รีวิว แล็ปท็อป ThinkPad X1 Extreme Gen 4 เมื่อประสิทธิภาพประสานเข้ากับความบางเบา

Product – Software

thinkpad-x1-extreme-gen-4-lenovo-commercial-vantage

สำหรับซอฟต์แวร์ที่มากับ ThinkPad X1 Extreme Gen 4 นั้นยังคงไม่แตกต่างจากซอฟต์แวร์ที่ให้มากับ ThinkPad X1 Extreme รุ่นก่อนหน้ามากนัก เพียงแต่คราวนี้ด้วยความที่ตัวเครื่องเป็นรุ่นหน้าจอแบบ WQXGA ซึ่งไม่ได้มีลูกเล่นหน้าจออะไรติดมา ทำให้ซอฟต์แวร์ควบคุมเครื่องที่ให้มาจะมีเพียง Lenovo Commercial Vantage ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ควบคุมสำหรับผู้ใช้กลุ่ม Enterprise ซึ่งจะตัดส่วนแจ้งข่าวสารที่มีใน Lenovo Vantage ตัวปกติออกไป และ Dolby Access สำหรับตั้งค่าระบบเสียง Dolby Atmos ที่ติดมากับเครื่องเท่านั้น

thinkpad-x1-extreme-gen-4-power-smart-settings

การปรับแต่งส่วนต่าง ๆ ของเครื่องนั้นไม่แตกต่างจากเดิมมากนักทั้ง Airplane Mode, การตั้งค่าประจุแบตเตอรี่ และ Smart Standby แต่ที่มีการเปลี่ยนแปลงคือ Intelligent Cooling ซึ่งใช้กำหนดประสิทธิภาพการทำงานและการใช้พลังงานของตัวเครื่อง ได้ปรับรูปแบบการทำงานใหม่จาก 3 รูปแบบเป็น 4 รูปแบบคือ

  • Quiet Mode ปรับประสิทธิภาพของเครื่องและความเร็วรอบพัดลมให้น้อยที่สุด เพื่อให้ตัวเครื่องทำงานได้เงียบ, เย็น และประหยัดแบตเตอรี่ที่สุด (มีเฉพาะตอนใช้แบตเตอรี่เท่านั้น)
  • Balance Mode ปรับประสิทธิภาพและความเร็วรอบพัดลมให้เหมาะสมการใช้งานมากที่สุด
  • Performance Mode ปรับความเร็วรอบพัดลมและอุณหภูมิพื้นผิวของเครื่องให้สูงขึ้น
  • Ultra-performance Mode ปรับให้เครื่องทำงานที่ประสิทธิภาพสูงสุด โดยแลกกับเสียงที่ดังขึ้นและอุณหภูมิพื้นผิวของเครื่องที่สูงขึ้น

การปรับรูปแบบ Intelligent Cooling ยังคงทำได้ง่าย ๆ ด้วยการเลื่อนแถบของเมนู Power บน Taskbar เช่นเดิม โดยทางซ้ายสุดจะเป็น Quiet Mode (เมื่อใช้แบตเตอรี่) หรือ Balance Mode (เมื่อต่ออะแดปเตอร์) และทางขวาสุดจะเป็น Ultra-performance Mode

Performance

รอบนี้ผมได้ซื้อ ThinkPad X1 Extreme Gen 4 ให้กับที่บ้านไว้ใช้งานที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณและเขียนโปรแกรม เนื่องจากคอมตัวนี้ไม่ใช่เครื่องของผมเอง จึงอาจจะไม่ได้ลองใช้งานอะไรมากเท่ากับรีวิวคราวที่แล้ว ซึ่งเป็นเครื่องใช้งานของผมเองครับ

ThinkPad X1 Extreme Gen 4 vs Gen 2 – Display

ในแง่ของตัวเครื่องภายนอก ผมคิดว่าไม่มีความแตกต่างจาก X1 Extreme Gen 2 ที่ผมใช้งานอยู่มากนัก นอกจากขนาดของตัวเครื่องและน้ำหนักที่มีมากกว่า เมื่อเปิดฝาบนของเครื่องขึ้นมา พบว่าตัวบานพับนั้นได้ปรับปรุงให้มีสัมผัสการเปิดที่ลื่นและมั่นคงกว่าเดิมมาก อย่างไรก็ตามจุดที่ผมไม่ชอบเลยคือการขยายขนาดโลโก้ X1 และย้ายมันไปอยู่ข้างใต้โลโก้ ThinkPad ที่ทาง Lenovo เริ่มทำกับ ThinkPad ตระกูล X1 รุ่นปี 2020 ที่ผ่านมา ส่วนตัวมองว่ามันพยายามฝืนป่าวประกาศความเป็นแบรนด์ X1 ออกมามากเกินไป

คุณภาพหน้าจอ WQXGA นั้นมีความสว่างและความคมชัดที่ดีและเพียงพอต่อการใช้งานทั่วไปในปัจจุบัน ไม่ใช่จอเกรดทั่วไปที่มักเจอให้แล็ปท็อปสำหรับธุรกิจราคาถูก หากเทียบกับจอ 4K ของ X1 Extreme รุ่นก่อนหน้า สีสันของจอตัวนี้ดูจะซีดกว่าและมีโทนสีออกไปทางน้ำเงิน ส่วนเรื่องความละเอียดนั้น ถ้าไม่ได้ตั้งใจเพ่งจับผิดกันจริง ๆ ก็ไม่เห็นความแตกต่างเท่าไร ส่วนตัวคิดว่าหากไม่ได้ต้องใช้งานจอแสดงผล HDR หรือ Adobe RGB จริง ๆ การเลือกใช้งานจอ WQXGA เพื่อแลกกับอายุแบตเตอรี่ที่นานกว่านั้นดูคุ้มค่ากว่า

สำหรับอุปกรณ์ป้อนคำสั่งของเครื่องนั้น ตัวที่ผมคิดว่าเปลี่ยนแปลงไปมากที่สุดคือทัชแพดซึ่งถูกปรับให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ลาก Gesture ง่ายขึ้น และการปรับผิวกระจกให้มีความสากน้อยลง ทำให้ตัวทัชแพดเลอะขี้ไคลจากนิ้วได้ยากขึ้น เพราะผิวทัชแพดในรุ่นเดิมสากมากจนสามารถลอกขี้ไคลออกจากนิ้วได้ หลายคนเลยเข้าใจผิดว่าผิวทัชแพดลอก

ส่วนคีย์บอร์ด 6 แถวและ TrackPoint นั้น ยังคงมาตรฐานเดิมของ X1 Extreme รุ่นก่อนหน้า ที่ยังให้สัมผัสการทำงานที่ดี ถึงแม้การจัดวางปุ่มของคีย์บอร์ดจะดูขัดใจผมไปบ้าง แต่ส่วนตัวก็เริ่มชินจากการใช้งานคีย์บอร์ดรุ่นเก่ามาแล้ว เลยไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา ตัว TrackPoint คราวนี้ได้ของ ELAN มา แทบไม่เจออาการ TrackPoint วิ่งเองเลย และตัว TrackPoint ไม่สามารถกดเพื่อคลิกได้แล้ว ทำให้สะดวกในการ Scroll มากขึ้น (ในรุ่น Gen 2 ทาง Lenovo ออกอัพเดทมาปิดการกด TrackPoint เพื่อคลิกหลังจากที่ผมเขียนรีวิวไป)

ThinkPad X1 Extreme Gen 4 with Sony MDR-EX1000

เรื่องคุณภาพเสียงของ X1 Extreme Gen 4 นั้น การย้ายตำแหน่งและขยายขนาดลำโพงนั้นส่งผลให้คุณภาพเสียงนั้นดีขึ้นมากกว่าเดิมมาก ทั้งระดับความดัง, ความชัดเจน และมิติสเตอริโอของเสียง ส่วนที่ยังคงไม่สามารถปรับปรุงได้มีเพียงกับขับเสียงในย่านความถี่ต่ำ ซึ่งถึงแม้จะทำได้ดีกว่ารุ่นเก่า แต่ก็เป็นข้อจำกัดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับดอกลำโพงขนาดเล็ก ส่วนการประมวลผลเสียง Dolby Atmos นั้นยังคงลักษณะแนวเสียงเดิมเช่นเดียวกับ X1 Extreme รุ่นก่อนหน้า และอุปกรณ์ Dolby Atmos อื่น ๆ ที่ผมเคยใช้งานมา ซึ่ง Preset แบบ Dynamic นั้นตอบโจทย์ในแง่การใช้งานทั่วไป แต่การฟังเพลงนั้น ผมปรับ Intelligent Equalizer ของ Music เป็น Detail เพื่อเพิ่มความคมชัดมากขึ้น

ส่วนเสียงจากแจ็คหูฟังจัดว่าทำได้มาตรฐาน ไม่มีสัญญาณรบกวนดังขึ้นมาให้ได้ยิน แนวเสียงถึงแม้จะเน้นเสียงย่านกลางเป็นหลัก แต่ก็รู้สึกว่าได้ว่ามีเสียงเบสนั้นมีมากกว่า X1 Extreme Gen 2 ที่ผมใช้งานอยู่ คงอาจจะเป็นเพราะชิป Audio Codec ที่ใช้เป็นคนละตัวกัน (Gen 4 เป็น Realtek ALC3306 ส่วน Gen 2 เป็น Synaptic CX11880) เมื่อนำมาเทียบกับกัน เสียงของ Gen 4 จะฟังดูมีพลัง แต่ Gen 2 จะฟังดูโปร่ง ๆ สบาย ๆ กว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อเปิดใช้ Dolby Atmos แล้ว แนวเสียงจะไม่ได้แตกต่างกันมากขนาดนั้น

สำหรับกล้องเว็บแคมที่ติดมากับเครื่อง คุณภาพของภาพจัดว่าดีขึ้นแบบผิดหูผิดตาจากรุ่นเดิม ทั้งความคมชัดและความสว่าง รวมไปถึงมุมมองภาพที่กว้างขึ้นกว่าเดิมมาก โดยรวมแล้วถือว่าตอบโจทย์การใช้งานกับโปรแกรมสื่อสารยอดนิยมต่าง ๆ อย่างไรก็ตามตัว Lenovo Commercial Vantage ไม่สามารถใช้งาน Camera Privacy Mode ที่ปิดกล้องอีกชั้นด้วยซอฟต์แวร์ได้แล้ว ทำให้การปิดการใช้งานกล้องเหลือเพียงการเลื่อน ThinkShutter เพื่อบังเลนส์และปิดการทำงานของกล้องเพียงอย่างเดียว

thinkpad-x1-extreme-gen-4-crystaldiskmark

เรื่องประสิทธิภาพของเครื่อง คราวนี้ผมไม่มีโอกาสทดสอบกับโปรแกรมที่ผมใช้งานประจำเลย ได้แต่ตั้งค่าเครื่องในโหมด Performance และเล่นเพลงจากโปรเจกต์ตัวอย่างของ Ableton Live 11 ซึ่งซีพียู Core i7-11800H สามารถรับมือกับแทรคที่ใช้ซีพียูประมวลผลหนัก ๆ ได้ดีกว่า Core i7-9750H แบบเห็นได้ชัด ถึงแม้จะมีช่วงที่ CPU ทำงานหนักจนเกิน 100% บาง แต่เสียงที่ออกมาแทบไม่ตะกุกตะกักเลย

ส่วนตัว SSD คราวนี้ Lenovo จัดไดร์ฟ Samsung PM9A1 ซึ่งเป็นไดร์ฟรุ่น OEM ของ Samsung 980 Pro มาให้ ทางผู้ผลิตเคลมความเร็ว Sequential Read ที่ 6,900 MB/s และ Sequential Write ที่ 5,000 MB/s เอาไว้ ซึ่งจากการใช้โปรแกรม CrystalDiskMark ทดสอบก็พบว่าได้ความเร็วใกล้เคียงกับที่เคลมเอาไว้

ความร้อนที่เกิดขึ้นระหว่างใช้งานนั้น ผมคิดว่าทำได้ใกล้เคียงกับ X1 Extreme Gen 2 ที่ผมใช้งานอยู่ในปัจจุบัน คือตัวเครื่องอุ่น ๆ และพัดลมทำงานไม่ดังมากใน Quiet Mode และ Balance Mode แต่ความร้อนจะสูงขึ้นและพัดลมเสียงดังมากขึ้นใน Performance Mode ส่วน Ultra-performance Mode ที่เพิ่มเข้ามา ตัวเครื่องจะมีอุณหภูมิอุ่นจนร้อนและพัดลมจะทำงานที่รอบสูงเสียงดังมากตลอดเวลา ซึ่งส่วนตัวผมมองว่าการทำงานที่ Performance Mode ก็จัดว่าเร็วต่อการใช้งานทั่วไปแล้ว

ThinkPad X1 Extreme Gen 4 – Charging

สำหรับอายุการใช้งานแบตเตอรี่ของ X1 Extreme Gen 4 นั้น ผมได้ทดลองตั้งค่า Intelligent Cooling ใน 2 ลักษณะคือแบบเน้นประหยัดแบตเตอรี่ซึ่งผมได้ตั้งค่าเป็น Balance Mode และเน้นแบบพลังประมวลผลซึ่งผมได้ตั้งค่าเป็น Performance Mode สลับกับ Ultra-performance Mode ในบางครั้ง แล้วนำเครื่องไปใช้งานเปิดเว็บและเปิดวิดีโอบนอยู่ YouTube เว้นแต่ตอนที่วัดแบบเน้นพลังประมวลผลที่ผมเปิด Ableton Live ใช้งานไปด้วย

ตอนใช้งานเน้นประหยัดแบตเตอรี่ ผมใช้งานเครื่องรวมได้ประมาณ 3 ชม.17 นาที และ Sleep เครื่องเข้าโหมด Connected Standby รวม 4 ชม. 37 นาที ด้วยปริมาณแบตเตอรี่เริ่มต้นเพียง 28% และลดลงจนเหลือ 11% ในตอนที่ผมพิมพ์ Battery Report ออกมา ส่วนตอนที่ใช้งานเน้นประสิทธิภาพ ผมสามารถใช้งานเครื่องรวมได้ประมาณ 1 ชม. 47 นาที และเข้าโหมด Connected Standby รวม 6 ชม. 32 นาที จากแบตเตอรี่เริ่มต้น 100% จนลดลงเหลือไม่ถึง 10% ซึ่งผมสังเกตว่าแบตเตอรี่มาลดลงเอามากตอนที่ใช้งาน Ultra-performance Mode ตอนช่วงแบตเตอรี่ที่เหลือประมาณ 60% ซึ่งตัวเครื่องก็ใช้เวลาประมาณเกือบชม. ทำให้แบตเตอรี่ลดลงเหลือน้อยกว่า 10% ได้ ส่วนตัวคิดว่าถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ไม่แนะนำให้ใช้ Ultra-performance Mode ขณะที่ไม่ได้เสียบปลั๊กโดยไม่จำเป็นดีกว่า

ในการชาร์จไฟกลับเข้าแบตเตอรี่ ตัวเครื่องใช้เวลาชาร์จไฟจาก 7% กลับไปเต็ม 100% อีกครั้งประมาณ 2 ชั่วโมง โดยในช่วงชาร์จไฟให้ถึง 80% จะใช้เวลาประมาณ 1 ชม. ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับ ThinkPad X1 Extreme รุ่นก่อนหน้า ส่วนการชาร์จผ่านพอร์ต Thunderbolt 4 นั้น ทาง Lenovo ยังคงระบุชัดเจนว่าไม่รองรับ แต่ก็มีคนลองนำที่ชาร์จ USB-PD กำลัง 100 วัตต์ไปชาร์จกัน ก็พบว่าสามารถชาร์จได้ แต่ผู้ใช้ก็ต้องรับความเสี่ยงกันเอง ซึ่งในคราวนี้ผมมองว่าความเสี่ยงนั้นมีมากกว่าเดิม เพราะตัวเครื่องใช้กำลังไฟมากกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะคนที่เลือกสเปก GPU ที่ใช้พลังงานมาก ๆ เข้ามา

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการใช้งานนั้น ผมเองไม่ได้เจอปัญหาอะไรเป็นพิเศษ ส่วนตัวคิดว่าซอฟต์แวร์และไดร์เวอร์ต่าง ๆ คราวนี้ทำออกมาได้เรียบร้อยกว่ารอบที่แล้วมาก แต่สาเหตุที่ไม่เจอปัญหา อาจเป็นเพราะผมไม่ได้เลือกหน้าจอที่รองรับ HDR และ Dolby Vision ที่เป็นปัญหาหลักที่เจอในรุ่น Gen 2 ที่เคยรีวิวไปก็ได้

Conclusion

ThinkPad X1 Extreme Gen 4

จากการใช้งาน ThinkPad X1 Extreme Gen 4 เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ผมคิดว่า Lenovo เองยังคงรักษาความดีของแล็ปท็อปตระกูลนี้ไว้ได้ ทั้งเรื่องวัสดุและงานประกอบ, หน้าจอคุณภาพสูง, คีย์บอร์ดและ TrackPoint ที่ทำมาเพื่อคนทำงาน นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงจุดด้อยของแล็ปท็อปรุ่นนี้ให้ดีขึ้น เช่น กล้องเว็บแคม ที่คุณภาพอาจจะยังสู้กล้องหน้าของสมาร์ทโฟนไม่ได้ แต่ก็มีคุณภาพเพียงพอที่จะตอบโจทย์การใช้งานได้

จุดที่ผมไม่ชอบในแล็ปท็อปรุ่นนี้คือการบริโภคพลังงาน ที่มีสาเหตุจาก CPU และ GPU นั้นใช้พลังงานมากกว่าเดิม จนต้องใช้ที่ชาร์จซึ่งมีกำลังมากขึ้น ส่งผลให้ที่ชาร์จมีขนาดและน้ำหนักมากขึ้น ถึงแม้ว่าทาง Lenovo จะให้ที่ชาร์จแบบ Slim กับแล็ปท็อปรุ่นนี้ก็ตาม

สิ่งที่ผมไม่ชอบอีกอย่าง แต่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับตัวเครื่องคือระยะเวลาการสั่งของจาก Lenovo ที่ใช้ระยะเวลานานมากเกือบ 4 เดือน ซึ่งถึงแม้ว่าผมจะไม่ชอบ แต่ก็ทำอะไรมากไม่ได้เนื่องจากสถานการณ์ชิปขาดแคลน อย่างไรก็ตามพนักงานหลังบ้านก็ให้บริการได้ดีเป็นมาตรฐาน

สรุป ใครที่กำลังมอกหาแล็ปท็อปทำงานประสิทธิภาพสูงที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows และมีขนาดที่ยังสามารถพกพาได้สะดวกอยู่ ผมคิดว่า ThinkPad X1 Extreme Gen 4 ยังคงเป็นตัวเลือกที่น่าหยิบมาพิจารณาตัวหนึ่งครับ

Like

  • วัสดุและงานประกอบดูแข็งแรง รวมทั้งการปรับปรุงการทำงานของบานพับที่ทำได้ลื่นไหลกว่าเดิม
  • พาเนลจอ WQXGA ครอบคลุมการแสดงผลสี sRGB 100% เพียงพอกับการใช้งานทั่วไป และไม่บริโภคพลังงานจากแบตเตอรี่มากจนเกินไป
  • ทัชแพดปรับขนาดใหญ่ขึ้น และมีผิวที่สากน้อยลง
  • คีย์บอร์ดและ TrackPoint มีคุณภาพดี เหมาะกับผู้ใช้สายทำงาน
  • ลำโพงระบบ Dolby Atmos เสียงดังและชัดเจนมากกว่าเดิม
  • คุณภาพจากกล้องเว็บแคมดีขึ้นกว่าเดิมมาก

Don’t like

  • ขนาดและน้ำหนักของเครื่องเพิ่มขึ้น
  • โลโก้ X1 ที่ประกาศความเป็นแบรนด์ X1 มากเกินไป
  • พอร์ต Gigabit LAN ที่ถูกตัดออกไป
  • ช่องเสียบ SSD เหลือเพียงช่องเดียว หากเลือก GPU รุ่นที่สูงกว่า GeForce RTX 3050 Ti
  • อะแดปเตอร์ชาร์จไฟมีกำลังไฟและน้ำหนักมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อรองรับการใช้พลังงานของ CPU และ GPU ที่มากขึ้น
  • อายุแบตเตอรี่, ความร้อน และเสียงพัดลมของเครื่องเมื่ออยู่ในโหมด Ultra-performance

More info

Lenovo

Leave a Reply