ในปีที่ผ่านมานั้น ถ้าเรามองดูตลาดอุปกรณ์เครือข่ายในบ้าน จะพบว่าผู้ผลิตแต่ละเจ้าก็ได้ดันอุปกรณ์ WLAN แบบ Simultaneous Dual Band (คือ WLAN ทำงานที่คลื่นความถี่ 2.4 GHz และ 5 GHz ได้พร้อมกัน) ออกมาให้ใช้งานกัน ถึงแม้ว่าความสามารถนี้จะดีมากกับชาวกรุงอย่างพวกเราที่มีการใช้งาน WLAN ในช่วงคืนความถี่ 2.4 GHz กันอย่างหนาแน่น แต่ฟังก์ชั่นนี้ยังอยู่ในอุปกรณ์รุ่นสูง ๆ ที่ยังมีราคาแพงอยู่
พอมาในปีนี้ ในงาน CES ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ออกมานั้นสามารถเชื่อมต่อ WLAN ได้กันเกือบหมดแล้ว และส่วนมากก็จะเป็น WLAN แบบ N กันเกือบหมดแล้ว ผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายก็เลยเปิดไลน์อุปกรณ์เครือข่ายแบบ N450 เพื่อมารองรับการใช้งาน WLAN ที่มากขึ้นนั้นเอง
ทีนี้ N450 มันคืออะไร N450 จะเป็นคำศัพท์ทางการตลาดที่จะเอาไว้เรียกสินค้าที่ใช้งาน WLAN มาตรฐาน IEEE 802.11n ที่สามารถทำความเร็วโอนถ่ายข้อมูลได้สูงสุดที่ 450 Mbps ครับ ผมก็ขอย้อนอธิบายเกี่ยวกับเรื่องของมาตรฐาน IEEE 802.11n ซึ่งก็คือ WLAN ที่เราใช้งานกันในปัจจุบันคร่าว ๆ ก่อน จะได้รู้ว่าความเร็ว 450 Mbps นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไรครับ
IEEE 802.11n เป็นมาตรฐานระบบ Wireless LAN ที่ออกมาเพื่อแทนมาตรฐานแบบ g และ a ที่มีการความเร็วส่งข้อมูลเพียง 54 Mbps เท่านั้นครับ สิ่งที่มีการเพิ่มเติมมาในมาตรฐาน n ใหญ่ ๆ ที่พวกเราสามารถเห็นได้ง่ายนั้นคือ
- การใช้แบนด์วิดธ์ที่กว้างขึ้นเป็น 40MHz จากเดิม 20MHz ในมาตรฐานก่อนหน้า
- การใช้เสาอากาศหลาย ๆ ต้นมารับส่งสัญญาณพร้อมกัน หรือที่เราเรียกว่า MIMO (Multiple-Input and Multiple-Output) นั้นเอง
สองสิ่งหลัก ๆ นี้มีส่วนให้ WLAN แบบ IEEE 802.11n มีระยะและความเร็วที่มากขึ้นครับ
รูปการทำงานของระบบ MIMO ครับ ในรูปเป็นแบบ 3 x 3 พอดี
ปกติ WLAN แบบ n มีความเร็วโอนถ่ายสูงสุดอยู่ที่ 150 Mbpsต่อ 1 ช่องสัญญาณ แต่เราสามารถเพิ่มความเร็วของมันได้โดยการเพิ่มจำนวนเสาเพื่อไปทำ MIMO เพราะฉะนั้น Wireless N300 ที่ใช้กันอยู่ตอนนี้ก็คือการนำเสาอากาศ 2 เสา มาทำหน้าที่รับส่งข้อมูลพร้อมกัน ซึ่งก็คือรับส่งข้อมูลแบบ 2 x 2 MIMO นั้นเองครับ (เลขตัวแรกคือช่องส่ง เลขตัวหลังช่องรับ) และก็แน่นอน N450 ก็คือการรับส่งข้อมูลแบบ 3 x 3 MIMO นั้นเองครับ
รูปการทำงานของเราท์เตอร์แบบ dual band ครับ สังเกตว่ามันเปลี่ยนช่องทางที่ใช้เฉย ๆ ครับ
อ่านถึงตรงนี้อาจจะมีคนสงสัยว่า เรามี N600 ขาย ๆ กันอยู่แล้วนิ จะทำ N450 ออกมาทำไม สำหรับ N600 จริง ๆ แล้วเป็นชื่อที่ผู้ผลิตบางเจ้าใช้เรียกอุปกรณ์แบบ dual band ของตนเองครับ ซึ่งมันก็มีที่มาจากเอาความเร็วสูงสุดของ WLAN n แบบ 2 x 2 MIMO ทำงานที่ความถี่ 2.4 GHz และ 5 GHz มารวมกันนั้นเองครับ (300 + 300) ตรงนี้ผมก็เห็นหลาย ๆ คน รวมทั้งร้านบางร้านยังเข้าใจผิดว่ามันทำงานที่ความเร็ว 600 Mbps ซึ่งจริง ๆ มันก็ทำได้โดยใช้ออกแบบเสาอากาศรับส่งแบบ 4 x 4 MIMO ซึ่งปัจจุบันนี้ผมก็ยังไม่เห็นมีใครทำออกมาสำหรับตลาดผู้ใช้ตามบ้านนะครับ
สำหรับพวกอุปกรณ์ เช่น เราท์เตอร์ หรือ WLAN USB แบบ N450 ที่จะออกมา ก็จะแบ่งคร่าว ๆ ได้ประมาณ 3 ประเภทดังนี้ครับ
- N450 ที่ 2.4 GHz
- N450 ที่ 5 GHz และ N300 ที่ 2.4 GHz ก็คือเป็นแบบ dual band นั้นเองครับ แต่ช่วง 2.4 GHz รองรับเพียงแค่ N300 เพื่อรองรับอุปกรณ์ N รุ่นเก่า ๆ เท่านั้น เนื่องจากมาตรฐานของ WLAN แบบ n นั้นแนะนำให้ใช้ WLAN n บนคลื่นช่วง 5 GHz เพราะมีจำนวนช่องสัญญาณที่มากกว่า 2.4 GHz ทำให้ไม่เกิดการรบกวนกันกับอุปกรณ์ตัวอื่นครับ
- N450 ทั้งที่ 2.4 GHz และ 5 GHz ก็คือเป็น N450 ทุกช่วงความถี่เลย
สำหรับอุปกรณ์ที่รองรับ N450 ตอนนนี้ ผมบอกได้เลยว่ามีน้อยมาก ๆ ครับ อุปกรณ์ตอนนี้ส่วนมากก็เพิ่งปรับมาใช้ WLAN n กัน มาได้ประมาณปีกว่า ๆ แถมเป็นแบบ 1 x 1 MIMO หรือ 1 x 2MIMO เท่านั้นครับ อุปกรณ์แบบ 3 x 3 MIMO ผมเห็นมีแค่การ์ด WLAN ของ Intel รุ่นท็อปสุดอย่างเดียวเองครับ
ตอนนี้บริษัทที่ผมเห็นเปิดตัวอุปกรณ์แบบนี้มีแค้ไม่กี่บริษัท แต่เดี๋ยวอีกสักพักก็คงจะเปิดตัวกัน ก็เอาเป็นว่าใครมีแผนจะซื้อเราท์เตอร์แต่ไม่รีบใช้ ก็รอดูไปก่อนได้เลยครับ
Credit
รูปการทำงาน MIMO โดย Benjamin Baumgärtner จาก Wikipedia
รูปการทำงาน dual band จาก NETGEAR
Pingback: มาทำความรู้จัก Wireless LAN มาตรฐาน IEEE 802.11ac กันเถอะ
Pingback: มาตรฐาน Wireless LANs ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน (IEEE 802.11ac) | komkritblog
Pingback: Wireless LANs | kangwanchai
Pingback: wrieless LANs | namfon2541blog