สัมภาษณ์ คุณ Suyama Keita เจ้าของ FitEar ตอนที่ 1

FitEar Suyama Keita interview

ตามที่เคยเขียนไว้ในโพสงาน Meet & Greet ของคุณ Suyama ว่า ทีมงานของเราได้มีโอกาสสัมภาษณ์กับคุณ Suyama เจ้าของ FitEar ผู้ผลิตหูฟัง CIEM เบอร์หนึ่งจากญี่ปุ่นด้วย

เนื่องจากบทสัมภาษณ์ค่อนข้างยาวมาก เราจึงขอนำคำถามซึ่งเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและเอกลักษณ์ต่าง ๆ ของ FitEar มาลงให้อ่านกันก่อนเป็นตอนที่ 1 ครับ

ผมทราบมาว่าก่อนที่คุณ Suyama จะมาทำหูฟัง คุณได้ทำเครื่องช่วยฟังมาก่อน เลยอยากจะทราบว่าทำไมคุณ Suyama ถึงสนใจมาทำหูฟังครับ

บริษัทของเราเริ่มต้นจากการเป็นแล็บเทคนิคทันตกรรม ซึ่งคุณพ่อของผมได้เปิดบริษัทในปี 1956 และในปีหน้าบริษัทก็จะครบรอบ 60 ปีพอดีครับ ในปี 1985 บริษัทเราก็เริ่มธุรกิจเครื่องช่วยฟัง ซึ่งเราสามารถนำเทคนิคต่าง ๆ และวัตถุดิบของทางเทคนิคทันตกรรม มาประยุกต์ใช้กับการทำเครื่องช่วยฟังได้ครับ

ในปี 2001 ทาง Apple ได้ออก iPod ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าที่ดีที่สุดของ Apple ผมได้ซื้อ iPod มาใช้งานอยู่เครื่องนึง และคิดว่าผมน่าจะนำเทคนิคจากเครื่องช่วยฟังมาปรับปรุงเสียงของ EarPods ให้ดีขึ้นได้ ผมเลยหล่อพิมพ์หูให้กับมัน และพบว่าเสียงของมันก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ผมก็เลยรับทำหูฟังแบบตามสั่ง เป็นงานอดิเรกในตอนนั้น  ซึ่งผมพบว่าผมชอบงานอดิเรกนี้มาก ทั้งเครื่องเสียงแบบพกพาและการทำหูฟัง custom ก็เลยมาทำธุรกิจนี้ครับ

สินค้าแรกของคุณ Suyama เป็นสินค้าสำหรับมืออาชีพหรือผู้ใช้ทั่วไปครับ

ตามที่ผมบอกไปตอนต้นว่ามันเป็นงานอดิเรก ผมมีเพื่อนเป็นโปรดิวเซอร์ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนักดนตรีและวิศวกรเสียงอยู่บ้าง เขาเลยแนะนำสินค้าของเราให้คนกลุ่มนี้ ในช่วงปี 2006 -2007 หูฟังแบบ CIEM ยังไม่ได้เป็นที่นิยมในกลุ่มนักดนตรีและวิศวกรเสียง พวกเขาเลยสนใจสินค้าของเรามาก ๆ เราก็เลยเริ่มทดลองทำ CIEM ให้กับผู้ใช้มืออาชีพก่อน ขณะเดียวกัน ผมเองได้แสดงรูปสินค้าของเราให้กลุ่มคนที่รักการฟังเพลงเห็น ผ่านทาง social network ว่าเราสามารถทำหูฟังให้คุณได้ ซึ่งผมก็ได้รับความเห็นต่าง ๆ จากคนเหล่านั้น และในปี 2008 เราก็เริ่มขายหูฟังให้กับคนรักเสียงเพลง พร้อมกับเริ่มธุรกิจอย่างเป็นทางการทั้งกลุ่มผู้ใช้มืออาชีพและผู้ใช้ทั่วไป

สรุปแล้วธุรกิจหูฟังของคุณ Suyama เริ่มต้นจากงานอดิเรก และเริ่มต้นกับกลุ่มผู้ใช้มืออาชีพ จากความสัมพันธ์ที่คุณมี ก่อนที่จะแยกออกมาเป็นอีกหน่วยธุรกิจใช่ไหมครับ

ใช่ครับ แต่ผมเองนั้นยังเป็นถือว่าเป็นน้องใหม่ในวงการนี้อยู่ครับ ผมมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคุณ Jerry Harvey (ผู้ก่อตั้ง Ultimate Ears ปัจจุบันคือเจ้าของ JH Audio) คุณ Michael Santucci แห่ง Sensaphonics และผู้ผลิตหูฟัง CIEM ในประเทศอื่น ๆ ถ้าตอนนั้น ผมรู้จักพวกเขาเหล่านี้ก่อน ผมคงไม่ได้คิดที่จะมาทำธุรกิจนี้ เพราะว่ามีคนทำธุรกิจนี้อยู่แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องมาทำหูฟังของตัวเองขึ้นมาอีก ผมเลยคิดว่าผมนั้นโชคดีมากครับที่ได้มาทำธุรกิจตรงนี้

ผมคิดว่าหูฟังของ FitEar นั้นมีน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์เมื่อเทียบกับหูฟังยี่ห้ออื่น ๆ ในตลาด คุณ Suyama มีแนวทางการออกแบบหูฟังในแต่ละรุ่นอย่างไรครับ

ตามที่ผมบอกไปว่า หูฟังของ FitEar ถูกใช้โดยผู้ใช้มืออาชีพ ซึ่งเราเองก็มีส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มนี้ในญี่ปุ่นมากกว่า 50% ทำให้เราต้องคำนึงถึงการใช้งานของผู้ใช้กลุ่มนี้ ซึ่งหูฟังของเราก็ถูกใช้งานโดย monitor engineer และ sound engineer ผมอาจจะคิดว่าลักษณะเสียงแบบนี้มันดีที่สุดสำหรับผมก็จริง แต่ก็อาจจะไม่ดีพอสำหรับพวกเขาก็ได้ เพราะพวกเขาต้องปรับสมดุลเสียงตามความต้องการของลูกค้า ศิลปิน และนักดนตรี เราจึงอยากช่วยให้พวกเขาสามารถควบคุมเสียงได้ง่ายขึ้น โดยการออกแบบหูฟังให้มีช่วงความถี่และไดนามิคที่กว้าง เพื่อให้ monitor engineer สามารถปรับเสียงได้อย่างแม่นยำตามความต้องการของลูกค้า

คุณ Mitsuharu Harada ถ่ายภาพคู่กับศิลปิน ORESAMA ที่มา: HARADA’S ROOM

อีกข้อที่สำคัญ ดือเสียงของเราต้องออกมาต้องถูกต้องและดี ซึ่งเรามีที่ปรึกษาคือคุณ Mitsuharu Harada ซึ่งเป็น mastering engineer ที่ปรับสมดุลเสียงในแผ่นซีดี เขารู้ว่าเสียงและสมดุลเสียงที่ถูกต้องคืออะไร ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องนี้กับเขาโดยตรง ดังนั้น ถ้าพูดถึงเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของ FitEar นั้น ก็มาจากเอกลักษณ์เสียงของคุณ Harada นั่นเองครับ

คุณ Harada เริ่มงานในปี 1973 โดยเริ่มจากการตัดแผ่นไวนิล และทำงานในสาย mastering engineer แน่นอนว่า ถึงแม้เขาจะรู้ว่าลักษณะเสียงที่ถูกต้องเป็นอย่างไร แต่เขาเองก็ลักษณะเสียงที่ชอบอยู่ คุณ Harada ชอบเสียงจากลำโพงขนาดใหญ่ทางฝั่งอเมริกาอย่าง JBL และ Altec Lansing ที่มีดอกวูฟเฟอร์ที่ใหญ่ เสียงที่มีแรงประทะ ซึ่งเข้ากันได้ดีกับดนตรีแนวบีทและอเมริกันป๊อปร็อค

แต่สำหรับหูฟัง FitEar แบบ Universal นั้น จะมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาที่แตกต่างกัน หูฟังส่วนมากของ FitEar จะมีพื้นฐานจากเสียงแบบอเมริกัน แต่หูฟังแบบ Universal บางรุ่น เช่น Partere หรือ Universal ผมพยายามออกแบบให้ลักษณะเสียงแบบยุโรป และให้ความสำคัญการตอบสนองความถี่ที่ราบเรียบ เพื่อเพลงแนวคลาสสิคและดนตรีสด

เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงเอกลักษณ์เสียงของ FitEar ก็คือ เสียงที่มีแรงประทะ ตอบสนองฉับไว ความละเอียดสูง อย่างไรก็ตามเราก็ยังอยากจะพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ เพื่อขยายขอบเขตออกไปอีกครับ

FitEar Titan หูฟังที่ใช้ไทเทเนียมในเป็นวัสดุของตัวหูฟัง

ถ้าพูดถึงจุดเด่นของ FitEar อย่างหนึ่ง ก็คงจะหนีไม่พ้นการใช้ไทเทเนียมเป็นวัสดุในการผลิตหูฟัง ซึ่งในตอนนี้ผู้ผลิตหลายเจ้า ก็มีการนำโลหะมาใช้เป็นวัสดุเช่นกัน คุณ Suyama คิดว่าไทเทเนียมมีข้อดีเหนือกว่าโลหะประเภทอื่นอย่างไรครับ

ผมอยากจะตอบว่ามันไม่มีความแตกต่างระหว่างไทเทเนียมกับพลาสติกครับ การที่เรานำไทเทเนียมมาใช้นั้นเป็นเหตุผลอื่นครับ เราเพิ่งจะเปิดตัวหูฟัง CIEM ตัวขับ Hyrbrid รุ่นล่าสุดอย่างรุ่น Air 2 ไป ซึ่งในตอนแรกตั้งใจจะออกแค่หูฟังรุ่นนี้ แต่เราก็เปิดตัวหูฟังอีกรุ่นคือ Titan อีกตัว เพราะเราพบปัญหาในการทำตัวฟัง custom คือ ตัวหูฟังพลาสติกนั้นส่วนเปลือกนอกจะต้องมีความหนาเพื่อคงความแข็งแรงเอาไว้ หูฟังรุ่น Air 2 นั้นมีชุดตัวขับไดนามิคขนาดใหญ่ภายในตัวหูฟัง แต่เรายังคงต้องรักษาความหนาของเปลือกนอกพลาสติกเอาไว้ ทำให้มีพื้นที่ภายในตัวหูฟังไม่พอ เราจึงต้องใช้วัสดุโลหะแทน เพื่อสามารถทำส่วนเปลือกนอกให้บางลงได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับพลาสติก ผมเลยเลือกใช้ไททาเนียม

อีกเหตุผลหนึ่งคือ บริษัทเรามีอีกส่วนธุรกิจที่ทำเกี่ยวกับเทคนิคทันตกรรมที่ผลิตครอบฟันซึ่งทำจากไทเทเนียมอยู่ พวกเราจึงมีความชำนาญเกี่ยวกับไทเทเนียมเป็นพิเศษ ฉะนั้นการทำเปลือกนอกหูฟัง CIEM จากไทเทเนียม จึงเป็นการแสดงถึงเทคโนโลยีของเราให้ตลาดรับรู้ ซึ่งสำหรับบางคนก็อาจจะไม่ได้มีความหมายอะไรมากมาย แต่มันก็เป็นสิ่งน่าสนใจที่ทำออกมา

สรุปแล้ว Titan กับ Air 2 นั้นมีความแตกต่างกันไม่มาก แต่แย่หน่อยที่ เราไม่มีแผนจะรับออเดอร์ของ Titan สำหรับลูกค้านอกญี่ปุ่น เพราะเราไม่สามารถปรับรูปร่างของตัวหูฟังโลหะได้ ถ้าคุณมีปัญหาเรื่องความฟิต เราก็ไม่สามารถที่จะเติมวัสดุใด ๆ เพื่อช่วยให้หูฟังมันพอดีได้ เราจึงสงวนหูฟังรุ่นนี้ในเฉพาะญี่ปุ่นเท่านั้น ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้นี้ครับ

จุดเด่นอีกข้อของ FitEar ก็คือการไม่เหลือพื้นที่ว่างภายในตัวหูฟัง ด้วยการเทอะคริลิคลงไป ซึ่งผมคิดว่ามันแตกต่างจากหูฟังยี่ห้ออื่น ผมเลยอยากทราบว่าเพราะอะไรถึงต้องเทอะคริลิคลงไปภายในตัวหูฟังครับ

เพื่อให้ตัวหูฟังมีความทนทานมากขึ้นครับ ผมขอปากกากับกระดาษหน่อยได้ไหมครับ

ได้ครับ (ยื่นปากกากับสมุดโน๊ตไปให้)

ภาพอธิบายการจัดวางตำแหน่งตัวขับ ซ้าย: หูฟังปกติ กลาง: หูฟังของคนที่รูหูเล็ก ขวา: หูฟังของคนรูหูเล็ก แต่ทำส่วนเปลือกให้บางลง

ขอบคุณครับ (วาดรูปโครงสร้างภายในหูฟัง) นี่คือส่วนของเปลือกนอกของหูฟัง ที่เราจะนำตัวขับและวงจรต่าง ๆ ใส่ลงไป ในลักษณะแบบนี้ครับ แต่ในหูอีกลักษณะหนึ่ง ก็จะมีส่วนเปลือกนอกลักษณะแบบนี้ครับ (วาดรูปเปลือกนอกที่มีขนาดเล็กและพื้นที่ภายในน้อยกว่า) เราจะเอาตัวขับใส่อย่างไร เพราะไม่มีพื้นที่ใส่ เราก็ต้องขยายพื้นที่ส่วนนี้ให้กว้างขึ้น (ตัวขับตัวหนึ่งถูกย้ายออกมาไกลจากปลายท่อมากขึ้น) หูฟังทั้งสองตัวนี้จะมีเสียงที่ไม่เหมือนกันครับ (วาดกราฟตอบสนองความถี่ของหูฟังตัวแรก) นี่คือเสียงของวูฟเฟอร์ และนี่คือเสียงของทวีตเตอร์ และเราก็จะได้เสียงโดยรวมแบบนี้ แต่ในกรณีนี้ (วาดกราฟตอบสนองความถี่ของหูฟังตัวที่สอง) เสียงของวูฟเฟอร์ยังเหมือนเดิม แต่เสียงของทวีตเตอร์เป็นแบบนี้ครับ (การตอบสนองช่วงเสียงต่ำของทวีตเตอร์ลดลง) ดังนั้นเสียงโดยรวมจะออกมาเป็นแบบนี้ (กราฟตอบสนองมีช่วงตกระหว่างวูฟเฟอร์และทวีตเตอร์)

ในฐานะที่เราทำหูฟัง CIEM เราต้องการให้เสียงของหูฟังนั้นเหมือนกันในลักษณะหูทั้งสองแบบ ในกรณีของคนที่รูหูเล็กแบบนี้ เราจะทำส่วนเปลือกนอกให้บางลง เพื่อให้มีพื้นที่ในการวางตัวขับได้แบบนี้ครับ (วาดรูปเปลือกนอกที่บางลง แต่มีตำแหน่งการวางตัวขับแบบเดิม) เสียงก็จะออกมาเหมือนกัน แต่เปลือกนอกก็จะมีโอกาสแตกง่ายขึ้น ดังนั้นเราจึงเทพลาสติกลงไปในพื้นที่วางแบบนี้ (ขีดเส้นถมที่ว่าง) ทำให้เราสามารถเพิ่มความแข็งแรงของตัวหูฟังได้ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดของตัวหูฟังขึ้นมา ไม่ว่าขนาดของช่องหูจะมีขนาดเท่าใดก็ตามครับ เราเลยเลือกที่จะใช้วิธีนี้ครับ

ถ้าในกรณีที่ตัวขับด้านในเสีย ตัวขับสามารถเปลี่ยนได้ไหมครับ

แล้วแต่กรณีครับ ส่วนมากเราจะต้องผลิตหูฟังใหม่ขึ้นมาทั้งหมด แต่ในบางครั้งหากเราสามารถดึงตัวขับ BA ขึ้นมาได้ เราก็เปลี่ยนเฉพาะตัวขับใหม่ครับ

ด้วยเหตุนี้เราจึงเลือกใช้ตัวขับ balance armature เกรดเดียวกับที่ใช้ในเครื่องช่วยฟัง ซึ่งมีความทนทานสูง มีอายุการใช้งานได้ประมาณ 5 – 10 ปี อย่างไรก็ตามเราเองก็มีงานซ่อมหูฟังอยู่บ้าง แต่ก็เป็นจำนวนที่น้อยมาก ๆ ครับ

FitEar Suyama Keita interview

บทสัมภาษณ์ระหว่าง RE.V-> กับคุณ Suyama ยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ ตอนหน้าเราจะเข้าสู่คำถามที่เกี่ยวข้องกับหูฟังตัวขับผสมอย่าง FitEar Air และการร่วมมือกันระหว่าง FitEar และ FOSTEX เพื่อน ๆ อย่าลืมติดตามอ่านกันนะครับ

ขอขอบคุณ Jaben Thailand ที่ให้โอกาสช่วยประสานงานการสัมภาษณ์ครั้งนี้ด้วยครับ

One thought on “สัมภาษณ์ คุณ Suyama Keita เจ้าของ FitEar ตอนที่ 1

  1. Pingback: สัมภาษณ์ คุณ Suyama Keita เจ้าของ FitEar ตอนที่ 2 | RE.V –>

Leave a Reply