ในระยะหลังมานี้ เรามักจะได้ยินเกี่ยวกับการรับรอง MFi เวลาที่เกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเหล่าอุปกรณ์เสริมสำหรับอุปกรณ์ iOS กันมากขึ้น ทั้งตอนที่มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตเพราะไฟรั่วจากที่ชาร์จของ iPhone หรือล่าสุดที่ iOS 7 มีการขึ้นแจ้งเตือนเมื่อใช้สาย Lightning ที่ไม่ได้รับการรับรอง
RE.V-> เลยขอถือโอกาสนี้ในการแนะนำ MFi Program มาให้รู้จักกันมากขึ้นครับ
MFi Program
MFi Program เป็นโปรแกรมของ Apple สำหรับผู้ออกแบบ พัฒนา และผลิตอุปกรณ์เสริมที่เชื่อมต่อเข้ากับ iPod, iPhone และ iPad โดยผู้ที่เข้าร่วมจะได้รับการสนับสนุนข้อมูลทางเทคนิค อุปกรณ์ทดสอบ การสนับสนุนทางเทคนิคจากวิศวกรของ Apple โดยตรง และสามารถซื้อชิ้นส่วนที่จำเป็นในการผลิตอุปกรณ์เสริมนั้นจากทาง Apple ได้ เช่น หัวปลั๊ก 30-pin หัวปลั๊ก Lightning ชิปรีโมทหูฟัง ชิปเซ็ท AirPlay หรือที่กำลังออกมาในเร็ว ๆ นี้อย่างชิ้นส่วนจอยเกม เป็นต้น แลกกับการกิน % ของรายได้จากอุปกรณ์เสริมที่ผลิตขึ้นมา
สำหรับอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่ Apple กำหนดและได้รับการรับรองแล้ว ผู้ผลิตก็จะสามารถใช้โลโก้ Made for iPod, Made for iPhone, Made for iPad หรือ AirPlay ในการประชาสัมพันธ์สินค้าได้
ทาง Apple ได้กำหนดประเภทของลิขสิทธิ์ในโปรแกรม MFi อยู่ 2 ประเภท คือ ลิขสิทธิ์การพัฒนา ที่จะมีสิทธิ์ในการออกแบบตัวสินค้าได้อย่างเดียว และลิขสิทธิ์การผลิต ที่นอกเหนือจะออกแบบตัวสินค้าได้แล้ว จะได้รับใบรับรอง สิทธิ์ในการซื้อชิ้นส่วน MFi ที่จำเป็นเป็นจำนวนมาก เพื่อผลิตสินค้าสำเร็จออกมาได้ และยังได้รับข้อมูลการขาย สต๊อกสินค้า และรายงานประมาณยอดขายจากทาง Apple เพื่อวางแผนในการผลิตสินค้าอีกด้วย
จากข้อมูลในตารางข้างบน สรุปง่าย ๆ คือ ผู้ที่ถือสิทธิ์การพัฒนาะจะไม่สามารถผลิตสินค้าที่ตัวเองออกแบบขายเองได้ ต้องให้ผู้ที่ถือสิทธิ์การผลิตทำการผลิตให้เท่านั้น
สำหรับบริษัทที่สนใจจะพัฒนาหรือผลิตอุปกรณ์เสริมก็สามารถสมัครกับทาง Apple ได้โดยตรง โดยจะมีการตรวจสอบเครดิตก่อนการอนุมัติ และบริษัทที่ต้องการสิทธิ์การผลิต จะต้องมีโรงงานผลิตเป็นของตัวเองด้วย
อย่างไรก็ตาม หากสินค้าที่จะทำนั้นเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth เป็นเคส หรือฟิล์มกันรอย ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องสมัคร MFi Program โดยเฉพาะสองอย่างหลัง ทาง Apple เตรียมเอกสารแนวทางการออกแบบ และไฟล์ CAD ของ iDevices แต่ละตัวให้โหลดในเว็บไซต์อยู่แล้ว
Is it a real MFi certified product ?
เนื่องจากโลโก้ MFi มันเป็นแค่ตัวพิมพ์ธรรมดา ๆ ใครที่มีรูปก็สามารถพิมพ์ลงกล่อง หรือเอาไปตัดต่อลงเว็บก็ได้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า อุปกรณ์เสริมที่เราซื้อนั้นได้รับการรับรอง MFi จาก Apple จริง ๆ ผมเลยรวบรวมวิธีการดูแบบคร่าว ๆ มาให้
- อาร์ทเวิร์คของโลโก้ไม่เหมือนกับโลโก้ของทาง Apple อันนี้ดูไม่ยากครับ โลโก้รูปไม่ตรง ตัวอักษรไม่ใช่ ก็น่าจะไม่ได้การรับรองจริง ๆ แล้ว
- ของที่จะซื้อเข้าข่ายเป็นสินค้าที่ต้องมีสิทธิ์ MFi ในการผลิตหรือเปล่า อย่างที่เขียนในตอนต้นว่าอุปกรณ์เสริมที่ต้องได้สิทธิ์ต้องมีการเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์ iDevices หากอุปกรณ์เชื่อมต่อไม่ได้ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องติดโลโก้ตัวนี้ นอกจากว่าจะมีเหตุผลอื่น ๆ เช่น ที่ชาร์จ ถ้ามาพร้อมสาย Lightning ต้องมี MFi อยู่แล้ว แต่ถ้าที่ชาร์จมาเดี่ยว ๆ แล้วมีโลโก้ MFi แบบนี้ต้องพึ่งระวัง
- ตรวจสอบผู้ผลิตว่าได้สิทธิ์ในการผลิตหรือไม่ เราสามารถตรวจสอบผู้ผลิตสินค้าว่าได้รับสิทธิ์ MFi หรือเปล่าจากเว็บไซต์ของทาง Apple ได้ แต่วิธีนี้ก็อาจจะเช็คไม่ได้ 100% ซะทีเดียว เนื่องจากทาง Apple อนุญาตให้ผู้ผลิตที่ได้สิทธิ์ MFi สามารถผลิตสินค้าในรูปแบบ OEM ให้บริษัทอื่นได้ โดยบริษัทที่จ้าง OEM สามารถใช้โลโก้ MFi บนสินค้าชิ้นนั้นได้ด้วย
- ตรวจสอบจุดอื่นของสินค้า เช่น การตรวจสอบสาย Lightning ที่เราเคยแนะนำไปแล้ว หรือตรวจเช็คจากจุดอื่น ๆ ซึ่งในปัจจุบัน บริษัทที่สินค้าตัวเองถูกทำเลียนแบบบ่อย ๆ ก็เพิ่มข้อมูลการดูว่าสินค้าเป็นของจริงหรือเลียนแบบในเว็บไซต์ของตัวเองแล้ว
ก็จบไปแล้วสำหรับเรื่อง MFi Program ที่นอกเหนือจะออกมาเพื่อเก็บเงินผู้ผลิตอุปกรณ์เสริมแล้ว ยังสร้างความมั่นใจในอุปกรณ์เสริมชิ้นนั้นให้กับผู้ใช้งานอีกด้วย อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการตรวจสอบการรับรอง MFi แล้ว ก็ควรที่ตรวจสอบดูด้วยว่าอุปกรณ์ที่เราซื้อนั้น ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยอื่น ๆ ด้วยหรือเปล่านะครับ
Pingback: รู้จักโครงการรับรองอุปกรณ์เสริมจากผู้ผลิตอื่น เพื่อผู้ใช้หรือเพื่อกำไรเข้ากระเป๋า
Pingback: Apple ออกคุณสมบัติ MFi ของหูฟังเชื่อมต่อผ่านพอร์ต Lightning