รีวิว Sony MDR-1ABT หูฟัง Bluetooth ก็เล่น Hi-Res ได้นะ

Set up

Sony MDR-1ABT

ก่อนที่จะเริ่มต้นใช้งานนั้น ในคู่มือได้แนะนำให้ชาร์จไฟหูฟังด้วยพอร์ต USB บนคอมพิวเตอร์จนแบตเตอรี่ Li-ion ภายในเต็มเสียก่อน โดยชาร์จผ่านพอร์ต Micro USB ที่อยู่ตรงสันขอบด้านล่างของคัพด้านขวา ที่มีฝาพลาสติกแข็งปิดอยู่ เมื่อชาร์จเสร็จแล้ว ไฟสถานะสีแดงข้าง ๆ พอร์ตจะดับ

Sony MDR-1ABT

การเชื่อมต่อหูฟังกับอุปกรณ์ผ่าน Bluetooth นั้นสามารถทำได้ 2 วิธี คือกดปุ่ม Power ตรงข้างใต้คัพด้านซ้ายแช่ไว้ขณะที่หูฟังปิดอยู่ จนไฟสถานะกระพริบเป็นสีฟ้าสลับเป็นสีแดงเพื่อเข้าโหมดจับคู่ หรือจะใช้ NFC เป็นสื่อกลางในการจับคู่ก็ได้

Sony MDR-1ABT

MDR-1ABT รองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ Bluetooth ได้ 2 ตัวพร้อมกัน แต่มีข้อแม้ว่าทั้งสองตัวจะต้องเชื่อมต่อด้วย profile ที่ต่างกัน คือ profile สำหรับการฟังเพลง และ profile สำหรับการโทรศัพท์ อย่างตัวผมเอง ก็จะต่อกับ Walkman เพื่อฟังเพลง และ Xperia S เพื่อไว้รับสายโทรศัพท์ที่เข้ามาครับ

สำหรับการเลือกใช้งาน A2DP codec นั้น MDR-1ABT จะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ด้วย codec คุณภาพดีที่สุดเท่าที่อุปกรณ์จะรองรับได้โดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องเลือก codec เองเหมือนกับ MDR-1RBT MK2

Sony MDR-1ABT

ส่วนการเชื่อมต่อแบบสายนั้น ก็ให้เอาสายเสียบเข้าแจ็ค 3.5 มม. ข้างใต้คัพด้านซ้ายได้เลย ถ้าขณะนั้นมีการเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth อยู่ ระบบ Bluetooth จะถูกปิดทั้งหมด รวมทั้งไมค์และเซนเซอร์สัมผัสด้วย

สำหรับคนที่ไม่พอใจกับสายหูฟังที่แถมมาให้ อาจจะต้องระวังว่า แจ็คของ MDR-1ABT ถูกออกแบบให้อยู่ลึกกว่าเดิม ทำให้ไม่สามารถใช้สายสัญญาณที่มีหัวปลั๊ก 3.5 มม. ทั่ว ๆ ไปมาเสียบเหมือนสมัย MDR-1RBT ได้

Performance

Sony MDR-1ABT

ตอนที่ผม ได้ MDR-1ABT มา สัมผัสแรกที่รู้สึกได้เมื่อเทียบกับ MDR-1RBT ที่ผมใช้งานอยู่ก่อนหน้า คือวัสดุที่ดูดีมากขึ้นกว่าเดิม กลไกก้านหูฟังให้ความรู้สึกแน่นเมื่อเลื่อนมากขึ้น และข้อต่อไร้เสียงได้รับการปรับปรุงแล้ว เมื่อใช้งานไปนาน ๆ ก็ไม่มีปัญหาเสียงดังเกิดขึ้น

ส่วนการสวมใส่หูฟังนั้น Sony ทำตรงนี้ได้ดีอยู่แล้วตั้งแต่สมัย MDR-1RBT ทั้งเรื่องแรงกดของตัวหูฟัง และแพดหูฟังที่เป็นโครงสร้าง Enfolding ซึ่งตัวแพดจะยุบตัวเข้าหาหูฟังเมื่อสวมใส่ แต่จากการใช้งาน ผมรู้สึกว่าใส่สบายจริง ๆ แต่ก็อยากให้มันหนานุ่มอีกนิด ซึ่งแพดที่ตัดเย็บแบบ 3 มิติ MDR-1ABT ก็เข้ามาแก้ไขตรงจุดนี้ ทำให้การสวมใส่ยิ่งสบายขึ้นไปอีก

Sony MDR-1ABT

สำหรับแนวเสียงของ MDR-1ABT นั้น ผมเริ่มทดลองฟังเสียงผ่านการต่อสายหูฟังดูก่อน เพื่อให้ได้ยินเสียงจากตัวขับจริง ๆ ซึ่งแนวเสียงนั้นถูกปรับมาจากสมัย MDR-1RBT ให้เข้ากับสินค้ากลุ่ม Hi-Res ปี 2015 ของ Sony คือลดความแหลมที่มากเกินไปลง ทำให้เสียงฟังดูสมดุลมากขึ้น

เสียงเบสลงได้ลึกและมีปริมาณเพียงพอกับเพลงหลากหลายแนว เสียงกลางไม่ออกไปทางแหลม (bright) มากนัก แต่ก็ไม่ฟังดูทู้ ๆ (dark) ส่วนเสียงแหลมที่ถึงแม้จะลดปริมาณลงไป แต่ก็ไปเน้นรายละเอียดให้คมชัดขึ้นโดยเฉพาะช่วงหางเสียง

การแยกรายละเอียดทำได้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ซึ่งเข้าใจว่ามากจากการจูนเสียงใหม่ ที่ทำให้เสียงแต่ละช่วงมันแยกกันเด็ดขาดมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนมิติของเสียงนั้น ฟังแล้วดูกว้าง ไม่อึดอัด แต่มิติช่วงเสียงกลางจะถูกดันออกไปให้ความรู้สึกที่ไกลจากคนฟัง เลยทำให้ฟังแล้วไม่เด่นเท่ากับพวกหูฟังมอนิเตอร์

sony-ldac

ต่อมา ผมได้นำ MDR-1ABT ไปเชื่อมต่อกับ Walkman ZX100 และ VAIO DUO 11 ผ่าน Bluetooth ซึ่งการเชื่อมต่อนั้นมีความเสถียรมาก ผมแทบไม่เจอปัญหาสัญญาณหลุดใด ๆ เลย แถมระยะทางที่เชื่อมต่อได้จัดว่าค่อนข้างไกลทีเดียว

เพื่อเป็นการทดลองฟังความแตกต่างของ A2DP codec แต่ละตัว ผมเลยลองเปลี่ยน codec ที่มีอยู่บน Walkman ZX100 ซึ่งมี A2DP codec ที่หลากหลาย ทั้ง SBC ใน bit rate ต่ำและสูง aptX และ LDAC ใน bit rate ต่ำ (330 kbps) ปกติ (660 kbps) และสูง (990 kbps) ซึ่งผลที่ได้จากการฟังมีดังนี้ครับ

  • SBC ที่ bit rate ต่ำ ช่วงเสียงแหลมมีความเพี้ยนจนจับได้อย่างชัดเจน ถึงแม้จะคงบุคลิกของเสียงตอนต่อสายเอาไว้ก็ตาม
  • SBC ที่ bit rate สูง และ aptX เสียงที่ได้จัดว่าดี เสียงที่ได้จัดว่าดี คือมีบุคลิกและคุณภาพใกล้เคียงกับเสียงตอนต่อสายมาก แต่ aptX จะรู้สึกว่าเสียงแหลมจะฟังดูใสกว่า SBC เล็กน้อย
  • LDAC เนื่องจาก DSEE จะถูกปิดเมื่อสัญญาณที่เข้ามาเป็น LDAC จึงทำให้ได้ยินเสียงแท้ ๆ ที่ผ่านจากวงจรขยาย โดยไม่มี DSEE ซึ่งแนวเสียงค่อนข้างแตกต่างจาก codec ก่อนหน้าทั้ง 2 ตัว รวมทั้งการต่อสายด้วย คือเสียงกลางจะฟังดูเด่นขึ้นมา เสียงแหลมจะน้อยกว่าตอนเสียบสายเล็กน้อย โดยรวมแล้วรู้สึกว่าเสียงถูกบีบอัดน้อยกว่า codec ข้างต้น

ผมลองใช้ bit rate ของ LDAC ทั้ง  3 ค่าแล้ว ไม่รู้สึกถึงความแตกต่างของทั้ง 3 ค่าเท่าไร แต่หากเพลงที่ฟังนั้นอยู่ในรูปแบบความละเอียดสูง ก็แนะนำให้ใช้ bit rate ที่ 990 kbps เพราะเป็นเพียง bit rate ค่าเดียว จะเข้ารหัสเสียงที่ sample rate 24 bit 96 kHz แต่ก็ต้องระวังด้วยว่า หากอยู่ในที่ที่มีสัญญาณรบกวนเยอะ หรือต่อพ่วงอุปกรณ์ Bluetooth เอาไว้ 2 ตัว เสียงที่ได้ยินอาจจะมีการกระตุก ซึ่งผมเจอตอนที่เอาโทรศัพท์ Xperia S มาต่อพ่วงเพื่อใช้รับสายโทรศัพท์ที่เข้ามา แต่ก็เกิดขึ้นนาน ๆ ที และระยะเวลาที่กระตุกนั้นไม่นานมาก

Sony MDR-1ABT

สำหรับการใช้งานเซนเซอร์แบบสัมผัสนั้น ถ้าเทียบกับก้านโยกใน MDR-1RBT แล้ว ต้องใช้เวลาในการหัดใช้งานมากกว่า แต่พอเริ่มคุ้นเคยแล้ว ก็รู้สึกว่าใช้งานได้สะดวกกว่าที่คิดไว้ แต่บางครั้งหากมีส่วนของร่างกายเผลอไปแตะที่คัพด้านขวา ทำให้หูฟังเข้าใจว่าเราแตะเพื่อออกคำสั่ง

ส่วนอายุแบตเตอรี่ต่อการชาร์จ 1 ครั้งนั้น ในคู่มือระบุเอาไว้ที่เต็มที่ 30 ชม. สำหรับการฟังเพลงด้วย codec SBC หรือ AAC เต็มที่ 28 ชม. สำหรับ aptX หรือ LDAC เต็มที่ 26 ชม.สำหรับการใช้โทรศัพท์ และ เต็มที่ 200 ชม. สำหรับการเปิด standby ทิ้งไว้ ซึ่งส่วนตัวผมฟังเพลงผ่าน Bluetooth ไม่ได้บ่อยมากนัก เวลารวมกันประมาณ 10 ชม. ไฟสถานะแบตเตอรี่ยังกระพริบ 3 ครั้ง คือปริมาณแบตเตอรี่ยังมีมากอยู่

ส่วนเวลาในการชาร์จไฟกลับจนเต็มนั้น ในคู่มือได้ระบุเอาไว้ที่ 4 ชม. แต่ชาร์จไฟเพียง 1 ชม. ก็จะสามารถใช้งานได้ถึง 8 ชม. ซึ่งตอนใช้งานจริง ผมไม่ได้ใช้เวลาชาร์จไฟนานถึง 4 ชม. เพราะยังมีไฟเหลืออยู่บ้างในตัวหูฟัง

Conclusion

ในฐานะที่เป็นผู้ใช้งาน MDR-1RBT มาก่อน ผมคิดว่า MDR-1ABT นั้นมีการพัฒนาไปมากกว่ารุ่นเดิมมาก ทั้งในแง่ของการออกแบบ วัสดุ การใช้งาน และน้ำเสียง รวมทั้งการสนับสนุน A2DP codec ที่นิยมใช้งานในอุปกรณ์ยี่ห้อต่าง ๆ ทั้งหมด ก็ทำให้มั่นใจได้ว่า เสียงที่ส่งผ่าน Bluetooth นั้น จะยังคงคุณภาพเอาไว้ได้มากที่สุด ตามแต่ที่ codec ตัวนั้นจะอำนวย

ด้วยเหตุนี้คนที่กำลังมองหาหูฟัง Bluetooth ไปใช้งานกับอุปกรณ์ของตัวเองที่มีอยู่ MDR-1ABT จัดเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมาก ถึงแม้อุปกรณ์ที่คุณใช้งานจะไม่มี LDAC อยู่ก็ตามครับ

Like

  • การสวมใส่สบาย หูฟังไม่บีบมาก แพดนุ่ม
  • รองรับ A2DP codec ที่นิยมใช้งานในอุปกรณ์ต่าง ๆ ทุกตัว
  • สามารถใช้งานได้นานต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง

Don’t like

  • ต้องทำความคุ้นเคยกับการใช้งานเซนเซอร์สัมผัสสักระยะหนึ่ง
  • แจ็คหูฟังเสียบได้เฉพาะสายที่ให้มากับหูฟังเท่านั้น
  • LDAC ยังถูกใช้งานไม่แพร่หลาย

ขอขอบคุณ Sony Thai ที่ได้มอบหูฟัง MDR-1ABT มาเพื่อทำการรีวิวด้วยครับ

More info

Sony

11 thoughts on “รีวิว Sony MDR-1ABT หูฟัง Bluetooth ก็เล่น Hi-Res ได้นะ

  1. Jack

    รบกวนสอบถามหน่อยครับ ไม่ทราบว่า MDR-1ABT ตอนเชื่่อมต่อด้วยบลูทูธสามารถเร่งโวลุ่มได้ดังมากไหมครับ ถ้าเทียบกับ MDR-1RBT ปัจจุบันผมใช้ MDR-1RBT อยู่ เร่งโวลุ่มจนสุดแล้วก็ยังไม่ค่อยดังเท่าไหร่ เวลาเดินตามท้องถนนเนี่ยเสียงเพลงดังสู้เสียงรถราไม่ได้เลย ต้องฟังแบบเสียบสายถึงจะดังสู้ได้ ตอนนี้ไม่ค่อยไว้ใจแอมป์ S-Master เลยครับ ขอบคุณครับ

    Reply
        1. AT1987 Post author

          ไม่แน่ใจว่าใช้ปัญหาเดียวกันไหม แต่จากการใช้งานหูฟัง BT ของ Sony มา ผมเจอว่า การปรับระดับเสียงที่หูฟังจะเป็นการปรับความดังของวงจรขยายในตัวหูฟัง ไม่ใช่ความดังของเสียงจากอุปกรณ์ต้นทางเหมือนหูฟัง BT บางตัวครับ

          ในบางครั้งถ้าเราปรับระดับเสียงที่อุปกรณ์ต้นทางเบา ตัวหูฟังก็ไม่สามารถที่จะเร่งเสียงให้ดังมากได้ แต่ถ้าระดับเสียงที่อุปกรณ์ต้นทางดัง ก็จะสามารถปรับให้ดังมากขึ้นได้

          ซึ่งอุปกรณ์บางตัว เช่น Walkman เขาจะปรับระดับเสียงดังที่สุดส่งให้หูฟังเลย แล้วให้ปุุ่มปรับเสียงไปสั่งปรับเสียงบนตัวหูฟังโดยตรงแทนครับ

          Reply
        2. AT1987 Post author

          ได้ลองปรับระดับเสียงบนเครื่องให้ดังขึ้นก่อน แล้วค่อยปรับระดับเสียงบนหูฟังแล้วหรือยังครับ

          Reply
  2. Jack

    ผมปรับโวลุ่มที่มือถือจนสุดแล้วครับ (ไอคอนระดับเสียงจะมีโลโก้บลูทูธ) คือถ้าฟังเงียบ ๆ อยู่ในบ้านหรือในอาคาร ในห้างก็ถือว่าดังเพียงพอและบางครั้งก็ถือว่าดังเกินไปด้วยซ้ำจนผมต้องลดโวลุ่มลงมาประมาณ 1-2 ระดับครับ แต่ถ้าออกไปเดินตามถนนบางจังหวะมันดังไม่เพียงพอที่จะสู้กับเสียงการจราจร เสียงรถเมล์ เสียงรถบิ๊กไบค์ ครับ อยากจะให้โวลุ่มมันเร่งขึ้นไปได้มากกว่านี้ได้อีกซัก 2-3 ระดับ (แค่ชั่วคราวจนกว่ารถเมล์กับรถบิ๊กไบค์จะแล่นไปไกล ๆ ก็พอครับ) ซึ่งถ้าเทียบกับ Beats Studio Wireless แล้ว Beats Studio Wireless มันเร่งโวลุ่มขึ้นไปได้ดังกว่านี้มากครับ ปรับโวลุ่มแค่ประมาณ 80% ก็ดังจนหูแทบแตกแล้ว จนผมแทบไม่เคยได้ใช้โวลุ่มดังสุดของมันเลย ซื้อหูฟังรอบหน้าผมเล็ง ๆ เจ้า MDR-1ABT ไว้ ถ้าโวลุ่มในโหมดบลูทูธมันดังกว่า MDR-1RBT อีกซักนิดก็จะตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ขอบคุณครับ

    Reply
    1. AT1987 Post author

      ผมฟังเทียบกันดู ระดับเสียงดังพอ ๆ กันครับ

      ถ้ามีปัญหาเรื่องเสียงรบกวนมาก อาจจะลอง h.ear on Wireless NC ตอนที่มีของเข้ามาแล้วดูครับ

      Reply
      1. Jack

        ถ้าดังพอ ๆ กันแบบนี้คงต้องรอดู h.ear on Wireless NC จริง ๆ ด้วยครับ ถึงแม้คุณภาพเสียงอาจจะสู้ MDR-1ABT ไม่ได้ แต่ระบบ Active Noise Cancelling อาจจะพอช่วยตัดเสียงรถบิ๊กไบค์ออกไปได้นิดหน่อย ทำให้ฟังเพลงได้โดยไม่ต้องเร่งโวลุ่มดังมาก ขอบคุณมาก ๆ เลยครับ ^^

        Reply
  3. Pingback: รีวิว หูฟัง Sony MDR-1AM2 หูฟัง Premium โฉมใหม่ไฉไลกว่าเดิม | RE.V –>

  4. Pingback: ลองฟังเพลงในระบบเสียง 360 Reality Audio และ Dolby Atmos ที่ TIDAL | RE.V –>

  5. Pingback: รีวิว แพดหูฟังและปลอกหุ้มที่คาดหัว Geekria สำหรับ MDR-1RBT และ MDR-1ABT | RE.V –>

Leave a Reply to AT1987Cancel reply