ลองฟัง IER-M9 และ IER-M7 หูฟัง In-Ear Monitor ใหม่จาก Sony

Sony Walkman A50

สำหรับสินค้าอื่น ๆ ที่เปิดตัวในงาน ประกอบด้วย Walkman A50 ซึ่งเป็น Walkman ตระกูล A รุ่นประจำปี 2018 โดยความเปลี่ยนแปลงของ A50 คือการนำก้อนอะลูมิเนียมมาเจาะให้เป็นโครงสร้างของเครื่องเหมือน Walkman ZX300 แทนการใช้โครงสร้างที่ทำจากอะลูมิเนียมขึ้นรูปที่ใช้ใน Walkman รุ่นก่อนหน้า รวมทั้งการอัพเดท DSP และความสามารถของ Walkman รุ่นปี 2018 อย่าง Vinyl Processor และ BT Receiver

Walkman A50 จะวางขายในไทย 2 รูปแบบคือ รหัส NW-A55 ความจุ 16 GB ราคา 7,490 บาท และ NW-A56HN ความจุ 32 GB และมาพร้อมกับหูฟังตัดเสียงรบกวน IER-NW500N ที่ราคา 10,990 บาท

Sony WH-1000XM3

หูฟังตัดเสียงรบกวน WH-1000XM3 เป็นหูฟังครอบหูตระกูล 1000X รุ่นที่ 3 ของ Sony ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนเลยคือขนาดที่ดูกระทัดรัดลงกว่า WH-1000XM2 เมื่อปีที่แล้วมาก ส่วนการเปลี่ยนแปลงภายในนั้นประกอบไปด้วย การใช้ชิปประมวลผล HD Noise Cancelling Processor QN1 ซึ่งสามารถประมวลผลเสียงที่ความละเอียด 32 bit รวมทั้งมีภาค DAC และภาคขยายหูฟังภายในตัว การเพิ่มไมโครโฟนภายนอกที่คัพหูฟังด้านซ้าย เพื่อใช้ในการสนทนาโทรศัพท์ และการรองรับระบบผู้ช่วยส่วนตัว Google Assistant และ Amazon Alexa (ยังไม่รองรับในวันจำหน่าย)

ผมเองได้มีโอกาสลองใช้งาน 1000XM3 อยู่เล็กน้อย รู้สึกว่าการประมวลผลตัดเสียงรบกวนทำดีกว่าเดิมมาก ส่วนคุณภาพเสียงที่ผ่านการประมวลผลแล้วก็รู้สึกเป็นธรรมชาติกว่าเดิม ไม่ฟังดูบี้แบน อย่างไรก็ตามจุดอ่อนของหูฟัง 1000X ที่ผมพบเมื่อปีที่แล้ว คือการไม่สามารถใช้ตัวประมวลผลเสียงใด ๆ ได้ เมื่อใช้ A2DP codec เป็น LDAC ก็ยังมีอยู่ใน 1000XM3 ด้วย ถึงแม้ว่าตัวผมเองจะไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ แต่เชื่อว่าอาจจะมีผู้ใช้บางคนซีเรียสก็เป็นได้

ใครที่สนใจ ทาง Sony เริ่มวางจำหน่ายหูฟังตัวนี้แล้ว สนนราคาอยู่ที่ 13,990 บาท ส่วน WH-1000XM2 ที่ยังมีสินค้าเหลืออยู่ ผมเห็นบางร้านเริ่มทำโปรโมชั่นลดราคากันบ้างแล้ว ส่วนตัวถ้าเรื่องราคาไม่ใช่ปัญหา การซื้อหูฟังรุ่นใหม่ย่อมดีกว่าแน่นอน

Sony LSPX-S1

สุดท้ายเป็นของที่ผมไม่คาดคิดว่า Sony Thai จะเอาเข้ามาขายในบ้านเรา มันคือลำโพง LSPX-S1 Glass Sound Speaker ที่เป็นสินค้าในกลุ่ม LifeSpace UX ซึ่งเปิดตัวไปในช่วงต้นปี 2016 และผมเองก็เคยเห็นมันตอนไปร้าน Sony ที่ไทเปในปีเดียวกัน

Sony LSPX-S1

ผมเองได้ฟังเสียงจากลำโพงคร่าว ๆ ก็รู้สึกแปลก ๆ นิดหน่อย อาจจะเป็นเพราะผมไม่ได้เอาโทรศัพท์ไปเชื่อมต่อด้วย ส่วนการควบคุมตัวลำโพงนั้น สามารถทำผ่านแอพ Music Center ได้เลย ผมเองได้ลองการปรับความสว่างของไฟภายในลำโพงดู ซึ่งตัวลำโพงก็ให้การตอบสนองที่รวดเร็วมาก คนที่สนใจจะซื้อไป LSPX-1 ไปใช้งาน ก็เตรียมเงินไว้ 34,990 บาท สินค้าพร้อมจำหน่ายภายในเดือนกันยายนนี้ครับ

และนี้คือรายงานการลองเล่นสินค้าทั้งหมดในงานเปิดตัวสินค้าหมวดเครื่องเสียงของ Sony ที่ผ่านมาครับ ตอนหน้าเราจะลงบทสัมภาษณ์คุณ Kei Matsushima ซึ่งเป็นวิศวกรหัวหน้าทีมพัฒนา MDR-Z7M2 และคุณ Shinosuke Tatsuyama ซึ่งเป็น Mechanical Engineer ทีมการพัฒนา IER-Z1R ครับ แฟน ๆ Sony อย่าลืมติดตามกันนะครับ

Leave a Reply