติเวชได้จัดงานแถลงข่าวลงนามในความร่วมมือทางด้านพัฒนาระบบการแพทย์ ซึ่งในงานก็ได้มีการนำอุปกรณ์ทางการแพทย์จาก Sony ที่น่าสนใจมาจัดแสดงหลายชิ้น
เนื่องจากบล็อกเราได้ถูกเชิญไปร่วมงานด้วย เราก็เลยขออาสาพาชมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ Sony นำมาจัดแสดงในงานครับ
ก่อนที่จะเริ่มพาชมอุปกรณ์ หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า Sony มีสินค้าในหมวดอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วยเหรอ คำตอบก็คือ Sony อยู่ในแวดวงการนี้มาถึง 25 ปีแล้ว โดยผลิตหน้าจอ กล้อง เครื่องบันทึกภาพ และเครื่องพิมพ์สำหรับงานทางการแพทย์โดยเฉพาะ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ก็มีพื้นฐานมาจากเทคโนโลยีของอุปกรณ์ในกลุ่ม Professional ของทาง Sony เองครับ
สำหรับระบบที่ทางสมิติเวชจะนำไปใช้งาน คือ Sony Telehealth Camera System ซึ่งเป็นระบบกล้องที่ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยคนไข้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปเยี่ยมคนไข้โดยตรงได้
ระบบ Telehealth นี่เป็นผลงานการออกแบบของ Sony Australia ซึ่งช่วยลดเวลาของแพทย์จากโรงพยาบาลใหญ่ในการออกเยี่ยมคนไข้ตามโรงพยาบาลสาขาหรือคลีนิคลง เพราะไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปตามสาขาแต่ละแห่ง ซึ่งมีระยะทางไกลกันมาก
ระบบจะประกอบด้วยกล้องวงจรปิด PTZ ตระกูล IPELA จอภาพขนาดเล็ก ไมโครโฟน ลำโพง ไฟสัญญาณ และสวิตช์เปิด – ปิดการใช้งานเพื่อความเป็นส่วนตัวของคนไข้ เวลาใช้งานเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่คนไข้ก็จะเปิดระบบกล้องขึ้นมา เพื่อให้แพทย์ log in เข้าไปเยี่ยมคนไข้ได้
นอกจากนี้ภาพวิดีโอที่ได้จะถูกจัดเก็บในระบบ Content Management System ที่พัฒนาโดย Sony เพื่อนำไปเปิดดูหรือนำไปใช้ในการนำเสนอด้วย Sony Vision Presentater ภายหลังได้
สำหรับอุปกรณ์อื่น ๆ ที่นำมาโชว์ จะมีจอภาพสำหรับผ่าตัดรุ่นใหม่ล่าสุด LMD-2765MD และ LMD-2760MD ขนาด 27 นิ้ว ความละเอียด Full HD ใช้พาเนล IPS พร้อมเทคโนโลยี OptiContrast เชื่อมชั้นกระจกและพาเนลด้วยกาวเรซิน เพื่อลดแสงสะท้อนและเพิ่มความต่างของสี
จอทั้งสองรุ่นนี้สเปกโดยรวมเหมือนกัน ต่างกันที่ช่องต่อเข้าที่รองรับ ตัว 2765 รองรับการเชื่อมต่อทั้งแบบดิจิทัลและแอนาลอก ส่วน 2760 จะรองรับการเชื่อมต่อแบบดิจิทัลอย่างเดียว
ตัวถังของจอยังมีการป้องกันของเหลวเข้า โดยด้านหน้าจะป้องกันได้ถึงระดับ IPX5 ป้องกันกรณีของเหลวสาดเลอะจอ ส่วนด้านหลังที่มีฝาครอบปิดพอร์ตเชื่อมต่อจะป้องกันได้ที่ระดับ IPX2 เพื่อให้ง่ายต่อการทำความสะอาด
ปุ่มควบคุมเป็นแบบกดลงไป ซึ่งถ้าปุ่มไหนมีการใช้งาน ปุ่มนั้นก็จะสว่างขึ้นมา ใช้งานสะดวก
เมนูการใช้งานก็คลาย ๆ กับทีวี Bravia รุ่นเก่า ๆ สมัยที่ยังไม่ได้ใช้ XMB โดยผู้ใช้สามารถตั้งค่าหน้าจอตามช่องต่อเข้าที่ต้องการได้เลย
สำหรับความสามารถที่ทำให้จอสำหรับผ่าตัดแตกต่างจากจอทีวี Bravia ที่เราใช้งานกันคือ โหมดภาพแบบ A.I.M.E ที่ช่วยปรับภาพให้เห็นเส้นเลือดฝอย เส้นประสาทในเนื้อเยื้อได้ชัดเจนมากขึ้น
ต่อไปเป็นชุดกล้องผ่าตัด ประกอบด้วยจอผ่าตัด PVM-2551MD ขนาด 24 นิ้ว ความละเอียด Full HD ใช้พาเนล Trimaster EL OLED ต่อกับกล้องผ่าตัดรุ่น MCC-500HD เครื่องบันทึกภาพ HVO-500MD และเครื่องพิมพ์ UP-DR-80MD
ตัวกล้อง MCC-500HD ใช้เซนเซอร์ Exmor ขนาด 1/2.9 นิ้ว ความละเอียด Full HD รองรับการเชื่อมต่อกับสโคปผ่าตัดที่ใช้ C-Mount ได้ เชื่อมต่อกับส่วนควบคุมกล้อง (CCU) ที่วางอยู่ด้านล่างอีกที
ส่วนชุดที่เป็นพระเอกของงานนี้คือชุดผ่าตัดแบบ 3D ที่ทาง Sony ร่วมมือกับ Olympus ในการพัฒนา โดย Olympus พัฒนาตัว endoscope แบบ 3D ส่วน Sony ก็ทำอุปกรณ์ที่เหลือมารองรับ
ตัวกล้อง MCC-3000MT จะมีหน้าตาคล้าย ๆ กับรุ่น MCC-500HD ข้างบน แต่เซนเซอร์ที่ใช้จะเป็น Exmor ขนาด 1/2 นิ้ว แบบ 3 CMOS เพื่อแบ่งรับข้อมูลสี RGB และตัว CCU เองมีความสามารถมากกว่า
แน่นอนว่ามีกล้อง 3D ก็ต้องมีจอแบบ 3D ไว้ดูภาพเช่นกัน ทาง Sony ได้นำจอ 3D รุ่น LMD-2451MT ขนาด 24 นิ้ว ความละเอียด 1920 x 1200 พิกเซลมาโชว์ด้วย
ตัวจอเป็นระบบ passive ตัวแว่นเลยมีเฉพาะเลนส์ polarized อย่างเดียว ซึ่งก็มีทั้งแบบแว่นปกติ และแบบคลิปสำหรับไปหนีบกับแว่นสายตาอีกที ซึ่งผมก็แปลกใจว่าทำไมจอ Bravia ปกติไม่ทำแบบนี้บ้าง
และก็มาถึงอุปกรณ์ที่ผมว่าเด็ดที่สุดในงานนี้คือ ตัวจอสวมหัว HMS-3000MT ซึ่งมีพื้นฐานมาจากจอสวมหัวสำหรับกลุ่มผู้ใช้ทั่วไปตระกูล HMZ แต่ออกแบบเพื่องานผ่าตัดโดยเฉพาะ มาพร้อมกับตัวประมวลผลภาพ HMI-3000MT รองรับการต่อจอสวมหัวได้สูงสุด 2 ตัว
ปุ่มเปิด – ปิด ปุ่ม 5 ทิศทางสำหรับปรับค่า และตัวปรับระยะเลนส์จะอยู่ด้านล่างของตัวจอ การเข้าเมนูเพื่อปรับค่าต่าง ๆ ทำได้ไม่ยาก เหมือน Bravia รุ่นเก่า ๆ
ด้านในประกอบด้วยจอ OLED คู่ ความละเอียด 1280 x 720 พิกเซล ทั้งหมด 2 จอ สำหรับตาซ้ายและตาขวา ภาพที่ได้มีมิติและสีสันสมจริงสมจัง จนทำเอาผมไปทานข้าวต่อไม่ได้เลยทีเดียว ส่วนอาการภาพไม่รวมกันยังมีอยู่บาง ถ้าสวมจอไม่ได้ตำแหน่งที่ควรจะเป็น
ความพิเศษของจอสวมหัว HMS เมื่อเทียบกับ HMZ คือ ตัวยึดหัวมี 2 จุด และทำมาแน่นหนากว่า ด้านข้างจะมีกรอบใสเพื่อให้ผู้ช่วยใส่จอให้แพทย์ได้ตรงตำแหน่งการมองเห็นพอดี และจะไม่มีกรอบปิดด้านล่างมาให้ เพื่อให้แพทย์สามารถชำเลืองมองคนไข้ด้านล่างของจอได้
สำหรับอุปกรณ์ที่เรานำมาเขียนในวันนี้ เห็นทาง Sony แจ้งว่าสามารถสั่งสินค้าได้แล้ว ยกเว้นจอสวมหัว HMS-3000MT ที่ตอนนี้จัดจำหน่ายเฉพาะในญี่ปุ่นกับยุโรปเท่านั้น แต่ถ้าหากแพทย์ท่านใดที่สนใจ ก็สามารถติดต่อขอทดสอบการใช้งานได้ครับ