ต่อไปเป็นคำถามข้อสุดท้ายครับ คือผมไม่ค่อยจะได้เห็นผู้ผลิตหูฟังออกมารณรงค์เรื่องการฟังเพลงอย่างปลอดภัย แต่ FitEar มีน้อง Mone
โอ้! ขอบคุณครับ
เลยอยากจะทราบความเป็นมาของโครงการ Safe Listening ที่สนับสนุนการฟังอย่างปลอดภัยครับ
(คุณ Suyama หยิบแฟ้ม Safe Listening ลาย Monet มาวางบนโต๊ะ) เราเริ่มต้นโครงการเล็ก ๆ นี้ตอนปี 2010 เหตุผลที่เริ่มโครงการนี้ เพราะเราทำหูฟัง CIEM และมีลูกค้าบางคนเข้ามาบอกว่าหูฟังของเรานั้นดีมาก เลยเอาไปใช้ตอนขณะขี่จักรยาน ได้โปรดอย่าทำตามนะครับ
จริง ๆ ตอนผมหนุ่ม ๆ ก็ทำแบบเดียวกัน แล้วก็เกือบต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรมาแล้ว 2 ครั้ง การฟังเพลงขณะขี่จักรยานก็เป็นเรื่องที่สนุกนะครับ แต่มันก็เป็นเรื่องที่อันตราย แต่ก็ไม่มีคนก็ไม่สนใจว่ามันอันตรายอย่างไร ผมก็คิดว่าเราจะอธิบายเหตุผลให้ลูกค้าฟังอย่างไรดี แต่โชคดีว่า เราเองก็เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านหูจากการทำเครื่องช่วยฟังมาเป็นเวลานาน
หากคุณใช้หูฟังขณะขี่จักรยาน คุณจะไม่สามารถรู้สึกถึงสัญญาณเตือนรอบ ๆ ตัวที่บอกถึงอันตรายที่กำลังเข้ามา เวลาคุณขี่จักรยาน มองตรงไปข้างหน้า หากมีเสียงเข้ามาทางขวา คุณก็จะหันไปมองทางขวา มีเสียงเข้ามาทางซ้าย คุณก็จะหันไปมองทางซ้าย แต่ถ้าคุณใส่หูฟังอยู่ มุมมองของคุณจะคงที่อยู่ข้างหน้า เพราะคุณไม่สามารถรู้สึกถึงอันตรายรอบข้างที่กำลังจะเข้ามาได้
ในญี่ปุ่นเอง ก็มีอุบัติเหตุจราจรครั้งใหญ่เกิดขึ้นเสมอ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ที่ตัวคุณจะต้องรับผิดชอบอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับตัวคุณเอง แต่ในบางเคสคุณเองได้สร้างปัญหาใหญ่ให้ผู้อื่นเช่นกัน ดังนั้นเรื่องนี้จีงกลายมาเป็นคำสัญญาข้อแรก ที่ให้ฟังเพลงอย่างปลอดภัย ส่วนคำสัญญาข้ออื่นก็คือให้ระวังระดับความดังของเสียง และพักผ่อนหูของคุณบ้าง
ถ้าปัญหาพวกนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ เข้า ภาครัฐก็อาจจะออกกฎห้ามใช้หูฟังออกมา ให้ใช้ได้เฉพาะตอนอยู่ในห้อง และระดับความดังของเสียงก็จะถูกกำหนดขึ้นมา
เหมือนในยุโรปหรือเปล่าครับ
ใช่ครับ อย่างที่เราทราบกันว่าฝรั่งเศสออกกฏที่เข้มงวดในปี 1998 ซึ่งบริษัทต่าง ๆ ในยุโรปก็ทำตามกฎนี้ ตอนนี้ WHO (World Health Organization) ก็ได้พูดคุยถึงกฎใหม่ ที่จะจำกัดความดังของเสียงให้ต่ำกว่า 80 เดซิเบล และระยะเวลาในการฟังเพลงต้องไม่เกิน 1 ชม. ต่อวัน ดังนั้น ผมหวังเพียงจะปกป้องหูของลูกค้า แต่ผมหวังที่จะปกป้องความสนุกในการฟังเพลงด้วย จึงทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้นมาครับ
ผมเองก็มีเรื่องอยากจะขอร้องคนไทยที่รักการฟังเพลง คือตอนนี้เรามีเว็บไซต์ของโครงการเป็นภาษาญี่ปุ่น, อังกฤษ, ฝรั่งเศส และเกาหลี เราอยากที่จะทำเว็บไซต์เป็นภาษาอื่น ๆ เช่น ไทย, อินโดนีเซีย, จีน ดังนั้นถ้าใครสามารถแปลเนื้อหาในเว็บไซต์เราจากภาษาญี่ปุ่นหรือเป็นภาษาอังกฤษได้ โปรดบอกผมด้วย และอย่าลืมเข้าไปชมเว็บไซต์ของเรา safelistening.net ครับ
คุณ Suyama เคยเจอลูกค้าที่มีปัญหาเกี่ยวกับหูของตัวเองบ้างไหมครับ อย่างผมเป็นแฟนเพลงของวงไอดอลวง Ebichu (Shiritsu Ebisu Chuugaku)
อ๋อ รู้จักครับ
คุณ Kashiwagi ผมทราบว่าเธอมีปัญหาเรื่องหู และเห็นเธอต้องใส่จุกอุดหู FitEar Silent แทนหูฟัง FitEar ที่เคยใส่อยู่น่ะครับ
ครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากที่จะอธิบายอยู่ เรามีลูกค้าที่มีความบกพร่องทางการได้ยินอยู่ สาเหตุอย่างหนึ่งก็คือ เสียงที่ดัง ซึ่งโครงการ SAFE LISTENING ได้รณรงค์เรื่องนี้ในกลุ่มผู้ใช้ทั่วไปและผู้ใช้มืออาชีพอยู่ แต่เคสที่คุณบอกมานั้นเกิดจากสาเหตุอื่น ซึ่งเรียกว่าประสาทหูเสื่อมแบบเฉียบพลัน ซึ่งไม่ได้เกิดจากเสียงที่ดัง แต่เกิดจากความกดดันจากความเครียดที่สูง ความเหนื่อยทั้งร่างกายและจิตใจ ส่งผลกับประสาทหูชั้นใน ทำให้ระดับการได้ยินเสียงลดน้อยลงกว่า 30 dB และในเคสทั่วไป จะเกิดอาการนี้ที่หูเพียงข้างเดียว นี่คืออาการทั่วไปของโรคนี้ครับ
ในปัจจุบันก็ศิลปินญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงบางคนก็เป็นโรคนี้อยู่ เช่น Tsuyoshi Domoto วง KinKi Kids ก็มีปัญหานี้กับหูของเขา Ayumi Hamasaki ก็มีปัญหานี้เช่นกัน นอกจากนี้ก็ยังมีศิลปินคนอื่น ๆ ที่เป็นโรคนี้กันอีก เพราะพวกเขายุ่งมาก แบกรับความเครียดเยอะ มีตารางงานที่แน่น ถ้าพวกเขารู้ว่ามีปัญหานี้ ก็ต้องหยุดพักทันที 1 – 2 สัปดาห์ แต่พวกเขาโชคร้ายที่ไม่มีเวลาพัก และสำนักงานก็ไม่อนุญาตให้พวกเขาพัก อาการก็เลยแย่ลงจนกลายเป็นหูหนวกถาวร นั่นเป็นปัญหาที่ร้ายแรงสำหรับศิลปินมืออาชีพครับ
ปัจจุบัน ศิลปินหลายคนรู้ว่าจะต้องปกป้องหูของตนเองจากเสียงที่ดัง ศิลปินหลายคนเริ่มที่จะใช้หูฟัง CIEM เพื่อปกป้องหูของตนเอง บางครั้งพวกเขาก็ใช้จุกอุดหูด้วย เราก็อยากจะขยายเรื่องนี้มายังผู้รักในเสียงเพลงด้วยครับ
ตัวผมเอง ก็เห็นด้วยและรณรงค์เรื่องนี้อยู่เหมือนกันครับ ผมเห็นในเว็บบอร์ดที่มีคนใช้หูฟัง Shure และมีปัญหาว่าได้ยินเสียงเบสไม่พอ แม้จะเพิ่มความดังเสียงจากเครื่องเล่นจนสุดแล้วก็ตาม จนต้องไปหาแอมป์หูฟังมาต่อเพิ่มเพื่อเร่งความดังเพิ่มอีก จนสุดท้ายก็สูญเสียการได้ยินไปครับ
ครับ ผมเองก็อยากจะได้โอกาสพูดคุยกับศิลปินไทย ที่สนใจทดลองใช้หูฟังของเราในการปกป้องหูของพวกเขา ถ้าคุณไปเจอพวกเขาเหล่านี้ ก็ช่วยบอกผมด้วยนะครับ
การสัมภาษณ์ก็จบลงเพียงเท่านี้ครับ คุณ Suyama มีข้อความอะไรจะฝากถึงแฟน ๆ FitEar ในไทยและลูกค้า FitEar ในอนาคตไหมครับ
ผมขอขอบคุณทุกคนที่ให้การสนับสนุนเรา เราหวังที่จะนำเสนอสินค้าให้กับผู้รักเสียงเพลงในประเทศไทยต่อไป และขอขอบคุณทาง Jaben Thailand ด้วยครับ
ผมขอขอบคุณคุณ Suyama สำหรับการสัมภาษณ์เช่นกันครับ
บทสัมภาษณ์ระหว่างทีมงาน RE.V-> และคุณ Suyama Keita ก็จบลงเพียงเท่านี้ หวังว่าแฟน ๆ หูฟัง FitEar และผู้สนใจจะชอบกับการสัมภาษณ์นะครับ
ขอขอบคุณ Jaben Thailand ที่ให้โอกาสช่วยประสานงานการสัมภาษณ์ครั้งนี้ด้วยครับ