เก็บตกงาน Dyson Design Talk

Dyson Design Talk

ประมาณอาทิตย์ที่แล้ว RE.V-> ได้มีโอกาสไปร่วมงาน Dyson Design Talk ซึ่งเป็นงานที่ Dyson บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าจากอังกฤษ มาพูดคุยถึงเบื้องหลังงานออกแบบของเครื่องดูดฝุ่นซึ่งเป็นสินค้าเริ่มต้นของบริษัท

เราเลยเก็บภาพบรรยากาศและข้อมูลที่น่าสนใจมาฝากเพื่อน ๆ ครับ

Dyson Design Talk

ในงานคุณ Adriano Niro ซึ่งเป็นวิศวกรนักออกแบบของบริษัท ได้เล่าความเป็นมาของเครื่องดูดฝุ่น Dyson ซึ่งเริ่มต้นจาก James Dyson ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม ได้ซื้อเครื่องดูดฝุ่นของ Hoover แล้วพบว่าเมื่อใช้งานไปนาน ๆ ฝุ่นจะไปเกาะติดในถุงเก็บฝุ่น ทำให้กำลังดูดลดลง เลยทำให้เขาตั้งใจจะออกแบบเครื่องดูดฝุ่นที่ให้กำลังดูดได้แรงสม่ำเสมอขึ้นมา

เขาใช้กระดาษลังในการสร้างไซโคลน ซึ่งได้แนวคิดมาจากไซโคลนที่ใช้แยกขี้เลื่อยในโรงเลื่อย แล้วนำไปเปลี่ยนกับถุงเก็บฝุ่นของเครื่องดูดฝุ่น ทำให้ประสิทธิภาพในการดูดฝุ่นดีขึ้น

คุณ James ได้สร้างเครื่องดูดฝุ่นต้นแบบถึง 5,127 ตัว เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีไซโคลน และพยายามนำเทคโนโลยีนี้ไปเสนอกับบริษัทเครื่องดูดฝุ่นต่าง ๆ รวมถึง Hoover ด้วย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนสุดท้ายเขาเลยตัดสินใจเปิดบริษัทผลิตเครื่องดูดฝุ่นขึ้นมาเอง จนบริษัทได้เปิดตัวเครื่องดูดฝุ่นรุ่นแรกคือ DC01 ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีมากจากตลาด

Dyson Design Talk

การออกแบบสินค้าของ Dyson นั้น จะเริ่มต้นด้วยการร่างความคิดลงบนสมุดประจำตัว ซึ่งวิศวกรและนักออกแบบจะได้รับสมุดเล่มนี้เมื่อเข้าทำงาน และเมื่อสมุดถูกเขียนจนเต็มแล้ว ก็จะถูกนำไปเก็บไว้ในคลังเอกสารของบริษัท เพื่อไว้เป็นข้อมูลอ้างอิงในอนาคต เช่น ใช้เป็นหลักฐานตอนขึ้นศาล

สมุดที่นำมาจัดแสดงในงาน เป็นแบบจำลองจากสมุดเล่มที่ 13 ของ Pete Gammack วิศวกรรุ่นบุกเบิกของ Dyson ซึ่งภายในเป็นภาพร่างของเครื่องดูดฝุ่น DC01 ปัจจุบัน Pete ได้เป็นผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรมสินค้าใหม่ และใช้งานสมุดเล่มที่ 142 อยู่

Dyson Design Talk

หลักการออกแบบของ Dyson จะเริ่มการออกแบบจากภายในไปยังภายนอก คือหมายความว่าจะต้องออกแบบให้สินค้าใช้งานได้จริงก่อน ไม่ใช่ออกแบบให้สวยงาม แต่ไม่สามารถนำไปใช้งานจริงได้ ซึ่งสินค้าทุกชิ้นของบริษัทจะต้องผ่านความเห็นชอบจาก James Dyson ก่อน ถึงจะสามารถนำออกสู่ตลาดได้

Dyson Design Talk

สิ่งที่ Dyson ให้ความสำคัญ คือการออกแบบและผลิตมอเตอร์ที่ใช้งานในสินค้าของบริษัทด้วยตัวเอง เพราะตัวมอเตอร์เองนอกจากนำมาใช้งานกับเครื่องดูดฝุ่นแล้ว ยังสามารถนำไปใช้งานกับสินค้ารูปแบบอื่น ๆ ได้อีก

มอเตอร์ของ Dyson นั้นถูกออกแบบให้มีขนาดเล็ก แต่มีประสิทธิภาพในการทำงานสูง ทำให้เครื่องดูดฝุ่นของบริษัทมีแรงภายในไซโคลนมหาศาล ทำให้การดูดฝุ่นสามารถทำได้อย่างหมดจด

Dyson Design Talk

แน่นอนว่าในงานจะต้องมีการสาธิตการใช้งานของเครื่องดูดฝุ่นด้วย คนของ Dyson นำผงแป้งมาโรยลงพื้นเป็นทาง แล้วใช้เครื่องดูดฝุ่น DC62 ในการดูดผงแป้งที่โรยไว้

Dyson Design Talk

เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเครื่องดูดฝุ่น Dyson คือถังเก็บฝุ่นแบบใส ซึ่งตอนแรกสุดที่ออกแบบมา ก็ได้รับคำติมาว่าผู้ใช้ไม่ชอบ แต่พอเมื่อใช้งานจริงแล้ว ผู้ใช้กลับชอบมากกว่า เพราะได้เห็นฝุ่นถูกดูดเข้ามาจริง ๆ และช่วยให้รู้ว่าถังเต็มแล้วหรือยังด้วย

Dyson Design Talk

เครื่องดูดฝุ่น DC62 ออกแบบมาให้ใช้งานดูดฝุ่นได้อย่างสะดวกสบาย ด้วยการออกแบบตัวเครื่องที่มีความสมดุล ทำให้สามารถยกดูดฝุ่นในจุดที่อยู่สูงได้ ฟิลเตอร์กรองฝุ่นที่สามารถล้างได้ และหัวดูดฝุ่นที่พื้นซึ่งประกอบไปด้วยขนที่ทำจากไนล่อนและขนที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ ช่วยให้สามารถทำความสะอาดพรมและพื้นแข็งได้อย่างสะอาดหมดจด

ผมได้สอบถามคุณ Adriano ไปว่า นอกเหนือจากแบตเตอรี่ที่อาจจะต้องมีการเปลี่ยนเมื่อใช้งานไปเป็นเวลานาน ๆ แล้ว มีชิ้นส่วนไหนที่ต้องมีเปลี่ยนบ้าง ก็ได้รับคำตอบว่าไม่มี และยังเสริมเรื่องแบตเตอรี่ด้วยว่า ทาง Dyson ได้เข้าไปลงทุนในบริษัทที่วิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีแบตเตอรี่ เพื่อพัฒนาแบตเตอรี่ที่สามารถให้พลังงานกับสินค้าของ Dyson ได้นานกว่าแบตเตอรี่ที่ใช้งานในปัจจุบัน

Dyson Design Talk

นอกเหนือจากการเล่าความเป็นมาและขั้นตอนการออกแบบแล้ว ในงานยังได้นำ Rig หรือสินค้าตัวต้นแบบของเครื่องดูดฝุ่นรุ่นปัจจุบันมาจัดแสดง เพื่อให้เห็นขั้นตอนการออกแบบในแต่ละขั้นตอนด้วย

Dyson Design Talk

Rig ตัวนี้ได้ถูกสร้างขึ้นจากแนวความคิดที่ว่า ให้ลูกบอลหมุนไปแนวแกนราบทำหน้าที่เป็นเหมือนล้อ และสามารถหมุนไปมากับชุดไซโคลนได้

Dyson Design Talk

วิศวกรสร้างต้นแบบอย่างรวดเร็ว โดยใช้วัสดุที่มีอยู่แล้ว ซึ่งในต้นแบบตัวนี้ วิศวกรใช้แผ่นเหล็กในการสร้าง และนำชุดไซโคลนของเครื่องดูดฝุ่น DC12 มาผูกด้วยเข็มขัดรัดสายไฟ

Dyson Design Talk

พอเมื่อประกอบ Rig ขึ้นมาแล้ว ก็จะทำให้เห็นว่าการออกแบบบางจุดยังใช้ไม่ได้ เช่น ทีมออกแบบตั้งใจจะใช้ลูกบอลทั้งลูกเป็นล้อของเครื่องดูดฝุ่น แต่เกิดปัญหาเรื่องช่องอากาศ ที่ทำตรงบริเวณด้านข้างของลูกบอลได้ และเมื่อย้ายช่องมาด้านบน จะทำให้ลูกบอลไม่สามารถเลื่อนได้ จึงต้องนำลูกบอลมาแบ่งออกเป็นส่วนล้อและแกนแทน

Dyson Design Talk

เมื่อได้ Rig ที่สามารถทำงานได้แล้ว ทีมออกแบบได้ปรับปรุงเสียงจากการทำงานของเครื่องดูดฝุ่น แล้วนำไปประกอบกับชุดไซโคลนเพื่อทดสอบต่อไป

สำหรับคนที่สนใจสินค้าของ Dyson ทั้งเครื่องดูดฝุ่นไร้สายและพัดลมไร้ใบ ก็สามารถหาซื้อสินค้าได้ตามแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้าตามห้างชั้นนำกันได้ครับ

Leave a Reply