ไขข้อสงสัย คุณภาพเสียง Hi-Resolution Lossless ของ Apple Music

Apple Hi-Resolution Lossless Logo

เมื่อวันที่ 17 ทีผ่านมา ทาง Apple ได้ประกาศเพิ่มบริการฟังเพลง Spatial Audio ในรูปแบบ Dolby Atmos และเพิ่มตัวเลือกคุณภาพเสียงแบบ Lossless ในรูปแบบ ALAC ที่มีความละเอียดตั้งแต่ระดับ Audio CD สูงไปจนถึงระดับ 24 bit 192 kHz (ขึ้นอยู่กับเพลง)

RE.V-> เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงมีคำถามที่เกี่ยวข้องกับบริการที่เพิ่มเติมมาใหม่นี้ โดยเฉพาะตัว Hi-Resolution Lossless จึงได้ไปรวบรวมคำถามที่เราพบเจอบ่อย ๆ มาตอบเพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมครับ

Apple Lossless Audio Codec (ALAC) คุณภาพเป็นอย่างไร แตกต่างจาก codec ที่ใช้โดยบริการสตรีมมิ่งเพลงอื่นอย่างไร

Apple Lossless logo

ALAC เป็น codec แบบ lossless ที่ใช้หลักการเข้ารหัสแบบ Linear Prediction เช่นเดียวกับ codec แบบ lossless ยอดนิยมอย่าง FLAC ที่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายทั้งร้านขายเพลงความละเอียดสูงและบริการสตรีมมิ่งเพลง ก่อนหน้านี้ ALAC ถูกใช้เป็นรูปแบบการเข้ารหัสของเพลงที่ริปจากแผ่น Audio CD ของ iTunes และการเข้ารหัสเสียงสำหรับการสตรีมมิ่งผ่าน AirPlay

ตัว codec รองรับการเข้ารหัสสัญญาณเสียงที่มีความละเอียดสูงถึง 32 bit 384 kHz, ช่องสัญญาณเสียงสูงสุด 8 ช่องสัญญาณ และบันทึกตัวข้อมูลในรูปแบบไฟล์ MP4 ที่มีนามสกุล .m4a เช่นเดียวกับไฟล์เพลงที่เข้ารหัสด้วย AAC ทำให้บางครั้งเกิดความเข้าใจผิดว่า ALAC นั้นเป็น codec ที่มีพื้นฐานจากมาตรฐาน AAC

MQA complete download file level - frequency graph

กราฟแสดงการบีบอัดของ MQA ที่ฝังข้อมูลการสร้างสัญญาณเสียงที่มากกว่า 24 kHz ไว้ใน noise floor ของสัญญาณย่านความถี่ไม่เกิน 24 kHz ที่มา : JAS Journal 2015 Vol. 55 No. 5

หากเปรียบเทียบ ALAC กับ MQA ซึ่งเป็น codec ที่นิยมใช้ในบริการสตรีมมิ่งเพลงความละเอียดสูงอีกตัว ALAC จะมีจุดเด่นที่การเข้ารหัสสัญญาณนั้นเป็น lossless ทั้งหมด แตกต่างจาก MQA ที่มีเพียงข้อมูลสัญญาณเสียงบางส่วนเป็น lossless แต่ MQA ก็ได้เปรียบกว่าที่สามารถเข้ารหัสสัญญาณเสียงที่อัตราสุ่มสัญญาณถึง 352 kHz ด้วยบิตเรทเพียง 1 Mbps ใกล้เคียงกับบิตเรทของการเข้ารหัส FLAC ที่คุณภาพ Audio CD

สรุป ALAC นั้นเป็น codec แบบ lossless เช่นเดียวกับ FLAC เพราะฉะนั้นคุณภาพเสียงควรไม่แตกต่างจากไฟล์เสียงต้นฉบับหากไม่มีการประมวลผลอะไรเพิ่มเติมและมีความเร็วของอินเทอร์เน็ตอย่างเพียงพอ

apple-digital-masters

อย่างไรก็ตามทาง Apple เองมีโครงการ Apple Digital Masters (Mastered for iTune เดิม) ที่กำหนดมาตรฐานและแนวทางการทำต้นฉบับเพลงสำหรับเผยแพร่บนบริการของ Apple และอุปกรณ์ของ Apple ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่ต้นฉบับที่ค่ายเพลงส่งเข้า Apple อาจจะแตกต่างจากต้นฉบับที่ส่งเข้าบริการสตรีมมิ่งเพลงอื่น

สามารถฟังเพลงในรูปแบบ Lossless ผ่านทาง Bluetooth ด้วยคุณภาพระดับ Lossless ได้ไหม

apple-accessories-a2dp-aac

ตารางแสดงคุณสมบัติของ codec ที่ Apple กำหนดเพื่อใช้งานกับ A2DP ที่มา : Apple

ไม่สามารถทำได้ เพราะติดข้อจำกัดของ codec ที่ใช้ในมาตรฐาน A2DP ของ Bluetooth ซึ่งเป็น codec ใช้การบีบอัดแบบสูญเสีย (lossy) ทั้งหมด รวมไปถึง AAC ที่ Apple ใช้เป็น codec หลักในอุปกรณ์ของตัวเองด้วย ซึ่งอุปกรณ์ของ Apple จะรองรับการเข้ารหัส AAC สำหรับส่งสัญญาณผ่าน A2DP ที่อัตราสุ่มสัญญาณ 44.1 kHz ด้วยบิตเรท 264, 630 bps

อย่างไรก็ตาม codec ทางเลือกที่รองรับสัญญาณเสียงความละเอียดสูงทั้ง LDAC, LHDC และ aptX HD ต่างก็เป็นการเข้ารหัสแบบ Lossy ทั้งสิ้น ในอนาคตคงต้องดูว่า Apple จะทำอย่างไรในเรื่องนี้ ระหว่างใช้ codec ที่มีอยู่แล้ว, เลือกพัฒนา codec ใหม่ขึ้นมาเอง หรือแม้กระทั่งหาวิธีเอา ALAC มาใช้สตรีมมิ่งโดยตรงเหมือนกับ AirPlay ก็อาจจะเป็นไปได้

แล้ว AirPlay ล่ะ

Apple HomePod mini in whie

ถ้ายึดตามข้อมูลที่เผยแพร่มานานแล้ว ตัว AirPlay Audio นั้นใช้ ALAC ที่อัตราสุ่มสัญญาณ 44.1 kHz ในการเข้ารหัสเสียงเพื่อส่งผ่านระบบเครือข่ายไปยังปลายทาง ไม่ว่าสัญญาณเสียงต้นทางจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม ซึ่งดูแล้วมันก็น่าจะใช้สตรีมเสียงในรูปแบบ Apple Lossless ระดับคุณภาพ Audio CD ได้ แต่ทาง Apple ได้ออกมายืนยันกับสื่อหลายเจ้า เช่น Macworld และ The Verge ว่าตัวลำโพง HomePod นั้นรองรับเพียงสัญญาณเสียง Spatial Audio ที่เข้ารหัสด้วย Dolby Atmos เท่านั้น

Apple Music Lossless screen on iPhone 12

สรุปเบื้องต้น สำหรับคนที่ต้องการใช้ประโยชน์ของ Hi-Resolution Lossless ของบริการ Apple Music อย่างเต็มที่ คงจำเป็นที่จะต้องหา DAC ภายนอกมาใช้งานตามคำแนะนำของ Apple ส่วนการฟังเพลงแบบไร้สายผ่าน Bluetooth หรือ AirPlay นั้น การเข้ารหัสแบบ Lossless น่าจะช่วยให้คนฟังเพลงนั้นสบายใจได้ว่าคุณภาพเสียงจากต้นทางนั้นไม่ถูกลดทอนใด ๆ ก่อนที่จะถูกเข้ารหัสใหม่อีกครั้งเพื่อส่งสัญญาณเสียงไปยังปลายทาง

หากผมได้มีโอกาสทดลองใช้งาน Hi-Resolution Lossless ของ Apple Music ที่จะเปิดให้ใช้งานในเดือนหน้า ก็จะมารีวิวตัวบริการให้อ่านกันอีกครั้งครับ

Leave a Reply