รีวิว จุกหูฟังหมุนหัวได้ SpinFit CP100

SpinFit CP100

สำหรับหูฟังแบบสอดหูหรือ In-ear headphones นั้น คงไม่มีใครปฏิเสธว่า จุกหูฟังที่มากับหูฟังนั้น เป็นชิ้นส่วนที่สำคัญ ที่ช่วยสร้างจุดเด่นให้กับหูฟังประเภทนี้ คือการซีลป้องกันเสียงจากสภาพแวดล้อม เพื่อให้คุณภาพของเสียงดีขึ้น โดยไม่ต้องเพิ่มระดับเสียงมากนัก

วันนี้ RE.V-> ขอนำจุกหูฟังที่เป็นที่กล่าวขวัญในหมู่ผู้ใช้ ณ ตอนนี้ ซึ่งก็คือจุกหูฟังยี่ห้อ SpinFit มารีวิวให้อ่านถึงความพิเศษของจุกหูฟังตัวนี้กันครับ

Package

SpinFit CP100

SpinFit จะถูกบรรจุมาในแพ็คกระดาษ จำนวน 2 คู่ โดยจะระบุรุ่นและขนาดที่มุมซ้ายบน ซึ่งรุ่นที่นำมารีวิวคือ CP100 ขนาด M ครับ

SpinFit CP100

ด้านหลังแพ็คจะระบุยี่ห้อของหูฟังที่สามารถใส่ CP100 ได้ ซึ่งส่วนมากจะมีขนาดท่อนำเสียงที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ส่วนหูฟังที่มีท่อนำเสียงขนาดเล็ก เช่น Shure หรือ Westone จะต้องใช้รุ่น CP800 แทน

Product

SpinFit CP100

SpinFit ทำจากซิลิโคน 2 ประเภท คล้ายกับจุกหูฟังแบบ Hybrid Silicone ของ Sony โดยส่วนที่เป็นหมวกจะทำจากซิลิโคนนิ่ม ซึ่งเมื่อเทียบกับจุกของ Sony แล้ว SpinFit จะมีเนื้อซิลิโคนที่หยาบกว่า และมีความแข็งมากกว่าเล็กน้อย

SpinFit CP100

ส่วนแกนของ SpinFit จะทำจากซิลิโคนที่มีความแข็งมากกว่าส่วนที่เป็นหมวก และมีความหนาของแกนมาก เข้าใจว่าเพื่อให้สามารถใส่กับท่อหูฟังที่มีขนาดไล่ ๆ กัน ได้หลายขนาด

SpinFit CP100

ตัวแกนยังของจุกหูฟังแต่ละขนาด จะมีสีที่แตกต่างกัน เพื่อช่วยในการแยกแยะขนาด คือ L (เหลือง) M (แดง) S (ขาว) และ XS (ม่วง)

SpinFit CP100

เมื่อใส่กับหูฟังแล้ว จุก SpinFit จะยื่นออกมามากกว่า จุกของผู้ผลิตพอสมควร

SpinFit CP100

จุดเด่นของ SpinFit คือ ส่วนที่เป็นหมวกของจุกหูฟังนั้น สามารถหมุนได้ 360 องศา ช่วยเพิ่มความกระชับในการสวมใส่ ซึ่งมีผลต่อการป้องกันเสียงรบกวนภายนอกและน้ำเสียงของหูฟังด้วย

Set up & Performance

SpinFit CP100

ผมได้นำจุก SpinFit CP100 ไปใส่กับหูฟังสอดหูที่ผมมีอยู่ ซึ่งจุก CP100 สามารถใส่กับหูฟัง Sony ที่ผมมีอยู่ได้อย่างไม่มีปัญหา โดยตอนใส่จะต้องฝืนท่อนำเสียงเข้าไปในแกนของจุกหูฟังเล็กน้อย แต่พอใส่เข้าไปได้แล้ว ตัวจุกก็จะยึดกับท่อนำเสียงได้อย่างแน่นหนา อย่างไรก็ตาม จุกรุ่น CP100 ซึ่งออกแบบมาให้ใส่กับหูฟังที่มีท่อขนาดใหญ่ในปัจจุบันนั้น ไม่สามารถใส่หูฟังท่อขนาดใหญ่เก่า ๆ ที่ผมมีอย่าง UE super.fi 3 studio ได้ เพราะแกนของจุกมีขนาดเล็กเกินไป

สำหรับการสวมใส่หูฟังที่ใช้จุก SpinFit นั้น ก็ใส่เหมือนกับจุกหูฟังทั่ว ๆ ไป เพียงแต่จุก SpinFit จะสามารถเข้าไปในรูหูได้ลึกกว่า และสามารถหมุนไปมาเพื่อหาตำแหน่งที่ใส่แล้วกระชับได้ เมื่อผมใส่หูฟังได้จนรู้สึกกระชับแล้ว รู้สึกว่าการป้องกันเสียงรบกวนทำได้ดีขึ้น ไล่ ๆ กันกับจุก Foam SIlicone ของ Sony ที่ผมใช้งานอยู่ประจำ แต่ดีกว่าที่ว่าไม่ต้องเจอการคืนตัวของ memory foam ภายใน ซึ่งบางครั้งมันก็ดันจนรู้สึกเจ็บ

ส่วนเรื่องของน้ำเสียงนั้น ด้วยรูปทรงและวัสดุที่ใช้ในการผลิตนั้น ก็ย่อมส่งผลต่อเสียงไปบ้าง แต่ไม่ถึงขนาดเปลี่ยนแนวเสียงของหูฟังไปมากนัก คือช่วงเสียงแหลมนั้นจะมีความใสเหมือนเราเคาะเสียงโลหะ ส่วนเสียงเบสนั้น ก็มีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มไม่มากเท่าจุกแบบ Foam Silicone ครับ

Conclusion

ถึงแม้ว่าทางผู้ผลิตหูฟังเอง จะออกแบบจุกหูฟังสำหรับหูฟังของตนเองออกมา ให้เข้ากับผู้ใช้หลาย ๆ กลุ่มอยู่แล้ว แต่ด้วยความหลากหลายของคนเรา แน่นอนว่ามันคงไม่ได้ครอบคลุมกลุ่มผู้ใช้ทั้งหมด

ใครที่มีปัญหากับจุกหูฟังที่ทางผู้ผลิตให้มา ทั้งอาการใส่แล้วเจ็บ หรือไม่สามารถซีลเพื่อป้องกันเสียงจากภายนอกได้ รวมทั้งคนที่ใช้งานจุกประเภท memory foam แต่ขี้เกียจเปลี่ยนจุกบ่อย ๆ แนะนำให้ลองใช้จุก SpinFit นี้ดู ผมคิดว่าน่าจะถูกใจกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่มากก็น้อยครับ

Like

  • สามารถหาตำแหน่งที่ใส่แล้วกระชับได้ง่าย
  • ป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกได้ดี
  • เสียงแหลมมีความใสมากขึ้น

Don’t like

  • เนื้อซิลิโคนส่วนหมวก ค่อนข้างแข็ง
  • เนื่องจากตัวจุกหูฟัง ออกแบบมาให้ใส่ได้ลึก ทำให้ต้องเพิ่มระมัดระวังในการใส่มากขึ้น

ขอขอบคุณ Jaben (Thailand) ที่เอื้อเฟื้อจุกหูฟัง SpinFit มาให้สำหรับการรีวิวด้วยครับ

More info

SpinFit Eartip

Leave a Reply